ท่าสักไดอารี่ วิจัยชุมชน (6) : เก็บข้อมูลชุมชน


ให้ทุกคนที่อยู่ในกระบวนการสนทนา ได้คิดและสืบค้นเข้าไปในตัวของตัวเอง ,เพื่อที่ได้รู้ถึงปัญหาของตนเอง ,ไม่มีใครรู้ปัญหาดีเท่ากับตัวของตัวเอง ไม่มีแก้ไขปัญหาได้ดีเท่ากับตัวของตัวเอง,การพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนที่ดีที่สุดต้องทำด้วยตนเองและภายใต้ความสามารถรวมถึงทุนของตนเองเป็นหลัก

สำรวจข้อมูลชุมชน

                การจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องรายได้ ค่าใช้จ่ายและหนี้สินของชุมชน  สิ่งที่ทุกคนจะได้ก็คือ ได้รู้จักตนเอง ไม่เฉพาะชุมชนหรือบ้านที่เราไปเก็บเท่านั้น นักศึกษาหรือทีมวิจัยที่ลงไปเก็บในใจลึก ๆ ก็จะนึกถึงบ้านของตนเอง ได้เปรียบเทียบกับลักษณะหรือชุมชนของตนเอง เป็นการวิจัยตัวของนักวิจัยเองด้วย รวมถึงแกนนำหรือทีมวิจัยจากชุมชนที่มีส่วนร่วมในการวางแผนการเก็บข้อมูลและร่วมเก็บข้อมูลนั้น นอกจากเขาจะเป็นผู้ที่นำทางทีมนักศึกษาลงไปเก็บข้อมูล เป็นผู้เบิกทางในการเข้าไปหาคนในชุมชนหรือบ้านแล้วนั้น จุดประสงค์หลักที่ซ่อนอยู่ของการวิจัยครั้งนี้ก็คือ การจัดการเรียนรู้ให้ทีมวิจัยชุมชนที่ไปกับเราได้เรียนรู้จักวิธีการจัดรูปแบบการสนทนา เน้นคำว่าจัดรูปแบบการสนทนา ไม่ใช่เก็บแบบสอบหรือแบบสำรวจ การจัดรูปแบบสนทนาเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ กระตุ้นให้คนได้คิด ข้อมูลที่ได้ไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักในการจัดรูปแบบการสนทนา แต่จุดหลักคือ ให้ทุกคนที่อยู่ในกระบวนการสนทนา ได้คิดและสืบค้นเข้าไปในตัวของตัวเอง มองย้อนกลับเข้าไปในบ้านเข้าในครอบครัวของตนเอง เพื่อที่ได้รู้ถึงปัญหาของตนเอง โดยเฉพาะสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ได้รู้ถึงวิธีการแก้ไขที่อยู่บ้านพื้นฐานหรือทุนที่ตนเองสามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง เพราะนั่นคือ การเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนภาคครัวเรือน อยู่บนพื้นฐานของแนวคิดที่ว่า ไม่มีใครรู้ปัญหาดีเท่ากับตัวของตัวเอง ไม่มีแก้ไขปัญหาได้ดีเท่ากับตัวของตัวเอง การแก้ไขปัญหา การพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนที่ดีที่สุดต้องทำด้วยตนเองและภายใต้ความสามารถรวมถึงทุนของตนเองเป็นหลัก 


                การเดินทางไปเก็บข้อมูลวิจัย วันที่ 8 กันยายน 2548 วันที่พวกเราเดินทางไปร่วมกันเก็บข้อมูลในการทำวิจัยที่บ้านท่าสัก ทุกคนมีการเตรียมความพร้อมทั้งหมวก เสื้อแขนยาว เพราะ  "กลัวร้อน” สำหรับแผนกเตรียมขนมและของกินต่างๆ “ข้าวเกรียบ” ซึ่งเป็นหน้าที่ของชูวิทย์ (ที่ได้ชื่อว่าชูวิทย์ เพราะชอบค้านตลอด) การเตรียมความพร้อมกันเป็นอย่างดีก็มีการเตรียมเสบียงอาหารกันไปด้วย กลัวหิว พอได้เวลารถบัสของทางมหาวิทยาลัยก็มารับ  เพื่อนๆจะตื่นเต้นกับการเดินทางครั้งนี้มากเพราะเป็นครั้งแระที่พวกเราได้ออกไปสำรวจข้อมูลนอกสถานที่กันเป็นกลุ่มใหญ่ๆอย่างนี้และเป็นครั้งแรกที่จะได้ไปที่อำเภอพิชัย  มีเป้าหมายเพื่อไปเก็บข้อมูลในชุมชน สำรวจข้อมูลโดยการลงพื้นที่จริง สัมภาษณ์จริงและสังเกตการณ์จริงการเดินทางในครั้งนั้นผู้อาจารย์ผู้ร่วมชะตากรรมเพิ่มอีก 1 ท่านคือ  อ.ภาศิริ  เขตปิยะรัตน์ (อ.เพลิน)  พอไปถึงวัดท่าสักทุกคนลงจากรถ กรรมการหมู่บ้านท่าสักก็เดินทางต้อนพวกเราเป็นอย่างดี โดยมีการนำรถส่วนบุคคลมาเป็นพาหนะในการรับส่งพวกเราด้วย “คุณแต๋น” เพื่อนๆหลายคนพอเห็นรถแล้วก็รู้สึกตื่นเต้นมากรถ “ไทยแลนด์” เพราะหลายคนยังไม่มีโอกาสได้นั่งเลย จากนั้นอาจารย์ก็เริ่มดำเนินการประชุมเพื่อวางแผนในการจัดการข้อมูลในครั้งนี้ 


                การวางแผนได้แบ่งงานตามผังชุมชนซึ่งได้จัดทำไว้เมื่อวาน โดยอาจารย์ให้แบ่งกลุ่มๆ ละ 5-6 คน โดยแต่ละกลุ่มจะต้องมีผู้ชายอย่างน้อย 1 คน เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง ซึ่งแบ่งเป็นฝ่ายสอบถาม ฝ่ายจด ฝ่ายสังเกตการณ์ ฝ่ายสร้างความบันเทิง โดยร่วมกับทีมวิจัยชุมชน ซึ่งจะช่วยนำทางและเรียนรู้ในการสำรวจครั้งนี้  โดยแบ่งออกเป็น 8 กลุ่ม ตามจำนวนคุ้มที่อยู่ในบ้านท่าสัก 

 

 

และเมื่อมีการแบ่งกลุ่มเสร็จ กลุ่มนักศึกษามีความกระตือร้นเป็นอย่างยิ่งที่จะได้นั่งรถของคณะกรรมการไปส่งตามจุดต่างๆ (รถไทยแลนด์) ในการไปสัมภาษณ์ในครั้งนี้ได้มีตัวแทนของทางกรรมการกองทุนหมู่บ้านเดินทางไปเก็บข้อมูลกับเราด้วยโดยมีวัตถุประสงค์หลักคือให้ตัวแทนของชุมชนอย่างน้อย 10 คนได้เรียนรู้การเก็บข้อมูลในครั้งนี้ไปกับพวกเราด้วย

                “บ้านแรกที่ไปตอนแรกเจ้าของบ้านรู้สึกว่าจะตกใจเล็กน้อยที่เจอทีมพวกเราเข้ามาสัมภาษณ์ แต่ดีมีตัวแทนที่ไปด้วยเกริ่นนำให้ก่อน ทำให้เขาเข้าใจได้ง่ายขึ้นเพราะใช้ภาษาเดียวกัน หนูก็เลยบอกว่าไม่ได้เอาข้อมูลไปทำอะไร ข้อมูลในส่วนตรงนี้ที่ได้ไปก็จะนำไปรวบรวมและจัดเรียง แล้วจะนำเอาไปมาคืนไว้เป็นข้อมูลของชุมชน”
                “ป้าไม่กลัวหรอก เคยมีคนมาถามโน่นถามนี่หลายครั้งแล้ว”
                “ค่ะ”
                 “นั่งตรงนี้กันก็ได้”
                พวกเราก็พยายามเข้าไปนั่งใกล้ ๆ ป้า  ป้าก็เขยิบหนีถอยห่างออกไป “สงสัยป้าจะกลัว” แต่ก็คุยได้ (พวกเราก็เกร็ง)
                พอสัมภาษณ์ไปได้สักระยะหนึ่ง อาจารย์ก็เข้ามาสมทบ ทักทายและชวนพูดคุยถึงเรื่องสัมเภเหระทั้งกับพวกเราและกับป้า จากนั้นอาจารย์ก็เลยถามเรื่องบ้าน
                “บ้านเพิ่งปลูกเสร็จเหรอ มีงานอะไรกันเนี่ย ติดกระดาษเต็มไปหมดเลย”
                ป้าก็เลยบอกว่า
                “เพิ่งบวชลูกชายไป โมบายที่แขวนอยู่เนี่ยแหละ แล้วนี่ลูกสาวก็เพิ่งลางานกลับ็กกมาเที่ยวบ้าน”
                จากนั้นสักพัก อาจารย์ก็เลยเรียกหนูออกมานั่งดูข้างนอกเพื่อให้ดูในภาพกว้าง ว่ารู้สึกอย่างไร เห็นอะไรบ้าง


                “เห็นเลย เห็นชัดเลย” 
                ก็คือว่านั่งไปเหมือนกับตั้งใจไปสอบถามเขา   จริง ๆ จัง ๆ เลย 
                “ตอนไปนั่งตรงนั้นนะอาจารย์  รู้สึกธรรมดาๆ แต่พอมานั่งข้างนอก ก็เห็นได้ถึงความห่างเหิน เห็นชัดเลย”
                “ดูห่างไกลกัน” 
                มันทำให้ดูไม่เป็นกันเอง เหมือนตั้งใจจะไปล้วงข้อมูลเขา ไม่เหมือนถามไถ่เรื่องสบาย ๆ หรือจัดสนทนาอย่างที่ตั้งใจไว้
                “เหมือนกับเจ้าหน้าที่ไปสอบสวนเขา”
                พูดเพราะเรียบร้อยจนเกินไปด้วยอีกต่างหาก ไม่เป็นธรรมชาติ ทั้ง ๆ ที่ตอนนั่งอยู่ตรงนั้นก็ว่าเป็นธรรมชาติแล้ว  


                หลังจากนั้นบ้านหลังต่อไปพวกเราก็เริ่มปรับปรุงและเข้าไปใกล้ผู้ถูกสัมภาษณ์มากขึ้น เพราะคู่สนทนาเป็นผู้หญิง  มีการเปลี่ยนจาก “คะ” เป็น “จ้ะ” “จ๊ะ” ก็เลยทำให้การสอบถามเริ่มลื่นไหลมากขึ้น เป็นกันเองมากขึ้น จากที่นั่งคุยกันอยู่หน้าบ้านพักหนึ่ง  ก็เลยได้เปลี่ยนไปเข้าไปนั่งคุยในบ้าน  (หลังจากที่คุยข้างนอกมานาน)  ก็เลยได้เข้าไป ป้าก็ชวนดูรูปภาพที่ติดอยู่บนฝาผนัง แล้วก็เล่าเรื่องครอบครัว เรื่องลูกทำงานที่ไหน (เหมือนเป็นการเปิดใจกับผู้ถูกสัมภาษณ์) ทำให้การสนทนาทำได้ง่ายขึ้น จากนั้นเขามีหนี้สิน ค่าใช้จ่าย เรื่องอะไรต่าง ๆ เขาก็เล่าให้เราฟังมากขึ้น 


                วันนั้นที่ไปสำรวจข้อมูลมีชุมชนเป็นพี่เลี้ยงนำทางและกลุ่มได้สำรวจครัวเรือนซึ่งในวันนั้นมีอุปสรรคหลายอย่างที่ทำให้การสำรวจไม่เป็นไปอย่างราบรื่นคือไปหลังแรกก็ได้เรื่องเลย เจ้าของบ้านไม่อยู่ออกไปทำงานนอกบ้าน  หลังที่สองเจ้าของบ้านอยู่แต่เราสื่อสารกับชาวบ้านไม่ค่อยเข้าใจ แต่ก็ดีที่มีพี่แอ๊ดเป็นตัวกลางในการสื่อสารก็ทำให้รอดไปได้อีกหลังหนึ่ง พอหลังถัดไปเราทุกคนในกลุ่มก็เริ่มรู้หน้าที่และปฏิบัติงานกันเองโดยมีพี่แอ๊ดคอยดูอยู่ใกล้ๆ ชาวบ้านก็มีอัธยาศัยดีมีน้ำใจเราเข้าไปทำการสัมภาษณ์ สำรวจ ข้อมูล ชาวบ้านก็เอาน้ำมาให้ดื่ม บางครัวเรือนเราจะเข้าไปแบบสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้เพราะสุนัขดุ  ต้องให้เจ้าของบ้านมาจับสุนัขเอาไว้ก่อน ยิ่งสองหลังสุดท้ายยิ่งแล้วใหญ่ หลังหนึ่งน้ำท่วมทางเข้าบ้านเข้าไปไม่ได้อีกหลังหนึ่งเจ้าของบ้านไม่ให้ความร่วมมือมีอาชีพเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงเป็ด เราไปรออยู่ที่บ้านพร้อมกับพี่เลี้ยงประมาณ 3-4 คน พอเจ้าของบ้านมาถึงก็ทำเฉยไม่สนใจแล้วก็บอกกับพวกเราว่า ไม่ว่าง ไม่มีเวลา (นักศึกษาในทีมงาน)


                การเก็บข้อมูลในวันนั้นบางคนก็ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ เพราะชาวบ้านเริ่มเบื่อกับการตอบแบบสอบถามจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีมาบ่อยมาก  เวลาสอบถามข้อมูลก็มีการตอบแบบไม่ตรงตามที่ถาม พอมีโอกาสเราก็ได้การอธิบายว่าในการมาเก็บข้อมูลพวกเราไม่ได้นำข้อมูลไปทำอะไร  แต่จะเป็นการทำให้บุคคลในชุมชนได้ทราบถึงรายได้และค่าใช้จ่ายในแต่ละครอบครัวว่าในแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายในเรื่องใดบ้างมากน้อยเพียงใด ก็ได้รับความร่วมมือที่ดี  ซึ่งส่วนใหญ่ที่บอกมาจะเป็นรายจ่ายที่มากเพราะกลัวว่าจะมีการเสียภาษี 


                บ้านต่อมาทีมเราก็เจอพี่ผู้หญิงกำลังไปรับลูกที่โรงเรียนพอดี ก็เลยได้สนทนากับพี่เขา   พอคุณพี่ได้ให้ข้อมูลเสร็จก็ตกใจในตัวเลขในแต่ละเดือน “ทำไมค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนมากจังเลย” พี่ก็ยังบอกอีกว่า “จะต้องลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงบ้าง”  พอสำรวจข้อเสร็จคุณลุงก็ขับรถมารับพอดี คุณลุงมาพร้อมกับเครื่องดื่มเป็นน้ำอัดลม ซึ่งทำให้พวกเรามีความรู้สึกว่าคุณลุงใจดีมาก คุณลุงให้ความรักเหมือนลูกหลานเลย แล้วคุณลุงก็พาไปส่งที่บ้านต่อไปโดยผ่านไปตามถนนกลางนา บรรยากาศดีมาก ๆ เลย เมื่อสำรวจข้อมูลเสร็จแล้ว ก็เดินทางกลับมาที่วัดก็พบกับเพื่อนๆ ช่วงนั้นก็เกือบหกโมงเย็นแล้ว เพื่อนๆก็เริ่มเดินทางกลับมากันเรื่อยๆ วันนั้นพวกเราก็ได้ไปไหว้พระที่นั้นด้วย เพราะพี่เขาบอกว่า ”มาแล้วไม่ได้ไหว้ก็แสดงว่ามาไม่ถึงและนั่นก็เป็นรอยเท้าก้าวหนึ่งที่เราได้ร่วมเดินกันมา

 

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

ฉันมิใช่ "ครูดี" แต่ฉันเป็นคนมีหัวใจที่ทำเพื่อ "ศิษย์"

หมายเลขบันทึก: 28658เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2006 01:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท