ชีวิตที่พอเพียง : ๘๑๐. มีชีวิตอยู่ในโลกหลากวิถี



          ผมโชคดีที่เลือกทางดำเนินชีวิตของตนเองได้พอสมควร    และที่สำคัญมีโอกาสเลือกด้วย   พ่อแม่ให้การสนับสนุนให้ได้เปลี่ยนจากชีวิตทำมาหากินในชนบท    มาเป็นชีวิตนักวิชาการในเมือง    นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก   ที่จริงพ่อแม่ไม่มีความรู้พอที่จะเข้าใจว่าลูกชายจะดำรงชีวิตแบบนี้ได้อย่างมีความสุข    พ่อแม่คิดอย่างเดียวให้ลูกเป็นหมอ และประกอบอาชีพแพทย์    เพื่อจะได้มีฐานะดีในทางการเงินและได้ช่วยเหลือคนเจ็บป่วย    พ่อแม่ของผมไม่ต้องการให้ลูกมีชีวิตเบียดเบียนคนอื่น อยากให้ช่วยเหลือคนอื่น    เมื่อเห็นว่าลูกพอจะเรียนแพทย์ได้ ก็หนุนเต็มที่ให้ลูกเป็นหมอ

          แต่เมื่อดำเนินชีวิตถึงจุดหนึ่ง    ผมก็อยู่ที่ทางสามแพร่งว่าจะเดินไปทางปกติที่คนเขานิยม หรือจะเดินไปทางที่ตนเองชอบและคิดว่ามีคุณค่ามากกว่า    แม้จะเสี่ยงต่อความยากจน    ผมเลือกแพร่งหลังโดยบอกลูกเมียว่าเราเลือกทางที่ยอมยากจน    แต่เชื่อว่ามีประโยชน์ 

          แต่ไม่จริงเลย ตอนนี้ผมจัดเป็นคน “รวย” คือไม่ใช่รวยเงิน (แต่ก็ไม่ขัดสน)    แต่จัดได้ว่า “รวย” เพราะมีให้แก่สังคมหรือผู้อื่นเสมอ   โดยที่สิ่งที่ให้นั้นส่วนใหญ่ไม่ใช่เงิน    แต่เป็นการให้ “คุณค่า” (vaue) ให้ “ความชื่นชม” (appreciation)

          และที่แปลกมากก็คือ “ยิ่งให้ ยิ่งได้” เพราะเมื่อเราให้    เราได้ endorphin ทันทีเป็นอัตโนมัติ จากสมองของเราเอง  

          เวลานี้สังคมไทยเลือกทำให้คนไทยมีชีวิตแบบแล้ง endorphin  ท่วม adrenalin โดยไม่รู้ตัว    เป็นสังคมจิกตีกันเอง แตกแยกกันเป็นฝักฝ่าย    เป็นการเลือกวิถีฝ่ายต่ำ กระทำต่อกันเอง    ผมภาวนาให้สิ้นสุดยุคนี้โดยเร็ว

          และขอเสนอแนะโจทย์วิจัยต่อนักประวัติศาสตร์ ให้ค้นคว้าอย่างลึกซึ้งถูกหลักวิชาการ ว่าสังคมไทยเดินเข้าสู่วิถีที่ทำลายตนเองเช่นนี้ได้อย่างไร    สมมติฐานก็คือ ไม่ใช่ฝีมือใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง    แต่เป็นเพราะเหตุปัจจัยที่ซับซ้อน   

          ที่จริงชีวิตของผมเปลี่ยนโดยสิ้นเชิงแบบกลับหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อมองจากมุมของพ่อแม่   เมื่อตอนเป็นเด็ก ผมเป็นเด็กดื้อเลี้ยงยาก สอนไม่จำ    เพราะมีความคิดเป็นของตนเอง    พ่อแม่คิดว่าคงจะเสียคน   แต่เมื่ออายุมากขึ้น พ่อแม่ก็กลับมีความสุข เพราะลูกทุกคนมีชีวิตที่มั่นคง    ลูก ๖ คน มีชีวิต ๖ แบบ แตกต่างกัน    แต่ก็เป็นชีวิตในแนวทางที่ดี   ไม่เบียดเบียนผู้อื่น  ไม่เบียดเบียนสังคม

 

วิจารณ์ พานิช
๑๗ ก.ค. ๕๒

           

หมายเลขบันทึก: 284140เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2009 10:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรียนท่านอาจารย์หมอที่เคารพ

    กระผมได้อ่านบันทึกของท่านอาจารย์หมอก็ย้อนคิดถึงความเป็นคนดื้อในวัยเด็กของชีวิตกระผมบางส่วน ขอร่วมแสดงความคิดเห็นในบล๊อกดังนี้ครับผม ตราบที่สังคมมนุษย์ไม่ยกระดับทางจิตวิญญาณ ของสติปัญญา กระผมก็มองว่าการพัฒนาทางวัตถุไปมากเท่าไหร่ ทำให้เราไหลไปตามกระแสกิเลสได้ง่ายเท่านั้น ความเร่งรีบของระบบแต่ไม่รู้เท่าทันเท่ากับเพิ่มการบีบรัด/กดดันลงไปในระดับจิต สภาวะจิตที่ยังไม่พัฒนาขึ้นจะทำให้เราตอบสนองต่อความยากที่เป็นไปแบบพื้นฐานต่ออัตตาตัวเอง จึงมีความหลงผิดได้ง่าย และไหลไปตามแรงของวิบากกรรม จึงสร้างระบบต่างๆเพื่อตอบสนองไปต่ออัตตาตัวเองในระดับวัตถุธาตุและระดับจิตใจ โดยการสร้างขึ้นนั้น มองมิติที่คับแคบๆ สั้นๆ ไม่เชื่อมโยง ทำเพียงเพื่อตอบสนองตัวความอยากตัวเองเป็นหลักโดยสภาวะจิตแบบธรรมดาๆ กระผมไม่ได้หมายถึงว่าระบบที่สร้างมาในโลกไม่ดี เลวร้ายไปหมด เพียงแต่มนุษย์ไม่ได้มีสติและปัญญามากพอ ที่จะกรองหรือตรองสิ่งต่างๆ ให้ไปตามสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่อย่างเชื่อมโยงเป็นระบบ มันจึงเหมือนกับดักชีวิต สร้างความหลงผิดได้ง่ายครับผม ที่ผ่านมาสังคมขัดแย้งเพราะไปมองเชิงเทคนิคและวิธีการเป็นหลัก แต่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เพื่อยกระดับของปัญญาที่มีมุมมองที่เห็นปัญหาและทำให้ดีเพื่อมวลมนุษยชาติและสรรพสิ่งร่วมโลก กระผมมองว่าแท้จริงแล้วสังคมวุ่นวาย ก็ล้วนมาจากการมุ่งเอาชนะ/เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เน้นแก้ไขในเชิงเทคนิควิธีการมากกว่า แต่ไม่ได้มองที่คุณค่าและหัวใจความเป็นมนุษย์ (ขาดการพัฒนาทางจิตวิญญาณ) การยึดมั่นถือมั่น ที่มีอัตตาสูง การมีสภาวะจิตวิญญาณที่ยังไม่ได้ขัดเกลา ก็ล้วนทำเพื่อสร้างความมั่นคง และความปลอดภัยที่มีฐานมาจากความต้องการในระดับจิตแบบพื้นๆ การที่เราไม่เคยพบความสุขแบบง่ายๆ ที่ราคาถูก ที่มีความเย็นของใจ ที่เกิดจากการปล่อยวางได้มาก เห็นสิ่งต่างๆตามที่มันเป็น เห็นถึงความไม่เที่ยง หรือเห็นถึงคุณค่าของการเคารพในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หากไม่มีการสัมผัสถึงสภาวะการที่มีสติปัญญาที่อิสระต่อโลกในระดับหนึ่ง การรู้เท่าทันมายาจิตได้บ้างนั้น เท่ากับเรายึดมั่นถือมั่นและตอบสนองตอบความอยากเป็นหลักไม่ว่าจะเป็น รัก โลภ โกรธ หลง  โทสะ โมหะ  หรือความอาฆาตพยาบาทต่างๆ กระผมทราบเพียงว่า สภาวะการที่มีสติปัญญาที่อิสระต่อโลกในระดับหนึ่ง เป็นความสุขอย่างอัศจรรย์พอสมควร ไม่รู้สึกร้อนใจ สงบมากขึ้น มีความละเมียด กระผมมองว่า เราต้องพัฒนามนุษย์ทางจิตวิญญาณด้วย เพราะหากพัฒนาเพียงแต่วัตถุมากๆ จิตใจเราก็ล้อไปกระแสธารแห่งกิเลสนั้น  มันจึงเหมือนสร้างกับดักชีวิตไปด้วย แต่หากเรามีปัญญาที่อิสระพอ และรู้ถึงความพอประมาณชีวิต มนุษย์ก็จะสามารถออกจากอวิชชาในระดับโลกียะได้ครับผม ดังที่กระผมเคยแสดงความเห็นไปว่า กระผมมองว่า หากคนเราไม่มีหัวใจเมตตาแห่งความเป็นมนุษย์ ฟังเสียงหัวใจผู้อื่นบ้าง และเป็นผู้มั่งมีที่แบ่งปัน มีเมตตา จะศึกษาทางโลกเท่าไหร่ก็ตาม เมื่อหลงอยู่ในกระแสแห่งกิเลสและอวิชชาเช่นนี้ก็หาทางสนองความอยากตัวเองแบบไม่สนใจผลลัพธ์อื่นๆ กระผมก็ขอกล่าวตามท่านพุทธทาสสอนว่า ศีลธรรมไม่มาโลกาจะวินาศ ยังเห็นเหมือนเดิมครับผม

เรียนแสดงความเห็นด้วยความเคารพครับผม

   นิสิต

 

 

กราบเรียนอาจารย์

รู้สึกประทับใจที่อาจารย์มองถึงเหตุแห่งการเข้าสู่้ิวิถีที่ำทำลายตนเองว่า มีเหตุปัจจัยที่ซับซ้อน ซึ่งทำให้ผมได้เฉลียวใจได้เตือนตนเองว่า เราก็มองอยู่แต่จุดเดียว เห็นสาเหตุด้านเดียวเสียเป็นส่วนมาก แล้วก็เป็นเหตุให้มีประสบการณ์การโต้แย้งไม่ยอมรับกันและกันหลายคราว

ชีวิตความเป็นมาของอาจารย์ทำให้ผมเข้าใจว่า การตีค่า ให้คุณค่า ต่างกัน ทำให้คนดำเนินชีวิตไปต่างกันอย่างมาก เช่น อาจารย์ให้คุณค่าในการทำเพื่อสังคม บิดามารดาของท่านอาจารย์สอนไม่ให้เบียดเบียนคนอื่น แทนที่การทำเพืิอเงินหรือชื่อเสียง เกียรติยศ นำไปสู่การเป็นคนของสังคมทำเพื่อประเทศชาติ แต่ลูกของนักการเมืองที่มีชื่อเสียง (ชื่อเสีย) หลายคน มีเงินทอง มีชื่อเสียง แต่ก็กลายเป็นขยะสังคม เพราะ ให้คุณค่าชื่อเสียง เงินทอง มากกว่าทำดี

ตัวอย่างที่สองคือ การเอาแบบอย่างลอกเลียน รับเอาเรื่องที่ไม่ดี ตามอย่างค่านิยมที่ไม่ดี เช่น เรื่องการขว้างหินใส่รถที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม เพราะ การทำตาม การลอกเลียน แต่ลอกสิ่งที่ไม่ดีไปใช้ การลอกเลียนวัฒนธรรมตะวันตก ทอดทิ้งวัฒนธรรมและประเพณีอันดี

สองอันนี้คงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้สังคมไทยอยู่ในภาวะถดถอย ตามที่ผมพอจะเข้าใจครับ

อภิชา

ไพรินทร์ สุวรรณบุปผา*-*ณัฐวุฒิ วิเศษสิงห์ สาขานิติศาสตร์

ผมเห็นค้วยกับการดำเนินชีวิตของท่าน

เพราะเราควรกระทำในสิ่งที่เราชอบและทำให้ชีวิตเรามีความสุข ความสุขของคนเราไม่ได้อยู่กับเงินทอง แต่ขึ้นกับจิตใจที่มีคุณค่าที่คิดจะทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมเป็นส่วนใหญ่มากกว่าจะเห็นประโยชน์ของตนเป็นฝ่ายเดียว ในสมัยนี้คนเราส่วนใหญ่จะเห็นเงินทองมีค่ามากกว่าคุณค่าของคนจึงเห็นได้จากการตีกันของกลุ่มใหญ่ๆๆในการเมืองซึ่งจะเห็นแก่ประโยชน์ของพวกพ่องเป็นส่วนใหญ่ไม่คิดถึงประเทศชาติที่กำลังจะตกต่ำเพราะน้ำมือของคนในประเทศเอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท