เมดิคัลทัวร์สบายๆสไตล์คิวบา[+EN]


 

...

ภาพที่ 1: อ.นพ.คาร์ลอซ โดมิงเกซ อายุ 46 ปี แพทย์ชาวคิวบาที่อพยพไปทำงานเป็นพยาบาลในสหรัฐฯ (ตกแต่งภาพง่ายๆ สบายๆ ด้วยโปรแกรมพิคาซาฟรี ดาวน์โหลดได้ที่ลิ้งค์นี้... [ Picasa ] หรือ [ Google Pack ] ของคุณครูกูเกิ้ล > Thank [ nytimes ]

...

 

ภาพที่ 2: คิวบา (หมู่เกาะแต้มสีแดง) อยู่ในหมู่เกาะแคริบเบียนส์ อเมริกากลาง อยู่ใกล้เมืองไมอามี (Miami) รัฐฟลอริดา สหรัฐฯ > [ Wikipedia ]

...

ปี 2534 อาจารย์หมอคาร์ลอส โดมินิเกซ อายุ 28 ปี แพทย์ประจำครอบครัว (family doctor = แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ทำงานคล้ายหมอทั่วไป แต่เน้นป้องกันโรค และดูแลแบบองค์รวมมากขึ้น) อยู่ในกรุงฮาวานา คิวบา หาซื้อเรือลำหนึ่งราคา 12,000 เปโซ 

ค่าเรือก็ไม่มากไม่มายอะไร... เท่ากับเงินเดือนของท่านรวมกัน 3 ปี จากนั้นก็ไปจ้างช่างถอดเครื่องรถฟอร์ดปี 1952 หรือ พ.ศ. 2495 มาดัดแปลงใส่เข้าไป พอให้แล่นไปข้างหน้าได้

...

ช่างบอกว่า "เรือกับรถไม่เหมือนกันนา เรือมีแต่เกียร์เดินหน้า",... "ถ้าอย่างนั้นก็เยี่ยมไปเลย เพราะผมจะลุยไปข้างหน้า ต่อจากนี้จะไม่มีการถอยหลังอีกแล้ว" ท่านตอบไป

อาศัยเข็มทิศ (compass) ของคุณปู่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วยหน่อย แล้วคุณหมอก็คุยไปไมอามี พอดีน้ำมันหมดระหว่างทาง ทำให้ท่านต้องใช้แผนสอง พายเรือต่ออีก 7 ชั่วโมง

... 

ชีวิตใหม่ในฝันคือ เป็นหมออเมริกานั้นไม่ง่ายเท่าไร ขั้นแรก คือ ต้องสอบข้อสอบภาษาอังกฤษ 4 ชุดให้ผ่าน ซึ่งอาจใช้เวลา 3-5 ปีขึ้นไปในการสอบ... หลังสอบผ่านต้องเริ่มฝึกงานกันใหม่

เรื่องของเรื่องคือ อ.โดมินิเกซ เรียนมาเป็นภาษารัสเซียจากโรงเรียนทหารคิวบา ไม่รู้เรื่องภาษาอังกฤษเลย ถึงกระนั้นก็ยังลุ้นสอบคนผ่านข้อสอบชุดที่ 1 ได้หลังจากสอบตกไปเพียง 2-3 คะแนน

... 

ระหว่างรอสอบก็อ่านหนังสือไป สมัครเรียนเป็นพยาบาล ซึ่งใช้เวลาฝึกเพิ่มอีกเพียง 1 ปีไปด้วย และเริ่มทำงานเป็นพยาบาลดูแลคนไข้ตามบ้าน (hospice) ในปี 2544 เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว

ขณะที่สหรัฐฯ ขาดหมอทั่วไป (primary care physicians; primary = ปฐมภูมิ ขั้นต้น พื้นฐาน; care = แคร์ ดูแล; physician = หมอ) นั้น... เมืองไมอามีกลับมีหมอคิวบาหนีมามากมาย

...

บุคลากรสุขภาพที่อพยพจากคิวบามีประมาณ 6,000 คนในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา

หมอคิวบาทะยอยหนีเข้าไปในรัฐฟลอริดาตอนใต้ตั้งแต่ท่านฟิเดล คาสโตรยึดอำนาจในปี 1959 หรือ พ.ศ. 2502 แต่ช่วงที่อพยพกันมากเป็นพิเศษ คือ หลังปี 2006 หรือ พ.ศ. 2549

...

เรื่องของเรื่องคือ ปีนั้นทางการสหรัฐฯ มีโปรแกรมอนุญาตให้บุคลากรด้านการแพทย์ของคิวบาที่เรียน หรือทำงานในประเทศที่สาม อพยพเข้าสหรัฐฯ ได้แบบถูกกฏหมาย

ทางคิวบาส่งหมอ พยาบาล บุคลากรสุขภาพไปช่วยประเทศต่างๆ ในเม็กซิโก และอเมริกากลางเต็มไปหมด ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ขอความช่วยเหลือประเทศอื่นให้คว่ำบาตรคิวบาไม่ได้เลย

...

คิวบาไม่ได้ช่วยประเทศอื่นอย่างเดียว ทว่า... ยังรับรักษาโรคตา ผ่าตัดตา ทำแว่นตาให้ฟรีทั่วทวีปอเมริกากลางและเม็กซิโกด้วย ทำให้สหรัฐฯ รู้สึกคล้ายกับถูกข้ามหน้าข้ามตา และหงุดหงิดนิดหน่อย

การที่สหรัฐฯ ทำแบบนี้ดีกับสหรัฐฯ คือ ได้คนหัวกะทิไป คนไทยนิยมเรียกคนฉลาดว่า "กะทิ" ฝรั่งเรียก 'cream' เนื่องจากสมัยก่อนครีมใช้ทำเนย เป็นของดี อร่อยและแพง ตอนนั้นยังไม่มีใครกลัวโคเลสเตอรอล

...

อาจารย์ดอกเตอร์ท่านหนึ่ง (ขอสงวนนาม) พูดไว้ดี (จริงๆ ท่านพิมพ์ในอีเมล์) บอกว่า คนในโลกนี้แบ่งเป็น 2 พวก พวกหนึ่ง "ครีม", อีกพวกหนึ่ง "โคลน(เลน)"

แน่นอนว่า นโยบายนี้ทำให้สหรัฐฯ ได้ "ครีม" ไปใช้งาน แต่ทำให้คนยากคนทั้งเม็กซิโกและอเมริกากลาง หรือคนระดับ "โคลน" ตกทุกข์ลำบาก เพราะพวกหมอ พยาบาล และบุคลากรสุขภาพหนีไปสหรัฐฯ กันทีละสิบคนร้อยคน

...

สิงคโปร์เองก็ทำการ "ดูด" สมองพม่าไปเหมือนกัน คือ ใช้ทุนหมอพม่าที่อยากอพยพออกนอกประเทศ ให้ทุนเรียนต่อสถาบันเทคโนโลยีนันยาง จบมาได้เป็นช่างอีเล็คโทรนิคส์ชั้นดี ถ้าทำงานดี-เสียภาษีถูกต้องไม่กี่ปี ให้สิทธิ์เป็นพลเมือง (citizen) 

ผู้เขียนไปทำบุญที่เขตอะเยยาวดี (Ayeyawaddy) พม่าหลังพายุนาร์กิสเข้าใหม่ๆ... ตอนนั้นถามนักศึกษาจากย่างกุ้ง รายไหนรายนั้นตอบตรงกัน คือ ถ้าทำได้... จะไปทำงานสิงคโปร์

...

ตอนนี้โลกเรามีประเทศรวม 195 ประเทศ, 50 ปีหลังคาสโตรยึดอำนาจ... คิวบาส่งออกบุคลากรสุขภาพมากกว่า 185,000 คนออกไปทำงานมากกว่า 103 ประเทศ = 66.67% = 2/3 ของจำนวนประเทศทั่วโลก [ about ]

ทีมงานเหล่านี้อยู่ในเวเนซูเอลาประมาณ 31,000 คน เกือบทั้งหมดเป็นหมอ ซึ่งคิวบาส่งไปแลกกับโควต้าซื้อน้ำมันและสินค้าราคาถูก

...

คิวบาเป็นประเทศที่ปั๊มพ์ หรือผลิตบุคลากรสุขภาพออกมาปีละกว่า 25,000 คน แถมหลายๆ คนยังอิ่มไปด้วยอุดมการณ์ ยอมทำงานในที่ห่างไกลด้วยเงินเดือนแสนจะต่ำ

เงินเดือนหมอคิวบาตกเดือนละ $25 = ฿875 ($ = ดอลลาร์สหรัฐฯ; ฿ = บาท) ทำให้จิตใจที่เปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ต้องหวั่นไหว เมื่อกลิ่นอายแห่งเสรีภาพ และโอกาสในสหรัฐฯ ยั่วยวนแบบสุดๆ

...

เรื่องนี้ทำให้ประธานาธิบดีโอบามาถึงกับกล่าวว่า สหรัฐฯ จำเป็นต้องเรียนรู้ข้อดีในด้านการฝึกอบรมหมอ-พยาบาล-บุคลากรสุขภาพ และให้ความช่วยเหลือต่างชาติจากคิวบา

เป็นเรื่องน่าแปลกที่ว่า เวลาสหรัฐฯ หรือประเทศมหาอำนาจไปช่วยประเทศใด มักไม่มีใครมองเป็นเรื่องบุญคุณ ส่วนใหญ่จะมองเป็นเรื่องผลประโยชน์

...

แต่หมอ พยาบาล บุคลากรสุขภาพจากคิวบาไม่อย่างนั้น... ท่านทำอย่างไรถึงได้ใจคนทั่วแผ่นดิน ตั้งแต่เม็กซิโกจรดทุกประเทศในอเมริกากลาง

พวกหมอที่ทนอยู่กับเงินเดือน 875 บาทไม่ไหวก็หนีไปสหรัฐฯ... ถึงอย่างนั้นส่วนใหญ่ก็ยังชอบทำงานรับใช้ชุมชนชาวคิวบาอพยพ

...

ตอนนี้มีชาวคิวบา (ประเภทหมอ พยาบาล) อพยพไปตั้งถิ่นฐานในฟลอริดาแล้วกว่า 2,000 ราย ซึ่งทางการฟลอริดากล่าวว่า หมอ พยาบาลที่จบจากคิวบานั้น... "ไปที่ไหน ใครก็รัก" หนักเอาเบาสู้ แถมยังมีคุณภาพสูงแบบที่มืออาชีพควรมีด้วย

หมออพยพจากคิวบาหลายคนเริ่มสอบใบอนุญาตทำงานเป็นหมอได้แล้ว ขณะที่บางคนก็ทำงานเป็นพยาบาล หรือบุคลากรสุขภาพอื่นๆ ทว่า... เก่งมาก

... 

อ.พญ.ฮูลิโอ ซีซาร์ อัลฟองโซ อายุ 40 ปี ซึ่งจบแพทย์คิวบาในปี 2535 และทำงานเป็นผู้จัดการคลินิกในไมอามีกล่าวว่า รู้จักกับหมอผ่าตัดสมอง-ระบบประสาทท่านหนึ่ง ทำงานในโกดังสินค้า หรือไม่ก็ปั๊มพ์น้ำมัน

แต่ส่วนใหญ่จะทำงานเป็นพยาบาล ผู้ช่วยแพทย์ หรือสายเทคนิคทางการแพทย์ในโรงพยาบาล

... 

อ.พญ.อัลฟองโซบอกว่า ปัญหาใหญ่ไม่ได้อยู่ที่หมอคิวบาฝึกมาไม่ดี แต่ตำราที่ใช้เก่ามาก ตีพิมพ์ในปี 2505 ขาดยา เครื่องมือ...

'But many expatriate doctors say their dealings with patients in Cuba were more humane and less rushed than they are in the United States.'

... 

แปลว่า "แต่สิ่งที่หมอคิวบา ( expatriate = อพยพออกนอกประเทศ; ex- = ออกไป นอก; patriate = ภูมิลำเนา ถิ่นฐาน; repatriate = ส่งกลับภูมิลำเนา) พูดคือ เวลาท่านทำอะไร (deal with = ทำกับ) กับคนไข้ในคิวบา... ดูจะมีเมตตากรุณา (humane = เมตตา กรุณา มนุษยธรรม) และไม่เร่งรีบ (rush = เร่งรีบ) แบบในสหรัฐฯ"

... 

หมอต่างชาติที่ไม่ได้ฝึกอบรมด้วยภาษาอังกฤษจะสอบใบอนุญาต (license) ได้ยากในสหรัฐฯ เพราะต้องเริ่มเรียนภาษาด้วย ทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัวด้วย

แถมหมออีกหลายๆ คนก็มีอายุมากจนเรียนต่อ หรือฝึกอบรมไปเป็นแพทย์ประจำบ้านไม่ไหวแล้ว

... 

โรงพยาบาลเกือบทั้งหมดในสหรัฐฯ มักจะไม่รับหมอที่อายุ 40 ปีขึ้นไปในการฝึกอบรม (ต้องสอบใบอนุญาตผ่าน และผ่าการฝึกจึงจะมีสิทธิ์ทำงานได้)

อ.นพ.คาร์ลอส เปเรซ-เซดาโน อายุ 40 ปี ถูกส่งไปทำงานที่กานาในเดือนกันยายนปี 2548... พอรู้ข่าวว่า สหรัฐฯ ให้สัญชาติหมอ 2 เดือนก็ขอวีซ่า และเข้าไปอยู่ในคิวบาเดือนธันวาคมปี 2550

...

ตอนนี้ท่านทำงานเป็นผู้ช่วยจัดการคนไข้ (case manager) ที่โรงพยาบาลเขตเคนดาลล์ และกำลังศึกษาต่อ เพื่อสอบใบอนุญาตที่ฟลอริดา

ท่านบอกว่า ผู้ช่วยจัดการคนไข้ที่นั่นครึ่งหนึ่งเป็นหมอคิวบา และมีหมอคิวบาอีกอย่างน้อย 50 คนทำงานในโรงพยาบาล แต่ยังไม่มีใครทำงานในหน้าที่หมอ

...

สมาคมแพทย์อเมริการายงานว่า หมอในสหรัฐฯ 1/4 ได้รับการฝึกอบรมจากนอกประเทศ ส่วนใหญ่จะทำงานในที่ห่างไกล หรือเขตที่มีคนจน, ส่วนหมอที่ฝึกอบรมในสหรัฐฯ จะจับจองที่ทำงานที่มีรายได้ดีกว่า

อ.นพ.ฮวน เอ. เบอเรียว หมอผ่าตัดจากคิวบา อพยพมาเมื่อ 11 ปีก่อน ตอนนี้ทำงานเป็นหมอในโรงพยาบาลทางใต้ของฟลอริดาหลายแห่ง

...

ท่านฝึกอบรมต่อด้านอายุรกรรมในโรงพยาบาลบรองซ์-เลบานอนในนิวยอร์ค... แน่นอนว่า โรงพยาบาลที่นั่นอยู่ในเขตคนจน และชนกลุ่มน้อย

อ.นพ.โดมินิเกซที่ทำงานเป็นพยาบาลกล่าวว่า ท่านทำใจได้แม้จะไม่มีใครเรียกว่า "หมอ" อีกต่อไป ยกเว้นคนไข้เก่าที่มาจากคิวบา

...  

ตอนนี้ท่านมีรายได้กว่าปีละ $100,000 =฿3,500,000 ซึ่งมากพอที่จะส่งลูก 2 คนไปโรงเรียนเอกชน ไปเที่ยวฝรั่งเศสกับสเปนในวันหยุดยาวกับครอบครัว

แต่พอคิดถึงการสูญเสียความเป็นหมอขึ้นมาก็รู้สึกหนาวในใจบ้างเป็นธรรมดา

...

ท่านบอกว่า หมอคิวบาผ่านการฝึกอบรมมาดีพอสมควร แต่ตำรานั้นเก่ามาก สมัยที่ท่านเรียน... ใช้ตำราที่พิมพ์ปี 2505 ทำให้ต้องเริ่มต้นเรียนกันใหม่อีกหลายรอบ

ฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นมหาอำนาจในการส่งออกแรงงาน รวมกันอย่างต่ำ 7 ล้านคน มีหมอจำนวนมากฝึกอบรมเป็นพยาบาล และไปทำงานในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นหมออีกต่อไป

...

ชีวิตคนเราก็เป็นแบบนี้ คือ ถ้าได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง 

...

ภาษาอังกฤษสบายๆ สไตล์เรา                   

หัวข้อเรื่องนี้คือ 'Doctors in Cuba start over in the U.S.' = "คุณหมอคิวบาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในสหรัฐฯ"

เนื้อเรื่องมีศัพท์ที่น่าสนใจคือ 'humane' แปลว่า "เมตตา กรุณา มนุษยธรรม" ซึ่งเป็นคุณสมบัติของคุณหมอคิวบา ศัพท์คำนี้ใกล้กับศัพท์คำว่า 'human' แปลว่า "เกี่ยวกับคน" [ thefreedictionary ]

คลิกลิ้งค์ > ลำโพง/ธงชาติ > ฟัง + ออกเสียงตาม 3 รอบ + ย้ำเสียงที่พยางค์แต้มสี

  • 'human' > [ ฮิ้ว - แหม่น ] > adjective = เกี่ยวกับคน > [ Click ]
  • 'human being' > noun = คน
  • 'humane' > [ หิ่ว - เม่น ] > adjective = มีมนุษยธรรม มีเมตตากรุณา > [ Click ]

...

ตัวอย่าง

  • Those terrorists are human beings. But they are not humane. = ผู้ก่อการร้ายเหล่านั้นเป็นคน. แต่พวกเขา (พวกเธอ) ไม่มีมนุษยธรรม (ขาดเมตตากรุณา).
  • Cuban doctors are humane. = คุณหมอคิวบามีเมตตากรุณา (มนุษยธรรม).

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ 

 > Thank nytimes

ที่มา                                                                      

  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง สงวนลิขสิทธิ์. ยินดีให้นำไปเผยแพร่โดยอ้างอิงที่มาได้. ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า > 5 สิงหาคม 2552.
  • ข้อมูล ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแล ท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.

หมายเลขบันทึก: 283544เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2009 18:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 18:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท