moopum
นางสาว ประภาพร moopum ศรีสมบูรณ์

คุณกล้าเปลี่ยนแปลง (Change) ตัวเองบ้างไหม ?


การเปลี่ยนแปลง

    คุณคงคุ้นหูคุ้นตากับสโลแกน Change ที่ นายบารัก โอบามา นำมาเป็นสโลแกนสำคัญในการรณรงค์หาเสียงในคราวสมัครเป็นประธานาธิบดีของอเมริกา และได้รับชัยชนะในที่สุด
       
        ถือว่าคำ ๆ นี้โดนใจคนอเมริกันเป็นส่วนมาก และก็โดนใจคนอีกจำนวนมากในหลายมุมโลก
       
        มันเป็นเสมือนสัญญาแกมคำสั่งที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงในภาคการเมืองและสังคม เศรษฐกิจ เพื่อให้สังคมส่วนรวมมีคุณภาพดีขึ้น
       
        ถ้าเรานำมาใช้กับชีวิตส่วนตัวของเรา ก็จะยังคงความหมายและความรู้สึกนั้นได้เช่นเดียวกัน ชีวิตเราจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นแน่ ๆ
       
        คนทั่วไปชินต่อคำว่า “พัฒนา” มากกว่า “เปลี่ยนแปลง” แต่คำว่า “เปลี่ยนแปลง” นี้ ให้ความหมายที่สั้น กระชับ มีภาพของการกำหนดให้มีวิธีที่ต้องทำ ควรทำ เหมือนเป็นคำสั่งนิด ๆ เสี่ยงต่อการที่คนจะปฏิเสธ แต่คนกลับไม่ปฏิเสธ แถมชอบเสียด้วย เพราะเป็นคำที่มีน้ำหนักมองเห็นพฤติกรรมเหมือนมีการบังคับให้ทำ
       
        นับว่าเป็นเสน่ห์ของคำ ๆ นี้ที่นำมาใช้เหมาะกับยุคนี้
       
        ปกติมนุษย์จะไม่เปลี่ยนแปลงตัวเองหรอก นอกจาก
       
        1. ได้รับความทุกข์ หรือ เจ็บปวดมากพอ
จึงอยากเปลี่ยนแปลง สังเกตดูคนเวลาเจ็บมาก ๆ หรือใกล้ตายจึงจะอยากเปลี่ยนนิสัยของตัวเอง ลดอีโก้ลง ยอมรับผิด อยากเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่าง ฯลฯ
       
        2. เกิดปัญญาขึ้นมา เมื่อมีอะไรบางอย่างมากระทบความคิดทำให้เชื่อว่า ถ้าเปลี่ยนแปลงได้จะเกิดความสุขความเจริญมากขึ้น ซึ่งไม่เกิดง่ายนัก
       
        ตกลงการเปลี่ยนแปลงในตัวมนุษย์เกิดขึ้นได้ยากตามเหตุผลทั้ง 2 ข้อ
       
        และมนุษย์ก็มีธรรมชาติที่จะเคยชินและทำอย่างเดิม คิดอย่างเดิม ไม่อยากเปลี่ยนแปลงเพราะคิดว่ามันดีแล้ว เป็นพวกที่คิดแบบ Stereotype เปลี่ยนแปลงยาก
       
        แต่ในช่วงที่คำว่า Change มาแรงนี้ เราน่าจะใช้กระแสนี้ลอง ๆ Change ตัวเราเองบ้าง เพื่อทำให้ชีวิตเราดีขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น ดีไหม
       
        ถือโอกาสในวาระปีใหม่เปลี่ยนให้เป็นชีวิตใหม่ก็ได้
       
        สิ่งที่น่าจะ Change ชีวิตตัวเองดูบ้างก็คือ
       
        1. ให้หวังความสุขเล็ก ๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้จริงในทุก ๆ วัน ดีกว่าจะหวังความสุขใหญ่ ๆ ที่เกิดได้ยาก
(เช่น ถูกหวย รวยมาก ๆ หาแฟนที่ดีพร้อม) ซึ่งจะผิดหวังมากกว่าสมหวัง
       
        การหวังสิ่งเล็ก ๆ ทำให้สมหวังได้ง่าย เป็นการสะสมความสุขเล็ก ๆ ทุกวัน เช่น เห็นคนขายของยิ้มให้ ได้เห็นดอกไม้บาน ฯลฯ ซึ่งเราสามารถสัมผัสได้จริง ทำให้เรามีความสุขมากขึ้นในแต่ละวันได้ นำไปสู่นิสัยการมีความสุขได้จริง
       
        ส่วนการหวังจะมีความสุขจากสิ่งใหญ่ ๆ ที่เกิดได้ยาก ทำให้เรารอคอย ผิดหวัง และท้อแท้จนเป็นนิสัยไม่ดีและไม่มีความสุข
       
        2. คิดและเชื่อใหม่ว่าคนทุกคนมีรากฐานชีวิตมาจากความดี และยังคงมีความดีอยู่ จะทำให้เราไม่ระแวงมนุษย์และอยากเป็นมิตรกับทุกคน อย่ามองว่าทุกคนมีความเลวหรือมีข้อบกพร่อง เพราะจะทำให้เราระแวง ไม่เป็นมิตร คอยจับผิดตัวเองและคนอื่นอยู่เสมอ
       
        ถ้าใครมีข้อบกพร่องมากเท่าไร (ซึ่งมีกันทุกคน) เขาก็เดือดร้อนไปเองตามกฎแห่งกรรมและกฎหมาย เราช่วยไม่ได้และให้มองน้อยลง
       
        คือให้มองมนุษย์ในแง่ดี แล้วพัฒนาความคิดที่ดี ๆ นั้นขึ้นไปเรื่อย ๆ อย่าเริ่มต้นมองมนุษย์ที่ความบกพร่องหรือความเลว เพราะเราจะระแวงและปิดประตูของมิตรภาพทันที ไม่มีทางเกิดความสมานฉันท์ได้
       
        3. ให้คิดว่าความสุขของมนุษย์อยู่ที่ความคิด ทัศนคติที่ดีและเหมะสมของเรา ไม่ได้อยู่ที่ความสำเร็จหรือวัตถุเงินทอง หรือข้อเท็จจริงที่ประจักษ์แล้วจากสิ่งอื่น ๆ หรือคนอื่น ๆ เลย
       
        4. ฝึกสมองทั้งสองข้าง (ซ้าย – ขวา) ให้มีสมดุลมากขึ้น โดยให้มีทั้งความคิดแบบเป็นเหตุผล (ใช้สมองซีกซ้าย) และให้มีทั้งความรู้สึกที่ดี มีความสุนทรีย์ มีมิตรภาพ (ใช้สมองซีกขวา) เราจะมีความสุขแบบสมดุลมากขึ้น ไม่มีชีวิตเอียงไปแบบสุดโต่งไปทางการใช้เหตุผลหรือตรรกะแบบแข็ง ๆ หรืออ่อนหวานเพ้อฝันมากไปแบบไร้หลักการ ซึ่งไม่ดีทั้งคู่
       
        5. ทุกคนรู้จักความเหงา ลองแก้ความเหงาโดยการรู้สึกเป็นมิตรกับตัวเองและเป็นมิตรกับคนอื่น โดยมองตัวเองและทุกคนเป็นคนดีซิ (ตามข้อ 2)
       
        และลองฝึกใจให้มองทุกสิ่งในโลกนี้เป็นส่วนหนึ่งซึ่งกันและกัน ต้องพึ่งพากัน เกี่ยวข้องกัน ไม่มีใครเป็นเอกเทศหรือโดดเดี่ยวได้เลย เป็นลักษณะของ Interbeing หรือฝึกให้มีความรักแบบ Universal Love
       
        แล้วเราจะไม่ต้องพึ่งพาแอลกอฮอล์ ยาเสพติด การเที่ยวเตร่หรือติดเพื่อนอื่น ๆ เพื่อลดความเหงาเลย
       
        6. พึ่งตัวเองให้มากขึ้น โดยใช้หลักการดำเนินชีวิตคือ รักตัวเอง – ช่วยตัวเอง – รักคนอื่น – ช่วยคนอื่น โดยอย่าหวังว่าคนอื่นจะมารักหรือมาช่วยเรา (ซึ่งเขาจะรักหรือไม่รักก็ได้) ทำให้เราไม่ต้องผิดหวังจากการคาดหวังในตัวคนอื่น
       
        การตั้งใจเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สิ่งดี ๆ เกิดขึ้นในชีวิต มักจะได้รับสิ่งดี ๆ ตอบแทนมาเสมอ
       
        ดีกว่าการขอหรือรอคอยให้สิ่งดี ๆ เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจลงมือทำอะไรหรือเปลี่ยนแปลงอะไรเลย
       

คำสำคัญ (Tags): #ทรัพยากรมนุษย์
หมายเลขบันทึก: 283293เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2009 09:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

บางครั้ง ต้องกล้าเปลี่ยนแปลงครับ เพื่อสิ่งที่ดีกว่า

การเปลี่ยนแปลงย่อมเจ็บปวดใช่มั๊ยจ๊ะmoopum

ต้องดูจุดมุ่งหมายว่า "เปลี่ยน" เพื่ออะไร?

ถ้าเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ต้องเปลี่ยนแน่นอนค่ะ

การเปลี่ยนแปลงในทางทีดีขึ้น ถือเป้นการพัฒนาตนเอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท