ข้อมูลครั้งที่ 27: สถานภาพธุรกิจไทยไตรมาสที่ 3 ปี 2552 และคาดการณ์


“สิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ ก็คือการสร้างความรับรู้เกี่ยวกับการรวมตัวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่จะมีความชัดเจนในปีหน้า รวมถึงรายละเอียดแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของโครงการไทยเข้มแข็ง เพราะภาคธุรกิจส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ และขาดการเตรียมพร้อมรับมือ ซึ่งหากมีการเปิดเสรีการค้า แรงงาน และบริการจะกระทบ ต่อธุรกิจของคนไทยได้”

ข้อมูลส่งให้ทีม ครั้งที่ 27: วันที่ 28 สิงหาคม 2552

 

 

ประเด็น : สถานภาพธุรกิจไทยไตรมาสที่ 3 ปี 2552 และคาดการณ์อนาคต


โดยความร่วมมือของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

 

 

 

 

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพของธุรกิจไทย ไตรมาส 2-4 และคาดการณ์ปี 53 ว่า ภาคการเกษตร การค้า บริการ ธุรกิจขนาดย่อม และขนาดกลางยังเผชิญภาวะถดถอย มีเพียงภาคอุตสาหกรรมการผลิต และธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้นที่มีผลประกอบการดีขึ้น โดยในภาคเกษตรน่าห่วงที่สุด มียอดขายลดลง 73.33% เพราะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ขณะที่ต้นทุนเพิ่มขึ้น 46.67% ทำให้กำไรลดลง 60% รองลงเป็นภาคการค้าที่ยอดขายลด 51.72% ต้นทุนเพิ่ม 53.33% กำไรลดลง 63.33% ภาคบริการและท่องเที่ยวลดลง 38.1% ต้นทุนเพิ่ม 42.86% กำไรลดลง 38.55% มีเพียงภาคอุตสาหกรรมที่ยอดขายเพิ่ม 54.76% ต้นทุนเพิ่ม 64.29% แต่กำไรเพิ่ม 56.1%

 


  

แม้ภาวะเศรษฐกิจไทยจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดและฟื้นตัวแล้ว แต่ยังเป็นการฟื้นตัวช้า ๆ และกระจุกตัวเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมด้านการผลิตเท่านั้น ขณะที่ธุรกิจขนาดกลาง เอสเอ็มอี และรายย่อยยังไม่ฟื้นตัว และเผชิญปัญหายอดขาย กำไรลดลง ต้นทุนสูงขึ้น สภาพคล่องฝืดเคืองอยู่ เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในยังไม่ดี ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีและรายเล็ก ซึ่งพึ่งพายอดขายสินค้าจากคนในประเทศ ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ที่ฟื้นตัวได้เร็ว เพราะส่วนใหญ่พึ่งพาคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังฟื้นตัว ทำให้คู่ค้าเริ่มกลับมาสั่งสินค้าจากไทย ส่งผลให้ภาคการผลิต รวมถึงการส่งออกกลับมาดี

 


  

ทั้งนี้ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยมากสุด คือ กำลังซื้อของประชาชน 15.39% รองลงเป็นเสถียรภาพทางการเมือง 14.93% ราคาสินค้าและน้ำมัน 12.75% ความเชื่อมั่นของคนในประเทศ 11.63% ความ เชื่อมั่นจากต่างชาติ 11.49% ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ 10.06% ส่วนสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขมากสุด ได้แก่ เพิ่มกำลังซื้อของประชาชน 24.86% เสถียรภาพการเมือง 18.38% สินเชื่อสถาบันการเงิน 13.56% น้ำมัน 12.30% ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ 8.17%


  

อย่างไรก็ตามแนวโน้มภาคธุรกิจในไตรมาสสี่ และปีหน้ามีสัญญาณดีขึ้นตามลำดับ โดยภาคธุรกิจเชื่อว่าผลประกอบการจะดีขึ้นต่อเนื่อง และกลับเข้าสู่ภาวะปกติในครึ่งแรกของปี 53 รวมถึงสัญญาณการจ้างงานจะฟื้นชัดเจนในต้นปีหน้า ที่จะมีการจ้างงานและปรับอัตราค่าจ้างงานเพิ่ม โดยการขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้ยังอยู่ในกรอบ -3.5% ถึง  -4.5% ส่วนปีหน้ากลับมาเป็นบวกได้ 2-3%


  

นายธนวรรธน์กล่าวว่า สนับสนุนให้รัฐบาลเร่งปล่อยสินเชื่อระบบฟาสต์แทร็ก ช่วยเหลือภาคเอสเอ็มอีโดยด่วน รวมถึงสร้างความชัดเจนทางการเมืองให้เกิดขึ้น และที่สำคัญคือแก้ปัญหากำลังซื้อภาคประชาชนให้ฟื้นคืนมา เพราะการขาดความมั่นใจในการใช้จ่ายภาคประชาชน ได้บั่นทอนการเติบโตเศรษฐกิจของชาติ นอกจากนี้จะต้องการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรไม่ให้ตกต่ำ ราคาน้ำมันที่ภาคธุรกิจรับได้ดีเซลลิตรละ 27 บาท เบนซิน 33 บาท ดอกเบี้ย 7% และอัตราแลกเปลี่ยน 35.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

  

สิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ ก็คือการสร้างความรับรู้เกี่ยวกับการรวมตัวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่จะมีความชัดเจนในปีหน้า รวมถึงรายละเอียดแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของโครงการไทยเข้มแข็ง เพราะภาคธุรกิจส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ และขาดการเตรียมพร้อมรับมือ ซึ่งหากมีการเปิดเสรีการค้า แรงงาน และบริการจะกระทบ ต่อธุรกิจของคนไทยได้

 

หมายเลขบันทึก: 291817เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2009 10:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 14:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เห็นบล็อกมีประโยชน์มากค่ะ วันนี้ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้แรงงาน (อย่างตัวเอง) จึงขออนุญาตเอามาแบ่งปันนะคะ

ให้สิทธิลูกจ้างแรงงานฟ้องศาล ห้ามนายจ้างบังคับตรวจโรคเอดส์-ไล่ออก

ที่มา : http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd2NtOHdNVEk0TURnMU1nPT0=&sectionid=TURNeE13PT0=&day=TWpBd09TMHdPQzB5T0E9PQ==

นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ติดเชื้อวัยแรงงาน และเป็นลูกจ้าง คือ นายจ้างมีการบังคับให้ลูกจ้างตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวี หรือเอดส์ เมื่อรู้ว่าติดเชื้อก็เลิกจ้าง ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะการตรวจหาเชื้อต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าตัวเสียก่อน จึงแนะลูกจ้างว่า การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเช่นนี้ ลูกจ้างฟ้องศาลแรงงานได้ หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่านายจ้างเลิกจ้างเพราะเหตุติดเชื้อเอชไอวี นับว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม อาจต้องรับกลับเข้าทำงาน หรือหากลูกจ้างไม่ประสงค์จะกลับไปทำงานอีก นายจ้างก็จะต้องจ่ายเงินค่าชดเชยต่างๆ

สำหรับข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2527 ถึงปัจจุบันไทยมีผู้ติดเชื้อเอดส์ราว 1.1 ล้านคน เสียชีวิตไปแล้ว 6 แสนคน โดยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ไม่มีในรายงานอีกมาก ส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ ไทยมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกปี เมื่อปี 2551 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 12,787 ราย เพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 35 ราย และเสียชีวิต 26,935 ราย เฉลี่ยตายวันละ 70 ราย ประชากรในวัยแรงงานประมาณร้อยละ 85 ของผู้ป่วยเอดส์ มีอายุ 15-45 ปี พบในกลุ่มอาชีพรับจ้างมากที่สุด

ในส่วนของผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยด้วยโรคเอดส์แล้วเข้ารับยาต้านไวรัสจากกองทุนประกันสังคม ข้อมูลล่าสุด เดือนก.ค.2552 พบว่ามี 46,776 ราย จากจำนวนลูกจ้างในระบบประกันสังคมที่มีประมาณ 9.5 ล้านคน หากไม่เร่งดำเนินการป้องกันโรคเอดส์อย่างจริงจัง คาดว่าอีก 2-3 ปีข้างหน้า หรือในปี 2554 จะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 5 หมื่นคน และจะเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ไม่น้อยกว่า 8 หมื่นคน ด้วยสาเหตุที่วัยแรงงานติดเชื้อ และเสียชีวิตจากโรคเอดส์เป็นจำนวนมาก ตลอดจนปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น กสร.จึงได้หาทางป้องกันปัญหา โดยจัดทำ "มาตรฐานบริหารจัดการเอดส์ในสถานประกอบกิจการ" เรียกว่ามาตรฐาน ASO ย่อมาจาก AIDs-response Standard Organization

ขอบคุณบอมและป่านมาก ๆ ที่ช่วยกันทำสิ่งนี้ขึ้น เป็นประโยชน์มากครับ

อยากให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานทั้งหลายได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์blogนี้

ศักดินา

สวัสดีครับ แวะเข้ามาเยี่ยมเยียน

ขอบคุณสำหรับสิ่งดีๆ ที่ได้รับในคืนนี้ด้วยนะครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท