กว่าจะถึงอรหันต์ ..พระราธเถระ


 

แม้แก่ชราแต่ว่าง่าย
สอนอะไรก็เชื่อฟัง
แจ่มแจ้งแววไวดีจัง
กิเลสพังนิพพานผุด

พระราธเถระ

อดีตกาล ในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ พระราธเถระนี้ได้เกิดเป็นพราหมณ์ ชาวนครหงสาวดี เขาร่ำเรียนจนจบไตรเพท (คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของศาสนาพราหมณ์) มีความรู้ ความสามารถเป็นอย่างดี มีสติปัญญามาก

อยู่มาวันหนึ่ง เขาได้ไปเข้าเฝ้าพระปทุมุตตรพุทธเจ้าที่วิหาร พบเห็นพระองค์ทรงกำลังแต่งตั้ง ภิกษุ รูปหนึ่ง ให้อยู่ในตำแหน่ง ภิกษุผู้มีปฏิภาณ (ปัญญาคิดฉับไวและแยบคาย) เลิศยอดกว่า ภิกษุทั้งหลาย แล้วยังได้ฟังพระธรรมเทศนาอีก

จบการฟังธรรมนั้น ด้วยจิตศรัทธาแรงกล้าเขาเข้าไปสักการะพระพุทธองค์และหมู่สงฆ์ หมอบกราบ ศีรษะจดลงแทบพระบาทของพระศาสดา แล้วประกาศความปรารถนาในธรรม ที่จะเป็นผู้เลิศยอด ด้านปฏิภาณเช่นนั้นบ้าง

พระปทุมุตตรพุทธเจ้าทรงสดับแล้ว จึงตรัสพยากรณ์เขาว่า

"ท่านจงเป็นผู้มีความสุข มีอายุยืนเถิด ปณิธาน(การตั้งความปรารถนา)ของท่านจงสำเร็จ ด้วยสักการะ ที่ท่านทำกับเราและหมู่สงฆ์ จะมีผลไพบูลย์ยิ่งนัก ในอนาคตกาลจะมีพระพุทธเจ้าพระนามว่า โคดม เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ท่านจะเป็นสาวกของพระองค์ โดยมีนามว่า ราธะ และจะได้เป็นเลิศ ในด้านปฏิภาณ เหนือกว่าภิกษุทั้งปวง"

พอได้ฟังคำตรัสนั้นแล้ว เขาเบิกบานใจยิ่ง จิตเปี่ยมล้นด้วยความเมตตา ตั้งใจดูแลบำรุงพระพุทธองค์ และหมู่สงฆ์จวบจนตลอดชีวิต

ด้วยผลกรรมที่ได้ทำดีไว้ เมื่อเขาตายจากชาตินั้นแล้ว ได้เป็นเทวดา(ผู้มีจิตใจสูง)ถึง ๓๐๐ ครั้ง ได้เป็น พระเจ้าจักรพรรดิ ๕๐๐ ครั้ง ได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์อีกนับครั้งไม่ได้ เป็นผู้มีความสุข ในทุกๆภพ

จนกระทั่งถึงภพสุดท้าย ในสมัยของพระพุทธเจ้าองค์สมณโคดม เขาเกิดเป็น พราหมณ์ในตระกูล ที่ยากจน อยู่ที่เมืองราชคฤห์ของแคว้นมคธ เขาขาดแคลนแม้เครื่องนุ่งห่มและอาหาร ร่างกายผ่ายผอม ผิวพรรณทราม และที่น่าเศร้าใจยิ่งก็คือ เมื่อยามแก่ชราหมดเรี่ยวแรง ถูกลูกเมียทอดทิ้ง ต้องมาอาศัย วัดอยู่ ทำให้เขาเกิดความคิดขึ้นมาว่า

"ไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะอยู่ครองเรือน เราสมควรจะบวชเสียดีกว่า"

แต่ปรากฏว่าไม่มีใครๆบวชให้เขาเลย เพราะเขาชรามากแล้ว บังเอิญมีอยู่วันหนึ่ง พระพุทธองค์ ทอดพระเนตรเห็นเขา จึงตรัสถาม "ดูก่อนราธะ ไฉนจึงดูเศร้าหมองนัก จงบอกถึงโรคที่เกิดในจิตของท่าน ให้เราได้รู้เถิด" "ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรยิ่ง ข้าพระองค์ปรารถนาจะบวชในศาสนาของพระองค์ แต่ไม่มีผู้ใดบวชให้จึงเศร้าโศก ขอพระองค์โปรดเป็นที่พึ่งของข้าพระองค์ด้วยเถิด"

พระศาสดาทรงสดับเช่นนั้น จึงรับสั่งประชุมสงฆ์ แล้วตรัสถามขึ้น "ผู้ใดนึกถึงความดีของพราหมณ์นี้ได้ มีอยู่หรือไม่ จงบอกมาเถิด" เวลานั้น พระสารีบุตรเถระได้กราบทูลว่า

"ข้าพระองค์นึกถึงความดีของเขาได้อยู่ พราหมณ์ผู้นี้เคยถวายอาหารทัพพีหนึ่งแก่ข้าพระองค์ ซึ่งกำลังเที่ยวบิณฑบาตพระเจ้าข้า"

"สาธุ ดีล่ะสารีบุตร เธอเป็นคนกตัญญู จงบวชให้พราหมณ์นี้เถิด พราหมณ์นี้จะเป็นผู้ควรบูชา"

ราธพราหมณ์จึงได้บวชด้วยคำตรัสของพระศาสดาดังนี้ แล้วในเวลาไม่นานเลย ก็ได้บรรลุธรรม มีกิเลสสิ้นเกลี้ยงแล้ว เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในพระพุทธศาสนา

พระราธเถระเป็นผู้มีความยินดี และเพลิดเพลินในการสดับธรรมของพระศาสดาโดยเคารพ มีปัญญา ฉับไว และแยบคายในคำสอนของพระศาสดายิ่งนัก และเป็นตัวอย่างของภิกษุผู้บวชเมื่อแก่ แต่ทำตน เป็นผู้ว่าง่าย ตั้งใจรับฟังคำสั่งสอน มีความสุภาพอ่อนโยน ดังนั้นพระศาสดา จึงทรงยกย่อง ท่านว่า

"พระราธะนี้ เป็นเลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเรา ในด้านของผู้มีปฏิภาณแจ่มแจ้ง"

ท่านจึงได้กล่าว คาถาธรรมเอาไว้ เพื่อเตือนใจแก่คนทั้งหลายว่า

"เรือนที่บุคคลมุงไว้ไม่ดี ฝนย่อมรั่วรดได้ ฉันใด จิตที่ไม่ได้อบรมไว้ดี ราคะย่อมรั่วรดได้ ฉันนั้น"


(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๒๖๔ พระไตรปิฎกเล่ม ๓๓ ข้อ ๑๒๙
อรรถกถาแปลเล่ม ๕๑ หน้า ๓๐)

 

หมายเลขบันทึก: 288199เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2009 05:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 18:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ธรรมะยามเช้าขอรับอาจารย์

ไม่ได้ทักทายอาจารย์หลายวันแล้วสบายดีนะขอรับ..

ส่วนธรรมฐิตก็พอ..ยาปนมัตต์..ขอรับ..

ธรรมสวัสดีครับภัณเตธรรมฐิต

ครับผมพอเป็นพอไปครับ

กำลังเดินทางครับ งานเข้าช่วง

เข้าพรรษา เลยต้องสัตตหะประจำ

เจริญในธรรมครับ กราบขอบพระคุณ

ที่ภัณเตมาเยี่ยมครับ..ธรรมรักษา

 

ไปเทศน์งานศพพึ่งกลับมา

บางส่วนของธรรมะที่ได้บรรยาย ง่ายๆ เป็นภาษาอีสาน

จากประโยคทองของปี ๒๕๕๒ จากท่านผู้นำของเรา

"ขอให้มีดวงตาเห็นธรรม"

ดวงตาเห็นธรรมนั้นเป็นฉันใด?

๑.นี้ทุกข์ นี้งมงาย ไสยศาสตร์ (คว่ำบาตร หงายบาตร เพื่อตัดกรรม)

นี้อบายมุข คือทุกข์ของแผ่นดิน นี้บิ๊กเซอร์ไพรส์ เพื่อทำการตลาดให้โด่งดังก็เป็นทุกข์

๒.นี้เหตุแห่งทุกข์ ทั้งหลงเงินตรา-บ้าอำนาจ-เป็นทาสตัณหา

(กิน-กาม-เกียรติ) ฯลฯ

๓.นี้ความดับทุกข์ นี้เป็นไท (นิพพาน)ไม่เป็นทาสกิเลส ตัณหา ตั้งแต่ อบายมุข-

กามคุณ-และโลกอัตตา มาได้ตามลำดับ

๔.นี้เป็นหนทางแห่งความดับทุกข์คือ ศีล ๕ ศีล๘ ศีล๑๐

จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล เพื่อเจริญ"ไตรสิกขา"(ศีล-สมาธิ-ปัญญา)

และมรรคมีองค์๘

ชาวบ้านและผู้มาร่วมงานได้ฟังคงจะได้ข้อคิดอะไรบ้างไม่มากก็น้อย

เพราะ ส่วนมากจะได้ฟังแต่การสวดเป็นภาษาบาลี ตามจารีตที่ทำตามๆกันมา มีโอกาสได้ฟังธรรมเป็นภาษาท้องถิ่นก็ถือว่าโชคดีขึ้นไปอีก ..อนุโมทนาสาธุ




 

นมัสการพระคุณเจ้า

ขอบพระคุณเจ้าค่ะ ที่พระคุณเจ้าไปทักทายในบล็อค

เพิ่งลงเรื่องใหม่เจ้าค่ะ เรื่อง คำกล่าวถึงอายุพระศาสนาคือห้าพันปีนั้น บอกถึงอะไรได้บ้างเจ้าค่ะ

กราบนมัสการลา

ณัฐรดา

ธรรมสวัสดีโยมณัฐรดา

อนุโมทนาสาธุกับโยมนะ

ธรรมรักษา

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท