เจเจ
เจเจ http://www.hi5.com/friend/profile/displaySameProfile.do?userid=175773721 jj chansakul

ตลิ่งสูง ซุงหนัก


ตลิ่งสูง ซุงหนัก




ตลิ่งสูง ซุงหนัก
นิคม รายยวา
สนพ.ต้นหมาก /พิมพ์ (ครั้งแรก ธันวาคม ๒๕๒๗)







เรื่องย่อ :

พลายสุด...หรือชื่อเต็ม ๆ ว่าพลายสุดสง่า เกิดปีเดียวกับคำงาย
เขาคลุกคลีเล่นหัวอยู่กับมันมาแต่เล็ก ๆ
แต่วันหนึ่งเมื่อเขาไปเป็นทหารอยู่สองปีแล้วกลับมาบ้านเขาก็พบว่าพ่อของเขาได้ขายพลายสุดให้กับพ่อเลี้ยงไปเสียแล้ว...เพื่อนำเงินมารักษาตัวที่ป่วย แต่ถึงแม้จะได้เงินมาจากการขายพลายสุด พ่อของเขาก็ไม่อาจรักษาชีวิตไว้ได้

คำงายรู้สึกผูกพันและอาลัยในตัวพลายสุด แต่ก็ต้องยอมรับความจริง

พ่อเลี้ยงมีโรงแกะสลักและสตัฟฟ์สัตว์ต่าง ๆ
เมื่อคำงายไปทำงานด้วยเขาก็เรียนรู้วิธีแกะสลัก และสตัฟฟ์สัตว์จนชำนาญ
คำงายตั้งใจจะแกะสลักช้างไม้ขนาดใหญ่ด้วยไม้ชิงชัน เพื่อขอแลกกับพลายสุดคืนมา...

เขาทุ่มเททั้งหยาดเหงื่อ แรงงานและเวลาให้กับงานแกะสลักช้างไม้อยู่หลายปีตั้งแต่ลูกชายเขายังตัวเล็ก ๆ
เขาให้สัญญากับลูกว่าวันหนึ่งเขาจะพาลูกขี่ช้างไปเที่ยวเล่นด้วยกัน...
แต่วันหนึ่ง...เกิดอุบัติเหตุลูกชายเขาจมน้ำตายขณะที่ไปตกปลาในแม่น้ำที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่กับมันมาจนเหมือนปลาตัวหนึ่ง...

หลังจากเสียลูกชายคำงายก็ไม่ได้กลับเข้าไปในเพิงที่เขาแกะสลักช้างไม้ค้างไว้อีกเลย...
และเขาก็ไม่สามารถสตัฟฟ์สัตว์ได้อีกแล้ว...เขาจึงขอไปเป็นควาญช้างชักลากซุงแทน

เวลาต่อมา...พลายสุดถูกขโมยตัดงาจนกุดทั้งสองข้าง จนใคร ๆ เปลี่ยนคำเรียกขานจากพลายสุดเป็นพลายกุด...
คำงายเฝ้าดูแลเอาใจใส่ รักษาแผลให้มัน จนมันหายดีและกลับมาทำงานได้เหมือนเคย
เมื่อพ่อเลี้ยงได้เห็นช้างไม้ที่คำงายแกะสลักค้างไว้ก็พอใจ ตกลงขอแลกกับพลายสุด...
แต่...วันสุดท้ายที่คำงายกับพลายสุดไปชักลากซุงขึ้นตลิ่งด้วยกัน...ด้วยตลิ่งที่สูงและซุงที่หนักเกินกำลัง
ทั้งคนและช้างจึงพลั้งพลาด...คำงายเสีย "ชีวิต" ที่เขาเพิ่งจะค้นพบความหมายไปพร้อม ๆ กับพลายสุดนั่นเอง








เรื่องย่อแบบยาวอีกแล้ว...
เศร้าค่ะเรื่องนี้ อ่านกี่รอบกี่หนก็ยังให้อารมณ์ที่หนัก ๆ หน่วง ๆ ราวกับถูกซุงทับกระนั้น...
เป็นหนังสือเล่มโปรดอีกเล่มที่อ่านซ้ำ ๆ ได้ไม่รู้เบื่อ
เพราะ...ทุกครั้งที่หยิบขึ้นมาอ่าน เราจะค้นพบแง่งามใหม่ ๆ ของเรื่องอยู่เรื่อย ๆ

ในวัยที่ยังเยาว์กว่านี้ ตอนอ่านนิยายเรื่องนี้ก็เพียงรู้สึกหดหู่ เศร้า สะเทือนใจ...
เมื่อโตขึ้นแล้วหยิบมาอ่านใหม่อีกครั้ง และอีกครั้งก็รู้สึกได้ว่าแรงสะเทือนนั้น...มันมากขึ้น มากขึ้นทุกครั้งทุกคราวไป
แง่คิดและมุมมองอันซื่อใสแต่งดงามของคำงาย เป็นเหมือนกระจกเงาให้เราได้ส่องสะท้อนเข้ามายังชีวิตของเราเอง
เกิดเป็นคำถามที่ถามตัวเองย้ำ ๆ ซ้ำ ๆ ว่า...ถึงวันนี้เราหา"ชีวิต" เจอหรือยัง...?
เราได้ดูแล"ชีวิต"ของตนเองดีพอหรือยัง...?
หรือเพียงปรนเปรอ"ซาก"ของชีวิตไปวัน ๆ เท่านั้น

เรื่องราวส่วนใหญ่บอกเล่าผ่านความคิดคำนึงของคำงาย 'สาร' ที่ผู้เขียนตั้งใจสื่อออกมาจึงซื่อ ๆ ตรงไปตรงมา แต่...เฉียบแหลมและคมคายทีเดียว...

มีหลายบทหลายตอนที่...กระทบใจ...เช่น


"รูปปั้นไม่มีทางเหมือนคนได้เลย เพราะมันเป็นซากไม่มีชีวิต ...
แต่คนเหมือนรูปปั้น เพราะบางที คนคล้ายซาก ไม่มีจิตไม่มีใจ"



*****

'ไม่เป็นท่าเลย’ เขาพูดแล้วก้มมองตัวเอง...
'ฉันเคยเดินทางไกล ได้พบเห็นอะไรหลายอย่าง
แต่ของใกล้ตัวที่มีความหมายกับฉันมากที่สุด ฉันกลับมองไม่เห็น
เหมือนไม่รู้จักมันเลย...ข้อที่แปลกก็คือ ฉันไม่รู้ว่าฉันไม่รู้'



*****

'ทำไมชีวิตจึงเก็บไว้ไม่ได้นะ' เขาคิด 'มันคงจะเก็บไว้ได้ เพียงแต่ทำไม่ถูกวิธี
อยากรู้จังว่า ถ้าจะสตัฟฟ์ชีวิต จะต้องทำอย่างไร จะเริ่มต้นตรงไหนนะ'...
“ก็เริ่มต้นตรงที่ อย่าฆ่ามันนะซิ” เขาพูดออกมาดัง ๆ
...
'ง่ายนิดเดียวจริง ๆ' เขาคิด ' ถ้าอยากเก็บชีวิตไว้ ก็ต้องเลี้ยงมัน รักมัน ถนอมมัน...
แบบนี้ง่ายกว่าทำสตัฟฟ์ซากตั้งเยอะ'



******

'ทำไมต้องเอาไม้ใหญ่มาทำช้างนะ...' คำงายคิด...'คนเรานี่แปลกจริง ๆ ไม้ใหญ่มันก็ใหญ่ของมันอยู่แล้ว
คนไม่ได้ทำให้ช้างใหญ่ แต่ท่อนไม้มันใหญ่ของมันเอง
ตัวมันจริง ๆ คือต้นไม้ แต่คนกลับไม่เห็นความสวยและค่าของมันตอนมีร่มเงา มีชีวิต
กลับโค่นมัน ลิดกิ่งตัดใบให้เป็นซากไม้ แล้วเอามาแกะให้เหมือนซากช้าง
ชื่นชมมันมากกว่าได้เห็นซากจริง หรือต้นไม้ที่มีชีวิตเสียอีก
ทำไปทำมาก็จะไม่มีของจริงเลยสักอย่าง ไม่ว่าช้างหรือต้นไม้'



*****

คำงายรู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของช้าง และช้างเป็นส่วนหนึ่งของเขา...
'ไม่มีใครแยกต่างหากออกจากใคร
มนุษย์ทุกคนมีสายโยงใยที่มองไม่เห็น ฉันไม่ใช่ฉัน เขาไม่ใช่เขา
มีฉันอยู่ในตัวเขา และเขาในตัวฉัน...
...
เราทุกคนมีการเกิดและความตายอย่างละหนึ่งหนเท่ากัน
แต่สิ่งที่อยู่ระหว่างกลางนั้นเป็นชีวิต...เราต้องหาเอาเอง'



*****

จริง ๆ แล้วมีอีกเยอะมาก แต่ยกมาเป็นตัวอย่างเพียงเล็กน้อย

หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลดีเด่นโดยคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ในปีพ.ศ. ๒๕๒๗
และได้รับรางวัลซีไรต์ประเภทนวนิยายในปีพ.ศ.๒๕๓๑
นำมาชวนอ่านในวันช้างไทย ๑๓ มีนาคม


หมายเลขบันทึก: 288580เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2009 09:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สนุกและเหมาะแล้วที่ได้รับรางวัลครับ

ระลึกถึง..เจ้าค่ะ...คารมนี้..ตลิ่งสูงซุงหนัก..

ผู้แต่งเข้าใจถึงตัวตนไม่ใช่ตัวตนแล้ว บรรลุอนาคามีแม้ยังเป็นฆราวาส

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท