ชีวิตที่พอเพียง : ๘๑๒. สนุกสนานในงานฉลอง ๗๒ ปี ศ. ดร. เจตนา นาควัชระ



          เช้าวันเสาร์ที่ ๑๘ ก.ค. ๕๒ ผมไปร่วมงานแสดงมุทิตาจิต “๗๒ ปี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. เจตนา นาควัชระ” ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร    เป็นครื่งวันเช้าที่ได้ทั้งความสนุกและประเทืองปัญญา  


          ผมรู้สึกขอบคุณในชตาชีวิต ที่ได้บันดาลให้ผมได้รู้จักและสนิทสนมคุ้นเคยกับ ศ. ดร. เจตนา นาควัชระ    และได้เรียนรู้หลากหลายความหมายของวิชาการ สังคม และชีวิต จากท่าน   อาจเพราะเหตุผลนี้ คณะผู้จัดงานจึงกำหนดให้ผมพูดแสดงความยินดีต่อท่าน ๑๕ นาที    สาระสำคัญที่ผมพูด คือชี้ให้เห็นว่า ในคุณูปการทางวิชาการที่มากมายหลากหลายนั้น    ศ. ดร. เจตนา นาควัชระ ได้สร้างวิธีวิทยาการวิจัยเพื่อสร้างความรู้จากแผ่นดินแม่ หรือจากสภาพความเป็นจริงในสังคมไทย   ผ่านชุดโครงการวิจัยของเมธีวิจัยอาวุโส ในเรื่องการวิจารณ์ในฐานะพลังทางปัญญาฯ    นอกจากนั้น ผมได้ชี้ว่าสังคมไทยได้รับประโยชน์จากวิถีชีวิตการเป็นนักวิชาการของท่าน ในหลากหลายบทบาท    ซึ่งสังคมควรได้ขอบคุณท่านเป็นอย่างยิ่ง    แต่คนที่ควรได้รับคำขอบคุณยิ่งกว่า ศ. เจตนา คือ ศ. ดร. ทัศนีย์ นาควัชระ ภรรยาของท่าน    ผมเชื่อว่าคนแบบนี้เลี้ยงยาก    การที่สังคมมีคนอย่างนี้ เราต้องขอบคุณแม่และเมียของท่าน   คือคนแบบนี้จะเป็นเด็กเลี้ยงยาก และเมื่อโตแล้วภรรยาก็ต้องอดทนมากในการมีชีวิตร่วมกัน  


          ที่จริงผมได้เสนอวิธีพัฒนาอาจารย์แบบแหวกแนวไว้ด้วย   แต่จะยกไปลงในบันทึกอื่น 


          ก่อนจะถึงช่วงที่ผมพูด มีการแสดงดนตรีคลาสสิค ที่ท่าน  ศ. ดร. เจตนา นาควัชระ แต่งเอง และเป็นวาทยากรด้วย   นักดนตรีในวงก็มีพี่ชาย ลูกชาย และเดาว่าอาจจะมีหลานของท่านอยู่ด้วย    คือนักดนตรีอายุตั้งแต่ ๑๘ – ๘๐ ปี


          ความสนุกสนานจริงๆ อยู่ที่ตอน  ศ. ดร. เจตนา นาควัชระ มาเล่าชีวิตของท่านในชื่อเรื่อง “จากวิกเมรุปูนถึงโรงละครแบรคชท์”   และการอภิปรายกลุ่มในหัวข้อ “หาแผ่นดินแม่ให้พบ แล้วจะจบที่ไหนก็ได้”   ที่ทำให้ผมได้แนวคิดมากมายในการทำงาน   และการเขียนบันทึกลง บล็อก


          ผมเสียดายที่ไม่ได้อยู่ร่วมงานภาคบ่าย ที่มีการแสดงดนตรี “กลิ่นแก้วใช่แล้วทับแก้วเตือน” โดยวงสุนทราภรณ์   ที่ ศ. ดร. เจตนา นาควัชระ ร่วมขับร้องด้วย   เพราะต้องขึ้นรถเดินทางต่อไปประชุม Retreat ของคณะทำงานของ Prince Mahidol Award Conference ที่ชะอำ    แต่ดีใจที่ ผศ. สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร แม่งาน บอกว่าจะส่ง VCD ไปให้


          มีการพิมพ์หนังสือ “ลบเส้นพรมแดนแห่งศิลปะ” เป็นที่ระลึก   และมีจำหน่ายในราคา ๒๐๐ บาท น่าจะติดต่อซื้อได้ที่ thaicritic(at)hotmail.com  

วิจารณ์ พานิช
๑๘ ก.ค. ๕๒

ศ. ดร. เจตนา  ศ. ดร. ทัศนีย์ 

และ อ. ประสิทธิ์ ตุลยาทร

เพื่อนร่วมรุ่นอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร ประธานจัดงาน

กล่าวรายงาน

รศ. ดร. มณีปิ่น พรหมสุทธิรักษ์

คณบดีคณะอักษรศาสตร์ กล่าวเปิดงาน

การบรรเลงเพลงของวงดนตรีคลาสสิค

มุทิตาจิตจากมิตรและศิษย์

คุณชมัยภร แสงกระจ่าง อ่านกลอน

แด่คุณปู่แว่นตาแตก

แจกันดอกไม้พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ 

และ ศ. ดร. เจตนา เล่าชีวิต

จากวิกเมรุปูนถึงโรงละครแบรคชท์

เสวนา หาแผ่นดินแม่ให้พบ แล้วจะจบที่ไหนก็ได้

อ. นิตยา มาศะวิสุทธิ์ ผู้เป็นสหชาต

กล่าวแสดงมุทิตาจิต

หนังสือแจกแก่ผู้มาร่วมงานและมีจำหน่าย

หมายเลขบันทึก: 286076เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2009 09:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 10:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท