ต้นพระศรีมหาโพธิ์


พระพุทธศาสนา ต้นพระศรีมหาโพธิ์ โพธิ์ตรัสรู้

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา

ในพุทธประวัติกล่าวถึงต้นพระศรีมหาโพธิ์อยู่บ่อย ๆ      ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธตลอดถึงนักเรียนที่เรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา    ก็มักจะได้ยินการกล่าวถึงตอนพระศรีมหาโพธิ์อยู่ตลอดเวลา   ผู้เขียนเป็นครูผู้สอนวิชาพระพุทธศาสนาได้มีโอกาสไปตามรอยบาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ที่ประเทศอินเดีย จึงขอรวบรวมข้อมูลเพื่อประโยชน์แก่การศึกษาต่อไป

คำว่า โพธิ์ เป็นชื่อเรียกถึงการตรัสรู้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ไม่ใช่ชื่อพันธุ์ต้นไม้ แต่เป็นชื่อของต้นไม้ที่พระพุทธเจ้า ประทับนั่งและได้ตรัสรู้ใต้ต้นไม้นั้น เดิมต้นไม้นี้ชื่อว่า อัสสัตถะ หรือ อัศวัตถ์    ชื่อพันธ์ทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า Ficus Religiosaต้นพระศรีมหาโพธิ์นี้ ปัจจุบันมิใช่ต้นเดิมตั้งแต่ครั้งพุทธกาล แต่เป็นต้นที่ ๔ ซึ่งแตกหน่อมาจากต้นเดิม เนื่องจาก ต้นโพธิ์ ถูกทำลายหลายครั้งจากผู้มีมิจฉาทิฏฐิ และคนนอกศาสนา ประวัติของต้นโพธิ์ทั้ง ๔ มีดังนี้
              ต้นโพธิ์ต้นแรก    เป็นสหชาติเกิดขึ้นพร้อมกับวันที่พระโพธิสัตว์ประสูติ ตามพุทธประวัติกล่าวว่า สหชาติ    มี ๗ ประการ คือ กาฬุทายีอำมาตย์ , ฉันนะ , อานนท์พุทธอนุชา , พระนางพิมพา , ม้ากัณฑกะ , ขุมทรัพย์ทั้ง ๔  , ต้นอัสสัตถะพฤกษ์ (ต้นโพธิ์)  ต้นโพธิ์นี้จะผุดขึ้นมาเองจากพื้นเป็นปาฏิหาริย์ หรือจะมีคน มาปลูกในวันนั้นพอดี ก็สุดจะทราบได้ อย่างไรก็ตาม ต้นโพธิ์ต้นนี้มีอายุมาจนถึงสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒ พระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์ชาวพุทธผู้ยิ่งใหญ่ ทรงเคารพรัก ต้นโพธิ์ เป็นอย่างยิ่ง จะเสด็จไปนมัสการต้นโพธิ์อยู่ตลอดเช้าเย็น พระเหสีของพระเจ้าอโศกมหาราช คือ พระนางมหิสุนทรี (มเหสีองค์ที่ ๔) ไม่พอพระทัยที่พระเจ้าอโศก เอาใจใส่ต้นโพธิ์มากเกินไป (หึงกระทั่งต้นไม้) จึงได้ให้คนเอายาพิษเพื่อทำลายต้นโพธิ์ บางแห่งบอกว่า พระนางเอาเงี่ยงกระเบนมีพิษ มาทิ่มรากต้นโพธิ์ จนต้นโพธิ์ตาย เมื่อพระเจ้าอโศกทรงทราบ ถึงกับ ทรงวิสัญญีภาพ ล้มสลบลง เสียพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ให้คนนำเอาน้ำนมโคมารดต้นโพธิ์ทุกวัน และพระองค์เอง ก็ทรงคุกเข่า ที่ต้นโพธิ์นี้ พร้อมกับตั้งสัตยาธิษฐานขอให้มีหน่องอก ก็เกิดอัศจรรย์มีหน่อโพธิ์งอกขึ้นมา พระองค์ได้นำมาปลูก เป็นต้นที่ ๒ อายุของต้นแรกสิริอายุได้ ๓๕๒ ปี
               ต้นโพธิ์ต้นที่ ๒ มีอายุยืนมาจนกระทั่ง กษัตริย์ใจทมิฬหินชาติ กษัตริย์อินดู แคว้นเบงกอล นามว่า สาสังกา ได้มาพบกับต้นพระศรีมหาโพธิ์ ก็ไม่พอพระทัย เนื่องเพราะพระองค์นับถือฮินดู จึงได้ให้คนทำลายต้นพระศรีมหาโพธิ์ และทำลายพระพุทธรูป ในวิหาร ทั้งหมด แต่อำมาตย์ชาวพุทธไม่กล้าทำลายพระพุทธรูป จึงได้ใช้วิธีเอาปูนโบกทับเพื่อปิดไว้เฉยๆ ภายหลัง พระเจ้าสาสางกา ได้รับผลกรรม เกิดแผลพุพองทั่วร่าง และสิ้นพระชนม์อย่างอนาถ รวมอายุต้นโพธิ์ต้นที่ ๒ ได้ ๘๗๑ ปี
              ต้นโพธิ์ต้นที่ ๓ หลังจากนั้นไม่นาน พระเจ้าปูรณวรมา กษัตริย์ชาวพุทธ แห่งแคว้นมคธได้มาพบเห็นต้นพระศรีมหาโพธิ์ล้มเช่นนั้น ก็เสียพระทัย แต่นำนมวัว ๑,๐๐๐ ตัว มาราดรดที่โคนต้นหน่อพระศรีมหาโพธิ์ก็งอกออกมาอีก ต้นที่ ๓ นี้งอกงามจนอายุนานมาก ถึง ๑๒๕๘ ปี ก็ล้มไป

                 ต้นโพธิ์ต้นที่ ๔ ในปี ๒๔๒๓ เซอร์อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม นักโบราณคดีชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้มีคุณูปการ ต่อพระพุทธศาสนามาก ได้ขุด ค้นพบพุทธสถานหลายแห่ง จนทำให้พระพุทธศาสนาเป็นที่รู้จักของชาวอินเดีย หลังจาก ลืมเลือนไปแล้วกว่า ๘๐๐ ปี ได้เดินทางไปที่พุทธคยา พบกับต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ล้มอยู่ แต่ได้พบหน่อโพธิ์ งอกอยู่ ที่ใต้ต้นเดิม ๒ หน่อ หน่อหนึ่งสูง ๖ นิ้ว ได้ปลูกไว้ที่บริเวณต้นเดิม อีกหน่อหนึ่ง สูง ๔ นิ้ว แยกไปปลูกทางด้านทิศเหนือ ห่างกัน ๒๕๐ ฟุต อายุต้นโพธิต้นนี้ นับจากเริ่มปลูก ปี ๒๔๒๓ - ๒๕๕๒ รวมอายุได้ ๑๓๙ ปี

 

 

  

 

   นมัสการต้นพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา

หมายเลขบันทึก: 290270เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2009 12:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • แวะมาเติมความรู้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา
  • คนรุ่นเดียวกันเกิดปีวอก
  • ขอบคุณครับอาจารย์ที่เสนอสิ่งที่ดี ๆ

เรียน คุณเหรียญชัย มาวงษ์

*ดีใจครับที่ท่านสนใจเรื่องราวของพระพุทธศาสนา

*ดีใจครับที่มีเพื่อนร่วมรุ่นครับ รุ่นปีวอก ขอให้มีความสุขและเจริญก้าวหน้าในชีวิตนะครับ พระพุทธคุณคุ้มครอง คนดี...ครับ

*หากมีโอกาสไปนั่งสมาธิใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา สักครั้งสิครับ.. ท่านจะประทับใจและอิ่มเอิบใจ... ผมไปมาเมื่อ ๒ ปี ที่แล้วครับ มีความสุขมากและอยากไปอีก

สวัสดีค่ะ

มาอ่านเรื่องของพระศรีมหาโพธิ์ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท