SI ดาบสองคม...แบ่งปั้นความรู้สู่ทีมครูคุณภาพ


ขอบคุณและขอชื่นชมกับทีมผู้บริหาร คุณครู และผู้ปกครอง รร. ปลูกปัญญา ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการจัดโปรแกรมกิจกรรมบำบัดด้วย SI หรือ Sensory Integration

เมื่อวานผมไปบรรยายเชิงปฏิบัติการเรื่อง การจัดโปรแกรมกิจกรรมด้วยทฤษฎีการประสมประสานการรับความรู้สึก (Sensory Integraive หรือ SI Therory) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ โรงเรียนปลูกปัญญา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นับเป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกว่า "ผู้เรียนกระตื้อรือล้นและมุ่งมั่นพัฒนากิจกรรมในโรงเรียนเกิน 100%"

เจ้าของโรงเรียนที่ทำงานธุรกิจส่วนตัวและมีประสบการณ์ในการศึกษา ณ ต่างประเทศ แนะนำตัวกับผมอย่างอ่อนน้อมถ่อมตัวและเป็นกันเองมากๆ กล่าวว่า "ตนเองไม่มีความรู้เรื่องการบริหารการศึกษา แต่เรียนรู้ความเป็นครูของลูก และอยากให้ลูกและเด็กไทยมีระบบการเรียนรู้แบบใหม่ๆ จึงศึกษาและเชิญผู้เชื่ยวชาญด้านต่างๆ มาให้คำปรึกษา พัฒนาทีมผู้บริหารและคุณครูของโรงเรียน ส่งผลให้ผู้ปกครองเข้าใจและต้องการให้ลูกๆ มาเรียนรู้แบบใหม่นี้ ในระดับชั้นประถมศึกษา แต่นับว่าเป็นงานที่ท้าทายและไม่ง่ายนักในการพัฒนาองค์ความรู้ของการจัดการองค์ประกอบต่างๆ ในการพัฒนาศักภาพของมนุษย์"

ผมฟังแล้วรู้สึกถึงความมุ่งมั่นและความคาดหวังที่คุณพ่อคุณแม่และคุณครูของโรงเรียนแห่งนี้ และสำรวจเห็นการปรับสิ่งแวดล้อมและแนวคิดการจัดเทคนิคการเรียนรู้ที่น่าจัดเป็นต้นแบบของโรงเรียนระดับประถมศึกษาที่น่าสนใจมากครับ ลองคลิกดูที่ www.plookpanya.ac.th ที่สำคัญเมื่อพูดคุยกับคุณครูของโรงเรียน ผมไม่ประหลาดใจเมื่อทราบว่า การคัดเลือกคุณครูคุณภาพของที่นี่มีระบบที่ดีมาก และคุณครูทุกท่านมีดีกรีในและต่างประเทศ และกล้าแสดงความคิดเห็นแบบผู้รู้และผู้เปิดใจพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา

ผมไม่รู้สึกเหนื่อยล้าเลยในการคิดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนรู้ทุกท่านเข้าใจเนื้อหาและการนำความรู้ไปต่อยอดตามความคาดหวัง คือ โปรแกรมที่พัฒนาทักษะชีวิตของนักเรียนที่หลากหลาย มีหลักการ และผ่านกระบวนการกลั่นกรองความคิดหลังเรียนรู้แนวคิดกิจกรรมบำบัดและ SI และพวกเราก็ทำได้จริงๆ ชุดโปรแกรมที่น่าสนใจจากสื่อการเรียนรู้ง่ายๆ และเชื่อมโยงกับการพัฒนาทักษะชีวิตของนักเรียน ผู้ที่สามารถเลือกกิจกรรมด้วยตนเองอย่างน้อย 3 กิจกรรมในเวลาไม่เกิน 1 ชม. นอกจากนี้คุณครูทุกท่านเข้าใจบทบาทของตนเองในการทำงานร่วมกับนักกิจกรรมบำบัดหรือผู้เชื่ยวชาญด้านอื่นๆ ได้แก่ การคัดกรองประเมิน และจัดโปรแกรมแก้ไขปัญหา และส่งเสริมศักยภาพเฉพาะราย ด้านทักษะการเรียน-การเล่น-การดำเนินชีวิต โดยทำงานแบบสหวิชาชีพ

ทีมผู้เรียนและผมร่วมกันแบ่งปั้นความรู้และได้สาระต่อยอดที่น่าสนใจ ดังนี้

  • การประสมประสานการรับความรู้สึก หรือ SI ถือเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการความสามารถของมนุษย์โดยธรรมชาติ ครอบคลุมถึงการรับรู้และการประมวลผลระบบการรับความรู้สึกจากการมองเห็น การได้ยิน การทรงตัวขณะเคลื่อนไหวและการป้องกันตนเองไม่ให้ล้ม การทรงท่าทางรับรู้ข้อต่อร่างกายขณะอยู่นิ่ง การสัมผัสทั่วไปและแยกแยะอย่างละเอียด (โดยเฉพาะกายสัมผัส สัมผัสผิวรูปร่างขนาดวัตถุขณะหยิบจับ สัมผัสผิวอาหารขณะกินอาหาร) การรับรส การดมกลิ่น และการรับรู้แบบประสมประสานในหลายๆระดับของความรู้สึกข้างต้นในสหสัมพันธ์ของการเคลื่อนไหว การเรียนรู้ การควบคุมตนเอง การรับรู้ความภาคภูมิใจของตนเอง การสร้างทักษะทางสังคม และการแสดงพฤติกรรมการดำเนินชีวิตและอารมณ์ที่เหมาะสม
  • หากการส่งเสริมพัฒนาการระบบการรับความรู้สึกได้อย่างสมดุลและเชื่อมโยงกับการจัดสิ่งแวดล้อมต่อการพัฒนาทักษะชีวิต (70%) การเลี้ยงดูจากผู้ปกครองและครู (20%) และเหตุผลทางพันธุกรรม (10%) โดยเฉพาะระบบสัมผัส ระบบตำแหน่งข้อต่อ และระบบการทรงตัว ในช่วง 6 ปีแรก เราไม่จำเป็นต้องใช้กิจกรรมบำบัดด้วยเทคนิค SI หรือ SI Therapy โดยประเมินและจัดโปรแกรมจากผู้เชี่ยวชาญในเด็กที่มีปัญหา SI หรือ Sensory Processing Disorder (SPD) หรือ Dysfunction of Sensory Integration (DSI)  
  • ผู้ปกครองและคุณครูควรสังเกตและร่วมเล่น-เรียน-มีส่วนร่วมกับกิจกรรมการดำเนินชีวิตที่สำคัญของเด็ก ทั้งแบบกลุ่มและรายบุคคล ไม่จำเป็นต้องใช้แบบมาตราฐานราคาแพง แต่ประยุกต์สื่อกิจกรรมที่ผ่านการวิเคราะห์และสังเคราะห์ (เช่น หนึ่งเป้าหมายหลัก หนึ่งเป้าหมายรอง และสามขั้นตอนการจัดกิจกรรม) มาคัดกรองและประเมินทั้งความสามารถและปัญหาการเรียนรู้ของเด็ก ในบริบทและสถานการณ์ตามธรรมชาติ เช่น การเรียนวิชาหนึ่งในห้องเรียน การเล่นในโรงเรียน เป็นต้น
  • หากคัดกรองและประเมิน แล้วพบว่า เด็กหนึ่งคนน่าจะมีปัญหาที่ไม่ Match กับความสามารถที่มีอยู่ ก็ควรส่งต่อหรือร่วมปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ได้แก่ นักกิจกรรมบำบัดด้าน SI นักกิจกรรมบำบัดด้านพัฒนาการเด็ก นักกิจกรรมบำบัดด้านจิตสังคม จิตแพทย์เด็ก กุมารแพทย์ด้านจิตเวช นักจิตวิทยาคลินิกเด็ก นักพฤติกรรมบำบัดเด็ก ครูการศึกษาพิเศษที่ผ่านการอบรมและฝึกในเด็ก SPD 
  • ผู้อบรมหลายคนเล่าว่า ตอนแรกเห็นว่ามี ดร. มาบรรยาย แถมเอกสารเป็นศัพท์ทางการแพทย์และภาษาอังกฤษ ก็คิดว่าน่าเบื่อและยากเกินกว่าเข้าใจ แต่พอเรียนรู้จนจบก็เข้าใจเรื่องกิจกรรมบำบัดและ SI มากกว่าที่เคยรู้หรือไม่เคยรู้ และเข้าใจลึกซึ่งว่า สิ่งแวดล้อมรอบตัวอย่างง่ายๆ ถือเป็นสื่อการจัดการเรียนรู้ที่ดีโดยธรรมชาติ SI เป็นเพียงเทคนิคหนึ่งที่อาจไม่จำเป็นหากเด็กนักเรียนมีพัฒนาการที่ปกติสมวัย SI ถือเป็นยาที่เราควรรู้จักเลือกมาใช้ในกรณีที่ประเมินพบเด็ก SPD มิใช่ใช้อย่างไม่รู้จริงจนกลายเป็นดาบสองคมต่อการพัฒนาชีวิตน้อยๆ ของโรงเรียน   
หมายเลขบันทึก: 287923เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2009 10:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 01:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท