แตงไทย
นฤมล ชื่อเล่น "แตงไทย" (สำหรับครอบครัว), "แตงอ่อน" (สำหรับเพื่อนๆ), "I tang" (สำหรับพี่ๆ ทั้งหลาย) จันทรศรี

ประสบการณ์การจัดการผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางจิต และ โรคกาย-จิตสัมพันธ์ ด้วยโยคะ



เว็บศูนย์รวม "โยคะสารัตถะ


ประสบการณ์ การจัดการผู้ป่วยที่มี
ความผิดปกติทางจิต และ โรคกาย-จิตสัมพันธ์ ด้วยโยคะ

Dr. D.K. Deshmukh เรื่อง
ทพ.สมดุลย์ หมั่นเพียรการ
แปลและเรียบเรียง
จาก YOGA and TOTAL HEALTH November 2008
โยคะสารัตถะ ฉ. สิงหาคม '๕๒

บทนำ
คำถามหนึ่งที่มักถามเกี่ยวกับโยคะในแง่วิทยาศาสตร์คือ มีการศึกษาใดที่พิสูจน์ให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของโยคะในแง่การทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ในมุมมองที่เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ถึงแม้ว่าโยคะจะไม่ใช่วิธีการรักษาโรคหรือเครื่องมือให้ผลที่จับต้องได้ แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าโยคะช่วยให้การทำงานในร่างกายเป็นไปอย่างเหมาะสม และอยู่ในสภาวะสมดุล ทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และมีสมาธิ ซึ่งเป็นประโยชน์ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงนอกเหนือจากเป้าหมายทางจิตวิญญาณ

วัตถุประสงค์
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอคุณค่าของโยคะอย่างเป็นรูปธรรม เป็นการนำโยคะไปใช้ในการบำบัดโรค งานชิ้นนี้ได้รับการออกแบบอย่างรอบคอบโดยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านโยคะศาสตร์ บนฐานความคิดว่า แม้โยคะจะมีไว้เพื่อพัฒนาจิตวิญญาณของคนปกติ เราก็ยังสามารถนำโยคะมาใช้กับผู้ป่วยได้ โดยยังคงยึดในเป้าหมายสูงสุดของโยคะซึ่งไร้ขอบเขตจำกัด

วิธีการ
ทำการศึกษาจากผู้ป่วยจำนวน 116 ราย ผู้มารับการรักษาที่สถาบันโยคะ( The Yoga Institute) เมืองซานตาครูซ (Santacrutz) ซึ่งได้รับการรักษาในระยะเวลาที่เพียงพอ

ผู้ป่วยเหล่านี้ได้รับการตรวจและประเมินทั้งภาวะทางร่างกาย และสภาพจิตใจ ด้วยการตรวจทางคลินิกร่วมกับการทดสอบสภาพจิต เช่น MMPI, MPI, และ TAMS เพิ่มเติม นอกจากนี้ผู้ป่วยยังได้รับการตรวจด้วยวิธีทางพยาธิวิทยา, รังสีวิทยา และการตรวจคลื่นหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็กเมื่อมีข้อบ่งชี้

ผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยคณะของสถาบันโยคะด้วยวิธีการรักษาปกติ การรักษาประกอบด้วยการสอนกระบวนการปฏิบัติของโยคะ, การบรรยายโดย ศรี โยเกนดรา (Shri Yogendraji) และการพูดคุยแบบตัวต่อตัวกับนักบำบัดโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลง "วิถีชีวิต" ของผู้ป่วยเมื่อพบว่าจำเป็น เป็นการรักษาด้วยวิธีการแบบองค์รวม โดยไม่พยายามที่จะแบ่งวิธีการของโยคะศาสตร์แบบดั้งเดิมออกเป็นส่วนๆ เพื่อกำหนดว่าส่วนใดเป็นส่วนที่มีความสำคัญ หรือมีประสิทธิภาพสูงสุด กล่าวคือ ปฏิเสธการมองโยคะแบบแยกส่วน

ผู้ป่วยทุกคนจะได้รับการตรวจประเมินซ้ำหลังจบการรักษา ด้วยวิธีการเดียวกับการตรวจร่างกายและสภาวะทางจิตเมื่อเริ่มต้น รวมถึงการทดสอบด้วยวิธีการพิเศษเพิ่มเติมในกรณีที่จำเป็น นักจิตวิทยาใช้เกณฑ์ Knight's criteria (ตามที่ระบุโดย Wobe) เป็นแนวทางในการประเมินการเปลี่ยนแปลงของภาวะที่ดีขึ้น

ผลการศึกษา แสดงตามตาราง ดังนี้:

ผลการศึกษา การวิเคราะห์ภาวะที่ดีขึ้น ของผู้ป่วย 116 ราย


(คลิ๊กที่นี่เพื่อเข้าสูภาพขยาย)

วิจารณ์
จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ภาวะที่ดีขึ้นของผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางจิต และโรคกายเหตุจิตมีระดับการเปลี่ยนแปลงอยู่ในระดับสูงเมื่อได้รับการรักษาจนครบสมบูรณ์ตามกำหนดเวลา

การศึกษานี้ แม้ทำอย่างพิถีพิถัน แต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามระเบียบวิธีวิจัยมาตรฐาน กล่าวคือ ไม่มีการศึกษาคนไข้อีกกลุ่ม ที่ไม่ได้ฝึกโยคะ แล้วนำผลของทั้งสองกลุ่มมาเปรียบเทียบกัน เพื่อชี้ให้เห็นว่า กลุ่มที่ฝึกโยคะต่างจากกลุ่มที่ไม่ได้ฝึกแค่ไหน อย่างไร อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับผลการรักษาด้วยวิธีการที่มีอยู่ทั่วไป จากรายงานต่างๆ ก็สามารถกล่าวได้ว่า โยคะให้ผลการรักษาอยู่ในระดับที่ดี

อัตราโดยรวมของภาวะที่ดีขึ้นมีค่าร้อยละ 77.58 ซึ่งเหนือกว่าผลการบำบัดด้วยวิธีการวิเคราะห์ทางจิตวิทยา (Psychoanalyical therapy) แบบต่างๆ (มีค่าแปรผันตั้งแต่ ร้อยละ 39 - 67) มีเฉพาะการบำบัดบางวิธี ได้แก่ การบำบัดด้วยยา หรือพฤติกรรมบำบัด ที่บางครั้งก็ให้ผลในระดับที่ใกล้เคียงกับการบำบัดแบบโยคะ เป็นที่น่าสังเกตว่า การบำบัดที่มุ่งทางกายนั้น มีจุดมุ่งหมายการรักษาเพียงเพื่อบรรเทาอาการ ไม่ได้เป็นการรักษาแบบบูรณาการ ซึ่งแตกต่างจากการบำบัดด้วยโยคะหรือการวิเคราะห์ทางจิต ดังนั้นจากการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า โยคะเป็นการบำบัดโดยมีจุดมุ่งหมายที่สูงและให้ผลการรักษาที่น่าพอใจ

มีเรื่องที่น่าสนใจคือ ระยะเวลาของความเจ็บป่วย และความรุนแรงของความเครียดจากภายนอก ไม่ได้ผกผันกับผลที่ได้รับ กล่าวคือ ไม่ว่าจะป่วยรุนแรงเพียงใด เครียดเพียงใด ก็ได้ผลดีทำนองเดียวกัน อีกประเด็นคือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความเครียดจากปัจจัยภายนอกอยู่ในระดับต่ำๆ เท่านั้น หมายความว่า สาเหตุของความเจ็บป่วยหลักนั้น มาจากความขัดแย้งภายใน ซึ่งซับซ้อน และเป็นเพียงความกังวลในตัวผู้ป่วยเอง

ข้อค้นพบที่ว่า ระยะเวลาของความเจ็บป่วยไม่ใช่ปัจจัยที่มีผลต่อ'การบำบัดด้วยโยคะ' อย่างมีนัยสำคัญ นั้น สอดคล้องกับการศึกษาของ Vahia และคณะ ซึ่งทำขึ้น ณ โรงพยาบาล KEM เมืองบอมเบย์

สรุป
ผลการศึกษาอย่างละเอียดในกลุ่มผู้ป่วยจำนวน 116 ราย*เป็นข้อมูลที่เพียงพอที่แสดงให้ว่า โยคะเป็นวิธีการสำคัญในการบำบัดผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางจิตและผู้ป่วยโรคกาย-จิตสัมพันธ์ โดยให้ผลเป็นที่น่าพอใจ

*ผู้ป่วยในการศึกษานี้ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ผู้ที่นับถือศาสนาฮินดู แต่ยังรวมถึงมุสลิม, คริสเตียน, ผู้นับถือหลักศาสนา Zoroaster (ศาสนาอิหร่านนิกายหนึ่ง ผู้แปล), ผู้นับถือศาสนาพุทธ, ศาสนาเชน และกลุ่มอื่นที่เห็นประโยชน์ของโยคะ จาก 116 คนนี้ เป็นชนกลุ่มน้อยร้อยละ14 ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่สอดคล้องกับประชาการในประเทศอินเดีย ที่มีชนกลุ่มน้อย (ไม่ได้นับถือศาสนาฮินดู ผู้แปล) ร้อยละ 16 เราจึงสามารถกล่าวได้ว่าผู้ป่วยในงานวิจัยนี้ ไม่ได้มารับการรักษาแบบโยคะบำบัด เพราะความเชื่อทางศาสนา (ฮินดู) แต่มาเพราะเห็นว่า โยคะเป็นหลักการทางวิทยาศาสตร์

 



มูลนิธิหมอชาวบ้าน

2220/101 ซอยรามคำแหง 36/1  ถนนรามคำแหง  แขวงหัวหมาก  
เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  10240  
โทรศัพท์  02-732-2016 - 17, โทรสาร 02-732-2811 มือถือ 081-401-7744 ; 
E-mail: [email protected] ; www.thaiyogainstitute.com

หมายเลขบันทึก: 283630เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2009 23:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะ

สนใจ paper นี้ค่ะ

พอจะมีไฟล์ paper ต้นฉบับมั้ยคะ

ตอนนี้ทำ evidence based practice

เกี่ยวกับการนำโยคะมาลด anxiety ในผู้ป่วยมะเร็งค่ะ

อ่านแล้วน่าจะนำมา อ้างอิงได้ และถ้าไม่เป็นการรบกวนเกินไปจะขอท่าโยคะอาสนะที่จะช่วยลด anxiety ท่าที่ผู้ป่วยมะเร็งพอจะทำได้ด้วยค่ะ ขอบคุณล่วงหน้าค่า

สวัสดีค่ะ คุณ Hana

ขอบพระคุณมากนะคะ ที่แวะเข้ามารับรู้ข้อมูลและนำไปปรับใช้
จะรีบแจ้งให้กับทางทีมงานให้รับทราบนะคะ
และรบกวนของ e-mail คุณ Hana ด้วยนะคะ
ส่งเข้า e-mail โดยตรงของ "แตง" ได้เลยค่ะ

ขอบพระคุณมากค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณ Liew [IP: 125.27.118.209]

รบกวนของ e-mail ด้วยนะคะ จะได้สามารถจัดส่ง file ให้ได้ค่ะ

ขอบพระคุณมากค่ะ

สวัสดีค่ะคุณแตงไทย แวะมาขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ หนึ่งได้รับไฟล์ต้นฉบับจาก ทพ.สมดุลย์ หมั่นเพียรการ เรียบร้อยแล้วค่ะ และนำมาใช้ทั้งที่เรียนและที่ทำงานเรีบยร้อยแล้วด้วยค่ะ นำผลงานมาฝากให้ดูด้วยค่ะ อิอิ ที่นี่เลยค่ะ และ ที่นี่ค่ะ

ขอบคุณมากๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท