แตงไทย
นฤมล ชื่อเล่น "แตงไทย" (สำหรับครอบครัว), "แตงอ่อน" (สำหรับเพื่อนๆ), "I tang" (สำหรับพี่ๆ ทั้งหลาย) จันทรศรี

รอยย่ำบนโยคะวิถี By ครูเละ



เว็บศูนย์รวม "โยคะสารัตถะ

 
รอยย่ำบนโยคะวิถี

ธีรเดช อุทัยวิทยรัตน์ (ครูเละ) ; 
โยคะสารัตถะ ฉ. ส.ค.'๕๒

เมื่อหวนกลับไปมองรอยย่ำแรกบนโยคะวิถีของตัวเอง ผมรู้สึกว่าก้าวย่างแรกบนเส้นทางสายนี้ของผมออกจะเป็นเรื่องบังเอิญอยู่ไม่น้อย

ไม่ต้องไปไกลถึงขั้นเป้าหมายสูงสุดหรือความหมายของโยคะที่มหามุนีปตัญชลีรจนาไว้ว่า คือสภาวะแห่งจิตที่สลัดตัดทิ้งซึ่งความแส่ส่ายอย่างสิ้นเชิง

เอาแค่การฝึกอาสนะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์ทั้งแปดของโยคะ(อัษฏางคโยคะ) ผมก็เริ่มต้นฝึกโดยไม่มีแรงจูงใจอะไรเป็นพิเศษ ไม่มีปัญหาสุขภาพถึงขนาดทำให้ต้องแสวงหาวิธีบริหารร่างกายเพื่อให้มันบรรเทาเบาบาง - อย่างที่หลายคนที่ฝึกอาสนะเริ่มต้นฝึกด้วยแรงจูงใจทำนองนี้

อย่าว่าแต่เมื่อยี่สิบห้าปีที่แล้ว โยคะยังเป็นเรื่องที่น่าจะแปลกหูสำหรับคนไทย ต่อให้มีคนรู้จักก็คงอยู่ในแวดวงที่จำกัด โดยที่ผมเองอยู่ห่างจากชายขอบของแวดวงนี้ไกลโขเอาการ

คำที่ใกล้เคียงกับคำว่าโยคะที่สุดในความรับรู้ของผมในเวลานั้นคือคำว่าโยคี ซึ่งเป็นตัวละครในเรื่องพระอภัยมณีที่กวีเอกสุนทรภู่รจนาไว้ว่า

บัดเดี๋ยวดังหงั่งเหง่งวังเวงแว่ว          สะดุ้งแล้วเหลียวแลชะแง้หา
เห็นโยคีขี่รุ้งพุ่งออกมา                     ประคองพาขึ้นไปจนบนบรรพต

พูดตามจริงคำว่าโยคีที่ผมมารู้ทีหลังว่าแปลว่าผู้ฝึกโยคะหรือผู้ที่ก้าวไปบนโยคะวิถีในความรับรู้ของผม เป็นคล้ายเพียงเงาที่วูบไหวในห้วงคิดเป็นครั้งคราว เวลานึกถึงบทกวีของกวีเอกของไทยท่านนี้

ที่บอกว่ารอยย่ำแรกบนเส้นทางสายโยคะของผมออกจะเป็นเรื่องบังเอิญก็คือ
ราวปลายปี ๒๕๒๗ ระหว่างที่บวชเป็นพระและปฏิบัติธรรมจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าแห่งหนึ่งในภาคอิสาน เย็นวันหนึ่งหลังจากสรงน้ำเสร็จ ผมเดินขึ้นไปบนศาลาเพื่อรอเวลาทำวัตรเย็น

ขณะเดินขึ้นบันไดถึงขั้นเกือบบนสุด ผมเห็นหลวงพี่ผู้เป็นศิษย์พี่ร่วมสำนักและเป็นหนึ่งในกัลยาณมิตรที่ผมเคารพรักมากที่สุด กำลังเคลื่อนไหวและทำท่าคล้ายกับจะบริหารร่างกาย

ท่วงท่าบริหารร่างกายแบบแปลกๆ ที่ผมไม่เคยเห็นในชีวิต บวกกับนึกไม่ถึงว่าแม้จะนุ่งห่มด้วยเครื่องแต่งกายอย่างสมณเพศ ก็สามารถบริหารร่างกายดังที่หลวงพี่กำลังทำอยู่อย่างมีสติด้วยสีหน้าสงบนิ่งอิ่มเอิบ ทำให้ผมนั่งมองท่านฝึกด้วยความสนใจใคร่รู้

หลังจากเฝ้ามองจนท่านฝึกเสร็จ จึงได้ไถ่ถามจนได้ความว่าท่วงท่าต่างๆ ที่ท่านเพิ่งฝึกเสร็จนั้นเรียกว่าท่าโยคะ ผมจึงขอให้หลวงพี่สอนให้ผมฝึกบ้าง ท่านก็ใจดีสาธิตให้ดูและให้ผมฝึกตามในวันต่อๆ มา

ครับ เหตุการณ์ครั้งนั้นนับได้ว่าเป็นก้าวแรกบนโยคะวิถีของผม ซึ่งค่อนข้างเป็นเรื่องบังเอิญอยู่ไม่น้อย

หลังจากฝึกตามหลวงพี่ในวันแรกๆ จนพอจะจำและคุ้นเคยกับท่วงท่าต่างๆ แล้ว หลังจากนั้นผมก็แยกไปฝึกในกุฏิของตัวเองด้วยเกรงจะรบกวนท่านเกินไป ถึงกระนั้นหลวงพี่ก็ยังอุตส่าห์ให้ยืมหนังสือโยคะภาษาอังกฤษมาอ่าน อาจเป็นเพราะเห็นผมตั้งใจฝึก แต่ด้วยความที่ภาษาอังกฤษของผมไม่แข็งแรงเอามากๆ จึงได้แต่ดูภาพประกอบในหนังสือ เห็นท่าไหนน่าฝึกก็ฝึกตามภาพในหนังสือ โดยค่อยๆ แกะอ่านวิธีปฏิบัติที่ระบุในนั้น

อาจเป็นเพราะชีวิตนักบวชของผมมีกิจกรรมนับอย่างได้ในแต่ละวัน นอกจากตื่นมาทำวัตรเช้าตอนตีสี่ตามด้วยนั่งเจริญสติ กระทั่งฟ้าสางมองเห็นลายมือก็ตามหลวงพ่อหลวงพี่ออกเดินบิณฑบาตในหมู่บ้าน ฉันอาหารเช้า-เพล กวาดลานวัด เช็ดถูศาลา ทำวัตรเย็นแล้ว เวลาที่เหลือส่วนใหญ่จะหมดไปกับการภาวนาเจริญสติ

สำหรับคนเมืองที่คุ้นชินและคอยหาเหตุให้มีกิจกรรมทั้งวันอย่างผม การอยู่เฉยๆ โดยไม่ทำอะไรนอกจากเฝ้าดูความคิดจิตใจตัวเอง จึงเป็นเรื่องที่สาหัสสากรรจ์จนถึงขั้นทรมาน(ใจ)มาก - โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ

การมีกิจกรรมเพิ่มเติมเข้ามาในชีวิตที่บางครั้งรู้สึกไหลเอื่อยชวนเหงา ช่วยให้รู้สึกว่าวันเวลาผ่านไปเร็วขึ้น ผมจึงฝึกอาสนะเป็นประจำทุกวัน ส่วนใหญ่จะเป็นตอนเย็น บางวันก็ตื่นขึ้นมาฝึกตั้งแต่ตีสามกว่าก่อนจะลงไปทำวัตรเช้าที่ศาลา เป็นเช่นนี้เรื่อยมาตลอดหนึ่งปีกับอีกหนึ่งเดือนที่อยู่ในสมณเพศ

หลังจากสึกหาลาเพศแล้ว การฝึกอาสนะจึงกลายเป็นอีกหนึ่งกิจวัตรประจำวันที่ติดตัวมาด้วย คล้ายกับเป็นของแถมเพิ่มเติมนอกจากหลักธรรมพื้นฐานเท่าที่ปุถุชนกิเลสหนาปัญญาน้อยอย่างผมจะซึมซับรับมาได้จากชีวิตนักบวช

ผมเคยปรารภกับมิตรสหายในแวดวงโยคะว่า ผมโชคดีที่เริ่มฝึกอาสนะในระหว่างบวช เพราะมีเวลาว่างมาก อีกทั้งชีวิตก็ไม่ได้เร่งรีบอะไร ทำให้ฝึกอาสนะสม่ำเสมอ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตโดยไม่รู้ตัว ในขณะที่หลายคนที่ผมรู้จักพบเจอ ต้องอาศัยวินัยหรือการเรียกร้องตัวเองค่อนข้างมาก กว่าที่จะฝึกจนกลายเป็นกิจวัตรประจำวันได้

อาจเป็นเรื่องบังเอิญอีกเช่นกันที่ผมเริ่มฝึกอาสนะในระหว่างที่ปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ทั้งสองอย่างนี้จึงมีส่วนหนุนเสริมกันและกัน การฝึกอาสนะทำให้ผมนั่งปฏิบัติภาวนาได้นานขึ้น ขณะเดียวกันการภาวนาโดยเฉพาะการเจริญสติฝึกความรู้สึกตัว ทำให้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมและจิตใจจดจ่อในระหว่างที่ทำท่วงท่าต่างๆ

กระทั่งหลังจากย่ำเดินบนทางสายนี้ต่อมาเรื่อยๆ จึงได้เรียนรู้และตกผลึกในภายหลังว่า อาสนะและสมาธิหรือร่างกายกับจิตใจนั้น เปรียบได้กับปีกสองข้างของนก ปีกแห่งอาสนะทำให้โครงสร้างร่างกายสมดุล เพื่อที่จะเป็นที่ตั้งของจิตในการเจริญภาวนาให้เกิดสมาธิ ในขณะที่ปีกแห่งสมาธิช่วยให้จิตใจจดจ่อและสงบนิ่งในขณะร่างกายเคลื่อนไหวไปสู่และดำรงอยู่ในท่วงท่า

ครับ...รอยย่ำแรกบนโยคะวิถีของผม จะว่าไปแล้วออกจะเป็นเรื่องบังเอิญอยู่ไม่น้อย

เป็นความบังเอิญตรงที่ผมไม่เคยรู้จักโยคะมาก่อนเลย ซึ่งไม่แน่ว่าด้วยความที่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ก็เลยไม่ได้คาดหวังว่าฝึกแล้วจะได้อะไร มากไปกว่าช่วยให้รู้สึกว่าได้มีอะไรทำเพิ่มขึ้นในชีวิตที่มีกิจกรรมนับอย่างได้

ทว่าการเริ่มต้นอย่างบังเอิญนี้กลับทำให้ค่อยๆ ซึมซับการฝึกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตโดยไม่ยากเย็นนัก กระทั่งหลอมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตโดยไม่รู้ตัว

ที่สำคัญเป็นความบังเอิญที่หารู้ไม่ว่า มันคือรอยย่ำที่จะนำผมไปสู่ความลงตัวของชีวิตในอีกสิบสองปีให้หลัง 



มูลนิธิหมอชาวบ้าน

2220/101 ซอยรามคำแหง 36/1  ถนนรามคำแหง  แขวงหัวหมาก  
เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  10240  
โทรศัพท์  02-732-2016 - 17, โทรสาร 02-732-2811 มือถือ 081-401-7744 ; 
E-mail: [email protected] ; www.thaiyogainstitute.com

หมายเลขบันทึก: 283619เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2009 22:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท