การเรียนรู้ตลอดชีวิตของชาวนา (๒๖)_๑


การเรียนรู้ตลอดชีวิตของชาวนา (๒๖)_๑ 


           ต่อไปนี้เป็นบันทึกชาวนา ของผู้ใหญ่บุญมา ศรีแก้ว    บันทึกไว้ในช่วงเวลากว่า ๑๐ ปี     ในสำนวนดั้งเดิม


ความหวังของเราชาวนาอยู่กันแบบไท
“คิดใหม่  ทำใหม่  ดีจริงหรือ  ?”
                                เราคนของแผ่นดิน                              มาร่วมใจภักรักษ์แผ่นดิน
                                ท่ามกลางแสงแดด                               แผดเปลวร้อนผ่าวดังไฟ
                                กลางผืนดินนาไร่                                ใต้ฟ้ากว้างไกลสุดสายตา
                                ใครหนอสู้อดทน                                 กลากกลำทำงานอยู่กลางนา
                                ใครหนอไล่ควาย                                 มือถือคันไถแล้วฟันฝ่า
                                ใครหนอปักดำ                                     รุ่งจนค่ำชุ่มฉ่ำเหงื่อนองหน้า
                                ใครหนอยืนสู้                                       อยู่กลางแดดลมด้วยแรงมา
                                จากแรงกลายเป็นรวง                         จนเหลืองอร่ามกลางทุ่งนา
                                จากมือถือเคียว                                      เลี้ยงพวกเราให้โตมา
                                อย่าพึ่งดูหมิ่น                                       ชาวนาว่าเป็นตาสา
                                สักวันหนึ่งดอกหนา                           เมฆราคงเคลื่อนครามาสู่เฮา
                “งานเขียนเล่มนี้ใช้เวลารวบรวมนาน  เขียนไว้เรื่อยๆ  ไม่ให้ลืม  ใช้เวลานานนับสิบกว่าปี  เขียนเป็นลายมือเอาไว้ก่อน”


                                  
คุณบุญมา  ศรีแก้ว  นักเรียนชาวนาจากโรงเรียนชาวนาบ้านโพธิ์ 
(ตำบลบ้านโพธิ์  อำเภอเมือง  จังหวัดสุพรรณบุรี)
บนเวทีการประชุมสัมมนา  เรื่อง  อนาคตข้าวไทย  ในงานเกษตรกำแพงแสน  2547
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  วิทยาเขตกำแพงแสน  จังหวัดนครปฐม  เมื่อวันที่  6  ธันวาคม  2547
ตอนที่  1     ชีวิตคือการเรียนรู้
             “นาเอยนา  ชีวิตข้าพึ่งเจ้าคนเดียว  บัดนี้ข้าแลเหลียว  เห็นแม่โพสพเขียวรกกลบนา
             ปีทั้งปีหวังอยู่ที่ข้าวกล้าในนา  ปีนี้ราคาข้าวก็ดีหวังจะใช้หนี้ไปตามสัญญา
             ค่าเช่าก็ยังมิได้จ่ายๆ  ค่าปุ๋ยทำไมดันมาขึ้นราคา
             ชาวนาตื่นกันเสียเทิด  เรื่องที่มันเกิดตามมา 
             เพราะเราไปพึ่งต่างชาติๆ  ปีละหลายพันบาท  หนี้สินตามมา”
             “เพลงนี้พึ่งแต่งขึ้นตอนที่ไปกิจกรรมเพื่อนเยี่ยมเพื่อนที่ดอนเจดีย์  (เดือนสิงหาคม  2547) 
             จากสภาพความจริงที่สะท้อนขึ้นในใจ  เขียนในระหว่างที่ข้าวขึ้นราคา  ก็พากันดีอกดีใจ  แต่เอ้า...  ค่าปุ๋ยก็ขึ้นอีกแล้ว  แล้วจะเอากันอย่างไรดีเนี่ย  ก็ชักจะบ่นกันพรึมพรำๆ  จนเกิดความในใจ  แล้วจะเหลืออะไร  ?  ถ้าเราไม่คิดทางออก  ทางมุมที่เราเรียน  (โรงเรียนชาวนา)  กันอยู่นี้  มีมุมเดียวที่เรียนกันเนี่ย  ...  ให้ชาวนาตื่นกันเสียเทิด  เรื่องที่มันเกิดตามมา  เพราะเราไปพึ่งต่างชาติ  ปีละหลายพันบาท  หนี้สินตามมา 
             ที่เราพึ่งต่างชาติ  เพราะค่าปุ๋ยค่ายาอะไรๆ  เขาทำมาให้ทั้งนั้น  เราไม่ได้คิดขึ้นเอง  เราไม่ได้ทำเอง  ไปพึ่งภูมิปัญญาของชาวต่างชาติ  แล้วเรานี่ก็สบายนะ  สบายๆ  ไม่ต้องทำอะไรหรอก  แต่เงินเรามันไม่เหลือ  แล้วมาทำแบบนี้  (โรงเรียนชาวนา)  ก็เหนื่อย  แต่เงินมันเหลือบ้าง  ก็ยังดี 
             ทำนาไม่ได้เงินทุกเดือน  คิดว่า  4  เดือนได้สตางค์ครั้งหนึ่ง  แล้วส่วนที่ทำนี้จะเหลือหรือไม่เหลือ  ?  ระหว่างเดือนจะเหลือไม่เหลือ  ?  ก็เอาก้อนนี้ออกมากิน  เอาออกมาใช้  กว่าจะได้ทำใหม่ก็ก็หมดอีกแล้ว  ก็เป็นวัฎจักรอยู่แบบนี้  มันจบสิ้นไม่ลง
             ในเบื้องต้นที่มูลนิธิข้าวขวัญเข้ามาแนะนำ  ผมยังไม่เชื่อ  ไม่เชื่อจริงๆ  เพราะ  (ก่อนหน้านี้)  มันมีหลายกระบวนการเข้ามาหา  จนกระทั่งเบื่อ  พอเข้าอบรมเสร็จ  ให้ไปอย่างนั้นๆนะ  เสร็จแล้วเขาก็หายไปไม่ติดตามผล  ไปดูงานเกษตรต่างๆ  ไปแล้วกลับออกมาก็เฉย  ไม่มีใครติดต่อ  ไม่มีใครติดตาม  งานที่เราพอได้ลงไป  ก็จึงต้องทิ้งไป  แล้วก็ไปในเรื่องอื่นอีก  ไม่มีกลุ่ม  ไม่มีเพื่อน  พอเราทำไปคนเดียวสักพักก็ลืมไป
             คราวนี้  ไปดูโครงการของมูลนิธิข้าวขวัญที่บางปลาม้าของคุณชัยพร  เขาอธิบายครั้งเดียว  ผมเข้าใจหมด  จึงตัดสินใจเข้าร่วมด้วย  เข้าใจหมดก็หมายความว่า  ขั้นตอนต่างๆ  ในเบื้องต้นทำอะไรอย่างนั้นๆ  ถ้าปฏิบัติจริงต้องไปทำแบบนั้นๆ  เห็นภาพทั้งหมด  แล้วเขาก็พาไปดูงานที่เขาทำไว้  ...  ก็เลยมองออก  เพราะรู้พื้นฐานมาก่อน  แต่ไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย  เรียนรู้อะไรก็รู้ไว้เฉยๆ  แต่ว่าไม่มีเพื่อนบ้าง  ไม่มีตัวอย่างบ้าง  ก็เลยอยู่เฉยๆ 
             ประสบการณ์ตลอดชีวิต  เรารู้อะไรมาบ้างแล้ว  ?  พอคราวนี้มาทำเข้าจริงๆก็เลยง่ายขึ้น  พอเจออะไร  พอตาดู  เห็นแล้ว  หูต้องฟังด้วยว่าเขาว่าอย่างไร  ?  แล้วกลับมาต้องมากับมือด้วยตนเอง  ความสำเร็จจึงจะเกิดขึ้น  ถ้าดูกับฟัง  แล้วถ้าไม่ทำกับมือ  ผิดกับถูกจึงไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน  ?  เพราะเราเรียนรู้มาแล้ว  ต้องทำ  ผิดให้ผิด  ถูกให้ถูก  เรามาเรียนรู้แล้ว  ถ้าไม่ปฏิบัติ  ก็เหมือนกับมานั่งเล่น
             หลายคนในกลุ่มสามารถทำได้แล้ว  มีผู้หญิงอยู่คนหนึ่ง  อยู่ที่ลุ่มบัว  (เพื่อนในกลุ่มนักเรียนชาวนา)  เขามีนา  5  ไร่  ได้ข้าว  4  เกวียน  60  ถัง  ไม่ได้ใช้สารเคมี  ไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมี  เอาแต่ปุ๋ยหมัก  วิธีการของเขาก็คือ  ไปหว่านก่อนแล้วไถกลบ  สมุนไพรไล่แมลงก็ให้หยดลงในน้ำเข้านาเลย  ไม่ต้องไปฉีดอะไร  เพราะเขาไม่มีคนช่วย  ได้ข้าวแบบไม่ต้องลงทุนเลย
             แล้วก็ยังมีคุณสำรวยอีกคนหนึ่ง  คนนี้ก็เก่ง  ใครยังทำไม่เป็นก็เอาสิ่งนี้ที่ทำเองให้เขาไปก่อน  ปุ๋ยหมัก  ฮอร์โมน  ให้ไปเลย  กองอยู่ที่บ้านนี่แหละ  ไม่ได้ขาย  แต่แจก  เพราะกำลังเรียนรู้อยู่  ให้คนอื่นเขารู้ว่าเราทำได้  ไม่ขาย  ได้แต่แจก  เพราะอยากได้เพื่อนร่วมงาน  ให้พวกเขาได้เห็นว่า  เอาไปใส่พริก  พริกก็งาม  ใส่มะเขือก็งาม  เมื่อรู้เห็นว่างาม  ก็แนะนำสูตรให้ไปทำ  ทั้งนั้นเราอยากได้กุศล  เราไม่ปิดบัง  อย่างในที่ประชุม  ใครรู้อะไรก็ให้เปิดเผยออกมา
             ปุ๋ยยาอะไรที่ซื้อมา  มันเป็นตัวภาษาอังกฤษ  เขียนไทยก็จริง  แต่อ่านเป็นภาษาอังกฤษ  เราจึงไม่รู้ว่ามันคืออะไร  ?  จึงไม่รู้จะไม่ถามใคร  จะไปถามร้านขายยา  เขาก็ส่งให้มา  ไปบอกว่าเขาว่าตอนนี้ข้าวเหลืองแล้วนะ  มียาอะไรบ้าง  ?  เขาเป็นพ่อค้าใช่ไหม  ?  ก็เอานั้นเอานี้ให้เรา  บอกว่านี่ดีนะ  ของเขาที่เราซื้อมาก็ดีนะ  ไม่ใช่ไม่ดี  ใบเหลืองหรือ  ?  ...  ก็ฉีดปุ๊บ  ...  หายปั๊บ  หรือตัวแมลงลง  ฉีดปุ๊บ  ...  หายปั๊บ  เราจึงไม่รู้ว่าอะไรมาจากไหน  เราไม่รู้หรอก  มันหายและได้ผลดีจริง  แต่ว่าเราต้องซื้อบ่อย  แล้วต่อไปก็เป็นยาแยกประเภทมาอีก  จึงสิ้นเปลืองกันไปอีก  นาจำนวนมากๆ  ต้องซื้อมาเท่าไหร่  ?
             แต่คราวนี้  เรามาเรียนรู้เรื่องแมลงกันแล้ว  ไปจับดูตัวแมลงในไร่นากันแล้ว  มาคิดว่า  เอ...  สมควรจะใช้ไหม  (สารเคมี)  ?  ดูตัวกินพืชไม่มีสักเท่าไหร่  ตัวแมลงกินตัวแมลงกันเองมากกว่า  เราก็ปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนั้น  เราก็สังเกตดู  ดูซิว่าตัวอะไรจะกินตัวอะไร  ?
             มีชาวบ้านเขามาบ่นว่าเราจะไม่ได้กินข้าว  แมลงมากินข้าวที่ปลูกไว้หมดแล้ว  เพราะมัวแต่มาเพลินสนใจสมุนไพร  เราก็เลยไปบอกลูก  ให้ไปปล่อยน้ำในนาให้แห้ง  พอปล่อยน้ำแห้งแล้ว  ไม่ช้า  ข้าวมันก็แตกขึ้นมา  แมลงมันกินแต่ใบ  ไม่ได้กินต้น  เราต้องรู้ตรงนี้  การที่เราได้เรียนรู้จากโรงเรียนชาวนานี่แหละ  จึงรู้ปฏิบัติ”
             (สัมภาษณ์คุณบุญมา  ศรีแก้ว,  นักเรียนชาวนา  โรงเรียนชาวนาบ้านโพธิ์  ตำบลบ้านโพธิ์  อำเภอเมือง  จังหวัดสุพรรณบุรี,  10  ธันวาคม  2547)
ตอนที่  2     “เราคนของแผ่นดิน  เราต้องอนุรักษ์ภักดิ์น้ำดิน”
             อ้างถึง  เอกสารชุดคู่มือการเกษตรเพื่อการพึ่งตนเองและสิ่งแวดล้อม  ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  ธาตุทั้ง  4  เป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์  ก่อให้เกิดปัจจัย  4  คือ  อาหาร  เครื่องนุ่งห่ม  ที่อยู่อาศัย  และยารักษาโรค  ดินมีความสำคัญมากต่อมนุษย์  จนเกิดความผูกพันเป็นวัฒนธรรมประเพณีคนไทย  ได้เปรียบดินว่าเป็นเหมือนแม่  (แม่พระธรณี)  เมื่อจะมีการเพาะปลูกก็ต้องมีการบอกกล่าว  ขอให้ช่วยเหลือคุ้มครองเกื้อหนุนให้กิจกรรมที่ทำนั้นได้รับความสำเร็จ
             ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์  ย่อมส่งผลให้พืชพันธุ์ต่างๆเจริญงอกงาม  ให้ผลผลิตและมีคุณภาพที่ดี  แต่จากการพัฒนาทางการเกษตรที่ผ่านมา  อดีตจนถึงปัจจุบัน  การเปลี่ยนแปลงด้านรูปแบบการผลิตหรือระบบการเกษตรที่ชัดเจนได้นำวิธีการด้านเกษตรจากยุโรป  อเมริกา  มาใช้ในประเทศไทย  ตั้งแต่  พ.ศ.2464  เช่น  พันธุ์พืช  พันธุ์สัตว์  เครื่องมือการเกษตร  สารเคมี  เพื่อการเกษตรแผนใหม่  ออกเผยแพร่
             การเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังโดยรัฐบาลไทยเริ่มขึ้นเมื่อสงครามโลก  ครั้งที่  2  สงบลง  โดยได้รับการช่วยเหลือด้านการเกษตรจากประเทศสหรัฐอเมริกา  ต่อเนื่องมาจนเริ่มแผนพัฒนาประเทศ  ฉบับแรก  (พ.ศ.2504)  ระบบเกษตรแผนใหม่ที่มีชื่อเฉพาะว่าการเกษตรแบบการปฏิวัติเขียว  ก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วมาจนถึงทุกวันนี้
             ระบบเกษตรแผนใหม่  หรือเกษตรแบบการปฏิวัติเขียว  คือ  การเกษตรที่เน้นการปลูกพืช  หรือเลี้ยงสัตว์เชิงเดียว  เน้นการเพิ่มปริมาณผลผลิตเป็นหลัก  และเพิ่มปริมาณใช้สารเคมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง  การดำเนินชีวิตคนไทยเปลี่ยนไป  วัฒนธรรมประเพณีเปลี่ยน  ส่งผลทำให้ดินเปลี่ยนไปด้วย  จากดินที่มีความอุดมสมบูรณ์  เปลี่ยนเป็นดินที่เกิดการสูญเสีย  อินทรีย์วัตถุแร่ธาตุ  อาหารที่สำคัญ  และเกิดการตกค้างของสารเคมีในดิน  เมื่อสภาพของระบบนิเวศน์ของดินเปลี่ยนไป  ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง  สิ่งมีชีวิตในดินหาย  ทำให้พืชพันธุ์ต่างๆเจริญงอกงามไม่เต็มที่  พืชมีความอ่อนแอ  เกิดโรค  และแมลงระบาดเพิ่มมากขึ้น
             ดังนั้น  จึงจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่เกษตรจะต้องฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น  เพื่อให้ผืนดินที่ใช้ทำการเกษตรมีความปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  ให้สิ่งมีชีวิต  พืช  ต้นไม้  อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน  ดินดี  น้ำดี  อากาศดี  อาหารดี  ชีวิตปลอดภัยจากสารเคมี  พี่น้องเกษตรกรเราจะได้อยู่อย่างมีความสุข
                ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคม
                อนาคตเกษตรกรรมทางเลือกของเกษตรกรไทย
                กองทุนสิ่งแวดล้อม  กระทรวงวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยี  และสิ่งแวดล้อม  สนับสนุน
ตอนที่  3     พิธีการทำนาแบบดั้งเดิม
             เริ่มด้วยดูตามปฏิทินว่าปีไหนวันอะไรเป็นวันดี  แล้วต้องดูว่าเป็นวันข้างขึ้นของเดือนนั้น  แล้วดูกำลังวันด้วยว่าวันอะไรหันหน้าไปทางไหน  ไม่หันหน้าไปตรงกับผีเหล็กเหลาหลวง  แล้วเริ่มทำการไถ  เมื่อเริ่มฤดูกาลที่จะลงมือทำนา  คือ  นาปี  การแรกนานั้นต้องหันหน้าไปทางที่เป็นมงคล  แล้วไถไป  3  รอบคันนา  เสร็จแล้วไถผ่ากลางคันนาอีกมุมหนึ่งถึงอีกมุมหนึ่งทั้งสี่มุม  เมื่อทำการไถแรกแล้วก็เริ่มทำการไถดะ
             ไถ  ครั้งที่  1  เรียกว่า  ไถดะ  เพื่อให้ดินหลวม  เมื่อฝนตกลงมาแล้ว  หญ้าจะได้ขึ้น  เมื่อหญ้าขึ้นมากแล้วไถ  ครั้งที่  2 
             ไถ  ครั้งที่  2  เรียกว่า  ไถแปล  เพื่อให้หญ้าขึ้นมาแล้วนั้นตาย  โดยมิต้องใช้ยาฉีด  พอหญ้าตายแล้วได้เวลาอันสมควรไถ  ครั้งที่  3
             ไถ  ครั้งที่  3  เรียกว่า  ไถหว่าน  หญ้าที่เหลือก็จะตายอีกครั้ง  เมื่อจะหว่าน  ก็จะเริ่มทำพิธีกรรมทางไสยศาสตร์  ดังมีรายการดังต่อไปนี้
             เครื่องที่ทำการแรกนา  มีกระทุน  1  อัน  ทำด้วยไม้ไผ่  มีหมาก  5  คำ  บุหรี่  1  ม้วน  มีใบคูน  ใบยอ  ธูป  5  ดอก  กรวยทำด้วยใบตอง  5  อัน  มีดอกไม้  5  ดอก  หรือเรียกว่า  ขัน  5  ข้าวเปลือกประมาณ  1  กิโลกรัม
             เริ่มทำการหว่านก็ต้องหาฤกษ์  อันเป็นมงคล  คือ  วันธงชัย  ตามปฏิทินเหมือนไถดะครั้งแรก  แล้วหันหน้าไปทางที่ไม่ตรงกับผีเหล็กเหลาหลวง  ใช้จอบสับดินมุมนา  ทำเป็นกอง  แล้วเอาเครื่องที่เตรียมไว้แรกหว่านนั้น  เอาลงไปปักให้ครบเสร็จ  แล้วตั้งจิตน้อมนำเอาพระแม่โพสพไปฝากไว้กับแม่ธรณี  และแม่คงคง  เริ่มทำพิธีกรรมต่อไป
             ตั้งนะโม  3  จบ  ตามด้วยพระคาถา  ดังนี้
                     พุทธัง       เลสล้ำ       อุตตะมังเลิศล้ำ
                     ฉัมมัง        เลสล้ำ       อุตตะมังเลิศล้ำ
                     สังฆัง        เลสล้ำ       อุตตะมังเลิศล้ำ
             คุณพระแม่ไพสพ  39  คุณพระพุทธเจ้า  56  แม่โพศรี  แม่โพสพ  แม่คงคา  ถึงเวลาแล้วที่ลูกจะต้องเข้ามาทำมาหากินในท้องถิ่นนี้  เชิญมาคุ้มครอง  มาเถิดแม่มา  ลูกปลูกข้าวในนาให้ได้ผลดี  ขอให้ลูกนี้เป็นเศรษฐีชาวนา  ขอให้ลูกเป็นพ่อค้าบ้านนอก  ขอให้วัวควายเต็มคอก  คุ้มเอก  คุ้มไถ  คุ้มไร่  คุ้มนา  คุ้มเคราะห์  คุ้มโศก  คุ้มโรคโรคา  อ้ายหนอนอัปรีย์อย่าให้มีเข้ามา  สัพพะโภสาวินาสันติ
             เมื่อจะหว่าน  3  กำแรก  ให้ตั้งจิตอธิษฐาน  ดังนี้ 
                     กำที่  1  กล่าวว่า  ขอเลี้ยงชีวิต 
                     กำที่  2  กล่าวว่า  เหลือกินแล้วทำบุญ
                     กำที่  3  กล่าวว่า  เหลือกินแล้วขอทำทานที่เหลือหว่าน
             ต่อไปกล่าวว่า  อุกาสะ  อุกาสะ  ข้าพเจ้าขออาราธนาคุณพระพุทธเจ้า  คุณพระธรรมเจ้า  คุณพระสังฆะเจ้า  คุณพระบิดามารดา  คุณครูอุปัชญาและอาจารย์  จงมาดลบรรดาลให้ข้าพเจ้า  ทำนาปีนี้ให้เกิดผลดีเทอญ
             เมื่อหว่านข้าวลงไปแล้ว  พอฝนตก  ข้าวก็จะขึ้นมาอีกเล็กน้อย  แต่ก็เป็นข้าวนาปี  หรือข้าวไวต่อช่วงแสง  พอน้ำเข้าทุ่ง  อยู่ไปอีกระยะหนึ่ง  หญ้าก็จะตายไปเอง  ไม่ต้องฉีดยาฆ่าหญ้า  เพราะข้าวปีมีอายุยาว  พอหญ้าตาย  ข้าวก็ขึ้นงามเหมือนกับว่าหญ้าที่ตายไปนั้นกลายเป็นปุ๋ยไปในตัว
             ต่อมาพอช่วงระยะข้าวตั้งท้อง  ก็ต้องมีการรับท้องข้าว  มีตาแหลวหรือชะลอมสานด้วยไม้ไผ่  มีกล้วย  อ้อย  ส้ม  หมากพลู  บุหรี่  1  มวน  วันรับท้องข้าวก็ต้องเป็นวันศุกร์  นำตาแหลวและชะลอมไปปักไว้ที่มุมนา  ด้วยไม้สะแก  แล้วอัญเชิญแม่ไพสพมาเสวยเครื่องไชยทาน
             ต่อมาพอช่วงระยะข้าวออกรวงแล้ว  เหลืองพอเกี่ยว  ก็จะต้องทำการแรกเกี่ยวอีก  ก็ต้องเป็นวันศุกร์  ทำการเกี่ยว  3  กำมือ  แล้วเอาเสียบไว้ที่รับท้องข้าว  ก็เริ่มเก็บเกี่ยวในแปลงนาต่อไปจนเสร็จเรียบร้อยดีแล้ว  จะเอาข้าวเข้าบ้านหรือเข้าลานก็ต้องเป็นวันศุกร์  เอาข้าวที่หมัดไว้นั้นมา  1  หาบ  เรียกว่า  เอาแม่โพสพมาเข้าบ้านหรือลาน  ต่อมาค่อยบรรทุกรถหรือเกวียนเข้ามา  แล้วกองหรือล้อมไว้ให้เป็นระเบียบ  ถ้าเป็นข้าวกองใหญ่จะเอาข้าวออกนวดก็ต้องทำน้ำมนต์ปะพรมกองข้าวก่อน  จึงจะรื้อกองข้าวลงมาย่ำหรือนวดได้  เสร็จแล้วก็เก็บขึ้นยุ้งฉางให้เป็นที่เรียบร้อย
             ระยะต่อมาเตรียมตัวไปรับขวัญข้าวจากทุ่งนา  นาสู่ยุ้งฉางก็ต้องเป็นวันศุกร์  สิ่งที่เชิญมีกระจาด  สายแหลก  ไม้คานฉาย  1  อัน  เอาไว้คอนกระจาด  มีผ้าขาวม้า  1  ผืน  เอาไว้คลุมหัวสายแหลก  ในกระจาดมีเสื้อผ้าใหม่ๆ  ของเจ้าบ้านและมีเงิน  มีทอง  น้ำอบ  น้ำหอม  น้ำ  1  ขวด  เผือก  มัน  ใบเงิน  ใบทอง  ใบสลอดทั้งต้น  แล้วเก็บเอารวงข้าวที่ตกอยู่ในนาใส่กระจาด  แล้วแต่จะเก็บได้เพื่อเอามาสู่ยุ้งฉาง
             ระยะต่อมาเพื่อรับขวัญข้าวที่นำมาสู่ยุ้งฉางแล้ว  ก็เริ่มทำพิธีสู่ขวัญ  ตั้งนะโม  3  จบ  แล้วระลึกถึงคุณพระพุทธ  คุณพระธรรม  คุณพระสงฆ์  เรียกเชิญขวัญแม่โพสพ  แม่โพศรี  แม่จันทร์เทวี  แม่ศรีศักดา  แม่ดอกข้าวเจ้า  แม่ดอกข้าวเหนียว  เชิญมาสู่ยุ้งฉาง  มาอยู่กับลูกกับเต้า  มาเลี้ยงลูกหลานให้อิ่มหนำสำราญ  ให้พอมีพอใช้  ขออย่าให้อดอยาก  อย่าได้ยากจน  เหลือกินเหลือใช้แล้วจะได้ทำบุญให้ทานกับผู้มีพระคุณ  หรือผู้ตกทุกข์ได้ยาก  นิภานังปัจจะโยโหตุ
             ขั้นตอนสุดท้ายเรียกว่า  ตักยุ้ง  ต้องเป็นเดือน  4  คือ  เดือนไทยข้างขึ้น  เว้นวันศุกร์  เลือกเอาวันไหนเป็นวันดี  คนที่จะตักข้าวออกจากยุ้งต้องเลือกคนที่เกิดปีมะโรง  ปีมะเส็ง  เพราะเป็นวันปีสัตว์ไม่กินข้าว  เมื่อตักข้าวออกมาแล้ว  เอาไว้ต่อเมื่อมีการทำบุญให้ทาน  หรือเอาให้เป็ด  ไก่  กินก็ได้  คือ  การให้
             จบพิธีการทำนาแบบสมัยที่ยังมิได้เปลี่ยนแปลง  หรือแบบไสยศาสตร์  คือข้าวนาปี  ถ้าตามขั้นตอนแล้วดูเหมือนหลายขั้นตอน  แต่ก็มิได้ทำคราวเดียวกัน  คือ  ทำเป็นระยะไปตามกาลเวลา  ทุกขั้นตอนไม่มีการลงทุนเรื่องการใช้เงิน  แต่มีการลงแรงและใช้เวลา  ข้าวนาปีต่อไร่ได้ผลผลิตประมาณ  ไร่ละ  35 – 40  ถัง  ก็มากแล้ว  ถามว่าคนยุคนั้นรวยหรือไม่  ?  ก็ไม่รวยไม่จน  แต่ไม่มีหนี้สิน  ทำนาปีละครั้ง  มีทรัพย์สิน  มีที่ดินสืบทอดไว้ให้ลูกหลานได้มีที่ดินไว้ทำมาหากินถึงทุกวันนี้  การทำมาหากินของบรรพบุรุษของเรานับว่า  น่าเป็นแบบอย่างที่ดี  หน้าเทิดทูนเป็นอย่างยิ่ง
             ดินดี  น้ำดี  อากาศดี  อาหารดี  เกษตรปลอดภัยจากสารเคมี  โรคภัยไข้เจ็บก็ไม่มาเบียดเบียน  ผู้คนยุคนั้นอยู่กันอย่างมีความสุข  อายุยืน  ไม่ค่อยมีการเสียชีวิตก่อนจะถึงวัยอันควร
             จริงอยู่สังคมในปัจจุบัน  สนุก  ร่าเริง  สะดวก  สบายไปทุกๆอย่าง  แต่ในใจจริงแล้ว  กระผมคิดว่า  ไม่มีความสุขที่แท้จริง  เพราะขาดกินขาดใช้แล้ว  ในครอบครัวก็ยังมีภาระหนี้สินผูกพันมันจะดีตรงไหน  ?  สนุกเดี๋ยวเดียวใจก็กลับหมองหม่นอย่างเก่า  แต่ถ้าพอมี  พอกิน  พอใช้  มันก็อิ่มเอิบในหัวใจ  สุขภาพจิตดี  ในชีวิตประจำวันก็มีความสุขแล้ว  จะได้อยู่กันอย่างไท  ไท

                                       
พระคาถาแรกนาในสมุดบันทึกของคุณบุญมา  ศรีแก้ว
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 2960เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2005 14:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 16:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท