ท.ณเมืองกาฬ
นาย ทรงศักดิ์ พิราบขาว ภูเก้าแก้ว

ปัจจุบัน สระในภาษาไทย มีกี่รูปกี่เสียง กันแน่


สระในภาษาไทย

   

ความคิดเห็นที่ ๑

 

 ผมสอนภาษาไทยมา ๒๙ ปี เรียนวิชาเอกภาษาไทยตั้งแต่ ป.กศ.สูง ปริญญาตรี ๒ สถาบัน และเรียนปริญญาโทในสาขาจารึกภาษาไทย ซึ่งล้วนแล้วแต่วนเวียน เกี่ยวข้องอยู่ในวงการภาษาไทยมาโดยตลอด

     ตอนเด็กผมเรียนเรื่องสระ ก็ท่องกันมาว่า สระไทยมี ๒๑ รูป ๓๒ เสียง ต่อมามาเป็นครูสอน ม.๑ เมื่อปี ๒๕๒๑ ในตำราหลักภาษาไทย ของกระทรวงศึกษาธิการ บอกว่าสระไทยมี ๒๔ เสียง ที่หายไป ๘ เสียง คือสระเกิน ได้แก่ สระ อำ ไอ ใอ เอา ฤ ฤา ฦ ฦา ซึ่งตามหลักภาษาศาสตร์ ก็เป็นสระที่เกินมาจริงๆ สระอำ  คือสระอะ ที่มี ม. สะกด สระไอ ใอ คือสระอะที่มี ย สะกด สระเอา คือสระอะที่มี ว สะกด  ส่วน ฤ ฤา ฦ ฦา ก็มีเสียง ร และ ล ประสม สระอึ สระอือ อยู่ชัดๆ

     แต่แล้วเมื่อมาสอน ม.๖ ที่โรงเรียนบางลี่วิทยาในปัจจุบัน ผมต้องสอนเด็กว่า สระไทย มี ๒๑ เสียง อ้าว แล้วสระหายไปไหนอีก ๓ เสียง

    ตัวการอยู่ที่สระประสมทั้ง ๖ เสียง ๓ คู่ คือ สระเอียะ สระเอีย สระเอือะ สระเอือ สระอัวะ สระอัว นักภาษาศาสตร์เขาบอกว่าสระประสมทั้ง ๖ ตัวนี้ นับเป็นหน่วยเสียงสระได้ ๓ หน่วยเสียงเท่านั้น เขาบอกว่าสระแต่ละคู่เช่น สระเอียะกับสระเอีย นั้นต่างกันที่ความสั้นยาวของเสียงเท่านั้น แต่ไม่ทำให้ความหมายต่างกัน พูดอย่างนี้คงงง เขาบอกวิธีพิสูจน์ว่า ให้หาคำสองคำที่มีพยัญชนะต้นเหมือนกัน เสียงวรรณยุกต์เหมือนกัน แต่คำหนึ่งใช้สระเอียะ อีกคำใช้สระเอีย มาเทียบกัน ถ้าหาได้โดยทั้งสองคำมีความหมายจึงจะถือว่าเป็นคนละหน่วยเสียง แต่เราก็หาไม่ได้ เขาห้ามใช้คำที่เราเปล่งเสียงขึ้นมาเอง หรือเสียงธรรมชาติเช่นเสียงไล่ไก่ ไล่วัว ไล่สัตว์ต่างๆ

     แล้วสระที่เหลือทำได้หรือ ผมลองทำดูก็ทำได้ เช่นผมลองที่สระอะกับสระอา ได้คำว่า ปะ แปลว่า พบ มาเทียบกับคำว่า ป่า แปลว่า ที่รกด้วยต้นไม้ต่างๆ ก็แยกความหมายได้จริงของเขา

     อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ก็ยังมีการถกเถียงกันอยู่ในหมู่นักภาษาทั้งหลาย

     แล้วทีนี้ครูภาษาไทยเราจะสอนอย่างไร

     ผมเห็นชั้นเล็กๆสอนกันว่าสระมี ๓๒ เสียง พอโตขึ้นม.ต้นสอนว่ามี ๒๔ เสียง พอขึ้นม.๖ สอนว่า ๒๑ เสียง

    เพื่อนครูคงเหนื่อยหน่อยนะในการอธิบาย

     หวังว่าคงไม่อธิบายแบบว่า table อ่านว่า แทบ-เล่ ไปก่อนพอโตขึ้นค่อยอ่าน เท-เบิล

                           นายพิสูจน์   ใจเที่ยงกุล

                            ครูชำนาญการพิเศษ

                           โรงเรียนบางลี่วิทยา

 ความคิดเห็นที่  ๒

พอดีได้ไปอบรมมาค่ะ

แล้ววิทยากรกล่าวว่า "ในปัจจุบันนักวิชาการทางด้านภาษาจะกำหนดให้ว่า

ภาษาไทยมีสระ ๓๖ รูป ๒๑ เสียง"

โดย ๓๖ รูป คือ

๑. อ็(ไม้ไต่คู้)* ๒. ะ (สระอะ) ๓. อั (ไม้หันอากาศ)* ๔. า (สระอา)

๕. อำ (สระอำ)* ๖. อิ (สระอิ)* ๗. อี (สระอี)* ๘. อึ (สระอึ)*

๙. อี (สระอือ)* ๑๐. อือ (สระอือ-ออ)* ๑๑. อุ (สระอุ)*

๑๒. อู (สระอู)* ๑๓. เ-ะ (สระเอะ) ๑๔. เ (สระเอ)

๑๕. เอ็ (สระเอ-ไม้ไต่คู้)* ๑๖. แ-ะ (สระแอะ) ๑๗. แ (สระแอ)

๑๘. แอ็ (สระแอ-ไม้ไต่คู้)* ๑๙. โ-ะ (สระโอะ) ๒๐. โ (สระโอ)

๒๑. เ-าะ (สระเอาะ) ๒๒. อ (สระออ) ๒๓. อ็อ (สระออ-ไม้ไต่คู้)*

๒๔. เ-อะ (สระเออะ) ๒๕. เ-อ (สระเออ) ๒๖. เอิ (สระเอ-อิ)*

๒๗. เอียะ (สระเอียะ)* ๒๘. เอีย (สระเอีย)* ๒๙. เอือะ (สระเอือะ)*

๓๐. เอือ (สระเอือ)* ๓๑. อัวะ (สระอัวะ)* ๓๒. อัว (สระอัว)*

๓๓. ว (ตัววอ) ๓๔. ใ (สระใอไม้ม้วน) ๓๕. ไ (สระไอไม้มลาย)

๓๖. เ-า (สระเอา)

* หมายเหตุ เนื่องจากมีการตรวจสอบคำผิด ทำให้ไม่สามารถใส่สระเดี่ยวได้ จึงใส่ "อ อ่าง" กำกับแทน

        ส่วนเสียงมีรอฟังประกาศก่อนนะคะ เพราะวิทยากรบอกว่ารู้กันในหมู่นักวิชาการ ครูชำนาญการ ครูวิทยฐานะ ดิฉันเป็นเพียงครูที่รับการถ่ายทอดมาอีกที ก็ขอรอฟังจากกระทรวงศึกษาธิการคงจะแน่ใจมากกว่า ขอบคุณค่ะ

                               คุณ  ครูชั้นประถม

 

ความคิดเห็นที่ ๓


ค่ะ ...ตลกดี มีเหตุผลทุกตำรา ดิฉันว่า ตอนเด็กๆที่ต้องสอนว่า 32 เสียงก็เพราะต้องวิธีสอนแบบสอนเด็กๆคือสรุปให้ง่ายๆเข้าไว้ ไม่ต้องอธิบายกันมาก แค่ให้วิเคราะห์ได้เล็กน้อยว่าตัวไหนเป็นยังไงก็พอ ต่อมาโตขึ้นอีกหน่อยค่อยเริ่มสอนให้วิเคราะห์ที่ยากขึ้นนิดนึงแล้วจึงจับมาสังเคราะห์ พอโตขึ้นอีก ก็วิเคราะห์ให้ละเอียดไปอีกแล้วก็เอามาสังเคราะห์อีก แต่สำหรับดิฉันซึ่งเป็นครูสอนปอหก ไม่เชี่ยวชาญภาษาไทยมาก่อน แต่ก็พยายามเสาะแสวงหาความรู้เสมอ เพราะเราต้องเอาสิ่งนั้นไปถ่ายทอดให้เด็กๆ และสิ่งหนึ่งที่กระทำเป็นประจำตามแนวคิดของตัวดิฉันเองก็คือ อะไรที่ไม่สามารถสรุปได้ ดิฉันจะให้ข้อมูลทั้งหมดแก่พวกเขาเท่านั้น ขั้นตอนการสรุปให้เกิดขึ้นกับตัวเขาเอง เช่นเรื่องนี้ ที่ดิฉันเสาะแสวงมาพบข้อมูลของอาจารย์พิสูจน์(ซึ่งต้องขอขอบพระคุณมากจริงๆค่ะ เพราะได้รู้เพิ่ม จะได้เอาไปบอกเด็กๆเพิ่ม)ดิฉันก็จะทำเหมือนที่อาจารย์คือเอาข้อมูลทั้งหมดนำเสนอนี่ล่ะค่ะ และบอกพวกเขาว่าแล้วแต่ใครจะคิดเป็นยังไง "แต่เวลาทำข้อสอบต้องจำไว้นะ ถ้าเป็นข้อสอบประถมต้องตอบ 32 ถ้าเป็นข้อสอบม.ต้นตอบ24 และม.ปลายให้ตอบ 21 เพราะเวลาทำข้อสอบ เราจะเอาแต่ความคิดเราไม่ได้ เราต้องเอาใจคนถามน่ะค่ะ!

 ครูอ้อย

   

 

 

  ท้ายนี้ครู.ทอ ต้องขอขอบพระคุณ เจ้าของความคิดเห็น ข้างต้นที่ยกมาเป็นตัวอย่าง  ให้กับผู้ที่สนใจ ภาษาไทย  ทุกๆท่านนะครับ

      และถ้าผู้รู้ท่านใดได้ข้อสรุปที่แน่นอน ถ้าจะช่วยแนะนำจักขอขอบพระคุณยิ่ง

                                                                ท. ณเมืองกาฬ

คำสำคัญ (Tags): #ภาษาไทยเรา
หมายเลขบันทึก: 288236เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2009 10:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

                              ตอบตามครู พิสูจน์   ใจเที่ยงกุล

                            ครูชำนาญการพิเศษ

                           โรงเรียนบางลี่วิทยา

เป๊ะเลย!ต้องรู้ว่ากำลังสอนใคร พูดกับ จะได้ตอบถูก

  • ขอบคุณครับคุณ ครู ป 1
  • อีกไม่นานคงมีคำตอบที่ถูกต้องและเป็นที่ยอมรับกับทุกๆคน
  • โชคดีนะครับ

ดิฉันไม่ได้จบเอกภาษาไทยมาเสียด้วยแต่สอนภาษาไทย ชั้นป.3 จึงต้องการสอนให้ถูกต้องว่าสอนให้เด็กรู้จักสระว่ามีกี่รูปกี่เสียงกันแน่ ขอช่วยตอบด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ

มาอ่านความรู้ค่ะ ภาษาไทยนี่เรานี่ยาก สลับซับซ้อน และมีนัยยะแอบซ่อนไว้ หลายๆ จริงๆนะคะ ครู ท.

สุขสันต์วันศุกร์ วันสุดสัปดาห์ ที่จะถึงนี้ด้วยค่ะ

ดิฉันเป็นครูสอนระดับชั้นป.3 ทุกวิชา แต่เลือกทำผลงานนวัตกรรมเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ กลุ่มสาระวิชาภาษาไทย มีข้อสังเกตจากคณะกรรมการว่าผิดหลักวิชาการว่า

1. สระไทยมี 21 เสียง หรือไม่เกิน 24 เสียง ไม่ใช่ 32 เสียง

2. " โรงเรียน" ปัจจุบันใช้ตัวย่อ รร. ไม่ใช่ ร.ร.

กรุณาช่วยหาข้อมูลที่ถูกต้องในระดับประถมศึกษาให้หน่อยนะคะจะเป็นพระคุณอย่างสูง

รร. อ่านว่า โรงแรม ค่ะ

ร.ร. อ่านว่า โรงเรียน ใช้แทนกันไม่ได้ เพราะว่ามันคนละคำกันค่ะ

555+

อิอิ5555

โรงเรียน,โรงแรม ใช้ตัวย่อว่า  รร.  ไม่ใช่ ร.ร.  ครับ  จะดูว่าเป็นโรงเรียนหรือโรงแรมให้ดูที่บริบทครับ

นางสุณี รักเมืองติจันทึก

ครูปัจจุบันต้องปรับเปลี่ยนเรายึดของเดิมไม่ได้ บางครั้งเถียงกันในที่ประชุม เรายึดบรรทัดฐานภาษาไทยของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ เพราะนั่นได้กลั่นกรองจากผู้สันทัดและเชี่ยชาญเรียบร้อยแล้ว และพวกคำย่อต่างๆ ก้เปลี่ยนไป ก็ตามยุคเพราะภาษาไทยมีวิวัฒนาการมานานแล้ว ดิฉันสอนภาษาาไทย ป.1-2-3 และสอนทุกวิชา 3 ชั้น เพราะเป็น โรงเรียนขนาดเล็กค่ะ ถ้าข้อความนี้สื่อสารไม่ถูกต้องแสดงความคิดเห็นได้ค่ะ

จากคำถามของ "ครูภาษาไทย" ที่ถามไว้ 2 ข้อ ดังข้อความภายในวงเล็บ......คำถามในข้อ 2. มีคำตอบในหนังสือ "หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่น ๆ หลักเกณฑ์การเว้นวรรค หลักเกณฑ์การเขียนคำย่อ"ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ 6 (แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ.2548 หน้า 68 ระบุว่า โรงเรียน ย่อเป็น รร. ครับ

(ดิฉันเป็นครูสอนระดับ ชั้นป.3 ทุกวิชา แต่เลือกทำผลงานนวัตกรรมเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ กลุ่มสาระวิชาภาษาไทย มีข้อสังเกตจากคณะกรรมการว่าผิดหลักวิชาการว่า

1. สระไทยมี 21 เสียง หรือไม่เกิน 24 เสียง ไม่ใช่ 32 เสียง

2. " โรงเรียน" ปัจจุบันใช้ตัวย่อ รร. ไม่ใช่ ร.ร.

กรุณาช่วยหาข้อมูลที่ถูกต้องในระดับประถมศึกษาให้หน่อยนะคะจะเป็นพระคุณอย่างสูง)

….. อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/288236

ทำไมเวลาจะเปลี่ยนรูปสระ กี่รูปกื่เสียง ทำไมไม่มีข้อมูล ยืนยันที่ชัดเจนให้ครูทั่วประเทศ รู้เหมือนกัน หรือประกาศใช้คะ

ผมว่าก่อนจะพิสูจน์อะไรมาช่วยกันสอนเด็กให้อ่านออกก่อนดีไหมนักภาษาทั้งหลายตอนนี้เด็ก ประถมบางคนท่อง ก ฮ ยังไม่ได้เลยมันเกิดอะไรก็ไม่รู้ทั้งที่เรียน ป1ผ่านมาแล้วกำลังอยู่ ป2

ครูมายาวี ไชยแสง โรงเรียนบ้านโพนทัน ร้อยเอ็ด

ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นนะคะ สรุปว่าสระในภาษาไทยมีกี่รูปกี่เสียงถ้านักภาษาศาสตร์สรุปและตกลงกันได้แล้วว่ามีกี่รูปกี่เสียง (จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่) ก็ให้กระทรวงศึกษาธิการบรรจุลงในหลักสูตรเถอะค่ะครูทั้งประเทศจะได้นำเนื้อหานี้มาสอนนักเรียนให้ถูกต้องเหมือนกันทั้งประเทศต่อไป ขอบพระคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท