ซักใจ


โดนว่าไม่กี่คำ เอามาคิดไปตั้งมากมาย

ช้อปปิ้งบุญ  โดย ขวัญ เพียงหทัย

ตอน  ซักใจ

เนื้อเรื่อง
        เวลาแดดร่มลมตกของเย็นวันศุกร์ เอื้อนบรรเลงจะจัดไว้เป็นเวลาซักผ้า ที่จัดไว้อย่างนี้ ก็เพราะจะให้วันเสาร์เป็นวันปลอดธุระ นั่งซักไปก็คิดอะไรไปเรื่อยเพลิน ๆ แต่มีอยู่ศุกร์หนึ่งที่ไม่เพลิน

          ก็โดนว่ามาตั้งแต่บ่าย 1 ประโยค ประมาณ 5 คำ

          ซักผ้าไปก็หน้าหงิกไป ในหัวมีแต่คำเถียงคำอธิบายแก้ตัวกับเจ้า 5 คำเจ้ากรรมนั้น จนโทสะค่อย ๆ เล่นสกีจากหน้าผากฉิวมาตามดั้งจมูก ผลุบเข้าไปในถ้ำจมูก เรื่อยไปตกแอ๊กที่หัวใจ ใจหงิกไปตามใบหน้า

          เอ๊ะ ! เราเป็นอะไรไปเนี่ย เอื้อนบรรเลงสะดุด ลมหายใจเรียกสติมาถาม เพื่อลงบันทึกประจำวัน แค่ 5 คำเนี่ยนะ เอามาคิดไปตั้ง 500 คำได้แล้วมั้ง มันทำไมนักเหรอ อ๋อ ! ก็โดนว่าไง

          อ้อ! เจอแล้ว เพราะโดนว่านี่เอง

          งั้นเราควรจะทำยังไง ให้โดนว่าแล้วไม่เป็นอย่างนี้ เอื้อนบรรเลงถามตัวเอง นี่เราขาดทุนไปตั้ง 495 คำนะ ถ้าเป็นหุ้นก็เจ๊งไปแล้ว

          หลวงพ่อชาบอกว่า ล้างจานแต่หน้าหงิก ทำไม่ล้างแต่จานแต่ไม่ล้างใจ เออจริง เอื้อนบรรเลงยอมรับ เราก็ซักผ้าแต่ไม่ซักใจ

          งั้นคิดใหม่ คิดยังไงดีนะ

          เออน่า ไม่เป็นไรน่า เขาจะว่าก็ว่าไป ไม่เห็นน่าจะเสียหายอะไร พระพุทธเจ้าบอกว่า ให้อยู่เหนือโลกธรรม 8 มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ เราต้องมีสติ เขาว่ามาถ้าเราเป็นอย่างนั้นจริง เราก็แก้ไขไป แต่ถ้าเราไม่เป็นอย่างนั้นจริงก็แค่เขาพูดผิด เราก็เฉย ๆ ไป ไม่เห็นต้องกระเพื่อมในใจให้เดือดร้อนไปเลยนี่นา

          มันเป็นเรื่องธรรมดา ที่ใครต่อใครก็ต้องว่ากัน ทุกคนจะคอยว่าคนอื่น คนนี้ว่าคนโน้น คนโน้นก็ว่าคนนี้เหมือนกัน แล้วก็ว่าคนนั้นด้วย เราเองก็เคยว่าคนอื่นเหมือนกัน เอื้อนบรรเลงขำในใจ ว่าคนนั้น ว่าคนนู้น คนนู้นพูดกับคนนี้ก็ก็แอบว่าเรา เราก็ว่าคนนี้กับคนโน้นเหมือนกัน ก็ว่ากันไปว่ากันมาทั้งนั้น ว่ากันเพลิน

          พระพุทธเจ้ายังโดนว่าเลย บางทีก็โดนใส่ร้าย อย่างนางจิญจมานวิกาบอกว่าท้องกับพระพุทธเจ้า ทำให้พระพุทธเจ้าต้องโดนว่าอยู่ตั้ง 9 เดือน จนความจริงเปิดเผยออกมา 270 วันเชียวนาที่ท่านไม่กล่าวอะไรออกมา ของเรานี่แค่ 3 ชั่วโมงเอง ก็จะตายแล้ว อย่างนี้จะเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าได้ยังไง

          ในเมื่อพระพุทธเจ้ายังโดนว่า แล้วเราเป็นใคร! ทำไมจะถูกว่ามั่งไม่ได้

          ความคิดนี้ทำให้เอื้อนบรรเลงยอมรับกับตัวเอง

          เออจริง เอาล่ะ ยอมแล้ว ยอมถูกว่าได้แล้ว ใครจะว่าอะไรก็ว่ามา ยอมถูกว่า หลวงพ่อพระพยอมบอกว่า "ยอม หยุด เย็น ยอมไม่เป็น ก็เย็นไม่ได้" ฉะนั้น ถ้าเราจะเย็น เราต้องยอม

           ปุจฉา : แต่การยอมจะยอมยังไงดี

           วิสัชนา : เวลาคนว่ามา ก็เหมือนสายน้ำในลำธารผ่านมากระทบหิน เราเป็นหินนอนอยู่ตรงนั้น ให้น้ำไหลผ่าน แต่ใจเราต้องแยกไปนั่งริมน้ำ มองกลับมาดูหินอีกทีหนึ่ง จึงจะมีสติได้ ถ้าใจเราอยู่ในหินก้อนนั้นด้วย มันก็คงอดรับแรงกระแทกไม่ได้ แต่ถ้าแยกมาดู ก็จะเห็นหินโดนน้ำไหลผ่าน มองภาพกว้างแล้วก็จะรู้ทันว่า น้ำไหลผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมดา หินยังนอนอยู่ตรงนั้น ไปไหนไม่ได้ แต่สบาย เราต้องทำตามอย่างของหิน

          ใจของเรา ถ้าเข้าร่วมจลาจลมันต้องมองไม่เห็นเป็นธรรมดาก็มันกำลังวุ่น แต่ถ้าถอยห่างออกมา ย่อมเห็นภาพจลาจลได้ชัดว่าอะไรเป็นอะไร และทำให้รู้ว่าควรจะคิดจะทำอย่างไรต่อไป อะไรใช่หรือไม่ใช่ อะไรจริงหรือไม่จริง รู้แล้วมันก็สงบได้ ธรรมชาติของคนเราต้องการตัว"รู้" นี้เท่านั้น

          เอื้อนบรรเลงได้สติ หลังจากสั่งสอนตัวเองเรียบร้อย คนเรานี่แปลก เรียนรู้มาก็จริง พอเวลาเจอกระทบกลับเบรกไม่ทัน คิดอะไรไม่ออก กระเทือนพึบพั่นไปตามแรงกระทบ อย่างนี้เขาเรียกกระบี่ไร้แรงทาน ไม่ใช่กระบี่ไร้เทียมทาน อย่างนี้ยังต้องฝึกอีกเยอะเชียว

          อีกอย่างหนึ่งนะ ธรรมะท่านสอนว่า "ความจริงเป็นสิ่งที่รู้ได้ยาก " ในเหตุการณ์อย่างเดียวกัน เวลาผู้ร่วมเหตุการณ์เล่าความจริง ยังเล่าคนละอย่างเลย เพราะมันจะต่างไปตามเหตุผลและเงื่อนไขของตัวเองแต่ละคน

          เอื้อนบรรเลงนึกเห็นภาพตัวเองคลานเข้าไปหมอบกราบแทบพระพุทธเจ้า บอกกับตัวเองว่า ต่อไปนี้ใครจะว่าเรายังไงก็ช่างเถอะ เพราะความจริงเป็นสิ่งที่รู้ได้ยากดังพระพุทธเจ้าสอนแล้ว เราก็จะอยู่กับพระพุทธเจ้า อันเรื่องที่เกิดขึ้นกับเรานั้น แท้จริงเป็นอย่างไร มีพระพุทธเจ้ากับเราเท่านั้นที่รู้ คนอื่นไม่รู้ ก็....ช่างหัวมันเถอะ

          คิดได้แล้วก็รู้สึกใจขาวขึ้น มันปิ๊ง มันหลุดไปเลย เหมือนรอยเปื้อนที่โดนผงซักฟอก สบายใจยิ้มได้ ครึ้มอกครึ้มใจหายหน้าหงิก ซักผ้าวันนี้ได้ซักใจไปด้วย โอ๊ย...สบายใจจัง

          ปกติเอื้อนบรรเลงมักจะคอยรู้สึกดีกับเย็นวันศุกร์อยู่แล้วไม่รู้เป็นอะไร มันคงรู้สึกหมดภาระไปสัปดาห์หนึ่งอะไรทำนองนั้นแต่วันศุกร์เป็นวันที่ดีขึ้นอีก เหมือนลงจากรถไฟแล้ว ยังได้หันกลับไปโยนเป้หนัก ๆ บนบ่าให้ติดท้ายขบวนไปด้วย เย็นนี้จึงเป็นเย็นวันศุกร์ที่เอื้อนบรรเลงรู้สึกปลอดโปร่งและตัวเบาที่สุด.
              หนังสือเล่มนี้นำเอาหลัธรรมทางพระพุทธศาสนามาเขียนโดยใช้นิทานเป็นสื่อ  ซึ่งทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น   หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วทำให้ข้าพเจ้าได้มาพิจรณาตนเองว่า  ในบางเรื่องนั้นเราควรทำใจที่จะยอมรับมัน  เพราะมันเป็นเรื่องธรรมดาของโลก  ใช่ว่าเราเป็นคนเดียวเสียเมื่อไหร่ และได้นำหลักธรรมไปปรับใช้กับตนเองมากขึ้น  ทำให้จากที่เคยใจร้อน  เดี๋ยวนี้ก็ใจเย็นขึ้น
 
แหล่งอ้างอิงและสืบค้นเพิ่มเติม
http://gotoknow.org/blog/523070019-5lp2/post
http://www.dhammajak.net/ruendham/book2/p44.php
คำสำคัญ (Tags): #learning process
หมายเลขบันทึก: 297327เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2009 04:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เรื่องน่ารักมากมาย ปุ้ย เกี่ยวศาสนาด้วย น่าสนใจดี อยากอ่านบ้างจัง

เป็นหนังสือที่ใช้นิทานที่ถ่ายทอดธรรมะ

ทำให้เดิกแนวคิดที่ดีมากๆ

^^

เหนสัจธรรมเลย

ชอบ ๆ ๆ

ได้รู้อะรัย หลายอย่างเรย

ธรรมมะจะอยู่ในใจเราเสมอ

ได้ข้อคิด คติเตือนใจ แล้วก็หลักธรรมคำสอนดีมากๆเลยค่ะ

แค่ตัวอย่างที่ยกมาก็ได้ข้อคิดดีมากเลย ถ้าอ่านทั้งเล่มคงได้ข้อคิดเยอะน่าดูเลย

เป็นหนังสือที่น่าสนใจดีมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท