กระตุ้นการรับรู้: สื่อสารผ่านกิจกรรมบำบัด


ขอบคุณกรณีศึกษาเด็ก คุณแม่ของเด็ก และนักกิจกรรมบำบัด ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สังเกตแนวทางการกระตุ้นการรับรู้ต่อการแสดงภาษาท่าทางผ่านกิจกรรมที่เด็กสนใจ (Cognitive Training & Leisure Satisfaction) ณ คลินิกกิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด ม.มหิดล โทร. 02-4330140 ต่อ 609 (ฝ่ายเด็ก) หรือ 610 (ฝ่ายผู้ใหญ่) ...กดต่อทันทีแม้ว่าสัญญาณเงียบ

เมื่อวานผมมีโอกาสสังเกตและให้คำปรึกษาคุณแม่ท่านหนึ่งเพื่อช่วยเหลือเด็กโตที่มีความบกพร่องทางระบบประสาทกล้ามเนื้อ

ผมเคยประเมินและฝึกทักษะการกินอาหาร เมื่อเด็กคนนี้อายุไม่เกิน 2 ปี ซึ่งขณะนั้นพบปัญญาของการรับรู้ที่ต้องการลดความไวของการรับสัมผัส เพิ่มสหสัมพันธ์ของการกลืนและการหายใจ เพิ่มระดับความสนใจขณะมีการป้อนอาหาร และเพิ่มทักษะการควบคุมร่างกายขณะนั่งทานอาหาร

หลังจากกลับมาจากเรียน ป. เอก ที่ออสเตรเลีย เด็กคนนี้โตขึ้นมากและพอที่นั่งทานอาหารด้วยวิธีป้อนโดยนั่งในเก้าอี้ประคองคอและลำตัว แต่เด็กยังคงมีสภาวะความรู้ความเข้าใจ (Cognitive Level) แบบ Manual action คือ สามารถเข้าใจเสียงและภาพ แต่สื่อสารด้วยภาษาท่าทางง่ายๆ เช่น เสียงอือ จ้องมองสบตา เอื้อมมือ เป็นต้น ต้องมีการช่วยเหลือด้านทักษะการเคลื่อนไหวร่างกายมากจากผู้ดูแล

เป้าหมายของนักกิจกรรมบำบัด คือ เพิ่มความรู้ความเข้าใจสู่ระดับ Goal-directed action คือ สามารถเข้าใจและสื่อสารท่าทางได้ทันทีโดยไม่ต้องกระตุ้นการรับความรู้สึกมากกว่า 3 ครั้ง และมีรูปแบบการสื่อสารที่สอดคล้องกับเป้าหมายของกิจกรรม 1-2 ขั้นตอน อย่างสำเร็จผล

เหตุผลลึกๆ คือ ผู้ปกครอง ผู้บำบัด และผู้เลี้ยงดู จะได้เข้าใจและแนะนำการสื่อสารเรียนรู้ผ่านกิจกรรมได้ตรงกับความต้องการ ความสนใจ และความสุขของเด็กคนนี้

ผมเริ่มแนะนำคุณแม่ของผู้ปกครองเด็กให้ลองฝึกสังเกตพฤติกรรมการทำกิจกรรม 1 ขั้นตอน ที่มีการกระตุ้นการรับรู้ความรู้สึก 1 อย่าง ในระยะเวลา 5 นาที

ตัวอย่าง เด็กนอนสำรวจของเล่นที่มีแสงปนอยู่กับของเล่นที่มีเสียง

           คุณแม่ต้องฝึกการสังเกตภาษาท่าทางของเด็กว่า "น่าจะสนใจหรือชอบเล่นผ่านการรับรู้ใดระหว่างสื่อการมองเห็นหรือการได้ยิน"

           ทั้งนี้การสังเกตนั้นต้องไม่มีการช่วยเหลือทางการสัมผัสร่างกายหรือการบอกคำสั่งจากคุณแม่ เพราะจะปิดโอกาสช่วงที่คุณแม่จะเห็น "ศักยภาพของการใช้ภาษาท่าทางของเด็กที่มีความบกพร่องทางระบบประสาทกล้ามเนื้อ"

           เด็กคนนี้มองของเล่นที่มีแสงแบบผ่านๆ แล้วชำเลืองมองของเล่นที่บังเอิญกลิ้งไปโดนแล้วได้ยินเสียง ที่สำคัญนักกิจกรรมบำบัดสอบถามคุณแม่เรื่อง "สื่อและสิ่งแวดล้อมที่เด็กสนใจที่จะเล่นอย่างมีความสุขที่บ้าน" พบว่า เด็กชอบเสียงดนตรีมากกว่าที่จะมองของเล่นที่มีแสง

           จากนั้นผมลองจัดท่าทางให้เด็กนั่งพิงหมอนในท่าสบายๆ ไม่มีการจับบังคับ แล้ววางของเล่นที่มีเสียงไว้ในระดับที่เด็กจ้องมองอย่างสนใจและเรียนรู้ได้อย่างธรรมชาติ

           ผมสาธิตให้คุณแม่ดูก่อนว่า เมื่อเลือกสื่อที่เด็กรับรู้ได้ ก็จัดลำดับการกระตุ้นการรับรู้อย่างมีเป้าหมายไม่น้อยกว่า 3 ขั้นตอน เช่น ผมแตะของเล่นให้เกิดเสียงขณะเด็กมอง (สื่อกระตุ้น = เสียงของเล่น) ผมคุยกับเด็กว่า "น้องแตะของเล่นให้มีเสียงซิครับ" (สื่อกระตุ้น = เสียงผม) และผมสัมผัสมือเด็กไปแตะของเล่นให้มีเสียง (สื่อกระตุ้น = สัมผัสมือเด็ก ตามด้วย เสียงของเล่น)

           จากนั้นลองให้เวลาไม่เกิน 5 นาท เพื่อสังเกตการตอบสนองของเด็กหลังจากกระตุ้นการรับรู้ข้างต้น โดยไม่ให้มีการสะสมของความล้าทางความรู้ความเข้าใจ (Cognitive fatigue) ในการเข้าใจและส่งร่างกายที่อ่อนแรงเล่นเสียงหรือสื่อสารตามที่ผมบอก

           ผมจัดลำดับเพื่อประเมินผลของการเรียนรู้ผ่านสื่อการรับรู้ เช่น ผมคุยกับเด็กให้เล่นเสียงของเล่น แล้วรอดูว่า เด็กจะใช้มือของเขาไปแตะของเล่นให้มีเสียงได้หรือไม่ ทั้งนี้ผมจะให้คำพูดอย่างสบายๆ 1 ครั้งสลับกับภาษาท่าทางแตะของเล่นให้มีเสียง 1 ครั้ง แล้วรอซัก 5 นาที จนกว่าเด็กจะตอบสนองอย่างตั้งใจ 1 ครั้ง แต่ถ้าเด็กไม่ตอบสนองอะไรเลย ก็จัดท่าเด็กให้ผ่อนคลาย เช่น นอนเล่น ให้คุณแม่กอด พักทานน้ำหวาน เป็นต้น พักอีกซัก 5 นาที ค่อยเริ่มใหม่ อาจจะไม่ใช้กิจกรรมเดิม หรือสังเกตว่าเด็กสนใจกิจกรรมใหม่หรือไม่ หากสนใจก็จัดลำดับการกระตุ้นการรับรู้อีกครั้งในกิจกรรมเดิมหรือใหม่ แต่โดยรวมแล้วไม่ควรฝึกกิจกรรมเหล่านี้เกิน 20 นาทีครับ

           ขอบคุณคุณแม่ของน้องกรณีศึกษาที่ทำให้ผมเรียนรู้ผลของการกระตุ้นสื่อการรับรู้ครับ

 

          

 

 

หมายเลขบันทึก: 294260เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2009 12:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 22:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ยังมีคนที่ไม่รู้จักนักกิจกรรมบำบัดอยู่นะครับ สมาคมน่าจะมีบทบาทต่อสังคมมากกว่านี้นะครับ ไม่ใช่ให้อาจารย์ป็อปออกมาพูดคนเดียว

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับคุณยงยศ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท