วิธีวัดความดันเลือด(โลหิต)ด้วยตนเอง


วิธีวัดความดันเลือด(โลหิต)ด้วยตนเองให้แม่นยำขึ้น

 

 [ MedlinePlus ]

ภาพภาวะแทรกซ้อนกรณีเป็นโรคความดันเลือดสูงแล้วไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่อง > [ MedlinePlus ]

  • สมอง > Stroke = กลุ่มหลอดเลือดสมองแตก-ตีบตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต
  • ตา > ตาเสื่อมสภาพจากโรคความดันเลือดสูง
  • หัวใจ > โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน หัวใจเสื่อมสภาพ หัวใจวาย
  • ไต > ไตเสื่อมสภาพ ไตวาย

...

ครูบาอาจารย์ท่านสรุปไว้ให้จำได้ง่ายๆ คือ "สมอง-หัวใจ-ไต-ตา" เพื่อให้จำกลุ่มภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายขึ้น 

ถ้าเป็นเบาหวานแล้วไม่รักษาจะเพิ่มที่พบบ่อยไปอีกอย่างคือ "เท้า" อาจถูกตัดจากการติดเชื้อ หรือหลอดเลือดอุดตัน จึงเป็น "สมอง-หัวใจ-ไต-ตา-ตีน" (เพื่อให้ได้คำสัมผัสกัน ไม่ได้มุ่งคำหยาบ)

...

เว็บไซต์ 'MailOnline' ตีพิมพ์คำแนะนำในการตรวจวัดความดันเลือดด้วยตนเอง ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ 

ศ.พอล แพดฟีลด์ ประธานสมาคมความดันเลือดสูง UK (BHS) กล่าวว่า ความดันเลือด (blood pressure / BP) ของคนเราไม่ได้เป็นค่าคงที่ ทว่า... จะขึ้นๆ ลงๆ ทำให้การวัดหลายๆ ครั้ง อย่างต่ำ 20 ครั้ง นำค่าที่ได้มาเฉลี่ยกัน มีแนวโน้มจะดีกว่าวัดครั้งเดียว นานๆ ครั้ง

... 

UK ซึ่งมีประชากรใกล้เคียงกับไทยมีคนเป็นโรคความดันเลือดสูง (hypertension) ประมาณ 16 ล้านคน โรคนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่ทำให้คนเราเป็นสโตรค (strokes = กลุ่มโรคหลอดเลือดสมองแตก-ตีบตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต) โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันกำเริบ หัวใจวาย ไตเสื่อมสภาพ และไตวาย

วิธีวัดความดันเลือด (ความดันโลหิต) ด้วยตนเองได้แก่

(1). นั่งลง พัก 5 นาทีในห้องที่ค่อนข้างเงียบ ไม่มีเสียงดัง คนที่ตกใจง่าย หรือเพิ่งทำอะไรเหนื่อยมา เช่น วิ่ง ขึ้นลงบันได ฯลฯ อาจต้องพักนานถึง 15 นาที จึงจะดี

  • ถ้าไม่พัก > อาจวัดความดันเลือดได้สูงขึ้น

(2). วัดในท่านั่งให้เท้าวางราบบนพื้น แขนวางราบขนานกับพื้นโลก และอยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ

  • ถ้าแขนอยู่ต่ำกว่าหัวใจ > อาจวัดความดันเลือดได้สูงขึ้น
  • ถ้าแขนอยู่สูงกว่าหัวใจ > อาจวัดความดันเลือดได้ต่ำขึ้น

(3). หลีกเลี่ยงการวัดในช่วง 30 นาทีหลังอาหารมื้อใหญ่ ดื่มกาแฟ หรือสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นช่วงที่ความดันเลือดอาจสูงขึ้นชั่วคราว การออกแรง-ออกกำลังอย่างหนักอาจทำให้ความดันเลือดสูงชั่วคราวได้เช่นกัน

(4).  วัดเวลาเดียวกัน โดยวัดตอนเช้า 2 ครั้ง + เย็น 2 ครั้ง รวม 7 วัน

(5). ทิ้งค่าที่วัดได้ในวันแรกไป (อาจจะตื่นเต้น ทำให้ค่าสูงเกินจริงได้) นำค่าที่ได้ในวันที่ 2-7 รวม 6 วัน 24 ครั้งมาหาค่าเฉลี่ย

  • ถ้านำค่าวันแรกมาคิด > อาจทำให้ได้ค่าเฉลี่ยสูงขึ้น

(6). วัดความดันเลือดแขน 2 ข้างเปรียบเทียบกัน ปกติแขนข้างที่ถนัดมักจะโตกว่าแขนข้างที่ไม่ถนัด ซึ่งเป็นผลจากการออกกำลัง ทำให้กล้ามเนื้อโตไม่เท่ากัน หรือเส้นเลือดข้างที่ใช้งานมากโตกว่าข้างที่ใช้งานน้อย

  • แนะนำให้วัดแขนที่ความดันเลือดสูงกว่าเป็นหลัก และถ้าความดันเลือดแขน 2 ข้างไม่เท่ากัน ควรปรึกษาหารือกับหมอใกล้บ้าน เนื่องจากโรคหลอดเลือดใหญ่ตีบบางชนิดอาจทำให้ความดันเลือดไม่เท่ากันได้

... 

การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่า แขนข้างที่ถนัดอาจวัดความดันเลือดได้สูงกว่าอีกข้างหนึ่งได้มากจนถึง 10 หน่วย จึงควรวัดจากแขนข้างที่ถนัดเป็นหลัก ตามหลักฟิสิกส์... แรงดันจะแปรตามรัศมียกกำลังสี่ [ Hagen-Poiseuille ]

คนที่มีผอมหรือแขนเล็กมากๆ อาจวัดความดันเลือดได้ต่ำกว่าจริง เนื่องจากระยะทางจากเส้นเลือดแดงไปถึงผิวหนังน้อยกว่าคนที่อ้วนหรือแขนโตมากๆ

... 

ท่านที่วัดความดันเลือดด้วยตนเองควรนำเครื่องวัดไปที่โรงพยาบาล เพื่อเปรียบเทียบกับเครื่องวัดอื่นอย่างน้อยทุกปี ถ้าวัดแขนข้างเดียวกันของคนๆ เดียวกันได้ค่าต่างกันอาจบอกว่า เครื่องใดเครื่องหนึ่งน่าจะผิดพลาด

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ 

 ติดตามบล็อกของเราได้ทางทวิตเตอร์ > [ Twitter ]

ที่มา                                                                      

  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง สงวนลิขสิทธิ์. ยินดีให้นำไปเผยแพร่โดยอ้างอิงที่มาได้. ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า > 9 กันยายน 2552.
  • ข้อมูล ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแล ท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.

หมายเลขบันทึก: 295956เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2009 18:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 18:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท