สุญญากาศการเมืองทุบ ศก. พัง รมต.รักษาการแค่ "เป็ดง่อย"


สุญญากาศการเมือง
       รัฐบาลเครียด การเมืองทำเศรษฐกิจพัง งบฯ ปี"50 ช้าไปอีก 6 เดือน งบฯ ก่อสร้าง ศึกษาฯ สาธารณสุข    ปี"49 ค้างจ่ายเพียบ "สมคิด" วอนรัฐมนตรีอย่าทำงานแบบรักษาการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา รัฐมนตรีหลายคน    ได้แสดงความกังวลถึงปัญหาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง ดังนั้น ครม.    จะปฏิบัติหน้าที่แบบรัฐบาลรักษาการไม่ได้ เร่งทำงานให้เต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการบริหารงบประมาณ การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ในส่วนของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และงบฯ ลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เพราะโดยภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคยังพอขับเคลื่อนไปได้  "เดิมรัฐบาลวางแผนไว้ว่าจะรักษาการแค่ 60 วัน คือ จัดการเลือกตั้งและจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เสร็จสิ้น แต่ตอนนี้สถานการณ์การเมืองและปัจจัยทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปมาก คาดว่ากว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้ก็คงจะเป็นช่วงต้นเดือนธันวาคม 2549 ระหว่างนี้กินเวลาอีก 5 เดือน ถ้า ครม.ยังปฏิบัติหน้าที่แบบรักษาการ  ต่างประเทศจะมองเราว่าเป็นเป็ดง่อย จึงขอให้รัฐมนตรีทุกคนเร่งทำหน้าที่ให้ประเทศขับเคลื่อนไปได้" แหล่งข่าวอ้างคำพูดของรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจรายหนึ่ง
       นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. หารือเรื่องปัญหาเศรษฐกิจอย่างเคร่งเครียด เพราะขณะนี้เริ่มมองเห็นปัญหาแล้ว เช่น การใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 ที่อาจจะต้องล่าช้าออกไปถึง 2 ไตรมาส กว่าจะมีรัฐบาลใหม่เกิดขึ้น และมีสภาผู้แทนราษฎรในการเสนอพระราชบัญญัติงบประมาณ ต้องใช้เวลายาวนาน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวแสดงความห่วงใยถึงปัญหาเศรษฐกิจ เพราะเกรงว่าจะเกิดภาวะชะงักงัน ดังนั้นในส่วนที่จะดำเนินการลงทุนอะไรได้ก็ขอให้เร่งดำเนินการ เช่น กรณีของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ต้องเร่งตัดสินใจ หากมีบริษัทต่างชาติมาขออนุมัติการลงทุน เพราะประเทศคู่แข่ง เช่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย ก็พยายามดึงนักลงทุนในช่วงนี้เช่นกัน โฆษกประจำ          สำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว   
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเคยรายงานให้ ครม. ทราบว่า ขณะนี้ปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 มีงบประมาณที่ค้างจ่ายประมาณ 631,303 ล้านบาท โดยมีโครงการที่เป็นงบประมาณปกติและงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนขนาดใหญ่ (megaproject) อาทิ โครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม  วงเงินรวม 11,364.49 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายไปเพียง 54.04 ล้านบาทเท่านั้น โครงการระบบขนส่งมวลชน วงเงิน 11,845.20 ล้านบาท  โครงการด้านการศึกษาทั้งระบบวงเงิน 14,020.64 ล้านบาท  โครงการพัฒนา
       โครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงานสาธารณสุขทุกระดับวงเงิน 10,176.40 ล้านบาท ทั้ง 3 รายการนี้ยังไม่มีการเบิกจ่ายเลย 
สำหรับโครงการพื้นฐานด้านคมนาคมที่ยังไม่มีการเบิกจ่าย ประกอบด้วย โครงการของกรมทางหลวง เช่น โครงการก่อสร้างทางสายหลัก 4 ช่องจราจร ระยะ 2 โครงข่ายภูเก็ต-พังงา-กระบี่-พัทลุง วงเงิน 295 ล้านบาท เช่นเดียวกับโครงการก่อสร้างทางสายหลัก 4 ช่องจราจร ระยะ 2  โครงข่ายภาคตะวันออกเชื่อมกับภาคอีสาน วงเงิน 924 ล้านบาท  โครงการสะพานข้ามแม่น้ำ 4 แห่งใน กทม. วงเงิน 140 ล้านบาท โครงการก่อสร้างทางคู่     ในเส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ตอนฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-แหลมฉบัง 1,379.20 ล้านบาท  โครงการปรับปรุงทางของการรถไฟฯ อีก 4,000 ล้านบาท  ส่วนโครงการของกรมทางหลวงชนบทที่เบิกจ่ายน้อย ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนนนทบุรี วงเงิน 500 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 14.93 ล้านบาท โครงการก่อสร้างทางเชื่อมถนนราชพฤกษ์-กาญจนาภิเษก โครงการทางพิเศษบางพลี-สุขสวัสดิ์ 1,300.70 ล้านบาท เบิกจ่าย 14.20 ล้านบาท และโครงการทางพิเศษสายรามอินทรา-วงแหวนรอบนอก วงเงิน 2,045.19 ล้านบาท  โครงการของกรมพาณิชย์นาวี ที่ขออนุมัติงบประมาณไว้แต่ยังไม่มีการเบิกจ่ายทั้ง 2 โครงการ อาทิ โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล วงเงิน 230 ล้านบาท และโครงการพัฒนาท่าเรือเชียงแสน 2  จ.เชียงราย 50 ล้านบาท  ที่เหลือเป็นโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยาต้านไวรัสตามมาตรฐาน WHO GMP วงเงิน 950 ล้านบาท เบิกจ่าย ไปแล้ว 10 ล้านบาทเท่านั้น เช่นเดียวกับโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ วงเงิน 36,572.63 ล้านบาท เบิกจ่ายไปเพียง 4,658.22 ล้านบาท

ประชาชาติธุรกิจ  18  พ.ค. 49
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 29356เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2006 11:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท