ครูตี๋
นาย สมรรถ ครูตี๋ เอี่ยมพานิชกุล

เก็บข่าวมาเล่า "กมธ.การศึกษา จวก"ครูมีวิทยฐานะสูงขึ้นแต่ นร.แย่เหมือนเดิม" "


วิทยฐานะกับคุณภาพการศึกษา

กมธ.การศึกษา 2 สภา จี้ ศธ.ประชาพิจารณ์พิมพ์เขียวปฏิรูปการศึกษา รอบ 2 ชี้ต้องปรับระบบวัดผลและคัดเลือกเด็กเข้าเรียน หากต้องการบรรลุเป้าหมายพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนเก่งและมีคุณธรรม ขณะที่ กมธ.การศึกษา สภาผู้แทนฯ จวกระบบเงินวิทยฐานะล้มเหลว จ่ายปีละ 4 หมื่นล้านเข้ากระเป๋าครู แต่คุณภาพเด็กแย่เหมือนเดิม แนะศธ.สะสางปัญหานี้ไปพร้อมปฏิรูป


คณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ร่วมกับคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร์ จัดประชุมถกเกี่ยวกับแนวทางปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 โดยเชิญนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย


นายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา กล่าวว่า เท่าที่พิจารณากรอบปฏิรูปการศึกษา ทศวรรษที่ 2 ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ส.ค. ที่ผ่านมา น่าชื่นชมที่เน้นพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ให้เป็นคนที่เก่ง ดี มีคุณธรรม อย่างไรก็ตาม เป้าหมายดังกล่าวจะไม่มีทางสำเร็จ ถ้าไม่มีการปรับเปลื่ยนระบบการประเมินผล การคัดเลือกเด็กเข้าเรียนต่อในปัจจุบัน ที่เน้นการวัดผลตามตำราเรียน ใช้ระบบแบบแพ้คัดออก ระบบนี้เกิดคำถามว่า สามารถตอบโจทย์ที่เราตั้งเป้าจะผลิตคนเก่ง ดี มีจิตสาธารณะได้จริงหรือ และยังส่งผลให้เกิดปัญหาโรงเรียนกวดวิชาด้วย


“สังคมไทยยังคงมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ มีเด็กยากจนจำนวนมากที่อยู่ในโรงเรียน ชุมชนยังมีความไม่พร้อม เพราะฉะนั้น จะไม่เป็นธรรมต่อเด็ก ถ้าเราใช้การประเมินผลแบบมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด และให้เด็กเหล่านี้ต้องสอบเข้าเรียนต่อในสนามเดียวกับเด็กทั่วไป แม้แต่นโยบายเรียนฟรีเอง ที่ให้โอกาสเด็กทุกคนเท่าเทียมกันนั้น ก็อาจจะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งขยายความเกี่ยวกับเรื่องสิทธิในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานฟรีไว้ว่า เด็กด้อยโอกาสรวมทั้งเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายต่าง ๆ จะต้องได้รับโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ “ นายสิริวัฒน์ กล่าว และว่า การปฏิรูปการศึกษารอบ 2 จะต้องเน้นการพัฒนาครูด้วย


นายสมพันธ์ ทองสมัคร กมธ.การศึกษา วุฒิสภา และอดีต รมว.ศธ. กล่าวว่า น่าจะมีการประชุมสัมมนาร่วมระหว่าง กมธ.การศึกษาทั้ง 2 สภา กระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรฝ่ายปฏิบัติ รวมถึงองค์การภายนอกที่ร่วมสนับสนุนการจัดการศึกษา เพื่อตกลงกันให้ชัดเจนว่า การจัดการศึกษาของชาติจะไปในทิศทางใด


ด้านนายสมเกียรติ์ พงษ์ไพบูลย์ ที่ปรึกษากรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร์ กล่าวว่า กมธ.การศึกษาทั้ง 2 คณะศึกษา พบว่า รัฐบาลต้องจ่ายเงินปีละ 4 หมื่นล้านบาท เป็นค่าวิทยฐานะให้ครูชำนาญการประมาณ 279,000 คน และครูชำนาญการพิเศษประมาณ 72,000 คน แต่กลับไม่ได้ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนดีขึ้น ซ้ำคุณภาพนักเรียนกลับตกต่ำลงทุกช่วงชั้น โดยเฉพาะในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เพราะฉะนั้น ศธ.ควรหยิบเรื่องนี้มาสะสางด่วน


“ การศึกษาของชาติ และ นักเรียนไม่ได้อานิสงฆ์จากการให้เงินวิทยฐานะครูเลย เพราะการประเมินเข้าสู่วิทยฐานะที่ผ่าน ๆ มา นั้น ไม่เข้มข้นเพียงพอและไม่ได้เน้นไปที่การประเมินผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน อย่างไรก็ตาม วิธีการแก้ปัญหาเรื่องนี้ ไม่ควรไปลดอัตราเงินวิทยฐานะ เพราะจะเป็นการลดแรงจูงใจในการพัฒนาตัวเองของครู แต่ต้องปรับปรุงให้ระบบประเมินเข้าสู่วิทยฐานะเข้มข้นขึ้น และประเมินจากผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน ให้มั่นใจได้ว่า ครูที่ได้วิทยฐานะนั้น เป็นครูที่มีคุณภาพจริง ๆ “ นายสมเกียรติ์ กล่าว


ด้านนายจุรินทร์ กล่าวว่า ศธ.กำลังจะเริ่มใช้ระบบประเมินวิทยฐานะใหม่ในวันที่ 1 ตุลาคม 2552 นี้ ซึ่งจะประเมินจากผลการปฏิบัติงานจริงและประเมินจากผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนด้วย นอกจากนั้น ศธ.จะมีการประเมินคุณภาพครูครั้งใหญ่ในเร็วๆ นี้ วัดออกมาและทำข้อมูลไว้เลยว่า ครูแต่ละรายมีคณภาพเพียงใด เพื่อนำครูแต่ละคนไปเข้ารับการอบรมพัฒนาครั้งใหญ่ที่ ศธ.ทุ่มงบประมาณกว่า 8,000 ล้านบาท และขอยืนยันว่า รัฐบาลนี้เอาจริงกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทุกระดับทั้งในและนอกระบบ รวมทั้งการศึกษาตอลดชีวิต เพื่อให้คนไทยได้มีโอกาสเรียนรู้ตอลดชีวิตอย่างมีคุณภาพ



อ้างอิงจาก http://www.kruthai.info (คมชัดลึก วันที่ 21 สิงหาคม 2552)

หมายเลขบันทึก: 290462เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2009 07:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2012 14:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากค่ะ ที่นำข่าวมาเล่าให้ทราบค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท