ข้อคิดจากการฟังคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร


บางความคิดเห็น ทำให้เราได้รู้จักมหาวิทยาลัยในส่วนที่อาจจะมองข้ามไปหรือไม่ทันได้คิด

เมื่อเย็นวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๒ ทีมคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ที่มาสัมมนากันที่ภาคใต้ ได้แวะมาเยี่ยมมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) เพราะอยากทราบความก้าวหน้าและความพร้อมในการก่อสร้างโรงพยาบาล ระยะที่ ๑ มีทีมรองอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการศูนย์ หัวหน้าส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งโรงพยาบาลให้การต้อนรับ อธิการบดีซึ่งเดินทางกลับจากกรุงเทพฯ มาสมทบช่วงหลัง ทันได้ตอบคำถามต่างๆ ด้วยตนเอง

 

หลังจากแนะนำตัวกันเป็นที่เรียบร้อย รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาได้นำเสนอ PowerPoint บอกเล่าเรื่องราวของ มวล. ทั้งการดำเนินงานและความสำเร็จ ต่อจากนั้นเป็นการพูดคุย ซักถาม และให้ข้อเสนอแนะ คำถามและความคิดเห็นจากทีมคณะกรรมาธิการสะท้อนว่าได้มีการศึกษาข้อมูลทำความรู้จักกับ มวล. มาก่อนแล้ว

 

ดิฉันสังเกตการแสดงความคิดเห็นและการตั้งคำถามของทีมคณะกรรมาธิการ มีทั้งที่ลุ่มลึก กว้างขวาง และตื้นๆ คงจะขึ้นอยู่กับประสบการณ์ความเก๋าของแต่ละท่าน

 

บางความคิดเห็น ทำให้เราได้รู้จักมหาวิทยาลัยในส่วนที่อาจจะมองข้ามไปหรือไม่ทันได้คิด ท่านกรรมาธิการท่านหนึ่งซึ่งเคยเป็นประธานเรื่องกองทุนหมู่บ้าน ได้กล่าวคำชมว่า

-          อัตราการเติบโตของ มวล. เร็วมากเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยรุ่นเก่าๆ

-          การบริหารทรัพยากรที่เรียกว่า “รวมบริการ ประสานภารกิจ” เป็นความคิดเชิงบริหารที่ดีมาก น่าจะเป็นตัวอย่างให้แก่ที่อื่นได้ (อธิการบดีชี้แจงว่า มวล.ไม่ได้เป็นต้นคิดในเรื่องนี้ แต่ได้มีการใช้อย่างจริงจังและประสบความสำเร็จ)

-          รางวัลแห่งความสำเร็จมีจำนวนมาก

-          พบว่ามีการติดตามบัณฑิตในโครงการกองทุนหมู่บ้านที่เอาจริงเอาจังและน่าชื่นชม

สำหรับเรื่องที่อยากให้มี ซึ่งจริงๆ เราก็มี แต่การนำเสนอเนื้อหาในส่วนนี้อาจจะไม่เด่นชัดเท่าเรื่องทางวิชาการ บางเรื่องเราเองอาจไม่ทันคิด ทำให้ได้แนวทางทั้งสำหรับการเตรียมการนำเสนอครั้งต่อๆ ไป รวมทั้งแนวทางในการพัฒนาด้วย เช่น

-          การสร้างคนดี มีการทำอย่างไรบ้าง

-          การดูแลคณาจารย์และพนักงานเพราะ มวล. ไม่มีสภาอาจารย์

-          การเรียนรู้ระหว่างภูมิภาค ของนักศึกษาที่มาจากภูมิภาคกันเป็นอย่างไร

-          การติดตามการทำงานของบัณฑิต ถ้าบัณฑิตที่จบจาก มวล. ทำงานในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนจำนวนมาก ก็จะมีผลดีต่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างใหญ่หลวง

-          เรื่องของการร่วมทุกข์ร่วมสุขกับชาวบ้าน

-          อยากเห็นสถาปัตยกรรมของปักษ์ใต้ ศรีวิชัย ใน มวล. รวมทั้งประติมากรรมสาธารณะ

เป็นต้น

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 297069เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2009 10:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท