งานมหกรรมรักการอ่าน


ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการอ่าน ๓ ด้าน คือ ยุทธศาสตร์ที่ ๑ เพิ่มขีดความสามารถในการอ่าน คนไทยทุกคนจะต้องอ่านออก เขียนได้ อ่านหนังสือด้วยความเข้าใจ สามารถวิเคราะห์ได้ ยุทธศาสตร์ที่ ๒ สร้างนิสัยรักการอ่านให้เกิดขึ้นกับคนไทยทุกคน และยุทธศาสตร์ที่ ๓ สร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในการส่งเสริมอ่านให้เกิดขึ้น

นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์  ัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมรักการอ่าน เทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ห้องบางกอกคอนเวนชั่น เซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๒


รมว.ศธ. กล่าวในพิธีเปิดว่า "..มีความประทับใจในความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ให้ความสำคัญต่อการจัดงาน อันเป็นการรณรงค์ส่งเสริมการอ่านแก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทุกจังหวัดทั่วประเทศ การปลูกฝังส่งเสริมนิสัยรักการอ่านนั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นแบบฉบับที่ดี ควรค่าแก่การยกย่อง เป็นแม่ของแผ่นดิน อันปรากฏดังพระราชนิพนธ์เรื่อง แม่ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตอนที่ทรงเล่าถึงวิธีการที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ  พระบรมราชินีนาถ ทรงใช้อบรมพระราชโอรสและพระราชธิดา ดังปรากฏในข้อความตอนหนึ่งว่า หนังสือธรรมดาๆ ที่น่าเบื่อที่สุดในโลก พอสมเด็จแม่เล่า มันสนุก ตื่นเต้น มีรสมีชาติขึ้นมาทันที ซึ่งสะท้อนถึงกลวิธีการสร้างนิสัยรักการอ่านในสมเด็จพระนางเจ้าฯ  พระบรมราชินีนาถ อันเปี่ยมไปด้วยศาสตร์และศิลป์ ทรงเป็นนักอ่านที่มีพระราชวิจารณญาณอย่างลึกซึ้ง ทั้งเมื่อทรงอ่านพบสิ่งใดที่น่าสนใจ เป็นประโยชน์ต่ออาณาประชาราษฎร์ ก็จะทรงอ่านและบันทึกลงในแถบบันทึกเสียง พระราชทานแก่ราษฎรในชนบทให้ได้ฟังโดยทั่วกัน 


การอ่านจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้คนไทยทุกคน ทั้งที่อยู่ในระบบการศึกษาและที่อยู่นอกระบบการศึกษาให้สามารถค้นหาความรู้ และเข้าถึงความรู้ได้ตลอดเวลาจากสื่ออันหลากหลายในยุคโลกาภิวัตน์ และการอ่านยังมีส่วนช่วยส่งเสริมการสร้างจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ อันจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นอกจากนั้นผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกยังได้เห็นสอดคล้องต้องกันว่า อย่างน้อยร้อยละ ๘๐-๙๐ ของความรู้หรือข้อมูลข่าวสารที่มนุษย์ต้องการนั้น ก็ได้มาจากการอ่านทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับความจริงว่าปัญหาภาวะการอ่านของประเทศไทยเรานั้น ยังมีปัญหาอยู่ ๒ ประการ ที่ต้องเร่งรัดแก้ไข ประการที่ ๑ คือ คนไทยอ่านหนังสือน้อยมาก สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ทำการสำรวจตัวเลขเมื่อปี ๒๕๕๑ พบว่าคนไทยอายุ ๖ ปีขึ้นไป อ่านหนังสือนอกเวลาเรียนและนอกเวลาทำงาน เฉลี่ย ๓๙ นาที/วัน และจากการสำรวจอื่นยังพบว่า คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ย ๕ เล่ม/ปี ปัญหาประการที่ ๒ คือ แม้จะมีสถาบันและหน่วยงานมากมายที่สนใจส่งเสริมการอ่าน แต่ยังขาดเอกภาพในการดำเนินงาน ยังขาดจุดเชื่อมในการขับเคลื่อนในภาพรวมของประเทศ ศธ.จึงได้ตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตขึ้น โดยมี รมว.ศธ.เป็นประธาน และมีคณะกรรมการจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันและมูลนิธิต่างๆ ร่วมกันระดมสรรพกำลังทางความคิดทั้งหลาย
จนกระทั่งในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๒ กำหนดให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ กำหนดให้วันที่ ๒ เมษายน ของทุกปี อันเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นวันรักการอ่าน กำหนดให้ปี ๒๕๕๒-๒๕๖๑ เป็นทศวรรษแห่งการอ่านของประเทศ เพื่อให้การส่งเสริมการอ่านมีความยั่งยืนและต่อเนื่อง  รวมทั้งได้มอบหมายให้คณะกรรมการส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นองค์กรขับเคลื่อนให้มติคณะรัฐมนตรีมีผลปรากฏเป็นรูปธรรมต่อไป
งานมหกรรมรักการอ่าน ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๔-๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๒ ถือเป็นกิจกรรมแรกที่จัดขึ้นพร้อมกันทุกจังหวัด และถือเป็นการเริ่มต้นทศวรรษแห่งการอ่านของประเทศไทยตามมติคณะรัฐมนตรี และที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง ถือเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และในโอกาสอันเป็นมงคลนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระราชทาน ๑๐ กลวิธีสร้างนิสัยรักการอ่านในพระองค์ และได้พระราชทานหนังสือดีที่น่าอ่านสำหรับเด็กและเยาวชนไทย ๖ เรื่องแก่กระทรวงศึกษาธิการ อันประกอบด้วย หนังสือพระอภัยมณี รามเกียรติ์ นิทานชาดก อิเหนา พระราชพิธีสิบสองเดือน กาพย์เห่เรือ เจ้าฟ้ากุ้ง (เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร) ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้นำมาแสดงเป็นนิทรรศการรักการอ่านเทิดมหาราชินีในครั้งนี้ด้วย และนับจากนี้ไป กระทรวงศึกษาธิการจะมอบหมายให้ห้องสมุดในทุกสถานศึกษาทั่วประเทศ ตลอดจนห้องสมุดประชาชน ได้จัดหาหนังสือพระราชทานทั้ง ๖ เรื่องดังกล่าว ไว้ในห้องสมุด เพื่อเผยแพร่ให้เด็ก เยาวชนและประชาชนไทยทั้งประเทศได้อ่านต่อไป.."

รมว.ศธ.เปิดเผยภายหลังพิธีเปิดงานว่า จะสั่งการให้ห้องสมุดในสถานศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ  รวมทั้งห้องสมุดประชาชน จัดหาหนังสือพระราชทาน ๖ เล่มไว้ในห้องสมุด เพื่อให้เด็กและประชาชนทั่วไปได้อ่าน ซึ่งนับว่าเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต โดยจะจัดให้มีหนังสือทั้ง ๖ เล่ม  ในห้องสมุด ๓ ดีด้วยทั้งนี้ ศธ.ได้เตรียมงบประมาณที่จะพัฒนาห้องสมุดทั่วประเทศที่จะต้องมีดี ๓ ด้าน คือ หนังสือดี บรรยากาศดี และบรรณารักษ์ดี นอกจากนี้ รมว.ศธ.ได้มอบหมายให้ สพฐ. ดำเนินการเกี่ยวกับวิธีการที่ทำให้เด็กและคนไทยได้อ่านหนังสือดีทั้ง ๖ เล่มให้ได้มากและทั่วถึงที่สุด  เช่น อาจจะจัดให้เป็นหนังสือบังคับเรียน ประกอบการเรียน หรือจะจัดให้เป็นตำราเรียนในระดับชั้นต่างๆ
จากการสำรวจพบว่า การอ่านช่วยเพิ่มพูนความรู้ ความรู้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่ได้อ่าน การอ่านจึงมีประโยชน์อย่างยิ่งและเป็นนโยบายที่จะต้องส่งเสริมให้คนไทยอ่านหนังสือมากขึ้น ศธ.จึงได้กำหนดเป้าหมายเพื่อทำให้คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นอีก ๑ เท่า และได้กำหนดยุทธศาสตร์การส่งเสริมการอ่าน ๓ ด้าน คือ ยุทธศาสตร์ที่ ๑ เพิ่มขีดความสามารถในการอ่าน คนไทยทุกคนจะต้องอ่านออก เขียนได้ อ่านหนังสือด้วยความเข้าใจ สามารถวิเคราะห์ได้ ยุทธศาสตร์ที่ ๒ สร้างนิสัยรักการอ่านให้เกิดขึ้นกับคนไทยทุกคน และยุทธศาสตร์ที่ ๓ สร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในการส่งเสริมอ่านให้เกิดขึ้น
ศธ.จะดำเนินการทั้ง ๓ ยุทธศาสตร์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการอ่านของเด็กและคนไทยให้เกิดขึ้นต่อไป

อ้างอิงจาก http://www.moe.go.th/websm/2009/aug/295.html

หมายเลขบันทึก: 287866เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2009 06:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ทรงกฤษณ ศรีสุขวัฒนา

อยากให้ เด็กไทย และ คนไทย รักการอ่านหนังสือ

ต้องช่วยให้ เด็กไทย และ คนไทย อ่านหนังสือ ในมุมมองที่เป็นธรรมชาติ เพราะ ในปัจจุบันนี้ การอ่านหนังสือ โดยการนั่งก้มหน้าอ่านหนังสือ ที่วางราบกับโต๊ะนั้น เป็นที่นั่งอ่านหนังสือ ที่ผิดธรรมชาติ และ ฝืนธรรมชาติ ส่งผลให้ปวดตา ปวดคอ ในเวลาอ่านหนังสือ

การอ่านหนังสือ ด้วยการใช้ ที่ตั้งอ่านหนังสือ รักการอ่าน เป็นอุปกรณ์ ในการอ่านหนังสือ นั้น จะทำให้การอ่านหนังสือ ง่ายขึ้น อ่านหนังสือสบายตา ส่งผลให้ ไม่ปวดตา ไม่ปวดคอ ในเวลาอ่านหนังสือ เป็นการอ่านหนังสือ ในมุมมองที่เป็นธรรมชาติ ช่วยเสริมสร้างความรู้ ควบคู่ไปกับการมีสุขภาพที่ดี

ที่ตั้งอ่านหนังสือ รักการอ่าน เป็นสิ่งประดิษฐ์ ที่ประดิษฐ์โดยคนไทย

http://www.youtube.com/watch?v=WQxdGfSjUgA

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท