แตงไทย
นฤมล ชื่อเล่น "แตงไทย" (สำหรับครอบครัว), "แตงอ่อน" (สำหรับเพื่อนๆ), "I tang" (สำหรับพี่ๆ ทั้งหลาย) จันทรศรี

เครื่องพันธนาการ By ครูอ๊อด



เว็บศูนย์รวม "โยคะสารัตถะ


เครื่องพันธนาการ

รรณวิภา มาลัยนวล(ครูอ๊อด)
(เข้าอ่านบทความของนัีกเขียนที่นี่)

อ้างอิงข้อมูลจาก ; โยคะสารัตถะ ฉบับ; ก.ค.'๕๒

 "เครื่องพันธนาการ" หากพิจารณาลงอย่างแท้จริงแล้ว
ไม่จำเป็นต้องมาให้เห็นพร้อมกันกับเครื่องมือเครื่องไม้อะไรเสมอไป
ถ้าเรามองดูให้ลึกลงไปเราก็จะพบว่า
ชีวิตของเรา ล้วนเต็มไปด้วยเครื่องพันธนาการชีวิตรุงรังมากมาย
แม้จะอยู่ในเส้นทางใดๆ ก็ตาม
 

ในเส้นทางงานจิตอาสาเยี่ยมเยียนผู้ป่วย เราพบความเป็นจริงของชีวิตได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น กับการได้มีโอกาสพบเห็นความเจ็บป่วย อันเป็นธรรมดาแห่งร่างกายนี้บ่อยครั้งขึ้น และทำให้เราต้องเจริญมรณานุสติบ่อยครั้งตามไปด้วย แม้ว่าพระพุทธองค์จะทรงย้ำให้เราไม่ประมาท และให้คิดถึงความตายในทุกๆ ขณะจิต แต่เราก็ยังดูห่างเหินคำสอนนี้กันอยู่เป็นอันมาก ดังนั้นเมื่อใช้งานจิตอาสาเป็นฐานของการทำงานทางจิต จึงมีส่วนเกื้อกูลการปฏิบัติของเราไปด้วยพร้อมกัน

ครั้งนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ได้มีโอกาสติดตามทีมงานมูลนิธิกระจกเงา และเครือข่ายชีวิตสิกขา เข้าไปเยี่ยมผู้ป่วยในห้องไอ ซี ยู ของ โรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่ง ผู้ป่วยเป็นเด็กหนุ่มวัยยี่สิบต้นๆ ประสบอุบัติเหตุจากรถมอร์เตอร์ไซค์ล้ม บาดเจ็บบริเวณกระดูกต้นคอ ส่งผลให้ขยับร่างกายท่อนล่างตั้งแต่คอลงมาไมได้เลย มีการเจาะที่บริเวณลำคอ ทำให้แม้จะสามารถพูดจาได้ แต่ก็ไม่มีเสียงที่สามารถเปล่งออกมาให้สามารถจะฟังเข้าใจได้ นอกจากการพยายามอ่านริมฝีปากผสมกับลมแผ่วๆ ที่เล็ดลอดออกมาได้บางคำ เราได้มีโอกาสพบและพูดคุยกับเขาพร้อมกับคนรักที่กำลังเฝ้าอยู่ข้างเตียง ครั้งแรกที่เห็นทำให้นึกถึงการฝึกโยคะอาสนะอย่างศีรษาสนะ ที่ครูญี่ปุ่นจะย้ำบอกกับเราเสมอว่ามีความเสี่ยงกับการทำร้ายกระดูกที่ต้นคอได้ หากว่าผู้ฝึกไม่มีความพร้อมเพียงพอ

ในระหว่างการพูดคุย เด็กหนุ่มยังมีความหวังว่าสักวันอาการของเขาจะดีขึ้น บอกแต่ว่าอยากหาย อยากออกจากโรงพยาบาล และเมื่อไรจะได้กลับบ้าน ในขณะที่เราทีมงานรู้เบื้องหลังจากพยาบาลว่าโอกาสที่จะดีขึ้นนั้นได้ผ่านไปแล้ว เนื่องจากเขาไม่ได้มีโอกาสฟื้นฟูระบบประสาทภายในช่วงเวลาแรกของการบาดเจ็บ ทั้งนี้เนื่องจากจุดที่ร่างกายบาดเจ็บนั้น ไปส่งผลต่อระบบการควบคุมการหายใจของเขาด้วย ทำให้ระยะแรกไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากเร่งให้การช่วยเหลือให้ผ่านภาวะวิกฤติจากภาวะหยุดหายใจ หรือการหายใจด้วยตนเองไม่ได้ จึงทำให้ความหวังที่จะดีขึ้นนั้นริบหรี่จนแทบไม่เหลือ

ในอดีตเขาเป็นนักกีฬา ร่างกายยังคงมีริ้วรอยของความแข็งแรงล่ำสัน การประสบกับสภาพเช่นนี้ ในวัยหนุ่มแน่นเป็นเรื่องที่ยากจะยอมรับ เขายอมรับความเหงาท่ามกลางสภาพแวดล้อมในห้อง ไอ ซี ยู แต่ละวันผ่านไปอย่างยากเย็น รอเวลาที่พ่อแม่ ญาติพี่น้อง และคนรัก เข้ามาเยี่ยมเยียนตามช่วงเวลา เมื่อพบหน้ากันเขาพยายามสื่อสารอยู่ตลอดเวลากับผู้คน เสียงพูดที่ไม่มีเสียงเนื่องจากช่องคอถูกเจาะเพื่อดูดเสมหะ แต่ปากยังคงพูดได้ เขาจึงพยายามที่จะพูดเพื่อชดเชยช่วงเวลาแห่งความเหงาระหว่างการรอคอยอันยาวนานในความรู้สึกของเด็กหนุ่ม

บนศีรษะของเขาเราพบว่ามีโครงเหล็กเส้นรูปครึ่งวงกลม ที่มีน๊อตรัดไว้ที่ข้างศีรษะทั้งสองข้าง และปล่อยเส้นโยงไปด้านหลังด้านบนของศีรษะเพื่อให้ถ่วงไว้ด้วยลูกตุ้มเหล็กน้ำหนักประมาณ 2 กก. ทั้งนี้เพื่อให้กระดูกที่บริเวณคอ ไม่ลงไปกดทับเส้นประสาทที่ควบคุมการหายใจอีก เพื่อป้องกันไม่ให้เขาต้องตกอยู่ในภาวะวิกฤติจากการหายใจอีก แต่น๊อตตัวเขื่องที่รัดศีรษะไว้ทั้งสองข้าง ก็สร้างอาการเจ็บปวดให้กับเด็กหนุ่มไม่น้อย เขาแสดงสีหน้าอาการของความเจ็บปวดเป็นระยะๆ จากเหล็กและน๊อตที่รัดไว้

เสร็จจากการเยี่ยมเยียน เราออกมานั่งหารือกันถึงวิธีการเยียวยาทางใจต่อไปที่เราจะสามารถทำได้ตามกำลัง รวมถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้น ครูดลบอกว่าเห็นแล้วนึกถึงเครื่องทรมานนักโทษในสมัยโบราณ ที่ร่างกายถูกตรึง และมีเครื่องบีบที่ขมับ ทำให้เรานึกถึงภาพว่ากรรมใดหนอ จึงส่งผลวิบากกรรมเช่นนี้กับเขา ให้ดูราวกับว่าเขาจะต้องถูกเครื่องพันธนาการรัดตรึงไปทั้งร่างกายและจิตใจ

เมื่อมานั่งพิจารณาดูภายหลัง ทำให้คิดถึง e-mail ที่ได้รับจากกัลยาณมิตรท่านหนึ่ง ที่ได้ตัดสินใจเลือกเดินออกจากวิถีชีวิตงานประจำเดิม เพื่อเข้าสู่เส้นทางธรรมของชีวิตที่เลือกใหม่ แต่ครั้นใกล้วันที่จะต้องเปลี่ยนชีวิตจริงๆ เธอบอกกับพวกเราว่า "....ตอนนี้เริ่มเสียดายงานที่มีอยู่ เพื่อนร่วมงานที่น่ารักสนใจใฝ่ธรรมะ รวมทั้งความสุข สะดวกสบาย แวดวงความรู้ที่พ่วงมากับตำแหน่งหน้าที่ ความเสียดายมันฉายชัดขึ้นทุกวัน แต่ก่อน เมื่อเราอยู่กับมันทุกวัน คุณค่ามันไม่ชัดเท่าตอนนี้ ...."

ดูราวกับว่า "เครื่องพันธนาการ" หากพิจารณาลงอย่างแท้จริงแล้ว ไม่จำเป็นต้องมาให้เห็นพร้อมกันกับเครื่องมือเครื่องไม้อะไรเสมอไป ถ้าเรามองดูให้ลึกลงไปเราก็จะพบว่า ชีวิตของเรา ล้วนเต็มไปด้วยเครื่องพันธนาการชีวิตรุงรังมากมาย แม้จะอยู่ในเส้นทางใดๆ ก็ตาม เช่น ครอบครัว ทรัพย์สิน คนรัก ลาภ ยศ สรรเสริญ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องร้อยรัดเราไว้จนดิ้นไม่หลุด ต่อให้เลือกที่จะกระโจนจากวิถีหนึ่งมาอีกวิถีหนึ่ง ก็ยังไม่แคล้วต้องพบกับเครื่องพันธนาการใหม่ๆ เข้าอีกจนได้ ครูโยคะท่านหนึ่งบอกเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า เมื่อครั้งได้มีโอกาสใช้ชีวิตอยู่ในสมณะเพศ เขากลับพบว่า ชีวิตที่แท้แล้วมันแทบไม่ต้องการอะไรนักหนาเลย แต่ในเพศฆราวาสแล้ว เรายังคงต้องดำเนินชีวิตอยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง ดังนั้นบางครั้งการที่เลือกจะเปลี่ยนแปลงเส้นทางชีวิตก็ตาม ก็ยังมีโอกาสสูงที่จะต้องมาพบกับเครื่องพันธนาการอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ต้องทำให้ถูกตรึงติดให้ทรมานทั้งกายและใจของเราอยู่ร่ำไป และยากนักหนาที่จะหลุดพ้นไปจากมันได้ เพราะเครื่องพันธนาการที่ว่านี้ มักจะมาในรูปแบบที่เราไม่อาจจะปฏิเสธมันได้เลยนั่นเอง.... 



มูลนิธิหมอชาวบ้าน

2220/101 ซอยรามคำแหง 36/1  ถนนรามคำแหง  แขวงหัวหมาก  
เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  10240  
โทรศัพท์  02-732-2016 - 17, โทรสาร 02-732-2811 มือถือ 081-401-7744 ; 
E-mail: [email protected] ; www.thaiyogainstitute.com

หมายเลขบันทึก: 282181เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2009 19:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท