รมว.ศธ.กับงานในรอบ ๖ เดือน


นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์  ัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงผลสำรวจของสวนดุสิตโพล เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๒ ซึ่งประเมินผลงานของรัฐบาลชุดนี้ในรอบ ๖ เดือน จำแนกรายกระทรวง พบว่าประชาชนพอใจผลงานของกระทรวงศึกษาธิการมาเป็นอันดับ ๑ คือ ๖.๖๙ จาก ๑๐ คะแนน และโครงการเรียนฟรี ๑๕ ปี เป็นโครงการอันดับ ๑ ที่เป็นผลงานยอดเยี่ยมของรัฐบาล คือได้คะแนน ๕๓.๐๕%

จากผลการสำรวจครั้งนี้ถือว่าเป็นผลงานร่วมกันของข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษาทุกคน ที่ได้ช่วยกันผลักดันจนงานของกระทรวงศึกษาธิการเป็นที่ยอมรับของประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม ศธ.ยังมีภารกิจที่ต้องเดินต่อไปข้างหน้าอีก เช่น โครงการเรียนฟรี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพ เพราะมิใช่ฟรีเฉพาะในรายการเครื่องแบบนักเรียน ตำราเรียน อุปกรณ์การเรียน ค่าเล่าเรียน และกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเท่านั้น แต่ต้องมุ่งเน้นด้านคุณภาพด้วย

นอกจากผลสำรวจของสวนดุสิตโพลแล้ว ยังมีผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่สำรวจประชาชนทั่วประเทศถึงความพอใจในโครงการเรียนฟรี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพ พบว่าประชาชนพอใจถึง ๙๘.๒% ซึ่งช่วยลดภาระของผู้ปกครองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทหรือผู้ด้อยโอกาสจำนวนมาก

การปฏิรูปการศึกษารอบสอง เป็นการปฏิรูปต่อจากการปฏิรูปการศึกษารอบแรก ที่ได้เริ่มขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๒ โดยเน้นเรื่องการปรับโครงสร้าง เน้นการศึกษาในระบบ คือการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา แต่การปฏิรูปการศึกษารอบสองนี้ จะเน้นเรื่องคุณภาพเป็นอันดับหนึ่ง และเน้นเรื่องการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยซึ่งต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการศึกษาในระบบ เพราะต้องการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เกิดขึ้น รวมทั้งเรื่องคุณภาพด้วย ให้คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ในทุกมิติ ทุกระดับ โดยจะเน้น ๓ เรื่อง คือ คุณภาพ โอกาส และการมีส่วนร่วม เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการศึกษา ไม่เฉพาะกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น ทั้งหน่วยการปกครองท้องถิ่น ภาคเอกชน สถาบันศาสนา สถาบันครอบครัว และกระทรวงอื่นๆ ต้องเข้ามาช่วยกัน เพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมายความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษารอบสองที่มุ่งเน้นเรื่องคุณภาพของคน คุณภาพครู คุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ และคุณภาพระบบการจัดการศึกษายุคใหม่

คุณภาพ ต้องมุ่งเน้นตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ประถมศึกษา จนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย และในส่วนของอาชีวศึกษา ปวช. ๑-๓ สำหรับในชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจะเน้นใน ๘ กลุ่มสาระหลัก และที่ต้องเน้นเป็นพิเศษมี ๕ รายวิชา ได้แก่ คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย จากการสำรวจพบว่าเด็กไทยส่วนใหญ่มีค่าเฉลี่ย O-Net ต่ำกว่าเกณฑ์ระดับประเทศ ศธ.จึงได้จัดตั้งสถาบันขึ้นใน สพฐ.เพื่อดูแลแต่ละวิชาเป็นการเฉพาะ เช่นเดียวกับสถาบันภาษาอังกฤษที่ดำเนินการมาแล้วกว่า ๓ ปี และทำให้ตัวเลขคะแนน O-Net สูงขึ้นทุกปี ถือว่าเป็นกระบวนการพัฒนาที่ถูกต้อง มีครูผู้สอนที่มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง มีความเชี่ยวชาญ มีผู้อำนวยการสถาบันที่มีความรู้ ความสามารถ และทีมงานที่เข้มแข็ง มีการจัดหลักสูตรพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งขณะนี้เริ่มมีสถาบันวิทยาศาสตร์ สถาบันภาษาไทย สถาบันสังคมศึกษา และมีความเชื่อมั่นว่าภายใน ๑-๒ ปี ผลคะแนน O-Net ก็จะเพิ่มสูงขึ้น

นโยบาย 3D เป็นโครงการหนึ่งที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน คุณภาพคนไทย ซึ่งกำหนดเป็นนโยบายว่าทุกโรงเรียน ทุกมหาวิทยาลัย วิทยาลัยอาชีวศึกษา กศน. ทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องรับนโยบาย 3D ไปปฏิบัติ เพื่อให้เด็กที่จบการศึกษาแล้วมีกิจกรรม ๓ ด้าน คือ Democracy การส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา เชื่อมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และต้องมีการจัดกิจกรรมเชิงลึกทั้งหมด เพื่อสร้างจิตสำนึกให้เด็กรังเกียจการทุจริตและต่อต้านการซื้อสิทธิ์ขายเสียง Decency การส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมและความภาคภูมิใจในความเป็นไทย และ Drug-Free ห่างไกลจากยาเสพติดที่ทุกสถานศึกษาต้องปฏิบัติ และต่อไป 3D ก็จะอยู่ในการประเมินของสมศ.ด้วย หากสถาบันใดไม่ปฏิบัติตามนโยบาย 3D ก็ไม่ผ่านการประเมิน และหากผ่านการประเมินแล้ว ก็จะมีเกณฑ์ด้วยว่าผ่านในระดับดีหรือดีมาก นอกจากนี้ยังมีห้องสมุด ๓ดี ที่เน้นหนังสือดี บรรยากาศดี และบรรณารักษ์ดี

ส่งเสริมการอ่านเป็นวาระแห่งชาติ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม  ๒๕๕๒ เห็นชอบตามที่ศธ.เสนอ ในการกำหนดให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติและกำหนดให้วันที่ ๒ เมษายน ของทุกปีเป็นวันรักการอ่าน รวมทั้งกำหนดให้ปี ๒๕๕๒-๒๕๖๑ เป็นทศวรรษแห่งการอ่าน โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์ ๓ ด้าน คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการอ่าน การสร้างนิสัยรักการอ่าน และการสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในการอ่านอย่างยั่งยืน

การพัฒนาคุณภาพครู ในปัจจุบันมีครูจำนวนประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ คน แบ่งเป็นครูประถมศึกษาและมัธยมศึกษา รวมกัน ๔๕๐,๐๐๐ คน และครูอาชีวศึกษา ๕๐,๐๐๐ คน ในทุกปีมีการพัฒนาคุณภาพครูอยู่แล้ว ปีละ ๒,๐๐๐ คน แต่ในปีนี้จะพัฒนาทีเดียว ๕๐๐,๐๐๐ คน โดยเฉพาะครูใน ๕ วิชาหลักเป็นหัวใจสำคัญ เพราะหากครูขาดศักยภาพแล้วก็จะมีผลกับเด็ก ในปีนี้จะมีการพัฒนาครูทุกคนในทุกกลุ่มวิชา เพื่อให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กใน ๕ รายวิชานั้นดีขึ้น รวมทั้งจะนำเทคโนโลยีทางการศึกษาหรือระบบ e-Learning มาใช้ และจัดให้โรงเรียนปลายทางในชนบทที่มีจานดาวเทียม สามารถรับการเรียนการสอนผ่านดาวเทียมได้ โดยจะต่อยอดจากโรงเรียนวังไกลกังวล ทั้งนี้จะนำระบบการบริหารจัดการ เทคโนโลยี และมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพเข้ามาช่วยในการอบรมผู้บริหาร ๓๐,๐๐๐ คน และครูผู้สอนในรายวิชาต่างๆ ทุกคน รวมทั้งการสร้างครูรุ่นใหม่ ที่เรียกว่า ครูพันธุ์ใหม่ ด้วย คือการจะนำเด็กที่มีผลการเรียนดีและมีความสนใจที่จะเป็นครู มีผลการเรียนตามเกณฑ์ที่กำหนดมาเข้าร่วมโครงการ โดยมี ๓ รูปแบบ คือ เรียนครู ๕ ปี เมื่อจบการศึกษาด้วยผลการเรียนตามเกณฑ์ที่กำหนด จะได้รับการบรรจุรับราชการเป็นครู หรือ ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาต่างๆ และมีผลการเรียนดี เข้ามาเรียนครูอีก ๑ ปี เรียกว่า โครงการ ๔+๑ และมีหลักประกันว่าจะได้รับการบรรจุตามที่กำหนดไว้เช่นเดียวกัน และ ครูในพื้นที่ขาดแคลน จะเปิดรับเด็กที่สนใจเข้ามาเรียน โดยเมื่อเรียนจบแล้วจะต้องไปเป็นครูประจำที่พื้นที่นั้นๆ ภายใน ๙ ปี จะผลิตครูพันธุ์ใหม่ ๓๑,๙๐๐ คน คือ ๕๐% ของครูที่เกษียณลงในแต่ละปี ซึ่งจะช่วยให้อนาคตการเรียนของเด็กมีทิศทางที่ดี มีคุณภาพมากขึ้น โดยมีครูเป็นปัจจัยที่สำคัญ

การเพิ่มครูในเชิงปริมาณจะช่วยแก้ปัญหาได้ เพราะก่อนหน้านี้ ครูโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ขาดแคลนครูธุรการ บัญชี สารบัญ จึงต้องใช้ครูผู้สอนไปทำงานธุรการ งานบัญชี งานสารบัญ ทำให้ไม่มีครูสอนเด็ก จึงได้จัดครูธุรการเพื่อทำงานธุรการให้โรงเรียนแล้ว ๑๔,๕๓๒ คน โดยนำเด็กจบปริญญาตรีมาเป็นครูธุรการ ภายใต้โครงการคืนครูให้นักเรียน เป็นการนำครูธุรการเข้าไปทำงานธุรการ เพื่อให้ครูผู้สอนได้กลับเข้าห้องเรียนไปสอนนักเรียนได้เต็มที่

มาตรฐานทางการศึกษา จากการประเมินระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาของ สมศ.ในรอบแรก พบว่า สถานศึกษาทั้งหมด ๓๐,๐๐๐ กว่าโรงนั้น ผ่านเกณฑ์การประเมินเพียง ๑ ใน ๓ คือ ๓๕% แต่ผลการประเมินในรอบที่สอง มีโรงเรียนที่ผ่านเกณฑ์จากเดิม ๓๕% เป็น ๘๐% จึงเป็นที่มาของนโยบายโรงเรียนดีสามระดับ คือจะจัดโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาออกเป็น ๓ ระดับ ได้แก่ โรงเรียนดีระดับชาติ ระดับสากล อย่างน้อย ๕๐๐ โรงเรียนทั่วประเทศที่จะกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โรงเรียนดีประจำอำเภอ เหมือนกับโรงเรียนในฝัน โรงเรียนดีใกล้บ้านที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ ๑,๐๐๐ กว่าโรง เป้าหมายจะต้องมี ๒,๕๐๐ โรง ภายในปี ๒๕๕๓  โรงเรียนดีประจำตำบล โดยใน ๑ ตำบลจะต้องมี ๑ หรือ ๒ โรงเรียน ตามความเหมาะสม ทั่วประเทศ ๗,๐๐๐ โรง โดยจะต้องพัฒนาทั้งคุณภาพวิชาการ คุณภาพการบริหารจัดการ การกระจายอำนาจ ธรรมาภิบาล และจะต้องมีปัจจัยพื้นฐานที่ดีมีคุณภาพ เช่น อาคารเรียน ภูมิทัศน์ สภาพแวดล้อม ห้องสมุด คอมพิวเตอร์ จะต้องปรับอัตราจากเดิม คอมพิวเตอร์ ๑ เครื่อง ต่อเด็ก ๔๐ คน เป็น คอมพิวเตอร์ ๑ เครื่อง ต่อเด็ก ๒๐ คน หรือหากได้อัตราที่ต่ำกว่านั้นก็จะทำ และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จะต้องเข้าถึงโรงเรียนในทุกตำบล เป็นการพัฒนาคุณภาพทางการเรียนของเด็กในอนาคต

ระดับอุดมศึกษา จากการสำรวจของ สมศ.พบว่า ๕๐ สาขาวิชาที่เปิดสอนอยู่ในสถาบันอุดมศึกษานั้นไม่ได้มาตรฐาน จึงต้องมีการกำหนดกรอบวิชาว่าการเปิดการเรียนการสอนในแต่ละสาขาวิชา ต้องได้มาตรฐานตามที่ระบุ สำหรับสาขาวิชาที่เปิดสอนอยู่แล้วจะต้องปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน มิฉะนั้นจะต้องยกเลิกสาขาวิชานั้นๆ สำหรับสาขาวิชาที่จะเปิดใหม่ ก็จะต้องได้มาตรฐานตามที่กำหนดตั้งแต่เริ่มเปิดสอนทันที และเด็กที่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อย ๕ ข้อ คือ ต้องมีคุณธรรมจริยธรรม มีความเป็นเลิศทางวิชาการในสาขาวิชาที่เรียน มีทักษะทางวิชาการ คือสามารถนำความรู้ที่เรียนมาประยุกต์ใช้ มีทักษะทางสังคม การทำงานร่วมกับผู้อื่น อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ และมีทักษะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศยุคใหม่ จึงจะถือว่ามหาวิทยาลัยนั้นประสบความสำเร็จในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพในสาขาวิชานั้นๆ และในอนาคต การจะเปิดสอนในสาขาวิชาต่างๆ จะต้องมีการประกาศล่วงหน้าว่าสาขาวิชานั้นๆ จะสอนวิชาอะไรบ้าง และต้องประกาศชื่อผู้สอนด้วย เพื่อเป็นการประกันคุณภาพ

ระดับอาชีวศึกษา ศธ.จะให้สถาบันอาชีวศึกษา ๔๐๐-๕๐๐ กว่าแห่งทั่วประเทศ รวมกันเป็นกลุ่มๆ ๑๙ กลุ่มจังหวัด เพื่อร่วมกันบริหารจัดการใช้ทรัพยากรร่วมกันและเป็นอิสระทางวิชาการ เพื่อพัฒนาคุณภาพทางวิชาการและเทคโนโลยี ขณะเดียวกันก็จะมีการกำหนดกรอบมาตรฐานคุณภาพเช่นเดียวกับอุดมศึกษา ให้ทำกรอบมาตรฐานล่วงหน้าตั้งแต่ในเดือนนี้ รวมถึง กศน. และเอกชนด้วย ที่จะต้องรับนโยบายไปปฏิบัติ

การจัดตั้งสถาบันกำหนดมาตรฐานการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นองค์กรเฉพาะขึ้นมา เพื่อให้ครูได้มาตรฐานตามที่กำหนด และการอบรมครูในอนาคตก็ต้องมีมาตรฐานการอบรม โดยเฉพาะครูของครู คืออาจารย์ที่สอนนักศึกษาที่จะจบออกมาเป็นครูนั้นขาดแคลน จึงต้องเร่งผลิตครูของครู ที่จบปริญญาโทและปริญญาเอกเพื่อมาสอนนักศึกษาที่จะจบออกมาเป็นครู และมีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพครูของครู เพื่อให้เกิดผลดีกับผู้เรียน นักเรียนและนักศึกษาในอนาคต

Tutor Channel ศธ.จะมีโทรทัศน์ช่องพิเศษ สำหรับการติวเข้มนักเรียนทั่วประเทศ โดยเฉพาะวิชาหลัก ทั้งการสอบประจำภาคการศึกษา การสอบ O-Net และการสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วย ในเบื้องต้นอาจจะเริ่มที่ชั้นมัธยมต้นหรือมัธยมปลายก่อน สำหรับเด็กชั้นประถมศึกษาอาจจะยังมีสมาธิไม่มากพอ ซึ่งจะใช้สถานีโทรทัศน์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ขณะนี้กำลังพิจารณาว่าสถานีโทรทัศน์ช่องใดที่มีความเหมาะสม โดยจะใช้ช่วงเวลาในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ในการจัดครูที่มีชื่อเสียงทั่วประเทศมาช่วยติวให้กับเด็ก เพื่อให้เด็กได้ติวฟรี ไม่ต้องเสียเงินไปเรียนที่โรงเรียนกวดวิชา เพื่อให้เด็กที่อยู่ในสถานที่ห่างไกลได้มีโอกาสติว และจะมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่อไป ในปัจจุบันยังไม่มีการติวผ่านทาง Free TV แต่ได้มีการดำเนินการอยู่ ผ่านทาง ETV ของกระทรวงศึกษาธิการ หรือทาง UBC ช่อง ๙๖ ในขณะที่ ETV ยังไม่ได้พัฒนาเป็น Free TV ก็จะมีการใช้ช่วงเวลาของ Free TV ถ่ายทอดสดไปก่อน ในอนาคตเมื่อ ETV ได้รับการพัฒนาเป็น Free TV แล้ว ก็จะใช้ E Free TV เป็นโทรทัศน์เพื่อการศึกษาโดยเฉพาะ

ปัญหาหนี้สินครู ได้เตรียมงบประมาณไว้ ๙๐๐ ล้าน เพื่อให้ครูได้นำเงินไปใช้หนี้สินเก่าที่มีอยู่ โดยคิดดอกเบี้ยจาก ๖% เหลือ MLR-๑ คือ ๔.๘๕% ให้ครูกู้ได้คนละไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ระยะเวลาใช้คืน ๘ ปี หากเสียชีวิตจากภัยพิบัติ ดอกเบี้ยเหลือ ๐% หากพิการ ดอกเบี้ยเหลือ ๑% หากบ้านเรือนเสียหายเพราะภัยพิบัติ ดอกเบี้ยเหลือ ๒% สำหรับวิทยฐานะ เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ ในการมีวิทยฐานะ เลื่อนวิทยฐานะ โดยในอดีตจะเน้นในเรื่องการทำเอกสารทางวิชาการ แต่ปัจจุบันจะเน้นด้านคุณภาพการสอน โดยวัดที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนเป็นหลัก ส่วนเอกสารทางวิชาการก็ยังต้องทำอยู่ แต่เป็นการวิจัยในห้องเรียน คิดเป็น ๖๐:๔๐ ทั้งหมดเพื่อให้เด็กเก่ง ดี มีความสุข และมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย

การมีส่วนร่วม การเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการนั้น ในเดือนสิงหาคมนี้ จะมีการจัดประกวดตราสัญลักษณ์โครงการ 3D เรียงความ 3D และการจัดทำเว็บไซต์ ซึ่งจะจัดประกวดในระดับโรงเรียน ระดับเขตพื้นที่ ระดับภาค โดยมีเงินรางวัล ๓๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นการเริ่มต้นให้เด็กได้คิดริเริ่ม เป็นการเริ่มต้นนโยบาย 3D ไปสู่การปฏิบัติ

งานด้านต่างประเทศ การศึกษาไทยเป็นที่ยอมรับเป็นอย่างมากในประเทศกลุ่มอาเซียน รวมถึงยูเนสโก ที่ให้การยอมรับประเทศไทยว่าเป็นต้นแบบของการศึกษา โดยเฉพาะโครงการเรียนฟรี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพ และการลงทุนเพื่อการศึกษาในการสร้างคนในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมาก

รมว.ศธ. ในฐานะประธานสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีเมค) ได้เดินทางไปเยือนและเจรจาความร่วมมือกับประเทศสิงคโปร์และอินโดนีเซีย โดยจะมีการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาระหว่างกันต่อไป ในส่วนของการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค ก็ได้จัด Road Show ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อให้นักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนในประเทศไทยมากขึ้น และมีการลงนามในบันทึกความตกลงความร่วมมือด้านการศึกษาไทย-จีน

นอกจากนี้ได้มีการหารือกับเวียดนามในเรื่องการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยในสถาบันอุดมศึกษาของเวียดนาม รวมทั้งความร่วมมือด้านอุดมศึกษากับเยอรมัน และเมื่อไม่นานมานี้ประธานคณะกรรมการบริหารยูเนสโกและผู้แทนถาวรเบนินประจำยูเนสโกได้มาเยือน ศธ. และชื่นชมไทยที่เป็นตัวอย่างที่ดีในการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน ทั้งนี้เบนินสนใจที่จะร่วมมือด้านอาชีวศึกษาและอุดมศึกษากับไทยด้วย

อ้างอิงจาก http://www.moe.go.th/websm/2009/aug/285.html

คำสำคัญ (Tags): #๖ เดือนศธ.
หมายเลขบันทึก: 284175เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2009 12:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท