ครูควรสนใจทำวิจัยในชั้นเรียน


 

 

ครูควรสนใจทำวิจัยในชั้นเรียน

PhotobucketPhotobucketPhotobucketPhotobucketPhotobucket

          หัวข้อบันทึกในวันนี้ของครูดี  อาจดูว่าเป็นหัวข้อที่ไม่น่าจะพูดกันแล้ว  เพราะใคร ๆเขาก็รู้กันทั่วไปแล้วว่า ครูชั้นวิชาชีพ ควรทำวิจัยในชั้นเรียน 

          แต่ครูดีอยากหยิบยกขึ้นมาพูดอีกครั้งก็เพราะว่า  ครูดีเห็นว่าเพื่อนพ้องน้องพี่ในวงการครูของเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยในชั้นเรียนกันอย่างแท้จริง มีครูที่ทำและนำเสนอรายงานวิจัยในชั้นเรียนในลักษณะของการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่สู่วงวิชาการน้อยมาก  หรือ มักได้ยินผู้บริหารโรงเรียนบ่นกันอยู่บ่อย ๆว่า พยายามผลักดันให้ครูในโรงเรียนทำวิจัยในชั้นเรียนคนละเรื่องสองเรื่องต่อปี ก็ไม่ค่อยได้ผล อย่างเก่งจะได้แค่ 40 -50 เปอร์เซ็นต์ และก็จะได้เฉพาะในช่วงแรก ๆ พอไม่กำชับ ส่วนใหญ่ก็วางมือ  การวิจัยในชั้นเรียนในบ้านเราเกิดขึ้นโดยสถานการณ์บังคับมากกว่าการตระหนักในความสำคัญที่มีอยู่ในสำนึกของครูอาจารย์


          เพราะอะไร????????

          การพัฒนาวิชาการในวงการวิชาชีพครูของเราไม่ใช่วัฒนธรรมในการทำงานของครูไทย  แต่เดิมครูไทยไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาในฐานะครูชั้นวิชาชีพ  ลองหันกลับไปดูประวัติการฝึกหัดครูของเราจะเห็นชัดเจน เราเคยชินกับการมองว่าครู คือ ผู้ถ่ายทอดความรู้  ดังนั้นคนเป็นครูในบ้านเราจะเป็นใครก็ได้ที่มีความรู้ การมีความรู้ของคน ก็ถูกมองว่า คือการรับการถ่ายทอดความรู้ ไม่ใช่การแสวงหาความรู้ด้วยการศึกษาค้นคว้า การศึกษาวิจัย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการลงมือปฏิบัตจนเกิดความจัดเจน เราแทบจะไม่ยกย่องเรื่องความรู้จากการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติกันเลย 

          ครูไม่ใช่คนสร้างความรู้เอง แต่เป็นคนที่นำความรู้ที่ผู้อื่นได้สร้างไว้แล้วมาถ่ายทอด  ความคิดแบบนี้มีมาช้านานในสังคมไทย  แม้เมื่อเริ่มการศึกษาในระบบโรงเรียนขึ้นในบ้านเรา  ความคิดแบบนี้ก็แจ่มชัดมาโดยตลอด  หลักสูตรการฝึกหัดครูให้ครูเรียนความรู้หลายอย่าง แต่ที่ไม่ได้ให้เรียนประการหนึ่ง คือการวิจัย ทั้งนี้เพราะเราคิดว่าครูเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ไม่ใช่คนสร้างความรู้ จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเรียนวิจัย 

         วงการฝึกหัดครูไทยเพิ่งบรรจุวิชาวิจัยทางการศึกษาลงในหลักสูตรในราวปี 2518 ซึ่งครูดีเชื่อว่าเกิดจากการปรับเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับครูในบ้านเมืองเราว่าครูเป็นมากกว่าผู้ถ่ายทอดความรู้  ความคิดใหม่ที่มองครูว่ามีบทบาทในการสร้างสรรค์ความรู้ด้วยนั้นปรากฏชัดเจนในรายงานการปฏิรูปการศึกษาของคณะกรรมการการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งมีท่านศาสตราจารย์ ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต เป็นประธาน

         แต่การเรียนการสอนวิจัยทางการศึกษาในช่วงนั้นไม่ได้เน้นให้เกิดสำนึกของผู้สร้างความรู้ให้แก่ครู แต่มันกลายเป็นไม้เบื่อไม้เมาของครู วิจัยทางการศึกษากลายเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ กลายเป็นยาขมของคนเรียนครู  โดยเฉพาะคนที่เรียนครูรุ่นเก่า ๆที่กลับมาเรียนเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ปริญญา 

          แม้ครูได้เรียนวิจัยทางการศึกษา แต่ก็มีครูจำนวนน้อยมาก หรือกล่าวได้ว่าแทบไม่มีเลยที่นำเอาการวิจัยไปใช้ในการสร้างหรือแสวงหาความรู้  แม้ในปัจจุบันก็ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันในวงการครูว่าครูควรวิจัยเพื่อสร้างสรรค์ความรู้มาใช้ในการเรียนการสอนของตนหรือไม่? มีครูจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่าการวิจัยไม่ควรเป็นบทบาทหน้าที่ของครู

         การวิจัยจึงยังไม่ได้เข้าไปอยู่ในสำนึกของครู  ยังไม่ได้เข้าไปในวิถีของการประกอบวิชาชีพของครู  
         การวิจัยในชั้นเรียนซึ่งเป็นกิจกรรมทางวิชาการที่ใช้กระบวนการวิจัยมาใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอน จึงเป็นสิ่งยากที่ครูจะยอมรับเข้าไว้เป็นวิถีปรกติของการเรียนการสอนของเขา

         ทำอย่างไรครูจึงนำเอาการวิจัยในชั้นเรียนเข้าไปเป็นวิถีปรกติของการประกอบวิชาชีพของตน?????

         ครูดีคิดว่า การเอาครูไปอบรมวิจัยในชั้นเรียน ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย
                       การเอาการวิจัยในชั้นเรียนเป็นเกณฑ์หนึ่งของการปูนบำเหน็จความดีความชอบ ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย
                       การเอาการวิจัยในชั้นเรียนเป็นเกณฑ์หนึ่งของการประเมินคุณภาพทางการศึกษาของโรงเรียน ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

                       การกำหนดให้การวิจัยในชั้นเรียนเป็นเกณฑ์หนึ่งของการขอเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการ ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย
                                              
                       หรือ   
ฯลฯ   ก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย
 
         ครูดีมองเห็นอยู่ประการเดียวคือ กระทรวงศึกษาธิการต้องสร้างวัฒนธรรมของการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในกระทรวงให้ได้  และในนั้น การวิจัยเพื่อการพัฒนางานในหน้าที่ความรับผิดชอบของบุคลากรในกระทรวงเป็นส่วนหนึ่ง  โดยเฉพาะ คนเป็นผู้บริหารทุกระดับ  นักวิชาการทุกระดับ  และ ครูอาจารย์ทุกคน   
         ถ้าการวิจัยพื่อการพัฒนางานในหน้าที่ความรับผิดชอบของบุคลากรในกระทรวงเป็นสิ่งที่บุคลากรในกระทรวงทุกคนทำ

          ปลัดกระทรวงทำ
          เลขาธิการสำนักต่าง ๆ ทำ
          ผู้อำนวยการส่วนฯ สำนักฯ ต่าง ๆ ทำ
          ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯทำ
          ตำแหน่งรอง ๆอื่น ๆทำ
          หัวหน้างานต่าง ๆทำ
          ผู้อำนวยการโรงเรียนทำ
         
          และ ครูบาอาจารย์ทำ

         ถ้าเป็นอย่างนี้ บรรยากาศขององค์กรมันผลักดัน ชักจูง สนับสนุน ให้ครูทำ

         ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้  ทุกคนที่อยู่ข้างบนครูชี้มาที่ครู ไม่มีใครสักคนชี้ที่ตนเองด้วย

         หรือมีใครจะกล้าปฏิเสธหรือว่า
                             ในตำแหน่งของตนไม่ควรอย่างยิ่งที่จะเอาการวิจัยไปใช้
                             ในตำแหน่งของตนไม่ควรเรียนรู้อะไรในงานของตน 
                             ในตำแหน่งของตนไม่ควรแลกเปลี่ยนเรียนรู้อะไรกับใคร        
                             ในตำแหน่งของตนไม่ควรปรับเปลี่ยนองค์ความรู้ที่ตนมีให้กลายเป็นองค์
                                             ความรู้ขององ
ค์กร   
         ถ้าปฏิเสธไม่ได้ก็ควรทำ
         เมื่อทุกคนที่ควรทำ ทำ
         ครูบาอาจารย์ก็จะทำ
      
         และ เป็นการทำชนิดที่ไม่ต้องคิด เหมือนคนเราต้องกิน ต้องนอน ต้องหายใจฯลฯ อะไรทำนองนั้น  

       

      แต่ครูดีอยากจะบอกกับเพื่อนครูว่า
               *เราคงไม่คอยให้คนที่อยู่ข้างบนเขาเปลี่ยนก่อนหร็อก
               *เพราะดูจากสภาพในอดีตและปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงอย่างที่ว่าไว้ข้างบนนั้น ดูจะเป็นเรื่องไกลเกินหวัง
               *เรามาเปลี่ยนที่ตัวเราเองดีกว่า เมื่อเราไตร่ตรองด้วยสติปัญญาของเราว่ามันเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อวิชาชีพของเราจริง ๆแล้ว เราก็ลงมือทำกันเถอะ ไม่ต้องรอให้ใครมาผลัก มาดัน มาลาก มาจูงหร็อก

      เพราะเราเป็นครู...

                

              PhotobucketPhotobucketPhotobucketPhotobucketPhotobucket


             

ครูดี
19/08/52
22:20                  
                      

หมายเลขบันทึก: 289182เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2009 22:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากได้ตัวอย่างวิจัยที่เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะการเขียนภาษาอังกฤษของนักเรียนม.1 ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท