คว่ำบาตร-หงายบาตร ตัดกรรมหรือเพิ่มกรรม


เจตนาหลักในการคว่ำหรือหงายบาตร มองไปที่เจตนาของกรรมวิธีดังกล่าว เป็นไปเพื่อการควบคุมสังคมระหว่างพระสงฆ์ชาวพุทธในการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขบนพื้นฐานของเมตตา และมิตรภาพ พร้อมกันนั้นพฤติการณ์ดังกล่าวยังเกิดขึ้นด้วยเจตนาดีเป็นตัวตั้ง

คว่ำบาตร-หงายบาตร ตัดกรรมหรือเพิ่มกรรม ?

-โมไนย พจน์-

                เมื่องานครบรอบวันเกิด แซยิด ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่กลุ่มคนเสื้อแดงได้จัดงานครบรอบวันเกิดดังกล่าวในวัด พร้อมทั้งมีพิธีตัดกรรม-หงายบาตร ในวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี ก็เลยสงสัยไปหาข้อมูลมาอ่านว่าใครทำอะไรที่ไหนอย่างไรก็ได้ความพอเข้าใจ แต่อยากแสดงทัศนะของตัวเองว่า ตกลงเอาพุทธพจน์มากล่าวอ้างเพื่อความน่าเชื่อถืออย่างนั้นหรือเปล่า ? ลงทุนนิมนต์พระพุทธเจ้ามาเพื่อหงายบาตร ให้ท่าน ทักษิณกันเชียวหรือ ไม่ได้ค้ดค้าน แต่เพียงนึกต่อไปอีกนิดว่าไม่มีวิธีการทีดีกว่านี้แล้วหรือ ? คงได้แต่รำพึงกระมัง เพราะไม่อยู่ในฐานะที่จะทำอะไรได้ เพราะว่างานนี้หลวงพี่เจ้าอาวาสเล่นเอง  ในทัศนะส่วนตัวถ้า เจ้ากู ในฐานะสัญลักษณ์ของความเชื่อที่ดีงามยังแยกไม่ออกระหว่างบทที่เล่น  กับแนวคิดที่นำมาเล่น แล้วศาสนาในระยะยาวจะถูกเปลี่ยนแปลงหลักการเพื่อรองรับอะไรในอนาคตอีกหนอ และในเวลาเดียวกันการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นฝักและเป็นฝ่ายอาจทำให้เกิดความสับสนในความเป็นพุทธก็ได้  พระ/ฝ่าย/ส่งเสริมความเป็นฝักเป็นฝ่าย

คำว่า คว่ำบาตร-หงายบาตร นั้น(วินย.จู7/265-267/45-48)  มีที่มาจากการที่พระสงฆ์ลงโทษบุคคลผู้มีปรารถนาร้ายต่อพระรัตนตรัยอย่างร้ายแรง ซึ่งมีความผิดอยู่ 8 ประการ  (๑)ขวนขวายเพื่อมิใชลาภแก่สงฆ์(๒) ขวนขวายเพื่อมิใช่ประโยชน์แก่สงฆ์  (๓) ขวนขวายเพื่อให้พระอยู่ไม่ได้ (๔) ด่าว่าเปรียบเปรยภิกษุทั้งหลาย (๕) ยุยงสงฆ์ให้แตกกัน (๖) ตำหนิติเตียนพระพุทธเจ้า (๗) ตำหนิติเตียนพระธรรม (๘)ตำหนิติเตียนพระสงฆ์

ฆราวาสผู้ใดมีพฤติกรรมดังกล่าว พระสงฆ์จะประชุมกันแล้วประกาศไม่ให้ภิกษุทั้งหลายคบค้าสมาคมด้วย การคว่ำบาตรในทางพระวินัยไม่ได้หมายถึงการคว่ำบาตรลง แต่หมายถึงการไม่รับบิณฑบาตร ไม่รับนิมนต์ ไม่รับเครื่องใช้ อาหารหวานคาวที่บุคคลผู้นั้นนำมาถวาย แต่หากต่อมาคนผู้นั้นสำนักรู้สึกตน  กลับมาประพฤติดี คณะสงฆ์ก็จะประกาศเลิก คว่ำบาตรยอมให้ภิกษุทั้งหลายคบค้าสมาคมรับบิณฑบาตร รับนิมนต์ รับเครื่องไทยธรรมได้ เรียกว่า หงายบาตร ดังนั้นการคว่ำบาตรและหงายบาตรจึงถือเป็นการลงโทษทางจารีตแบบหนึ่ง ที่พระสงฆ์ได้นิยมปฏิบัติสืบมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลเพื่อประโยชน์ในการตักเตือนและความอยู่โดยปกติสุขระหว่างพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชน (พระธรรมกิตติวงศ์:คำวัด)

เจตนาหลักในการคว่ำหรือหงายบาตร มองไปที่เจตนาของกรรมวิธีดังกล่าว เป็นไปเพื่อการควบคุมสังคมระหว่างพระสงฆ์ชาวพุทธในการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขบนพื้นฐานของเมตตา และมิตรภาพ พร้อมกันนั้นพฤติการณ์ดังกล่าวยังเกิดขึ้นด้วยเจตนาดีเป็นตัวตั้ง

                ในทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน  ชื่นชมกับการที่จะอธิบายแนวคิดของพุทธ มาตอบสนองสังคม ซึ่งเป็นการส่งเสริมสังคมให้เป็นสังคมอุดมปัญญา แต่คำว่าอุดมปัญญา ต้องก่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ดีงามและก่อให้เกิดพฤติกรรมที่มุ่งเน้นไปสู่ สันติในการอยู่ร่วมกัน ไม่น่าจะเป็นการส่งเสริมที่ก่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่นำไปเป็นข้ออ้างในการเผชิญหน้า หรือท้าทายต่อความเชื่อ เพราะเท่าที่สังเกต ไม่ส่งเสริมความรู้อันใด ยังเข้าไปส่วนหนึ่งของความขัดแย้งเสียเอง

                ท่าที่ของวัด พระสงฆ์ และการตีความหลักการใดทางพระพุทธศาสนา ที่ปรากฏต่อสาธรณะหรือการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมอันใดที่ก่อให้เกิดการตีความเป็นอื่น หรือถูกนำไปรับใช้แนวทางหลักอื่นใดที่ก่อให้เกิดความแตกแยก จึงเป็นท่าทีที่ต้องระมัดระวัง เพราะจะกลายเป็นตราบาปต่อพระสงฆ์ และพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ดังกรณี ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป ของท่านกิตติวุฑโฒในอดีต เพราะโดยส่วนตัวของผู้เขียนเองไม่ สมยอม ในทุกกรณีที่บอกว่าจะให้พระสงฆ์เข้าไปมีส่วนร่วมต่อการเมือง หรือการที่พระสงฆ์จะออกไปมีส่วนร่วมกับการเมือง ก็ควรออกไปอย่างมีหลัก อิงเกณฑ์ตามแนวของพระพุทธเจ้าหรือนำหลักคิดทางพระพุทธศาสนาไปอธิบายให้เกิดความเข้าใจ หรือชี้ผิดชี้ถูกบนฐานคิดเชิงพุทธ ไม่ใช่เข้าไปเป็นผู้มีส่วนร่วมต่อการก่อความขัดแย้งเสียเอง  เพราะนั้นเท่ากับเป็นการลดคุณค่าของพระพุทธศาสนา ขนาดดัดแปลงพุทธพจน์ หรือตีความใหม่เพื่อตอบสนองความพึงพอใจของคนกลุ่มหนึ่ง แล้วมากล่าวอ้างตีสำนวนว่าเป็นประโยชน์ที่ทำให้คนเข้าวัด ฟังเทศน์ฟังธรรม ส่งเสริมพระพุทธศาสนา ทำบุญทำดี อาจถูกในเบื้องต้นเกี่ยวกับหลักการอย่างนี้ แต่ในเวลาเดียวกันต้องคิดและคำนึงถึงผลที่จะกระทบต่อภาพรวมหรือองค์กรในองค์รวมด้วยมิเช่นนั้นจะกลายเป็นว่า พระ ถูกนำไปเป็นเครื่องมือของการเมือง  “หลักพุทธ ถูกดัดแปลงไปเป็นเครื่องมือรับใช้ พระที่ฝักใฝ่การเมือง และเอาความชอบไมชอบมาเป็นตัวนำ เคลื่อนตามด้วย ผลประโยชน์ ในเชิงวัตถุมากกว่าหลักการ ซึ่งตรงนี้ต้องพิจารณาให้รอบครอบ เพราะวัตถุหรือผลได้จาการ ทำบุญ เป็นเพียงเครื่องยันยันเหตุการณ์นั้น ๆ ว่าอะไรเกิดขึ้น แต่หลักการณ์จะเป็นการยืนยันความมีอยู่ของพระพุทธศาสนาในระยะยาวตามกาลเวลาต่อไป

                ผู้เขียนไม่ได้เห็นด้วยกับเหลือง กับแดง หรือกลุ่มอืนใด แต่ผู้เขียนมองในส่วนของศาสนากับ ความเข้าใจต่อศาสนาที่ถูกต้อง  เพราะคว่ำบาตร เป็นมาตรการของพระสงฆ์  ที่ใช้ในการควบคุมความสัมพันธ์ของสมาชิกในสังคมไม่ว่าจะในส่วนของพระสงฆ์และชาวพุทธในการอยู่ร่วมกัน หากจะสามารถนำมาอธิบายเสริมต่อว่าถ้าอย่างนั้นเอาแนวคิดพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้การในการจัดการสังคม ควบคุม ตรวจสอบ บนมาตรฐานของกฏหมาย จริยธรรม ศาสนา ถ้า เขา ผู้นั้นในฐานะนักการเมือง นักธุรกิจ หรือสมาชิกอื่นใดในสังคม เป็นคนดีก็ส่งเสริม ไม่ดีก็ใช้แนวคิดในเรื่องคว่ำบาตร-หงายบาตร จัดการ ได้ ถามว่าประยุกต์ได้ไหมผู้เขียนคิดว่าได้ แต่ในเวลาเดียวกันต้องชี้นำให้ถูกและก่อให้เกิดประโยชน์ในการอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่ส่งเสริมความขัดแย้ง หรือการเผชิญหน้าแต่ประการใด หรือนำข้อมูลที่เป็นไปเพื่อความดีงามมาชี้นำที่ผิด จนกลายเป็นความผิดบาป ตัดกรรม ล้างบาปให้กับฝ่ายหนึ่งฝายใด  อย่างนั้นคงผิดหลักการและเจตนารมณ์แห่งพระพุทธศาสนาเป็นแน่  ดังทัศนะของพระอาจารย์ ว.วชิรเมธี “การหงายบาตรการตัดกรรมไม่ควรจะเป็นเรื่องของการเมือง การหงายบาตรเป็นมาตรการของสงฆ์ในการเตือนให้คนทำผิดสำนึกผิด การตัดกรรมเป็นเรื่องของการสั่งสอนให้คนทำผิดทำชั่วเลิกทำผิดทำชั่ว เปลี่ยนพฤติกรรม ตัดความชั่วออกไป นั่นคือการตัดกรรมตามหลักของพระพุทธศาสนา และท่านยังเสริมไปมองเรื่องคว่ำบาตร หงายบาตรที่ถูกนำมาเป็นพิธีกรรมในการ ลบดี”  หรือ ตัดชั่วที่ว่า “พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ตนทำชั่วเอง จิตก็จะเศร้าหมองเอง ตนทำดีเอง จิตก็จะบริสุทธิ์เอง คนอื่นจะมีช่วยทำพิธี อธิษฐานตัดกรรมแทนกันหาได้ไม่ การที่ทำชั่วเองแล้วจะให้คนอื่นมาตัดให้ไม่ใช่แนวของศาสนาพุทธอย่างสิ้นเชิง ที่คิดจะทำกันไม่ใช่เรื่องของพุทธแต่เป็นเรื่องของทางไสยศาสตร์”



หมายเลขบันทึก: 285886เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2009 19:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 22:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตามมาดู งง code ครับ สบายดีไหม หายไปนานมากๆๆ

วินย.จู 7/265-267/45-48

วิธีการดูอ้างอิง คือ เรื่องคว่ำบาตร หงายบาตรที่เป็นประเด็นทางการเมือง ปรากฏอยู่ใน พระไตรปิฏก ในส่วนของวินัยปิฎก จูฬวรรค เล่มที่ 7 ข้อที่ 265-267 หน้า 45-48 ย่อเป็น วินย.จู 7/265-267/45-48

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท