นิตยสารฝาผนัง


น่าภูมิใจแทนคนลำปางนะครับที่เจ้าของกิจการร้านอาหาร (เอ็ม.เจ.สเต็กเฮ้า) มีความคิดที่จะช่วยกันอนุรักษ์ และเผยแพร่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาผ่านพื้นที่ที่เป็นฝาผนัง โดยให้ชื่อว่านิตยสารฝาผนัง

 

อันเนื่องมาจากอาจารย์อนุชาติ ยศปัน ผมมีโอกาสทำงานกับอาจารย์อนุชาติ ยศปัน โดยเฉพาะเรื่องงานวิจัย ท่านเคยเป็นผู้อำนวยการสำนักวิจัยของมหาวิทยาลัย และทำวิจัยมาต่อเนื่องทุกปีไม่เคยเว้น ได้มีโอกาสทำวิจัยร่วมกับท่าน ได้อาศัยท่านเป็นที่ปรึกษา ท่านมักจะชวนไปทานข้าวกลางวันบ่อย ๆ แต่ผมก็มักจะปฏิเสธ  ก็จะบอกท่านไปว่ามีงานโน่นนี่จะต้องทำ ต้องสอน และก็จะถามย้อนกลับไปว่ามันมีอะไรที่ร้านอาหาร ท่านก็พูดในเชิงให้ข้อคิดว่า “การอนุมัติโครงการใหญ่ ๆ ของรัฐบาลเข้ามักจะอนุมัติกันที่ร้านอาหาร หรือไม่ก็สนามกอล์ฟ”

เมื่อวานนี้ท่านก็ผ่านห้องทำงานผมและก็ถามว่าว่างวันไหน จากการผลัดมาหลายครั้งก็เลยบอกว่าวันพรุ่งนี่ ก็คือวันนี้ ผมขอเป็นคนขับรถพอออกรถผมก็ถามว่าไปที่ไหนท่านบอกว่าแถวแยกวัดท่าคราวน้อยอยู่แถวเชิงสะพาน ไปถึงปรากฏว่าเป็นร้าน เอ็ม.เจ.สเต็กเฮ้าส์ บุ๊ฟเฟต์

ร้านนี้ผมผ่านไปมาหลายครั้งแต่ไม่เคยแวะ ก็อาจารย์อนุชาติชวนไปนี่แหละถึงได้รู้จักร้านนี้ ผมว่าร้านนี้มีความพิเศษกว่าร้านอื่น ๆ เท่าที่เคยพบมา ผมยังไม่พูดถึงอาหาร แต่ขอเล่าบรรยากาศในร้านก่อน ที่ฝาผนังมีภาพใหญ่เป็นภาพท่อนซุงไม้สักที่ไหลมาตามแม่น้ำวังอย่างทะลักทลายติดอยู่ที่สะพานรัษฎาเมื่อ พ.ศ.2463 นอกจากนี้ยังมีภาพสถานีรถไฟนครลำปางที่สร้างเสร็จใหม่ ๆ และก็เป็นวันที่รถม้ามาถึงลำปางภาพหอนาฬิกาตอนสร้างเสร็จใหม่ ๆ ภาพย่านตลาดเก่า ที่เป็น "กาดกองต้า" อยู่ทุกวันนี้ ภาพร้านตัดผมเก่าแก่ในลำปาง พอเห็นแล้วรู้สึกว่าอยากคุยกับเจ้าของร้านจังเลย เห็นภาพหนึ่งเป็นภาพน้ำพุบริเวณสี่แยกสถานีรถไฟ ซึ่งไม่ใช่น้ำพุในปัจจุบัน เท่าที่จำได้ผมมาอยู่ลำปางปี 2531 ตรงบริเวณน้ำพุนี้เป็นอนุสาวรีย์เกือกม้าซึ่งถูกทุบทิ้งไปแล้ว แล้วสร้างเป็นน้ำพุปัจจุบัน คิดแล้วก็แปลกดีนะครับสร้างแล้วทุบทุบแล้วสร้างวนเวียนเปลี่ยนไปตามยุคสมัยไหงกลับมาเป็นน้ำพุอีกรอบ

หลังจากท่านอาหารอิ่มแล้วก็เลยเดินดูภาพที่ผนังปรากฏว่ามีป้ายเขียนไว้ว่า หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ม.ราชภัฏลำปาง เป็นแหล่งให้ข้อมูลเรียกว่า "นิตยสารฝาผนัง" มีเวลาคุยกับเจ้าของร้านนิดเดียวทราบว่าคนที่ให้ข้อมูลคือ อาจารย์ศักด์ (สักเสริญ) รัตนชัย ร่วมกับความคิดของเจ้าของร้านที่ต้องการเผยแพร่ประวัติของลำปางในทุกด้าน ผ่านนิตยสารฝาผนังของร้าน

วันนี้ นิตยสารฝาผนัง หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ม.ราชภัฏลำปาง ที่ร้านเอ็ม.เจ.สเต็กเฮ้าส์ กำลังนำเสนอเรื่องราวของสะพานรัษฎาภิเษก สะพานคู่ลำปางมาถึง 92 ปี รอดพ้นจากการระเบิดทิ้งถึง 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ช่วงปี พ.ศ.2460 ต่อ 2461 ครั้งที่ 2 มหาอุทกภัยแม่น้ำวังไม้ซุงสักกว่าสามหมื่นท่อน ติดสะพานขวางลำแม่น้ำวังเมื่อเดือน สิงหาคม 2463 และครั้งที่ 3 ระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา พ.ศ. 2484-2488 (มีเอกสารแจกด้วยครับเป็นแผ่นปลิว)

น่าภูมิใจแทนคนลำปางนะครับที่เจ้าของกิจการร้านอาหาร (เอ็ม.เจ.สเต็กเฮ้า) มีความคิดที่จะช่วยกันอนุรักษ์ และเผยแพร่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาผ่านพื้นที่ที่เป็นฝาผนัง โดยให้ชื่อว่านิตยสารฝาผนัง

ขอขอบคุณเจ้าของร้านเอ็ม.เจ.สเต็กเฮ้า (ขออภัยผมยังไม่ได้ถามชื่อเลยครับ) และอาจารย์ศักดิ์(สักเสริญ) รัตนชัย ผมคงหาโอกาสคุยกับทั้งสองท่านได้รายละเอียดเพิ่มเติมอย่างไรแล้วจะมาเล่าให้ฟังครับ และขอบคุณอาจารย์อนุชาติ ยศปัน ที่พาผมไปร้านนี้ด้วยครับ

กลับมาถึงที่ทำงาน 13.10 น. ผมขอบคุณอาจารย์อนุชาติ ท่านบอกว่า “วันหลังพาผมไปกินบ้างซิ หาร้านที่มันเดิ้น ๆ หน่อย”

 

ที่มา : ประวัติสะพานรัษฎาภิเษก (แผ่นปลิว) ร้านเอ็ม.เจ.สเต็กเฮ้า

หมายเลขบันทึก: 293648เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2009 14:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2012 17:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 

นำสื่อดีๆ ที่เห็นมิติของบุญกุศล
และองค์ความรู้ที่จะนำไปปฎิบัติในการเรียนการสอนมาฝากครับ


 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท