ระบบกิจกรรมบำบัดและอาชาบำบัด


โครงการนำร่อง: การพัฒนาระบบกิจกรรมบำบัดและอาชาบำบัดสำหรับบุคคลออทิสติกไทย

โครงการอาชาบำบัดสำหรับบุคคลออทิสติกรุ่นแรกเริ่มดำเนินการเมื่อมีนาคม 2551 โดยใช้แบบคัดกรองบุคคลออทิสติกด้านพฤติกรรม สังคม และภาษา มาประเมินประสิทธิผลของกิจกรรมอาชาบำบัดด้วยสถิติเชิงพรรณา แต่เมื่อผู้วิจัยเข้าร่วมสังเกตการณ์กิจกรรมอาชาบำบัดสำหรับบุคคลออทิสติกรุ่นสอง เมื่อกรกฎาคม 2551 พบว่าไม่มีการประเมินประสิทธิผลของกิจกรรมอาชาบำบัดด้วยสถิติเชิงปริมาณ ดังนั้นผู้วิจัยจึงพัฒนางานประจำสู่งานวิจัยด้วยแนวคิดการจัดระบบกิจกรรมบำบัด ได้แก่ ขั้นตอนที่หนึ่ง: การสร้างแบบประเมินทักษะขณะทำกิจกรรมอาชาบำบัด ได้แก่ ความสามารถในด้านการเคลื่อนไหว (3 ข้อ) กระบวนการทำกิจกรรม (4 ข้อ) และการสื่อสารขณะทำกิจกรรม (3 ข้อ) โดยทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอาชาบำบัด, ตรวจสอบความถูกต้องของแบบประเมินจากความคิดเห็นของครูฝึกและพยาบาลในโครงการฯ, การคำนวณคะแนนเฉลี่ยของแบบประเมินจากการสังเกตของครูฝึกและพยาบาลในโครงการฯ ต่อรายบุคคลออทิสติที่เข้าร่วมกิจกรรมอาชาบำบัด โดยใช้มาตราวัด 0 คะแนน (ไม่มีทักษะ) ถึง 10 คะแนน (มีทักษะดี) ในแต่ละหัวข้อ, คำนวนความเชื่อมั่นในระดับดีมาก หรือ ICC (2,1) = 0.99 หลังใช้แบบประเมินสองครั้งในกลุ่มตัวอย่าง 13 คน  ขั้นตอนที่สอง: การสัมมนาครูฝึกและพยาบาลในโครงการฯ ให้มีความสามารถในการใช้แบบประเมินกับกรณีตัวอย่างจากวิดีทัศน์, ปรับแบบคัดกรองฯ (ที่ใช้อยู่เดิม) ให้มีมาตราวัด 0 (ไม่พบ), 1 (บางครั้ง), 2 (เสมอ), ส่งปรึกษาผู้เชี่ยวชาญกรณีบุคคลออทิสติกมีปัญหาพฤติกรรมด้วยเกณฑ์มากกว่า 50% ของคะแนนรวมจากแบบคัดกรองฯ ขั้นตอนที่สาม: การวิจัยประสิทธิผลของกิจกรรมอาชาบำบัดสำหรับบุคคลออทิสติกรุ่นสาม เมื่อกันยายน 2551 ภายหลัง 12 ครั้ง (สัปดาห์ละ 2 ครั้งๆ ละ 30 นาที) พบว่า บุคคลออทิสติก (n = 12) อายุ 7.33 + 2.15 ปี มีทักษะดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (49.29 + 22.45 คะแนนเพิ่มเป็น 69.42 + 16.54, p < 0.05) ซึ่งกลุ่มตัวอย่างได้เข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ (ศิลปะบำบัด กิจกรรมบำบัด ดนตรีบำบัด ลีลาศบำบัด และพฤติกรรมบำบัด) ตั้งแต่ 30-120 นาทีต่อสัปดาห์ ขั้นตอนที่สี่: ครูฝึกและพยาบาลในโครงการฯ ต้องการเพิ่มประสิทธิผลของกิจกรรมอาชาบำบัด เนื่องจากบุคคลออทิสติกบางรายไม่มีทักษะในการทำกิจกรรม ผู้วิจัยจึงพัฒนารูปแบบกิจกรรมอาชาบำบัดเดิมออกเป็น 3 รูปแบบ โดยใช้เกณฑ์การแยกกลุ่มบุคคลออทิสติก (< 50% ทักษะไม่ดี, 51%-84% ทักษะพอใช้, > 84% ทักษะดี) จากการประเมินแรกรับ, เน้นลำดับของกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหว การทรงตัว การใช้สมาธิ การสื่อสาร การแสดงความร่วมมือ, มีขั้นตอนการทำกิจกรรมที่ไม่ซับซ้อนในบุคคลออทิสติกที่ไม่มีทักษะจนถึงการทำกิจกรรมที่ซับซ้อนมากขึ้นในบุคคลออทิสติกที่มีทักษะดีขึ้น, จัดสรรเวลาครั้งละ 30 นาทีตามสัดส่วนของกิจกรรมอาชาบำบัดต่อกิจกรรมบำบัด (สื่อการเล่น การทำงานศิลปะ และการใช้ภาษาท่าทาง) คือ 40% ต่อ 60% ในบุคคลออทิสติกที่ทักษะไม่ดี, 50% ต่อ 50% ในบุคคลออทิสติกที่ทักษะพอใช้ และ 60% ต่อ 40% ในบุคคลออทิสติกที่มีทักษะดี ขั้นตอนสุดท้าย:  การวิจัยประสิทธิผลของกิจกรรมอาชาบำบัดผสมผสานกิจกรรมบำบัด พบว่าบุคคลออทิสติกรุ่นสี่  (23 ธันวาคม 2551-10 กุมภาพันธ์ 2552)  อายุ 7.50 + 2.01 ปี (n = 11) และบุคคลออทิสติกรุ่นห้า (24 ธันวาคม 2551 – 6 กุมภาพันธ์ 2552) อายุ 7.30 + 2.45 ปี (n = 10) มีทักษะดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (60.12 + 26.70 คะแนนเพิ่มเป็น 78.95 + 21.93 สำหรับรุ่นสี่; 39.60 + 23.37 คะแนนเพิ่มเป็น 67.73 + 17.66 สำหรับรุ่นห้า, p < 0.05)

จะเห็นว่าการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัยในครั้งนี้แสดงถึงประสิทธิผลที่เท่าเทียมกันระหว่างกิจกรรมอาชาบำบัดและกิจกรรมอื่นๆ (ศิลปะบำบัด กิจกรรมบำบัด ดนตรีบำบัด ลีลาศบำบัด และพฤติกรรมบำบัด) กับ กิจกรรมอาชาบำบัดผสมผสานกิจกรรมบำบัด (สื่อการเล่น การทำงานศิลปะ และการใช้ภาษาท่าทาง) (p = 0.763) และระบบอาชาบำบัดสำหรับบุคคลออทิสติกไทยแห่งนี้จึงเป็นตัวอย่างของการใช้เกณฑ์แบบคัดกรองบุคคลออทิสติกด้านพฤติกรรม สังคม และภาษา เพื่อส่งปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และการใช้เกณฑ์แบบทักษะขณะทำกิจกรรมอาชาบำบัด เพื่อจัดกลุ่มกิจกรรมที่มีรูปแบบเหมาะสมเฉพาะรายบุคคล โดยมีหน่วยงานต่างๆ ให้ความสนใจ เช่น เผยแพร่สื่อมวลชน บริจาคสิ่งของ และศึกษาข้อมูลเพื่อพัฒนาระบบอาชาบำบัด ณ ศูนย์การศึกษาพิเศษอื่นๆ ของประเทศ

หมายเลขบันทึก: 289967เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2009 12:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2019 11:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

น่าจะมีหลาย ๆ ที่ เท่าที่ทราบที่มีอยู่ขณะนี้จำกัดและไม่เพียงพอ ต้องรอคิวนาน

เห็นด้วยครับ แต่ต้องมีการเตรียมบุคลากรทำงานร่วมกับนักกิจกรรมบำบัดมากขึ้นกว่านี้

รบกวนขอแบบบันทึกกิจกรรมอาชาบำบัดได้ไหมค่ะ พอดีจะทำกิจกรรมอาชาบำบัดให้เด็กพิการนะคะ เลยจะขอดูเป็นตัวอย่าง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท