Permaculture กับจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ในชุมพร


People (First), Performance (Now), Permaculture (Forever)


ลุงยุทธ 

         ผมติดตามแวะเวียนไปพูดคุย พบปะทักทายกับพี่น้องเครือข่าย “จากภูผาสู่มหานที” ที่มาปักหลักทำงานในโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริอยู่บ่อยครั้ง และเมื่อวันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม 2552 ผมก็โชคดีได้พบกับ “ลุงยุทธ” ที่ลงมาช่วยสร้างและสอนการทำบ้านดินให้กับโซนสาธิตของอำเภอทุ่งตะโก ซึ่งนำเสนอโมเดล-สวนลุงนิลเป็นไฮไลท์

          วันแรกที่พบกัน ผมได้พาลุงยุทธไปชมบ้านดิน-เวอร์ชั่นทดลองงาน ที่พวกเราได้ช่วยกันสร้างไว้ที่สวนป่า ต.สะพลี อ.ปะทิว เพื่อเรียนรู้ร่วมกันกับเด็ก ๆ ในช่วงปิดเทอมใหญ่ ระหว่างการเดินทางเราได้พูดคุยกันหลายเรื่อง ทำให้ผมได้รู้จักลุงยุทธในมุมมองที่กว้างไกลไปกว่าผู้มีความรู้ความชำนาญในการสร้างบ้านดิน นั่นคือ  “ลุงยุทธ - นักปั่นจักรยานเพื่อความฝันของเด็ก ๆ และนักเกษตรกรรมทางเลือก”


บ้านดินตัวอย่างในโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ

          ในอดีตลุงยุทธเคยทำงานบริษัท แล้วออกมาขับแท็กซี่กว่า 10 ปี ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษอย่างเข้มข้นจากการขับแท็กซี่ประจำอยู่ที่สนามบินดอนเมือง และเพราะเหตุที่ชอบถีบจักรยานเพื่อการเดินทางท่องเที่ยว ทำให้ลุงยุทธได้พบกับกัลยาณมิตรชาวต่างประเทศเมื่อครั้งที่ออกสำรวจพื้นที่ปลูกสร้างสวนเกษตรปลอดสารพิษใน จ.เชียงใหม่ การเดินทางด้วยจักรยาน กางเต็นท์นอน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านการพูดคุยกันแบบ Dialogue ทำให้ลุงยุทธได้รับโอกาสที่คาดไม่ถึงจากเพื่อนคนนั้นเมื่อเขาเดินทางกลับไปบ้านเกิดเมืองนอนของเขาแล้ว ลุงยุทธได้รับการเสนอชื่อให้เข้าฝึกอบรมหลักสูตร Permaculture ที่ออสเตรเลีย และออกเดินทางโดยได้รับการอนุเคราะห์ตั๋วเครื่องบินไป-กลับจากเพื่อน

          เรียนจบกลับมาแล้วลุงยุทธตระหนักดีว่าความรู้เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นหนึ่งในทางออกจากภาวะวิกฤตเพื่อความอยู่รอดทั้งในระดับครัวเรือน ชุมชน สังคม และประเทศชาติ แต่เมืองไทยสมัยนั้นยังรู้จักเรื่องนี้น้อยเสียยิ่งกว่าน้อย แล้วเราควรจะเริ่มต้นทำอะไร – ที่ไหนดี ? ในที่สุดลุงยุทธก็เลือกที่จะทำตามหัวใจของตนเองเดินทางกลับไปสู่ชนบทในโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันให้นักเรียนในถิ่นทุรกันดาร  เส้นทางชีวิตในบทบาทของนักพัฒนาชนบทจึงได้เริ่มต้นขึ้น

          ผมสนใจความรู้เรื่อง Permaculture ที่ผมมีอยู่น้อยนิดโดยการติดตามแสวงหาจากการอ่านในเว็บไซต์ และชมคลิปวิดีโอของ Bill Mollison หนึ่งในผู้ก่อตั้งขบวนการ Permaculture ระดับประเทศ การพบกันครั้งนี้ลุงยุทธได้ให้ผมถ่ายเอกสารหนังสือฉบับ (ร่าง) ชื่อ “ความรู้เบื้องต้น Permaculture” เขียนโดย Bill Mollison และ Mia Slay แปลโดย วิฑูรย์ ปัญญากุล และรวิมาศ ปรมศิริ ที่หน้าปกเขียนไว้ว่า

          “Permaculture เกี่ยวข้องกับการออกแบบการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างยั่งยืน เป็นปรัชญาและแนวทางการใช้ที่ดิน ซึ่งเป็นการถักทอร่วมกันของภูมิอากาศขนาดย่อม พืชล้มลุกระยะสั้นและพืชยืนต้น สัตว์ ดิน การจัดการน้ำ และความต้องการของมนุษย์ จนเกิดเป็นชุมชนผู้ผลิตที่เชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง”

          ผมตั้งหน้าตั้งตาอ่านเนื้อหาภายในด้วยความกระหายใคร่รู้ ส่วนหนึ่งของบทนำให้คำอธิบายความหมายได้ชัดเจนขึ้นว่า “Permaculture เป็นระบบในการออกแบบเพื่อสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมในการดำเนินชีวิตอย่างยั่งยืนให้กับมนุษย์ คำว่า Permaculture ไม่เพียงหมายถึง การเกษตรที่ถาวร (Permanent + Agriculture) เท่านั้น แต่ยังหมายถึง วัฒนธรรมถาวร (Permanent + Culture) ด้วย โดยเหตุที่ว่าวัฒนธรรมต่าง ๆ ไม่สามารถจะอยู่รอดได้ยาวนาน หากปราศจากฐานเกษตรยั่งยืนและการใช้ที่ดินอย่างมีจริยธรรม Permaculture จึงไม่ใช่แค่เพียงการออกแบบระบบฟาร์มเพื่อปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ การก่อสร้างอาคารบ้านเรือน และโครงสร้างพื้นฐาน (น้ำ พลังงาน การคมนาคม) แต่ Permaculture ยังครอบคลุมถึงการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเหล่านี้ โดยวิธีการออกแบบเพื่อจัดวางองค์ประกอบให้เกื้อกูลกันอย่างลงตัวภายใต้เงื่อนไขภูมิประเทศนั้น ๆ”

          “ความมุ่งหมายของ Permaculture คือ เพื่อสร้างระบบที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพเงื่อนไขทางนิเวศวิทยาและมีความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ โดยระบบที่สร้างขึ้นนี้ต้องไม่ทำลาย หรือสร้างมลพิษให้กับสภาพแวดล้อม มิฉะนั้น จะไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืนของระบบในระยะยาวไปพร้อมกัน Permaculture เลือกใช้ลักษณะธรรมชาติของพืชและสัตว์ที่สดอคล้องกันกับเงื่อนไขของท้องถิ่นและออกแบบสิ่งปลูกสร้าง เพื่อสร้างระบบที่จะเกื้อหนุนต่อการดำรงชีวิตทั้งในเมืองและชนบท ด้วยการใช้พื้นที่น้อยที่สุด”

          “Permaculture วางอยู่บนพื้นฐานของการสังเกตระบบธรรมชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่นของการทำเกษตร และความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ แม้ว่าจะอาศัยหลักการของนิเวศวิทยา แต่ Permaculture ก็สามารถสร้างสภาพนิเวศวิทยาสำหรับการเพาะปลูกที่สามารถผลิตอาหารให้กับคนและสัตว์ได้มากกว่าที่สภาพนิเวศวิทยาในธรรมชาติ”

          ลึกซึ้งนะครับเรื่องนี้และมีรายละเอียดที่น่าสนใจอีกมาก มีความสำคัญขนาดไหนนั้นผมขอยกตัวอย่าง นโยบาย One-Malaysia ของ ดาโต๊ะศรี นาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย คนปัจจุบันที่ประกาศว่า People (First), Performance (Now), Permaculture (Forever)

          ประเทศไทยของเรา... จังหวัดของเรา... ชุมชน/ท้องถิ่นของเรา... "ตื่นรู้" เรื่องนี้กันบ้างหรือยัง สำหรับผมเพียงแค่รู้เรื่องนี้ยังไม่พอ เพราะถ้าเราไม่เดินไปบนเส้นทาง ความรู้คู่การปฏิบัติ ก็ยากที่จะเข้าใจ ผมจึงตัดสินใจ จีบ ลุงยุทธ เชื้อเชิญให้มาทำงานสร้างสรรค์ร่วมกันที่ชุมพร มีผลเกิดขึ้นอย่างไรจะรายงานให้ทราบในโอกาสต่อไปครับ.

หมายเลขบันทึก: 284716เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2009 12:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ตื่นรู้..เมื่อไรที่ชุมพร..อย่าลืมบอกยายธีบ้างนะ..ยายธีก็อยากเดินไปบนทางเส้นนี้เหมือนกัน(ความรู้คู่ปฏิบัติ)..เดินอยู่คนเดียวเหงาค่ะ..ธนาคารต้นไม้ไปถึงไหนแล้วคะ..ขอให้สุขภาพดี...ฝากความคิดถึงคุณไสว แสงสว่าง..หากกลับเมืองไทยสิ้นปีนี้....คงจะได้พบกันนะคะ...จะตามต้นตะเคียนทองค่ะ...ยายธี

สวัสดีค่ะ

*** แวะมาให้กำลังใจกับงานสร้างสรรค์ดีๆ

แวะมาเยี่ยมครับ เป็นกิจกรรมที่แปลก และน่าสนใจครับ

สวัสดีครับ

ยังติดใจที่เล่าให้ผมฟังที่หาดใหญ่ วันนี้มีโอกาสได้เข้ามาอ่านแล้ว น่าสนใจครับแต่ยังนึกไม่ออกว่าจะเริมต้นร่วมเดินทางไปอย่างไร แต่ยังไงก็จะติดตามอยู่นะครับ และขอเอาใจช่วย

ชิต มูลนิธิชุมชนสงขลา

 

ได้อ่านบทความดีๆ จากผู้รู้อีกท่านหนึ่ง ผมตามอยู่เหมือนกันครับ ยินดีร่วมสนับสนุนและเป็นส่วนร่วมด้วยครับ เพราะการใช้พื้นที่ๆมีอยู่อันน้อยนิดให้เกิดศักยภาพสูงสุดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในระยะยาวนั้น ต้องมีการใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์หลายมิติเข้ามาจัดการ แบบ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม้ ทอง เลยละครับ ก็จัดการทุกอย่างได้ดีก็จะกลายเป็นทอง ทองในหัวใจของผู้ปฏิบัติ

กินดีอยู่ดี ทองในหัวใจของคนรอบข้าง เพื่อถวายแก่ในหลวง และแผ่นดินเกิดของเราครับ ขอคาระวะในความตั้งใจครับ

เอก ท่าตะเภา

ขอชื่นชมและขอเป็นกำลังใจให้คุณลุงยุทธและผู้มีส่วนเกี่ยวของทุกท่านกับโครงการดีๆค่ะ

อยากเห็นจริงๆครับว่า แนวคิดของบิลมอลลิสัน สามารถทำได้จริงๆ

หนังสือ ที่ชื่อ permaculture หายากมากจริงๆ เคยได้มาครั้งนึง แต่ให้เพือ่่นไปแล้ว ใครพอทราบว่าหาได้ที่ไหน ช่วยบอกหน่อยนะครับ

ขออนุญาติรบกวน พี่ๆ น้องๆ คุณอาทุกท่าน

อยาดได้หนังสือ " permaculture เบื้องต้น"มากเลยครับ ไม่ทราบว่าพอหาได้ที่ไหนมัยครับ หรือ ใครมีขอก๊อบบี้ก็ได้ครับ

พอดีตอนนี้กำลังเริ่ม ทำเกรษตรทางเลือกอยู่ เลยเรียนรู้แนวคิดและรูปแบบ permaculture ครับ

เที่ยวหน้าต้องหาโอกาสไปหนองใหญ่แน่นอน

อยากให้ภาคใต้ของเรามีกลุ่มแนวคิดแบบนี้เยอะๆ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท