การเขียนภูมิหลังในงานวิจัย


ขอความช่วยเหลือ

การเขียนภูมิหลังของงานวิจัยอยากทราบว่ามีวิธีที่จะทำความเข้าใจง่ายๆได้อย่างไร ขอความอนุเคราะห์ผู้รู้

ช่วยตอบด้วยนะ  ขอบคุณล่วงหน้าจ๊ะ

 

 

หมายเลขบันทึก: 291381เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2009 21:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ใครรู้บอกด้วยครับ

ผมเปลี่ยนรหัสผ่านอีเมล์แล้วจำไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถเข้าเมล์ได้

มีวิธีการแก้ได้ไหมครับ (hotmailครับ)

การเขียนวิทยานิพนธ์ : การเขียนเค้าโครงวิทยานิพนธ์ : บทที่ 1

การเขียนบทที่ 1 บทนำ

สำหรับส่วนประกอบด้านเนื้อหาถือเป็นส่วนสำคัญที่นิสิต นักศึกษา ต้องศึกษาวิธีการเขียนการเรียบเรียงให้ดีและถูกต้อง เพราะส่วนนี้คือหัวใจสำคัญของเค้าโครงวิทยานิพนธ์ ในงานวิจัยเชิงปริมาณส่วนใหญ่แล้วจะประกอบด้วย 3 บทด้วยกัน ส่วนงานวิจัยเชิงคุณภาพอาจจะมี 3-5 บท ก็ได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่ประเภทของงานวิจัยด้วย

3.1 การเขียนบทที่ 1 บทนำ

ถือว่าเป็นส่วนแรกที่สำคัญ เปรียบเสมือนประตูบานแรกที่บ่งบอกเหตุผล หลักการว่าวิทยานิพนธ์ที่นิสิต นักศึกษาทำมีความสำคัญ มีปัญหาอย่าไร ถึงจะทำเรื่องนี้ เป็นการบ่งชี้ความสำคัญ ชี้ปัญหาที่ชัดเจนในการทำ บทนำประกอบด้วยหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้ ภูมิหลัง ความมุ่งหมายของการวิจัย หรือความสำคัญของการวิจัย กรอบแนวคิดของการวิจัย* ขอบเขตของการวิจัย สมมุติฐานของการวิจัย * ข้อตกลงเบื้องต้น* และนิยามศัพท์เฉพาะ* และแต่ละหัวข้อย่อยมีหลักในการเขียนดังนี้

3.1.1 การเขียนภูมิหลัง โดยภูมิหลังจะทำหน้าที่แนะนำให้ผู้อ่านงานวิทยานิพนธ์ของนิสิต นักศึกษาให้รู้ความเป็นมา หลักการ เหตุผล ความสำคัญและปัญหาของวิทยานิพนธ์หรือเป็นการตอบคำถามว่า ทำไมนิสิต นักศึกษาจึงทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ การเขียนภูมิหลังอาจเรียกได้ว่าเป็นงานยากสุดในกระบวนการเรียบเรียงวิทยานิพนธ์ จึงไม่เป็นแปลกที่ นิสิต นักศึกษาส่วนใหญ่จะกังวลเมื่อเริ่มลงมือเขียนภูมิหลัง บางคนไม่มีประสบการณ์ในการเขียนงานวิชาการมาก่อน จึงจับต้นชนปลายไม่ถูกและไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นอย่างไร บางทีอาจเสียเวลามาก จนถึงเกินความเบื่อหน่ายได้ ดังนั้นภูมิหลังมีหลักในการเขียนดังนี้

1) ภูมิหลังโดยทั่วไปมีประมาณ 3-5 หน้า และมีย่อหน้าไม่เกิน 7 ย่อหน้า เพราะการเขียนภูมิหลังเป็นการเขียนความเรียงแบบต่อเนื่องเรื่องเดียวกัน ยิ่งมีย่อหน้ามากเท่าไรจะเป็นภูมิหลังตัดปะ กล่าวคือ การนำบทความของงานเขียนของนักวิชาการมาเขียนต่อกัน ทำให้อ่านแล้วไม่ได้ใจความสำคัญว่ากล่าวถึงเรื่องใด

2) ความสอดคล้องกับชื่อเรื่อง การเขียนภูมิหลังต้องมีความสอดคล้องกับชื่อเรื่องที่ทำ ข้อบกพร่องที่พบส่วนใหญ่ นิสิต นักศึกษามักจะยกเอาเรื่องที่ล้าสมัยมาเขียนและไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันมาอ้าง ดังนั้นการเขียนต้องมีความสอดคล้องกับชื่อเรื่องโดยเริ่มตั้งแต่ย่อหน้าแรกถึงย่อหน้าสุดท้าย เช่น ศึกษาเรื่อง แนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) สำหรับสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย เนื้อเรื่องหรือคำกล่าวที่เขียนในภูมิหลังต้องเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนทางอิเล็กทรอนิกส์(e-Learning) หัวข้อจะนำเขียนภูมิหลังคือ หลักการ ความสำคัญหรือเหตุผลและปัญหาของการเรียนการสอนทางอิเล็กทรอนิกส์(e-Learning) ในสถาบันอุดมศึกษา รวมถึงสภาพปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร ดังนั้นการนำเอาคำกล่าวของคนอื่นมาเขียนควรเป็นปัจจุบันมากที่สุด ไม่กล่าวหรือเรียบเรียงห่างจากชื่อเรื่องมากเกินไป ควรสั้น กะทัดรัด ตรงตามชื่อเรื่องมากที่สุด โดยเมื่ออ่านภูมิหลังจบต้องรู้ทันทีว่ากำลังจะศึกษาเรื่องดังกล่าวมาข้างตน และย่อหน้าสุดท้ายผู้ทำวิทยานิพนธ์จะสรุปว่าจากหลักการและเหตุผลดังกล่าว ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาเรื่องดังกล่าว และกล่าวถึงประโยชน์ที่ได้รับหลังจากการทำวิทยานิพนธ์เสร็จสิ้นแล้วประมาณ 2-3 บรรทัด

3) ชี้ปัญหา ความสำคัญชัดเจนและชี้ถึงแนวโน้มในอนาคต ข้อบกพร่องที่พบในภูมิหลัง พบว่า นิสิต นักศึกษาเขียนปัญหาไม่ชัดเจนในการวิจัยคืออะไร เหตุใดผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาเรื่องนั้น ดังนั้นการเขียนภูมิหลังต้องชี้ปัญหาและความสำคัญชัดเจน เช่น ศึกษาเรื่อง การเปรียบเทียบผลการเรียนรู้จากบทเรียนบนระบบเครือข่ายรายวิชาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ของนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคามที่มีรูปแบบการเรียน(Learning Style) ต่างกัน การเขียนภูมิหลังต้องกล่าวถึงความสำคัญหรือปัญหาในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร มีความสำคัญอย่างไรถึงศึกษาเรื่องนี้มีจุดเด่นหรือดีกว่าการเรียนแบบปกติอย่างไร แบบเรียนแบบต่าง ๆ ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างไร ซึ่งปัญหาและความสำคัญมาจาก การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทฤษฏีและบทความวิชาการ ความเคลื่อนไหวทางการวิจัยที่ตนศึกษา แต่อย่างไรก็ตามการยกข้อความหรือคำกล่าวของคนอื่น มาเขียนควรมีการวิเคราะห์หรือเลือกให้เหมาะสมกับชื่อเรื่องของเรา เพราะบางครั้งคำกล่าวที่ยกมาอาจจะตรงกับปัญหาหรือความสำคัญเฉพาะบางส่วนเท่านั้น ส่วนที่เหลือไม่เกี่ยวข้องเลย และอีกประการหนึ่งการเขียนภูมิหลัง ไม่ควรนำเอาความคิดเห็นส่วนตัวที่พบหรือเหตุการณ์ที่จะมีผลต่อการทำวิจัย

4) ใช้กรอบแนวคิดของผู้วิจัย สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง ภูมิหลังที่เขียนต้องอยู่ในกรอบของการวิจัย เฉพาะจงเจาะเรื่องที่ศึกษาหรือวิจัยอย่างชัดเจน เพราะกรอบแนวคิดในการวิจัยจะประกอบด้วยตัวแปรและความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร ซึ่งนิสิต นักศึกษาจะได้แนวทางในการเขียนภูมิหลังที่ง่ายขึ้นและทิศทาง มีความสัมพันธ์ของเรื่องที่เขียนสอดคล้องกันตามลำดับ และมีความเป็นเหตุเป็นผลในการเขียนภูมิหลังด้วย

5) ใช้ภาษา ถูกต้อง ต่อเนื่อง ประการสุดท้ายที่มีสำคัญเช่นเดียวกัน เนื่องจากวิทยานิพนธ์เป็นผลงานวิชาการ การเขียนต้องใช้ภาษาเขียนที่มีถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ไม่ควรใช้ภาษาพูดในการเขียนภูมิหลังวิทยานิพนธ์ ส่วนใหญ่แล้วมักจะพบการใช้ภาษาที่ผิด เช่น ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป ประโยคที่เขียนถูกต้อง คือ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อไป ดังนั้นการใช้ภาษาที่ถูกต้องจึงมีความสำคัญและภูมิหลังนั้นการเขียนควรมีความต่อเนื่องทั้งการเชื่อมคำไม่ควรใช้คำว่าและ หรือ ก็ ซึ่ง ในการเชื่อมประโยคมากเกินไปและที่สำคัญระหว่างย่อหน้าและย่อหน้าถัดไปต้องมีความต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน กล่าวถึงเรื่องที่ศึกษาอย่างชัดเจนตั้งแต่ย่อหน้าแรกถึงย่อหน้าสุดท้าย

ที่มาของเนื้อหาภูมิหลัง ปัญหาที่มักนิสิต นักศึกษา คิดไม่ออกประการหนึ่ง แล้วจะเอาเนื้อหา สาระ อะไรนำมาเขียนในภูมิหลัง เพื่อให้ภูมิหลังมีความชัดเจน ตรงประเด็นที่ศึกษามากที่สุด แหล่งของเนื้อหาที่จะมาสนับสนุนการเขียนภูมิหลัง ได้แก่

1. สภาพปัญหา อดีต ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต นิสิต นักศึกษา

พยายามหาข้อมูล หลักฐานมาเสนอให้ผู้อ่านเห็นว่า หัวข้อเรื่องวิทยานิพนธ์ที่จะศึกษา วิจัย ในปัจจุบันเป็นปัญหา อุปสรรค อย่างไร ต้องหาทางแก้ไขหรือขจัดปัญหาดังกล่าว

2. แนวคิด ทฤษฏีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง นิสิต นักศึกษาต้องพยายามหาแนวคิด

ทฤษฏีที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อเรื่องวิทยานิพนธ์ ว่าเป็นอย่างไร คิดเลือก สังเคราะห์แนวคิด ทฤษฏีที่น่าเชื่อถือ เป็นปัจจุบัน และสอดคล้องกับหัวข้อเรื่องมาเสนอ

3. ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง นิสิต นักศึกษาจะต้องเสนอผลงานวิจัยคนอื่นที่

เกี่ยวข้องกับหัวข้อเรื่องวิทยานิพนธ์ที่ศึกษา วิจัย สรุป ชี้ประเด็นให้เห็นว่า ที่ผ่านมีใครวิจัยไว้บ้างแล้ว ทำในลักษณะใด ศึกษากับใครและได้ผลอย่างไร

จากข้อมูลทั้งหมด นิสิต นักศึกษาสรุปต่อท้าย สัก 2-3 บรรทัด ชี้ให้เห็นว่า หัวข้อเรื่องวิทยานิพนธ์ที่ทำยังไม่มีคำตอบและสามารถจะหาคำตอบได้ และคำตอบที่ได้จะเป็นประโยชน์อย่างไร

การเขียนภูมิหลังไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัว ที่สำคัญภูมิหลังต้องมีความชัดเจน สั้นกะทัดรัดได้ใจความสำคัญ ชี้ถึงปัญหาและความสำคัญอย่างชัดเจน อยู่ในกรอบแนวคิดของการวิจัย ใช้ภาษาถูกต้อง ต่อเนื่อง และที่สำคัญสอดคล้องกับชื่อเรื่องที่ นิสิต นักศึกษาทำ ซึ่งการเขียนภูมิหลังให้ดี ต้องเกิดจาการการศึกษาค้นคว้า การอ่าน การศึกษาที่เป็นปัจจุบันและเข้าใจปัญหาเรื่องที่ศึกษาอย่างอย่างชัดแจ้ง

3.1.2 การเขียนวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายของการวิจัย ในเค้าโครงวิทยานิพนธ์นิสิต นักศึกษามักจะเขียนจุดมุ่งหมายไม่ครอบคลุมและไม่ชัดเจน รวมถึงตั้งจุดมุ่งหมายของการวิจัยไม่ได้ ทั้งนี้เนื่องจากขาดความแตกฉานในเรื่องที่ศึกษา ไม่เข้าใจกรอบแนวคิดในการวิจัยอย่างชัดแจ้ง ดังนั้นการเขียนจุดมุ่งหมายของวิจัยมีหลักในการเขียนดังนี้

1) การตั้งจุดมุ่งหมายของการวิจัย จะตั้งเป็นข้อหรือไม่เป็นข้อก็ได้ ทั้งขึ้นอยู่กับสิ่งที่ต้องการศึกษาหรือประเภทของงานวิจัย ถ้าเป็นงานวิจัยเชิงปริมาณ จะตั้งเป็นข้อ ๆ และงานวิจัยเชิงคุณภาพส่วนใหญ่จะไม่แยกข้อ

2) จุดมุ่งหมายของการวิจัย มาจากชื่อเรื่องและตัวแปรของการวิจัย เอามาตั้งเป็นจุดมุ่งหมายของการวิจัย ตัวอย่างเช่น

2.1) ศึกษาเรื่อง แนวโน้มการดำเนินงานห้องสมุดประชาชนอำเภอในทศวรรษหน้าโดยใช้เทคนิคเดลฟาย(อุบล โคตา : 2545) ความมุ่งหมายของการวิจัย คือ เพื่อศึกษาแนวโน้มการดำเนินงานห้องสมุดประชาชนอำเภอในทศวรรษหน้าโดยใช้เทคนิคเดลฟาย

2.2) ศึกษาเรื่อง เจตคติและความเครียดของข้าราชการครูที่มีต่อการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุดรธานี (พนารัตน์ ขุราษี : 2547)ความมุ่งหมายของการวิจัย คือ

- เพื่อศึกษาเจตคติของข้าราชการครูที่มีต่อการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน (มาจากชื่อเรื่อง)

- เพื่อศึกษาระดับความเครียดของข้าราชการครูที่มีต่อการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน(มาจากชื่อเรื่อง)

- เพื่อเปรียบเทียบเจตคติของข้าราชการครูต่อการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีประสบการณ์ในการสอน ประสบการณ์ในการอบรมการจัดทำหลักสูตร ขนาดของโรงเรียนและระดับช่วงชั้นที่จัดทำหลักสูตรสถานศึกษา (ตัวแปร)

2.3) การตั้งจุดมุ่งหมายของการวิจัย ส่วนใหญ่จะขึ้นต้นด้วยคำว่า เพื่อ เพื่อศึกษา เพื่อหา เพื่อเปรียบเทียบ เป็นต้น แล้วตามด้วยชื่อเรื่องวิจัยและตัวแปรการวิจัย ตัวอย่างเช่น เพื่อศึกษาเจตคติของข้าราชการครูที่มีต่อการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน(ชื่อเรื่อง)

2.4 ) การตั้งจุดมุ่งหมายของการวิจัย ต้องมีความชัดเจนเข้าใจง่าย ไม่ซ้ำซ้อนและครอบคลุมประเด็นที่ศึกษา หากนิสิต นักศึกษาเข้าใจหรือวิเคราะห์หัวเรื่องได้ดี จะสามารถแยกแยะว่าต้องการจะศึกษาเรื่องอะไรบ้างหรือมีเรื่องอะไรบ้างที่ต้องศึกษาและยังอาจแบ่งเป็นประเด็นย่อย ทำให้มีความละเอียดเพิ่มขึ้น การตั้งจุดมุ่งหมายก็จะมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งกระบวนการแยกแยะและตั้งจุดมุ่งหมายจะช่วยทำให้นิสิต นักศึกษาเข้าใจและทราบต่อไปว่า ตนเองจะเก็บรวบรวมข้อมูลอะไรบ้างและข้อมูลที่จัดเก็บใช้เครื่องมืออะไร จะต้องมีความละเอียดมากน้อยเพียงใด จะได้เห็นว่าการตั้งจุดมุ่งหมายของการวิจัยเปรียบเสมือนเครื่องชี้ทาง ซึ่งช่วยนิสิต นักศึกษาให้เก็บข้อมูลได้ถูกต้องตามจุดมุ่งหมายของการวิจัย ตัวอย่างเช่น

- เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยบทเรียนบนเครือข่าย เรื่อง ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารและสืบค้น แสดงว่า นิสิต นักศึกษาต้องเก็บข้อมูล 2 ครั้ง คือก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยบทเรียนบนเครือข่าย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

2.5) การตั้งจุดมุ่งหมายของการวิจัยต้องเป็นประโยคบอกเล่า

2.6) จุดมุ่งหมายที่ตั้งขึ้น สามารถตั้งสมมติฐานตรวจสอบหรือทดสอบได้

กล่าวคือ ในงานวิจัยเชิงปริมาณส่วนใหญ่จะมีสมมติฐาน เมื่อนิสิต นักศึกษาตั้งจุดมุ่งหมายของการวิจัยขึ้นแล้วต้องทดสอบได้ ตัวอย่างเช่น

ความมุ่งหมายของการวิจัย เพื่อเปรียบเทียบเจตคติของข้าราชการครูต่อการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีประสบการณ์ในการสอน ประสบการณ์ในการอบรมการจัดทำหลักสูตร ขนาดของโรงเรียนและระดับช่วงชั้นที่จัดทำหลักสูตรสถานศึกษา

สมมติฐานของการวิจัย ข้าราชการที่มีประสบการณ์ในการสอน ประสบการณ์ในการอบรมการจัดทำหลักสูตร ขนาดของโรงเรียนและระดับช่วงชั้นที่จัดทำหลักสูตรต่างกันมีเจตคติต่อการทำหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐานแตกต่างกัน

การทดสอบในที่นี้คือการทดสอบด้วยวิธีการทางสถิติ เช่น

- ประสบการณ์ในการสอน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ ประสบการณ์น้อยกว่า 5 ปีและประสบการณ์มากกว่า 5 ปีขึ้นไป สถิติที่ใช้ในการทดสอบคือ t-test (Independent sample t-test)

- ขนาดโรงเรียน แบ่งออกเป็น 3 ขนาด คือ ขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ สถิติที่ใช้ในการทดสอบ คือ One- way ANOVA (analysis of variance)

2.7) มีความสัมพันธ์ระหว่างประเด็นหรือหัวข้อจุดมุ่งหมายของการวิจัย นอกจากจุดมุ่งหมายที่ตั้งขึ้นจะมีความชัดเจนเข้าใจง่าย ไม่ซ้ำซ้อนแล้ว นิสิต นักศึกษาต้องจัดอันดับให้เห็นความสัมพันธ์กันหรือให้เห็นความลดหลั่นถึงความสำคัญของจุดมุ่งหมายของการวิจัย

3.1.3 การเขียนความสำคัญของการวิจัย

ความสำคัญของการวิจัยเป็นการบ่งชี้ว่าหลังจากทำวิทยานิพนธ์เสร็จแล้ว จะได้อะไรบ้างในแง่ของประโยชน์ที่คาดจะได้รับ ความรู้ที่ได้จากการทำวิทยานิพนธ์และ สามารถนำผลการวิจัยไปประยุกต์ได้ในด้านใดบ้าง ซึ่งความสำคัญของการวิจัยมีหลักการเขียนดังนี้

1) ไม่ขึ้นต้นด้วยคำว่า เพื่อ ความสำคัญของการวิจัยเป็นผลที่คาดจะได้รับ ดังนั้นการเขียนควรระบุลงไปเลยว่างานวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ หลังจากเสร็จแล้วจะได้อะไรบ้าง มีประโยชน์ในแง่ใด นำผลไปพัฒนาได้อย่างไร

2) อยู่ในขอบเขตของการวิจัย นิสิต นักศึกษาต้องเขียนความสำคัญของการวิจัยให้อยู่ขอบเขตของการวิจัย ไม่ควรอ้างความสำคัญของการวิจัยเกินขอบเขตของการวิจัยในเรื่องที่ศึกษา เช่น ผลจากการวิจัยหน่วยงานหรือองค์กรจะนำผลการวิจัยไปใช้ในการพัฒนาหน่วยงาน แต่หลังจากอ่านผลการวิจัยทั้งหมดแล้ว ไม่มีส่วนใดหรือผลการวิจัยที่หน่วยงานนำไปใช้พัฒนาหน่วยงานได้เลย ดังนั้นการเขียนความสำคัญต้องระบุความสำคัญที่เป็นไปได้ในการนำไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง

3) เขียนความสำคัญให้ชัดเจน ชัดเจนในด้านประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ด้านความรู้ ด้านการประยุกต์ใช้ และที่สำคัญเขียนให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของการวิจัย ความสอดคล้องถือว่ามีความสำคัญ ความสำคัญของการวิจัยกับจุดมุ่งหมายของการวิจัยมีความสัมพันธ์กัน ดังนั้นความชัดเจน คือสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้และในแง่ผลการวิจัยที่จะนำไปใช้ได้จริง ตัวอย่างเช่น ศึกษาเรื่อง แนวโน้มการดำเนินงานห้องสมุดประชาชนอำเภอในทศวรรษหน้าโดยใช้เทคนิคเดลฟาย ความสำคัญของการวิจัย คือ ผลการวิจัยจะเป็นข้อเสนเทศสำหรับกรมการศึกษานอกโรงเรียนและผู้ที่เกี่ยวข้อง นำไปใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจ วางแผน ปรับปรุงการดำเนินห้องสมุดประชาชนอำเภอ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาของประชาชนยิ่งขึ้น

3.1.4 กรอบแนวคิดในการวิจัย (ถ้ามี)

กรอบแนวคิดในการวิจัย (Conceptual framework)ถือว่ามีความสำคัญเช่นเดียวกัน ในงานวิทยานิพนธ์อาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชื่อเรื่องที่ศึกษาและประเภทของงานวิจัย ซึ่งกรอบแนวคิดในการวิจัย หมายถึง กรอบของการวิจัยในด้านเนื้อหาสาระ ซึ่งประกอบด้วยตัวแปรและการระบุความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร(สุชาติ ประสิทธิ์รัฐสินธุ์, 2544 : 72) และตัวแปรแต่ละตัวที่เลือกมาศึกษาจะต้องมีพื้นฐานทางทฤษฏีความมีเหตุมีผลว่ามีความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ต้องการศึกษา มิใช่แต่เป็นการสุ่มเลือกตามใจของผู้วิจัยเอง การที่ตัวแปรมีทฤษฏีอ้างอิงจะช่วยเพิ่มพูนความรู้ที่มีอยู่แล้วให้ถูกต้องและสมบูรณ์มากขึ้น เพราะจะได้ทดสอบทฤษฏีที่ได้ระบุตัวแปรนั้น ๆว่าถูกต้องหรือไม่ นอกจากนี้ยังช่วยตีความหมายผลการวิจัยที่ได้ การวิจัยมิใช่มุ่งแต่การตัวเลขมายืนยันเท่านั้น ดังนั้นกรอบแนวคิดต้องระบุว่ามีตัวแปรอะไรบ้างและตัวแปรเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันอย่างไร เป็นการช่วยให้นิสิต นักศึกษาและผู้อื่นได้ทราบว่ามีแนวคิดอย่างไรเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการศึกษาและคิดว่าอะไรสัมพันธ์กับอะไรในรูปแบบใด ทิศทางใด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในขั้นการเก็บรวบรวมข้อมูล

การออกแบบการวิจัยและการวิเคราะห์ข้อมูล ของการวิจัยด้วย

ที่มาของกรอบแนวคิดในการวิจัย ปัญหาอย่างหนึ่งที่นิสิต นักศึกษา คิดไม่ตกคือการได้มาของกรอบแนวคิดการวิจัยได้มาอย่างไร กรอบแนวคิดมีที่มาอยู่ 2 แหล่ง คือ

1) ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ งานวิจัยที่คนอื่นทำมาแล้วที่มีประเด็นตรงกับที่ศึกษา หรือมีเนื้อหาสาระใกล้เคียงกัน มีตัวแปรบางตัวที่ต้องการศึกษารวมอยู่ด้วย

2) ทฤษฏีที่เกี่ยวข้อง นิสิต นักศึกษาควรอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาทฤษฏีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อเรื่องที่ศึกษา เพื่อทราบความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร การศึกษาทฤษฏีที่เกี่ยวข้องนอกจากจะชี้ให้เห็นว่าตัวแปรใดสำคัญและมีความสัมพันธ์กันอย่างไรแล้ว ยังได้กรอบแนวคิดในการวิจัยที่ชัดเจนและมีเหตุมีผล

3.1.5 ขอบเขตของการวิจัย

ขอบเขตของการวิจัย เป็นการเขียนอธิบายลักษณะหรือกรอบที่นิสิต นักศึกษากำหนดว่าหัวข้อเรื่องนั้นจะศึกษากับใคร ที่ไหน อย่างไร จำนวนเท่าไหร่ มีตัวแปรอะไรบ้าง และมีเนื้อหา(ถ้ามี)หรือใช้เวลาในการวิจัยเท่าใด นิสิต นักศึกษาต้องเขียนขอบเขตของการวิจัยให้ชัดเจนและครอบคลุมหัวข้อเรื่องด้วย โดยทั่วไปแล้วขอบเขตของการวิจัยจะมีส่วนประกอบย่อยดังนี้

1) ประชากร เป็นการเขียนอธิบายคุณสมบัติของประชากรที่ใช้ในการวิจัยว่าคือใคร ที่ไหน ปีไหน จำนวนเท่าใด ตัวอย่างเช่น ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่ ข้าราชการครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุดรธานี ปีการศึกษา 2549 จำนวน 13,104 คน

2) กลุ่มตัวอย่าง คือ ส่วนหนึ่งของประชากร เป็นการเขียนอธิบายลักษณะกลุ่มตัวอย่างว่า กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือใคร ที่ไหน ปีไหน จำนวนเท่าใด แต่ไม่ต้องเขียนอธิบายวิธีเลือกกลุ่มตัวอย่าง ตัวอย่างเช่น กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่ ข้าราชการครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุดรธานี ปีการศึกษา 2549 จำนวน 500 คน

3) เนื้อหาที่ใช้ในการวิจัย(ถ้ามี) ส่วนมากพบในการวิจัยเชิงทดลอง เป็นเขียนอธิบายหรือกำหนดขอบเขตของเนื้อหาที่ใช้ในการวิจัยว่า เนื้อหาวิชาอะไร เรื่องอะไร มีจำนวนกี่หน่วยหรือบท บางทีอาจจะบอกจำนวนคาบที่ใช้ในการสอน ตัวอย่างเช่น เนื้อหาที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ รายวิชา 1601 505 การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิต แบ่งเป็น 2 หน่วยการเรียน คือ

หน่วยการเรียนที่ 1 เทคโนโลยีสารสนเทศ

หน่วยการเรียนที่ 2 ICT

4) ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัย (ถ้ามี) เป็นการเขียนอธิบายลักษณะของตัวแปรที่ใช้ในการวิจัยว่าประกอบด้วยตัวแปรอะไรบ้าง โดยปกติแล้ว จะแบ่งออกเป็น 2 ตัวแปร คือ ตัวแปรอิสระและตัวแปรตาม ซึ่งการวิจัยจะมีคุณค่ามากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับตัวแปรที่ใช้ในการวิจัยด้วย ตัวอย่างเช่น

ตัวแปรอิสระ ได้แก่

1. เพศ จำแนกเป็น เพศชาย เพศหญิง

2. อายุ จำแนกเป็น

2.1 อายุต่ำกว่า 20 ปี

2.2 อายุระหว่าง 21-25 ปี

2.3 อายุ 26 ปีขึ้นไป

ตัวแปรตาม ได้แก่ เจตคติต่อวิทยาศาสตร์

5) ระยะที่ใช้ในการวิจัยหรือการทดลอง(ถ้ามี) เป็นการเขียนอธิบายบอกขอบเขตของการวิจัยตั้งแต่เริ่มจนจบกระบวนการวิจัยหรือ บ่งบอกระยะเวลาที่ใช้ในการทดลองว่า เริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ ปีไหน สิ้นสุดเมื่อใด รวมจำนวนเท่าใด ตัวอย่างเช่น ระยะเวลาที่ใช้ในการวิจัย คือ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2549 เริ่มตั้งแต่เดือน มิถุนายน ถึงเดือน สิงหาคม พ.ศ. 2549 จำนวน 3 เดือน

ขอบคุณมากครับสำหรับความรู้ที่เผยแพร่ หากท่านได้กรุณาชี้แจงแบบทีละขั้นพร้อมยกตัวอย่างประกอบไปด้ายจะทำให้นักวัจัยมือใหม่อย่างผมเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น การเขียนภูมิหลังอย่างนี้....(ตัวอย่าง)............เรียกว่าตัดแปะ การเขียนที่ถูกต้องเป็นดังนี้ ....(ตัวอย่าง)..............ฯลฯ *ผมอยากทราบว่าการนำบทความของงานเขียนของนักวิชาการมาอ้างอิงนี่จะยกมาทั้งดุ้นหรือสรุปมาครับ หากท่านตอบในอีเมลได้กระผมขอถวายตัวเป็นสาวกเลยครับ ขอบพระคุณมากครับเขียนให้อ่านอีกนะครับท่าน

อยากทราบว่าใครทำวิจัย เกี่ยวกับภูมิหลัง บ้างคะ ขอตัวอย่างด้วยคะ 0868797274

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท