ผู้บริหารยอด โรงเรียนเยี่ยม


ผู้บริหารสถานศึกษาจึงต้องมีความรู้ วิสัยทัศน์ ประสบการณ์ในการบริหาร มีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติงาน แต่ถ้าหากผู้บริหารสถานศึกษาไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่เข้าใจนโยบายการทำงานอย่างถ่องแท้ชัดเจน ก็ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ และตัวผู้บริหารเองก็จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสถานศึกษาเอง

นาร์ ฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมทางวิชาการ "ผู้บริหารยอด : โรงเรียนเยี่ยม" พร้อมทั้งบรรยายพิเศษแก่ผู้บริหารโรงเรียนจำนวน ๒๕๐ คน ที่เข้าร่วมการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๕๒ ของสมาคมผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษาแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๒

รมว.ศธ.กล่าวตอนหนึ่งว่า ต่อไปนี้กระทรวงศึกษาธิการจะกระจายอำนาจไปยังสถานศึกษามากขึ้น ผู้บริหารสถานศึกษาจึงต้องมีบทบาทมากขึ้นทั้งด้านวิชาการ การบริหารจัดการ การบริหารงานบุคคล โดยเฉพาะการแยกประถม-มัธยมศึกษา ได้แยกการบริหารงานบุคคลและงบประมาณออกจากกันอย่างชัดเจนแล้ว โดยเฉพาะการบริหารงานบุคคลนั้น เดิมเป็นหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา แต่หลังจากวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๒ กฎหมายใหม่จะมีผลบังคับใช้ที่จะแยกเป็น อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งดูแลโรงเรียนประถมศึกษา ๑๘๕ เขต  และ อ.ก.ค.ศ.กลุ่มมัธยมศึกษา ๔๑ กลุ่ม ซึ่งจะดูแลโยกย้ายผู้บริหารในแต่ละกลุ่มของตัวเอง โดยจะมีคณะกรรมการกลั่นกรองขึ้น ๒ คณะ คือ คณะกรรมการกลั่นกรองชุดประถมศึกษา ๑ ชุด มี ผอ.สพท.เป็นประธาน และในส่วนของมัธยมศึกษานั้น ในแต่ละกลุ่มจังหวัดก็จะมีตัวแทนของ สพฐ.เป็นประธาน และประธานกลุ่มมัธยมศึกษาเป็นเลขานุการ

นอกจากนี้ ประเด็นที่อยากฝากคือ "คุณภาพ โอกาส และการมีส่วนร่วม" ทั้ง ๓ ข้อนี้เป็นเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษารอบสอง ซึ่งนโยบายของรัฐบาลก็ชัดเจนแล้วว่าสอดคล้องกับหัวข้อการประชุมวิชาการครั้งนี้ เช่น โครงการอบรมพัฒนาครูและผู้บริหารสถานศึกษาทั่วประเทศในปีนี้กว่า ๕๐๐,๐๐๐ คน แยกเป็นครูสังกัด สพฐ. ๔๕๐,๐๐๐ คน และอาชีวะ ๕๐,๐๐๐ คน โดยใช้ระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการอบรมพัฒนาที่จะแยกตามกลุ่มและสาขาวิชา โดยตนได้เป็นประธานเปิดการอบรมรุ่นแรกไปแล้วที่พัทยา จ.ชลบุรี เมื่อเร็วๆ นี้

สำหรับนโยบายของรัฐบาลที่จะสอดคล้องกับการเป็นโรงเรียนเยี่ยมนั้น ขณะนี้ ศธ.ได้มีโครงการพัฒนาโรงเรียน ๓ ดี ในโรงเรียน ๓ ระดับ จำนวน ๑๐,๐๐๐ โรงทั่วประเทศ คือ

๑) พัฒนาโรงเรียนระดับชาติหรือระดับสากลให้มีคุณภาพ ๕๐๐ โรงทั่วประเทศ
๒) พัฒนาโรงเรียนดีระดับอำเภอ โดยจะได้พัฒนาโรงเรียนดีใกล้บ้านหรือโรงเรียนในฝัน โดยตั้งเป้าไว้ที่ ๒,๕๐๐ โรงเป็นอย่างน้อย
๓) พัฒนาโรงเรียนดีประจำตำบล อย่างน้อยตำบลละ ๑-๒ โรง โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาอย่างน้อย ๗,๐๐๐ โรง

สำหรับเกณฑ์ของโรงเรียน ๓ ดี  คือ จะต้องมีการพัฒนาคุณภาพทางวิชาการ จะต้องมีปัจจัยพื้นฐานที่ครบถ้วนสมบูรณ์ มีห้องสมุด ๓ ดี คือหนังสือดี บรรยากาศดี และบรรณารักษ์ดี นอกจากนี้จะต้องมีสัดส่วนคอมพิวเตอร์ต่อนักเรียนมากขึ้น มีการนำอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าไปถึงในโรงเรียน ตลอดจนมีธรรมาภิบาล และระบบบริหารจัดการแบบใหม่

รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า คุณภาพของโรงเรียนดีทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ ถือเป็นหน้าที่ของผู้บริหารสถานศึกษาในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบสูงสุด ดังนั้นผู้บริหารสถานศึกษาจึงต้องมีความรู้ วิสัยทัศน์ ประสบการณ์ในการบริหาร มีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติงาน แต่ถ้าหากผู้บริหารสถานศึกษาไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่เข้าใจนโยบายการทำงานอย่างถ่องแท้ชัดเจน ก็ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ และตัวผู้บริหารเองก็จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสถานศึกษาเอง

อ้างอิงจาก http://www.moe.go.th/websm/2009/aug/283.html

 

คำสำคัญ (Tags): #ผู้บริหารยอด
หมายเลขบันทึก: 284168เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2009 12:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท