กระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา


ฮอมปอยเพื่อการศึกษา

 ฮอมปอย : จากวัฒนธรรมเก่าสู่แนวทางใหม่เพื่อพัฒนาการศึกษา

 

                                บทเรียน วิถีชีวิตต่าง ๆ ของผู้คนในอดีต หากคนรุ่นหลังรู้จักนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบริบท ความเปลี่ยนแปลงของสังคมจะก่อเกิดการพัฒนาที่ต่อยอด ให้คุณประโยชน์อย่างยิ่งทั้งต่อตนเองและสังคมในภาพรวม 

                        ผู้คนชนบทภาคเหนือในอดีต มีน้ำใจและความเอื้ออาทรมอบให้แก่กันและกันเสมอมา การมีชีวิตที่เรียบง่าย กลมกลืนกับธรรมชาติการที่ใครจะสร้างบ้านเพื่ออยู่อาศัยหรือสร้างครอบครัวใหม่ เพียงแค่เดินบอกเพื่อนบ้านก็จะมาช่วยกันทำอย่างเต็มอกเต็มใจ ใครมีฟัก มีผัก มีไก่ก็นำมาช่วยเหลือ ผู้ชายออกแรงกาย  ผู้หญิงช่วยกันทำอาหาร ผู้เฒ่าผู้แก่คอยให้คำแนะนำตามประสบการณ์เดิมและคอยให้กำลังใจแก่คนรุ่นหลัง เด็ก ๆ ได้วิ่งเล่นและเรียนรู้สิ่งที่ผู้ใหญ่ทำเพื่อนำไปใช้ในวันข้างหน้า เป็น การร่วมแรงร่วมใจ ช่วยเหลือในสิ่งที่ตนมีและทำได้คนละไม้ละมือ เรียกว่าเป็นการฮอมปอย ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ดีงาม ควรค่าแก่การรักษาและสืบทอดไว้ในสังคมยุคปัจจุบัน

                        การฮอมปอย  เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของคนล้านนา

ฮอม  หมายถึง การนำปัจจัย หรือสิ่งของมารวมกัน

                        ปอย  หมายถึง  งานบุญ หรือการจัดงานในวาระเฉลิมฉลองสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีผู้คนมาร่วมงานจำนวนมาก งานปอยมีหลายชนิด ได้แก่ 

                        ปอยเข้าสังฆ์ เป็นงานบุญที่อุทิศส่วนกุศลไปหาผู้ตาย

                        ปอยล้อหรือปอยลากประสาท  เป็นงานบุญที่จัดขึ้นในการประชุมเพลิงพระภิกษุสงฆ์ที่มรณภาพ

                                ปอยลูกแก้ว/ปอยหน้อย เป็นงานบุญในพิธีบรรพชาหรือบวช

                        ปอยหลวง เป็นงานบุญที่จัดเพื่อฉลองศาสนสถาน  เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ กำแพงวัด เป็นต้น

                        งานปอยจะเป็นงานที่ทุกคนมีส่วนร่วมด้วยความเต็มใจ ไม่ว่าจะเป็นการฮอมเงิน วัตถุสิ่งของหรือแรงกายก็ตาม เพราะต่างถือว่าสิ่งที่ได้รับจากงานปอย คือ บุญ

 

                        จากการมองเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมการร่วมแรงร่วมใจ ช่วยเหลือกัน หรือที่เรียกว่า  การฮอมปอย          ณ  โรงเรียนชีวิต (LIFE LONG LEARNING CENTER) อ.เมือง จ.ลำปาง     จึงได้มีการนำวัฒนธรรมฮอมปอยมาใช้เพื่อพัฒนาการศึกษาให้แก่เด็ก ๆ  ภายใต้แนวคิดการพัฒนาการศึกษาที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องสร้างฝันร่วมกันเพื่อพัฒนาการศึกษา ทุกคนควรร่วมคิดร่วมสร้างแทนที่จะโยนภาระความรับผิดชอบให้แก่ผู้ใดหรือหน่วยงานใดโดยเฉพาะ  ทำจากจุดเล็ก ๆ ที่เราทำได้  อยากให้สังคมเป็นอย่างไรให้ร่วมมือกันทำ ให้ทั้งแนวความคิด และหลักการทำสังคมน่าอยู่เพื่อเป็นมรดกแก่บุตรหลาน ดีกว่าโยนบาปให้เด็กหรือแค่วิพากษ์สังคมแต่เพียงอย่างเดียว  กิจกรรมพัฒนาการศึกษาที่เกิดจากการฮอมปอยร่วมไม้ร่วมมือกันของทั้งผู้รับและผู้ให้  มีกิจกรรมพัฒนาเด็กและเยาวชน อาทิ กิจกรรมการเข้าค่ายลูกเสือ ,ค่ายภาษาอังกฤษและค่ายศิลปะ  ค่ายภูมิปัญญาท้องถิ่น ค่ายคุณธรรม  ฯลฯ  ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างช่วยกัน

                        กิจกรรมดังกล่าวก่อเกิดขึ้นจากวิถีชีวิตและจิตใจแห่งความเอื้ออาทรของผู้คนที่มีให้แก่กัน ทุกคนผลัดกันเป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ที่สมดุล ซึ่งหาได้ไม่ง่ายนักในสังคมยุคปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่ให้คุณค่าของเงินที่เชื่อว่าสามารถบันดาลทุกอย่างให้เกิดขึ้นตามต้องการ  แต่บางครั้งคุณค่าด้านจิตใจยิ่งใหญ่กว่า  “เงิน”

            ณ  ที่แห่งนี้  จะมีภาพกิจกรรมที่เกิดจากการฮอมปอยทางการศึกษาเกิดขึ้นเป็นประจำและอย่างต่อเนื่อง  มีผู้ใจบุญในสังคมต่างมาช่วยกันถ่ายทอดความรู้และสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นแรงกาย แรงใจและกำลังทรัพย์ เช่น ขนม อุปกรณ์การเรียน เป็นต้น ลักษณะการจัดกิจกรรมจะเลือกจัดตามความสนใจของผู้เรียน และความพร้อมของวิทยากรผู้มาให้ความรู้ อาจเรียนใต้ต้นไม้ กลางทุ่งนา   จะนั่งหรือนอนได้ตามความเหมาะสมของกิจกรรม 

            นักเรียนที่มาเรียนห่อข้าวมากินเองแล้วได้ความรู้กลับไป ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ทุกคนต้องรับผิดชอบชีวิตตนเอง ส่วนสิ่งที่ได้รับจากผู้อื่นคือของแถม

            วิทยากร สละเวลา กำลังกาย กำลังทรัพย์  สิ่งที่ได้  คือ บุญ หรือความสบายใจ

            คุณครู ได้ทำหน้าที่ของการเป็นผู้ชี้แนะและผู้ให้

                สิ่งเหล่านี้ คือ การฮอมปอย เป็นวัฒนธรรมเก่าสู่แนวทางใหม่เพื่อการพัฒนาการศึกษา

                ผอ.วิรัตน์  มาน้อย  จากโรงเรียนบ้านทุ่งฝาย  อ.เมือง จังหวัดลำปาง ผู้มีบทบาทสำคัญและให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรม และพานักเรียนมาเรียนรู้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียนชีวิตเป็นประจำ  กล่าวว่า

             “ตอนเป็นเด็กนักเรียนรู้สึกอึดอัดและกดดันในการเรียนหนังสือที่ต้องนั่งเรียนอยู่แต่ในห้อง คุณครูก็ดุ อยากออกไปเรียนรู้นอกโรงเรียนบ้างแต่ไม่เคยได้ออกไป พอมีโอกาสเป็นผู้บริหารโรงเรียนจึงได้จัดทำโครงการที่มีกิจกรรมให้เด็กเรียนรู้นอกสถานที่ ได้มีโอกาสฝึกประสบการณ์และเรียนรู้ด้วยความสนุกสนาน  เด็กนักเรียนชอบที่จะมาเรียนที่โรงเรียนชีวิตแห่งนี้ เพราะมีบรรยากาศที่ร่มรื่นสวยงาม  สนุกสนานและได้รับความรู้กลับไปด้วย”

            นักเรียนที่เข้ามาเรียนรู้ร่วมกันต่างกล่าวว่า ชอบและสนุกที่ได้มาเรียนรู้ที่นี่ เพราะมีบรรยากาศของการเรียนที่ทำให้ไม่เบื่อ การสอนของวิทยากรก็ไม่ต้องมีคะแนนมาขู่ให้กลัว ความรู้ที่ได้รับมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับศักยภาพของผู้เรียนและความต้องการที่จะรับ

            “ มาเรียนที่นี่ทำให้หนูชอบเรียนวิชาภาษาอังกฤษที่วิทยากรสอน ทั้งที่แต่ก่อนหนูไม่ชอบเลย ทำให้คิดว่าภาษาอังกฤษไม่ได้ยากอย่างที่คิดอีกต่อไป หนูจะตั้งใจเรียนภาษาอังกฤษให้ดีกว่าเดิม” น้องหมี เด็กนักเรียนหญิงชั้น ป.6 โรงเรียนบ้านทุ่งฝาย กล่าวหลังจากได้มาเข้าค่ายภาษาอังกฤษเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

            อาจารย์รัศมี  โคคา  อาจารย์ผู้สอนภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตหนึ่งในทีมวิทยากรที่มักจะเข้ามาช่วยเหลือกิจกรรมในโรงเรียนชีวิต  บอกว่า  “จะมาช่วยสอนภาษาอังกฤษให้กับน้อง       ๆ นักเรียน และคุณครูที่นี่อีก และจะชวนเพื่อน ๆ มาช่วยด้วย เพราะมาที่นี่รู้สึกว่ามาเติมเต็มชีวิต  สบายใจและมีความสุขจากการให้”

                ผู้ปกครองนักเรียนจากโรงเรียนอนุบาลทิวฟ้า  ที่เห็นความสำคัญของการศึกษา มักจะพาลูกมาเรียนรู้กิจกรรมร่วมกับพี่ ๆ นักเรียนระดับประถมศึกษา  กล่าว่า  “ลูกชายชอบที่จะมาเรียนที่นี่ เพราะว่าสนุก มีที่ให้วิ่งเล่น  ลูกชายกล้าแสดงออกมากขึ้นเมื่อคุณครูจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้เด็กได้ฝึกและเห็นจากสภาพจริง  อยากให้มีแหล่งเรียนรู้เหมือนโรงเรียนชีวิตนี้มาก ๆ  จะทำให้เด็กมีความสุขจากการเรียนแทนที่จะเรียนจนเครียดเหมือนเด็กนักเรียนในปัจจุบัน”

                        ครูเพ็น หรือ อาจารย์วาจิส  กันทะวัง  อาจารย์ผู้สอนรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต  ศูนย์ลำปาง  ผู้ก่อตั้งโรงเรียนชีวิต กล่าวถึงเหตุผลที่จัดกิจกรรมพัฒนาเด็กและเยาวชนว่า  “   การศึกษาเป็นกระบวนการในการพัฒนาคนเพื่อให้เต็มตามศักยภาพการศึกษาช่วยสร้างคน  และสร้างชาติ  การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญและช่วยเติมความเป็นมนุษย์ของเราให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น  การศึกษาเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีความแตกต่างกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ  ทำให้มนุษย์เกิดการเรียนรู้เพื่อการแก้ไขปัญหา  และค้นพบสิ่งใหม่ ๆ  ดังนั้นการจะพัฒนาประเทศและทำสังคมให้น่าอยู่ สิ่งแรกที่ควรให้ความสนใจ  คือ  พัฒนาการศึกษา”   

                   เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา  มีกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนต่างมาร่วมแรงร่วมใจถ่ายทอดประสบการณ์ ความชำนาญที่มีมาตลอดชีวิตเพื่อเก็บไว้เป็นองค์ความรู้ถ่ายทอดให้กับเด็กรุ่นต่อไป  มีการจัดกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดการทำเครื่องมือเครื่องใช้ในท้องถิ่น และวิถีชีวิตของผู้คนในหมู่บ้าน เช่น สานตระกร้า ทำน้ำคอก(ภาชนะบรรจุน้ำที่ทำจากไม้ไผ่)  ทำกลองขุม  ห่อขนมจอก คนขนมปาด  การขับจ้อย ขับซอและเล่นดนตรีพื้นเมือง สะล้อ ซอ ซึง เป็นต้น

                        ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มาร่วมกิจกรรมในวันนั้นบอกว่า  มีความสุขที่มีโอกาสมาถ่ายทอดความรู้ที่ตนมี เพราะปกติลูกหลานไม่ค่อยสนใจให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ พวกเขาจะสนใจในสิ่งที่ทันสมัย  สิ่งที่ปู่ย่าตายายคิดและทำเป็นสิ่งล้าหลังและไม่น่าสนใจสำหรับพวกเขา  ผู้เฒ่าทั้งหลายจึงอยู่เหมือนดอกไม้พลาสติกใช้ประดับบ้านไม่มีชีวิตชีวาและผู้คนให้ความสำคัญน้อยลง   เมื่อมาที่นี่รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า อยากมีชีวิตต่อให้ยาวนานเพื่อเป็นประโยชน์แก่ลูกหลานสืบไป

                        โรงเรียนชีวิต  ให้โอกาสทุกคนในการเรียนรู้ จึงเปรียบเสมือนเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การถ่ายทอดสิ่งดี มีประโยชน์ให้กับผู้อื่น  คนเราทุกคนมีศักยภาพและความพร้อมที่แตกต่างกันไป ทุกคนมีดีของตนเองเสมอแต่ส่วนใหญ่ขาดโอกาสและการยอมรับจากสังคม

                   โรงเรียนชีวิต  ได้นำแนวคิดเรื่องการฮอมปอยมาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้  มีการประสานความร่วมมือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการช่วยเหลือกันเพื่อพัฒนาสังคมให้น่าอยู่ ไม่ว่าจะเป็นผู้รู้ในสังคม ผู้ทรงภูมิปัญญาท้องถิ่นมาถ่ายทอดความรู้แก่เด็กและเยาวชน  เป็นการมอบสิ่งดี ๆ ที่สั่งสมมาตลอดชีวิต เพื่อเป็นมรดกแก่ลูกหลานในท้องถิ่นต่อไป  เพื่อให้เด็กเหล่านี้เกิดความรักในท้องถิ่นของตนเองแทนการละทิ้งสิ่งดีงามในท้องถิ่น เหมือนนิทานเรื่องหมากับเงาที่สุดท้ายก็ไม่เหลืออะไรเลย  ดังนั้น  โรงเรียนชีวิตจึงเป็นการรวมคนที่มีจิตใจเดียวกันมาช่วยเหลือสังคมในสิ่งที่ตนทำได้  ใครมีความรู้ให้ความรู้ ใครมีกำลังกายให้กำลังกาย  ใครมีใจให้ใจ ใครมีทรัพย์ให้ทรัพย์ ผลัดกันรับและให้ด้วยความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ ทุกอย่างเกิดจากความพร้อมของทุกฝ่าย กิจกรรมในลักษณะนี้ดำเนินมาได้นับ 10 ปี  โดยเริ่มมีกิจกรรมมาตั้งแต่ปลายปี  2542  จนถึงปัจจุบัน มีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมและการดำเนินงานให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับบริบทและความเปลี่ยนแปลงของสังคม 

                        การฮอมปอย  จะเกิดประโยชน์สูงสุดเมื่อผู้ให้ต่างให้ด้วยความเต็มใจ โดยไม่หวังปัจจัยอื่นเป็นสิ่งตอบแทนเป็น  นอกเหนือจาก “บุญ”

                        วัฒนธรรมการฮอมปอย จะถูกนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้คน และโรงเรียนชีวิตจะยังดำเนินต่อไป ตราบเท่าที่ผู้คนในสังคมพร้อมที่จะเป็นผู้รับและผู้ให้ในระดับที่สมดุล เป็นกิจกรรมเล็ก ๆ ของกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง ที่มีใจพร้อมที่จะช่วยพัฒนาสังคมแทนการกล่าวโทษถึงความย่ำแย่ของสังคมแต่เพียงอย่างเดียว

 

***

หมายเลขบันทึก: 295486เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2009 15:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ตุลาคม 2017 10:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับอาจารย์

-เพิ่งทราบว่าอาจารย์ก็เป็นสมาชิก G2K

-แม้ว่าบันทึกนี้จะผ่านมา 8 ปี แล้วแต่ก็ยังมีคุณค่าและสร้างแรงบันดาลใจได้มากทีเดียวครับ

-ยินดีต้อนรับอาจารย์สู่ G2K อีกครั้งนะครับ

-ต่อไปคงได้เรียนรู้และขอคำปรึกษาต่างๆ อีกมากทีเดียวครับ

-ขอบคุณสำหรับมิตรภาพดีๆ ที่ได้สัมผัส ณ โรงเรียนชีวิต ด้วยนะครับ..


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท