ปกรณ์
ว่าที่ร.ต. ปกรณ์ ปกรรณกรณ์ คำกอง

วัฒนธรรมไทยในดวงใจของแม่


วัฒนธรรมไทย

เรียงความเรื่อง  วัฒนธรรมไทยในหัวใจของแม่

แม่ เป็นคำสั้นๆ พยางค์เดียวที่ธรรมดา แต่ในความธรรมดานั้น ได้แอบแฝงความหมายที่มีค่ายิ่งใหญ่สุดจะหาคำใดมาเปรียบได้อยู่ แม่เป็นผู้ที่ให้กำเนิดชีวิต ทุกชีวิตที่เกิดมาจนเติบใหญ่ล้วนมาจากความเจ็บปวดของผู้เป็นแม่ ก่อนที่เราจะเกิดแม่ได้อดทนต่อความเจ็บปวด และหายปวดเมื่อได้เห็นหน้าผู้ที่ตนได้ให้กำเนิด แม่เป็นคำที่ผมพูดอยู่ทุกวัน ตั้งแต่เกิดมา จนจำความได้ และ ณ ทุกวันนี้ผมก็ยังเอ่ยคำนี้อยู่เสมอทุกวัน

แม่เป็นผู้ที่มีพระคุณสุดจะหาคำมาเปรียบเทียบได้ ดังบทเพลงที่ว่า จะเอาโลกมาทำปากกา แล้วเอานภามาแทนกระดาษ เอาน้ำหมดมหาสมุทรแทนหมึกวาด ประกาศพระคุณไม่พอบทเพลงนี้บ่งบอกว่าแม่คือผู้ที่อยู่เหนือดวงใจของผู้ที่เป็นลูก ลูกทุกคนมีแม่เท่านั้นที่เป็นที่ยึดเหนี่ยว เพราะไม่ลูกคนไหนจะพานพบกับปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ สุดท้ายแม่ก็คือผู้ที่จะคอยช่วยเหลือ อยู่เคียงข้างและพร้อมจะให้อภัยเสมอ

แม่ เป็นผู้ที่เลี้ยงดูลูกจนเติบใหญ่ ระยะเวลานั้นแม่คือผู้ที่คอยประคับประคอง ปลูกฝัง อบรม สั่งสอนให้ลูกนั้นเป็นคนที่มีความรู้ มีความดี มีความยุติธรรม มีความรัก สามัคคี มีความสมบูรณ์ของความเป็นมนุษย์  แม่เฝ้ามองลูกเมื่อลูกออกไปห่างจากอก แม่จะคอยห่วงใยอยู่เสมอ เพราะต่อให้ลูกโตขึ้นเพียงไร ลูกก็ยังเป็นลูกที่ไร้เดียงสาของแม่อยู่ดี

แม่ แม่ของผมเป็นผู้ที่คอยอบรมสั่งสอนผมอยู่ตลอดเวลาที่ผมทำตัวไม่ดี โดยเฉพาะเมื่อผมลืมวัฒนธรรมที่ดีงามของไทย เวลาผมไม่มีสัมมาคารวะ แม่ก็จะคอยตักเตือนเสมอ เวลาที่ผมไม่ไหว้ ไม่ทำความเคารพต่อผู้อาวุโสกว่า แม่ก็จะคอยจ้ำจี้จำไชอยู่ไม่ขาด และแม่จะทิ้งท้ายคำตักเตือนด้วยคำว่า ไม่มีวัฒนธรรมไทยเอาเสียเลย  คำว่าวัฒนธรรมจึงฝังอยู่ในใจของผมตลอดทุกการกระทำ วัฒนธรรมที่ผมได้รับมาจากแม่ ทำให้ผมรู้ว่าการเกิดเป็นคนไทยที่มีวัฒนธรรมอยู่กับตัวเป็นเรื่องที่ดีงามถือเป็นสิ่งที่ควรจะอนุรักษ์เอาไว้เพื่อเมืองไทยและวัฒนธรรมที่ดีงามของเมืองไทยเรา

สิ่งแรกที่แม่ผมสอนคือ การเป็นผู้ที่รู้จักการไหว้ เพราะการไหว้เป็นประเพณีโบราณของไทย เป็นการไหว้บุคคลที่ควรแก่การเคารพ และควรจะไหว้ให้เหมาะสมกับกาลเทศะ แม่บอกอีกว่าการไหว้ทำได้หลายวิธีทั้งการนั่งและยืน ถ้าเรานั่งไหว้เราควรนั่งพับเพียบยกมือพนมขึ้นระดับอก ก้มศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดกันที่หว่างคิ้วจะดูสวยงามมาก หรือถ้าเรายืนก็แค่เราพนมมือขึ้นระดับอกแล้วก้มตัวลง ให้หัวแม่มือจรดหว่างคิ้วเช่นกัน ซึ่งก็เหมือนกับการนั่ง และที่สำคัญแม่บอกว่าถ้ามีคนอื่นไหว้เรา เราควรรับไหว้เขาตอบเพื่อไม่ให้เสียมารยาท หรือทำให้ผู้ที่ไหว้เรานั้นเกิดความกระดากใจ หรือโกรธจนไม่นึกที่จะเคารพเราเมื่อเจอกันอีก  คำสอนนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้ขึ้นอีกมาก

การกราบก็เป็นเรื่องที่แม่ผมใส่ใจไม่ต่างกับการไหว้ การกราบนั้นมีวิธีการกราบคือถ้าเป็นการนั่งในท่าหมอบก็พนมมือให้ชิดกันลงบนพื้นไว้ข้างหน้า ก้มศีรษะลงกับพื้นให้หว่างคิ้วจรดหัวแม่มือ การกราบนั้นถ้าเป็นการหมอบกราบก็จะกระทำแก่ผู้ที่ทรงศักดิ์ เจ้านาย และผู้อาวุโส และกราบลงกับพื้นโดยที่ไม่ต้องแบมือลงกับพื้น

ทุกวันเมื่อได้ยินเสียงเพลงชาติไทย ผมจะต้องยืนตรงเสมอ เพราะผมรู้ว่าเพลงชาติไทยเป็นสิ่งที่ควรให้ความเคารพ และหมายถึงความเป็นชาติไทย ความเป็นคนไทย ผมฟังเพลงชาติทุกครั้งก็จะรู้สึกภูมิใจในความเป็นชาติที่สุด เพราะชาติไทยเราอยู่มาได้ก็เพราะบรรพบุรุษของไทยเรา ได้เอาชีวิตเข้าแลกเพื่อรักษาเอกราชและผืนแผ่นดินไทยเอาไว้ให้เราได้อยู่อาศัยจนถึงทุกวันนี้

ผมก็เพิ่งรู้ว่าการยืนตรงอย่างเดียวยังไม่ดีพอ ต้องตรงและนิ่งด้วย พร้อมกับท่าทางที่ดูสง่า แต่อย่างไร แม่ผมก็เป็นผู้แนะนำในเรื่องนี้กับผมอีกครั้ง แม่แนะนำให้ผมรู้ว่าการยืนตรงเคารพธงชาติที่เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ ซึ่งเราคนไทยทุกคนมีความรักและหวงแหนของประชาชนทุกคน ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องยืนให้ตรงในเวลาที่เราได้ยินเสียงเพลงชาติ เวลาที่เราเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาในทุกวัน  อีกทั้งในพิธีต่างๆ เมื่อเราเห็นผู้ที่เชิญธงชาติเดินผ่านมา เราก็ควรต้องยืนขึ้นเพื่อทำความเคารพทุกครั้ง เพราะธงชาติเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาติ เมื่อข้าราชการหรือประชาชนคนใดทำความดีหรือบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ ซึ่งได้เสียชีวิตลง ธงชาติศักดิ์สิทธิ์ผืนนี้แหละที่จะใช้คลุมศพของพวกเขาเหล่านั้น เพื่อเป็นเกียรติสูงสุด วัฒนธรรมในการยืนตรงเมื่อเราเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาถึงในงานพิธีต่างๆ เราต้องยืนตรงเพื่อถวายความเคารพ หรือถ้าเรายืนอยู่บนถนนเราก็ควรรีบหันหน้าไปในทิศทางที่พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินผ่านแล้วหยุดยืนตรงเพื่อถวายความเคารพหรือถวายคำนับก็ได้ ขณะเดียวกันถ้าเราได้ยินเพลงสรรเสริญพระบารมีก็ตรงยืนตรงนิ่งอยู่กับที่จนกว่าเพลงจะจบลง ก็เป็นการทำความเคารพที่ดีงามตามแบบวัฒนธรรมของไทย  แม่ยังบอกอีกว่า การยืนตรงเพื่อต้อนรับผู้ใหญ่ก็เป็นวัฒนธรรมไทยเช่นกัน ทั้งนี้ก็เป็นการให้เกียรติต่อบุคคลนั้นด้วย ผู้ที่มียืนตรงทำความเคารพที่มีมารยาทนั้นจะต้องยืนตรงห้อยแขนและขาตามธรรมชาติเพื่อเคารพผู้ใหญ่ แต่ถ้าประสานมือไว้ข้างหน้าด้วยจะเป็นสิ่งที่ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งแม่ก็ได้ทิ้งท้ายวัฒนธรรมที่เป็นการยืนตรงเอาไว้ให้ผมได้เรียนรู้อีกเช่นเคย

ผมเองเป็นคนพูดจาไม่ค่อยไพเราะเท่าไรนัก คือไม่มีหางเสียงจึงถูกแม่อบรมอีกชุดใหญ่ในเรื่องของการใช้วาจาที่สุภาพแบบคนไทย ที่เขาใช้กัน แม่บอกว่าคำพูดก็เหมือนกับอาวุธที่คอยทำร้ายเราตลอดเวลา ถ้าเราพูดจาดี ก็จะดีกับตัวผู้พูดเอง แต่ถ้าเมื่อไรพูดไม่ดี อาจทำให้ตัวเองเดือดร้อนก็ได้ ดังคำสอนที่เกี่ยวกับการพูดจาที่กล่าวไว้มากมาย เช่น ปากเป็นเอก เลขเป็นโท ก็คือสิ่งที่สำคัญอันดับหนึ่งนั้นก็คือการใส่ใจในการพูดจาของเรา หรือพูดดีเป็นศรีแก่ตัว พูดชั่วอาจปราชัย หรือเนื้อหาบางตอนในนิราศของสุนทรภู่ที่กล่าวถึงการพูดว่า ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์ มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต แม้พูดชั่วตัวตายทำลายมิตร จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา  จะเห็นว่าการพูดนั้นสำคัญกับชีวิตของเราจริงๆ การที่จะพูดให้ถูกให้ดีนั้นทำได้ยาก ที่สิ่งที่สำคัญคือการเริ่มต้นพูดในสิ่งที่ดีและมีมารยาทในการพูด การพูดแสดงถึงความรู้สึกนึกคิด ความประนีตของผู้พูด ทั้งพฤติกรรมทางกาย วาจา และใจ วาจาไพเราะหรือเรียกอีกอย่างว่า มีปิยะวาจาที่ดีงาม ได้แก่ถ้อยคำที่เว้นจากวจีทุจริต วาจาไพเราะเป็นคุณสมบัติสำคัญในการพูด เพื่อความสำเร็จในประโยชน์ของตนและประโยชน์ของท่าน เพื่อยึดเหนี่ยวของจิตใจผู้ฟังให้เกิดความนิยมรักใคร่นับถือผู้พูด การพูดที่มีมารยาทนั้นมีอยู่ 7 ข้อด้วยกันที่แม่ได้บอกเอาไว้ คือ ข้อที่หนึ่งแม่บอกว่าจะต้องระมัดระวังไม่ใช้คำพูดที่เป็นคำเท็จ อันเป็นเหตุให้คนทั้งหลายคลายความเชื่อถือในตัวเรา เพราะความเท็จนั้นจะปรากฏขึ้นมิวันใดก็วันหนึ่ง

ข้อสองนั้นคือเราไม่ควรไปพูดยุยงส่งเสริมให้คนอื่นแตกร้าวกัน หรือพูดจาส่อเสียด ข้อนี้เราควรหลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาด การสนทนากันที่ดีนั้นเราไม่ควรกล่าวถึงใครในแง่ร้าย เราควรกล่าวถึงเรื่องที่ไม่ควรพาดพิง และทำให้ผู้อื่นเสียหาย  ควรสนทนาในทางที่จะเกิดความรู้เท่านั้น ข้อที่สามเราไม่ควรกล่าววาจาที่หยาบคายเสียดสีดูถูกหรือขัดคอผู้อื่น เพราะจะทำให้ขัดเคืองกันและเป็นการน่าละอายอย่างมากสำหรับผู้ที่แสดงวาจาเช่นนี้ออกมา  และที่สำคัญจะทำให้รู้ว่าผู้พูดได้รับการอบรมมาอย่างไรด้วย ข้อที่สี่ก็เป็นเรื่องของการพยายามใช้คำพูดที่เหมาะสมที่ควรและถูกหูผู้ที่เราพูดด้วย เพราะการพูดจาที่ไพเราะย่อมเป็นที่นิยมชื่นชอบแก่ผู้ที่ได้ยินได้ฟัง และยังช่วยให้ผู้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาด้วย ข้อที่ห้าเป็นเรื่องของการใช้น้ำเสียงที่พอดี ไม่ดังจนเกินไป หรือขณะที่พูดมีการหัวเราะไปด้วย จะเป็นการเสียบุคลิกภาพอย่างมาก ข้อหกการสนทนาที่ดีนั้นไม่ใช่จะเป็นผู้พูดอย่างเดียวหรือฟังอย่างเดียว จะต้องปฎิบัติให้พอดี คือรู้จักพูดให้ผู้ฟังพอใจและเป็นนักฟังที่สนใจต่อเรื่องนั้นๆด้วย ส่วนข้อสุดท้ายที่แม่ได้สอนเอาไว้คือผู้ที่เป็นสุภาพสตรีย่อมต้องสำรวมกายอยู่เป็นนิจ ไม่ส่งเสียงอื้ออึงไม่ทำตัวสนิทกับบุรุษมากจนเกินไปในที่ลับตาคนและที่เปิดเผยไม่พูดจาหยาบคาย ไม่หัวเราะส่งเสียงดังจนดูไม่งาม ซึ่งทั้งเจ็ดข้อนี้ก็เป็นสิ่งที่แม่เน้นเป็นพิเศษ ผมจึงจำใส่ใจอย่างเต็มใจ เพราะวัฒนธรรมที่แม่ได้สอนล้วนแล้วแต่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างมาก

                แม่ได้อบรมสั่งสอนผมในเรื่องของวัฒนธรรมอันดีงามของคนไทย แม่ผมเป็นผู้ที่ปลูกฝังวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าไว้กับผมไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรแม่ผมจะคอยตักเตือน เตือนสติให้รู้ในวัฒนธรรมของคนไทยเสมอ เราในฐานของคนรุ่นใหม่ควรจะหันมาใส่ใจในวัฒนธรรมที่ดีงาม และควรที่จะอนุรักษ์ รักษาเอาไว้ เพื่อลูกหลานของเรา จะได้มีวัฒนธรรมอันดีงาม และให้สิ่งดีๆที่เรียกว่าวัฒนธรรมได้คงอยู่กับเราตลอดไป ไม่ใช่จะอยู่ที่แม่เราเพียงคนเดียว วัฒนธรรมจะต้องอยู่กับเราทุกคนตลอดไป

หมายเลขบันทึก: 284608เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2009 11:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 17:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะคุณครู

ไม่ทราบว่าเรียงความนี้คุณครูประพันธ์เองรึป่าวค่ะ

ปุ๋ยว่ามันดีมากเลยทีเดียวค่ะ

ทำออกมาอีกน่ะค่ะจะรออ่านค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท