ปัญหา"การเขียน"ของนักเรียน


ข้อสอบชีววิทยาจึงเป็นเขียนตอบส่วนใหญ่ กิจกรรมการเรียนรู้ในห้อง มักให้นักเรียนผลัดกันเล่า ผลัดกันอธิบายอยู่เสมอ นักเรียนบางคนโดดเด่นออกมาจากกลุ่มเพื่อนเลย แต่นักเรียนส่วนใหญ่ก็ยังคงใช้วิธีเดิมๆที่แกถนัด

ครูผู้สอนเคยมีปัญหาอย่างนี้มั้ย มอบหมายให้นักเรียนเขียนสรุปสาระสำคัญอะไรสักอย่าง นักเรียนมักใช้วิธีตัดข้อความจากหนังสือหรือตำรามาเป็นท่อนๆ โดยจะพิจารณาข้อความใดที่สำคัญแล้วขีดเส้นใต้ไว้ จากนั้นจะลอกประโยคที่ขีดเส้นใต้มาเรียบเรียง จะว่าไปวิธีเช่นนี้ไม่ได้ผิด เพราะย่อมได้เนื้อหาสำคัญอยู่แล้ว แต่ครูจะรู้สึกทันที เพราะท่อนประโยคที่ตัดมาเรียงใหม่ไม่ผสมกลมกลืน กระโดด กระตุก ห้วนหรือเยิ่นเย้อเกิน หาพอดียาก


อีกอย่างที่สังเกตได้ คำหรือประโยคจะเป็นทางการหรือวิชาการเกิน ไม่ใช่ภาษาลูกศิษย์เรา สรุปว่านักเรียนค่อนข้างด้อยเรื่องเขียน เหตุผลมีมากมายอย่างที่รู้ๆ ไม่ค่อยได้ฝึกเขียน ข้อสอบเป็นช้อยส์เสียส่วนใหญ่ จนบางสมัยรมต.ศธ.ท่านหนึ่งถึงกับมีนโยบายให้ครูออกข้อสอบอัตนัยปนบ้าง

แนะและพยายามฝึกลูกศิษย์มากเรื่องนี้ เธอต้องอ่านเรื่องนั้นๆให้กระจ่างเสียก่อน อธิบายปากเปล่าให้ได้ ลองเล่าให้ตัวเองฟังหรืออธิบายให้เพื่อนฟัง จากนั้นจึงค่อยลงมือเขียนตามความเข้าใจตัวเอง ด้วยคำด้วยประโยคของตัวเอง ปิดหนังสือ..จำรายละเอียดบางอย่างไม่ได้ จึงค่อยแอบๆเปิดดูบ้าง อย่ากางตำราเขียน

ข้อสอบชีววิทยาจึงเป็นเขียนตอบส่วนใหญ่ กิจกรรมการเรียนรู้ในห้อง มักให้นักเรียนผลัดกันเล่า ผลัดกันอธิบายอยู่เสมอ นักเรียนบางคนโดดเด่นออกมาจากกลุ่มเพื่อนเลย แต่นักเรียนส่วนใหญ่ก็ยังคงใช้วิธีเดิมๆที่แกถนัด

สอนการสังเคราะห์โปรตีนอีกครั้ง หลังจากชั่วโมงที่แล้วให้เรียนจากสื่อคอมพิวเตอร์ วันนี้สองชั่วโมงเช่นกัน ชั่วโมงแรกให้นักเรียนเขียนสรุปสาระสำคัญ เน้นให้อ่านจากหนังสือเรียนเท่านั้น คู่มือต่างๆอย่าเพิ่งใช้ เพราะถ้าคู่มือมี ก็ไม่ได้ทำด้วยตัวเอง ประโยชน์จะเกิดได้อย่างไร นักเรียนตั้งใจกันดีและส่งงานครบ

ชั่วโมงที่สองเขียนจั่วหัวบนกระดาน“การสังเคราะห์โปรตีน ประกอบด้วย ๒ ขั้นตอนสำคัญ ได้แก่ ๑.การคัดลอกรหัส(Transcription)” แล้วหันมาบอกกติกา..ให้นักเรียนช่วยกันเขียนต่อจากครู โดยแบ่งเขียนคนละขั้นหรือคนละบรรทัดไปเรื่อยๆจนครบทุกขั้นตอนของการสังเคราะห์โปรตีน ลำดับอย่าให้ผิดพลาด

นักเรียนตั้งใจและกระตือรือร้นพอสมควร โดยอ่าน ค้นจากหนังสือ ปรึกษาหารือกัน เล็งอ่านที่เพื่อนเขียนบนกระดานว่าไปถึงไหนแล้ว จะได้เขียนต่อได้ถูก ผลงานที่เขียนไว้ในชั่วโมงแรกนำมาใช้ไม่ได้ เพราะครูเก็บไว้แล้วหมดทั้งหมด(ฮา) จึงเหมือนนักเรียนได้ทวนหรือทำซ้ำ โดยต้องนำความคิดไปผสมผสานกับคนอื่นด้วย ตรวจสอบความเข้าใจของตัวเองไปในตัว

สรุปการเรียนการสอนวันนี้ใช้ได้เลย นักเรียนตั้งใจเป็นส่วนใหญ่ สาระที่ช่วยกันเขียนถูกต้องทั้งหมด มีบ้างที่ตกหล่นหรือข้ามขั้นตอน แต่เพื่อนคนหลังสามารถรู้และแก้ไขได้

แต่ที่ยังเห็นเหมือนๆเดิมก็คือ นักเรียนยังไม่ได้เขียนด้วยคำพูด ด้วยประโยค หรือด้วยความเข้าใจของตัวเอง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 288151เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2009 21:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มีนาคม 2021 09:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีค่ะครูธนิตย์

ครูเมี้ยวแวะมาเยี่ยมชมวิธีการสอนของอาจารย์ค่ะ และขอชื่นชมกับวิธีการสอนแบบนี้ค่ะขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ

  • สวัสดีค่ะ
  • ที่อาจารย์ยกมาเป็นโจทย์ใหญ่ ปัญหาใหญ่...ที่ต้องค่อยๆ แก้
  • การจะเล่าด้วยภาษาตัวเองได้  ต้องอ่านอย่างเข้าใจ เก็บคำสำคัญให้ได้  เล่าเป็นเค้าโครง แล้ว ค่อยเรียบเรียง
  • คนอ่านหนังสือมากๆ จะมีทักษะนี้  อ่านแล้วจะเกิดความคิดรวบยอดในหัว  คำจะไหลออกมาเอง  คนอ่านน้อยจะฝึกยาก 
  • ทักษะพวกนี้ต้องฝึกตั้งแต่เด็กๆ ค่ะ  ฝึกไม่ยาก ทำตอนโตยาก
  • อาจารย์ลองดูพวกเราที่เป็นผู้ใหญ่สิคะ  ทำได้กี่มากน้อย
  • นานมาแล้วเจอข้อสอบเข้า ป.โท ครุศาสตร จุฬา  ให้สรุปความให้เหลือไม่เกิน 3 บันทัด จากบทความ 3 หน้า  เหงื่อตกค่ะ
  • เด็กไทยวันนี้ ที่จะโตเป็นคนไทยวันหน้า  "สรุปสาระสำคัญ" ไม่ค่อยเป็นจริงๆ ค่ะ
  • น่าเป็นห่วงค่ะ 
  • ลูกชายคนเล็กเคยยกปัญหานี้มาคุย วันหลังจะขอความเห็นจากลุกชายมาเล่าให้ฟัง

ขอติดตามการสอนของอาจารย์และจะนำไปใช้ในรายวิชานะค่ะ

  • การสอนแบบโครงงาน"ส้มตำ" ก็เยี่ยมเลย..ทั้งที่เด็กๆตัวกะจิ๊ดเดียว น่ารักครับ
  • ขอบคุณครูเมี้ยวครับ
  • จริงๆอย่างที่คุณnuiว่าทุกประการครับ ขนาดผู้ใหญ่อย่างเรา ทำได้กี่มากน้อย?
  • ครูคงต้องช่วยกันและพยายามทำต่อไปครับ แบบอย่าหวังผลวันนี้ วันพรุ่งนี้..
  • ขอบคุณคุณnuiครับ
  • พยายามทำหน้าที่ครับ ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง..อาจารย์สบายดีนะครับ!
  • ขอบคุณอ.rindaครับ

สวัสดีค่ะอ.ธนิตย์

*** เธอต้องอ่านเรื่องนั้นๆให้กระจ่างเสียก่อน เล่า อธิบายปากเปล่าให้ได้ ชอบวิธีการสอนขั้นตอนนี้จริงๆ

*** ทุกวันนี้เด็กอ่านจับใจความไม่เป็น (สมัยเราเรียกอ่านเอาเรื่อง)เด็กๆไม่รู้ว่าอะไรคือพลความ และอะไรคือใจความสำคัญ เมื่อสั่งให้ย่อความกลายเป็นย่นความ ใช้เวลาสอนเรื่องการย่อความถึง 3 คาบ ด้วยการฝึกเขียนโดยใช้สื่อที่ไม่เหมือนกัน หลายคนยังไม่ผ่าน เพราะนักเรียนยังไม่ได้เขียนด้วยคำพูด ด้วยประโยค หรือด้วยความเข้าใจของตัวเอง

*** แม้จะคนละวิชาแต่ปัญหาเหมือนกันเลย เป็นเพราะอ่อนด้อยเรื่องการอ่านและการเขียนสื่อความหมายทำให้เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้วิชาอื่นด้วย

  • เข้าใจทันทีเลยครับ "ย่อความกลายเป็นย่นความ"
  • เหมือนจะไม่ยากนะครับ เรื่องเขียนของนักเรียน แต่ก็ไม่ค่อยได้กัน หมายถึง เขียนจากความเข้าใจของตัวเองไม่ค่อยได้
  • ผมแปลกใจตรงที่นักเรียนหลายๆคน และที่ผ่านมา มักใช้วิธีเดียวกันนี้ครับ
  • ขอบคุณพี่กิติยาครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท