แตงไทย
นฤมล ชื่อเล่น "แตงไทย" (สำหรับครอบครัว), "แตงอ่อน" (สำหรับเพื่อนๆ), "I tang" (สำหรับพี่ๆ ทั้งหลาย) จันทรศรี

โยคะ..วิถีแห่งความสุข By จู..นครศรีธรรมราช


  
  
เว็บศูนย์รวม "โยคะสารัตถะ

 

โยคะ..วิถีแห่งความสุข

จู..นครศรีธรรมราช
โยคะสารัตถะ ฉ.;มิ.ย.'๕๑

จดหมายฉบับนี้เป็นจดหมายฉบับที่ 2 ฉบับแรกจูเคยเขียนไปเมื่อ 4 ปีก่อน หลังจากชีวิตได้พบกับโยคะ จากการอบรมหลักสูตรครูโยคะปี 2547 และได้ทำหน้าที่เป็นครูที่ชมรมโยคะของโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ร่วมกับครูอีก 2 ท่าน

หลังจากนำฝึกอาสนะมาเกือบ 5 ปี ก็ได้ฤกษ์ทำโครงการอบรมโยคะโดยใช้ชื่อว่า "โยคะ..วิถีแห่งความสุข" แต่เนื่องจากตกหล่นเรื่องงบประมาณ จึงต้องให้ผู้เข้าอบรมเสียสละทรัพย์คนละ 400 บาท ใกล้ถึงวันอบรม 1 สัปดาห์ เรายังมียอดผู้สมัครเพียง 15 คน พี่ฝ่ายลงทะเบียนบอกว่ามีคนสนใจโทรศัพท์มาเยอะมาก รวมถึงมาเอาใบสมัครก็เป็นร้อย แต่พอรู้ว่าต้องจ่ายเงินก็ขอคิดดูก่อน ( ปกติเราฝึกและสอนฟรี ) แต่ถึงมีแค่10 คนเราก็ตั้งใจเกินร้อยเหมือนเดิม ก่อนถึงวันอบรม 3 วันเรามียอดผู้สมัคร 25 คน เฮ้อ! ค่อยอุ่นใจขึ้นมาหน่อย ว่าการอบรมของเราคงไม่เงียบเหงาเกินไปนัก ก็เราเตรียมตัวกันมาเป็นแรม 3 เดือน ทั้งเนื้อหาวิชาการที่หยิบตำราโยคะมาปัดฝุ่น อ่านกันหามรุ่งหามค่ำ เหมือนเตรียมตัวสอบเอ็นทรานไม่มีผิด แต่ก็ยังเกิดอาการกลัวๆ กล้าๆ ก็ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่บินเดี่ยวไม่เอี่ยวกับใคร ถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีประสบการณ์การสอนและบรรยายโยคะอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เต็มรูปแบบอย่างคราวนี้ ที่รับหน้าที่เป็นวิทยากรทั้งสอน บรรยาย และนำฝึกปฏิบัติ จู กับพี่เขียว เลยโทรศัพท์ขอคำแนะนำและกำลังใจจากครู

เช่นเคยเราได้ยินน้ำเสียงที่อบอุ่นและเมตตาของครู ครูบอกว่าให้สอนด้วยหัวใจ ทำอย่างไรสอนอย่างนั้น ประเมินและสอนในสิ่งที่ผู้เข้าอบรมต้องการ ให้เขาได้รับความสุขและความผ่อนคลาย แค่นี้แหละเหมือนเจอแสงปลายอุโมงค์เข้าให้แล้ว กำลังใจก็มาเป็นกอง ใช่แล้วเราต้องสอนโยคะด้วยหัวใจ มองสบตากับพี่เขียว ยิ้มให้กำลังใจ จับมือกันและลุยเลย

และแล้ววันอบรมก็มาถึง ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ! เรามียอดผู้เข้าอบรมทั้งหมด 62 คน เย้ ! ( ก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามาจากไหน หรือโดยใครบันดาลใจมา ) มีทั้งแพทย์ พยาบาล ครู นักเรียน แม่บ้าน ข้าราชการบำนาญ ฯ เรียกว่าหลากหลายมาก โดยเราอบรมตามแนวทางของสถาบันโยคะวิชาการ และหลักสูตรมาตรฐานโยคะ สำหรับสถาบันศึกษา ที่อุตส่าห์ขึ้นกรุงเทพไปเอามา (ขอบคุณน้องมัชนะจ๊ะ) สอนอาสนะแค่ 14 ท่าพื้นฐาน เพื่อให้ผู้เข้าอบรมเห็นว่าแท้จริงแล้วโยคะเป็นเรื่องง่าย สามารถทำได้ทุกคน

วันแรกเราพยายามถ่ายทอดให้รู้ว่าโยคะคืออะไร เป้าหมายคืออะไร และทำไมเราต้องสร้างทัศนคติที่ถูกต้องต่อการฝึกโยคะอาสนะ ผ่านวันแรกไปได้แบบผ่อนคลาย ราบรื่น สบาย ตามวัตถุประสงค์ เพราะสังเกตเห็นความสุขของผู้เข้าอบรมในแววตา วันที่ 2 ซึ่งจริงๆ แล้วจูเตรียมบรรยายเกี่ยวกับสรีระวิทยาและกายวิภาค / เทคนิคการฝึกอาสนะ แต่ประเมินแล้วไม่เวอร์ค แน่ๆ เพราะมีหมอแค่ 4 พยาบาลไม่กี่คน ส่วนใหญ่เป็นประชาชนทั่วไปผู้สนใจสุขภาพ ที่รู้เรื่องราวโยคะตามภาพลักษณ์ของการโฆษณาที่เห็นกันอยู่ทั่วไป ตื่นมาตี 3 คิดว่าจะพูดอะไรดี ลองหยิบวารสารของสถาบันมาอ่านเพื่อเพิ่มฐานข้อมูลในสมอง ในนั้นพูดถึงการคิดเชิงบวก อ่านแล้วก็ปิ๊งมาทันที เอาละเรื่องนี้ละ โดยเรานำมาเชื่อมโยงกับยมะ นิยามะ ศีล 5 ของพุทธ การทำใจให้บริสุทธิ์ตามวิถีแห่งโยคะ ฝึกอาสนะอย่างไรให้คลื่นสมองต่ำ เรียกว่าพยายามย้ำพื้นฐานกันให้เข้าใจ ส่วนพี่เขียวครูอีกคน หยิบยกประสบการณ์ส่วนตัวซึ่งเคยเป็นโรครุมเร้าอยู่หลายโรค ทั้งก้อนในมดลูก ถุงน้ำ (cyst) ที่คอ โรคปวดข้อ และก็ริดสีดวงทวาร กินยาวันละเป็นกำมือ แต่สามารถหายขาด กลับมาพึ่งตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งยาใดๆ ด้วย 10 ปีที่มีชีวิตอยู่ในวิถีของโยคะ ธรรมมะ และการทานอาหารแมคโครไบโอติกซ์ นำมาผสมผสานกับมิตาหาระ ทำให้ผู้อบรมทั้งฮาและซึ้งกับมุขของพี่ ที่ติดใจจนต้องขอจดสูตรอาหารดีๆกลับบ้าน

ช่วงพักกลางวัน ผู้เข้าร่วมอบรมคนหนึ่งเดินเข้ามาขอบคุณ บอกว่าเธอมีอาการปวดหลัง, คอ และไหล่มานานแล้ว ซึ้อซีดีโยคะมาฝึกก็ไม่หาย ไม่เคยรู้ว่าผ่อนคลายเป็นอย่างไร หลังจากได้ฝึกอาสนะที่ใช้หลัก นิ่ง สบาย ใช้แรงแต่น้อย และมีสติ ที่เราเน้นย้ำว่าให้เป็นเพียงผู้เฝ้าสังเกต ต่อด้วยเทคนิคการผ่อนคลายอย่างลึก กลับบ้านไปวันแรกอาการปวดดังกล่าวหายไป เธอนอนหลับสนิท นอกจากนั้นยังนำวิถีการกินแบบโยคะไปแนะนำลูกสาวซึ่งมีน้ำหนักตัวมาก ปกติจะกินข้าวมื้อเย็นหลายจาน วันนั้นทดลองให้ลูกเคี้ยวให้ได้ 30 ครั้ง/คำ ปรากฏว่าเป็นครั้งแรกที่ลูกไม่เติมข้าวอีก ซึ่งเธอดีใจมาก เราเองก็พลอยยินดี และ แฮปปี้สุดสุด

ช่วงบ่ายเป็นการบรรยายเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างโยคะ กับการออกกำลังกาย ต่อด้วยการฝึกเทคนิคการผ่อนคลายด้วยหน้าท้อง เทคนิคการเกร็งและคลาย ปิดท้ายด้วยการฝึกโยคะอาสนะ และนั่งสมาธิ

สอนเสร็จ เราให้ผู้เข้าอบรมพูดความในใจและประเมินผล ซึ่งผู้เข้าอบรมบอกว่า ทำให้เข้าใจโยคะมากขึ้น สามารถนำกลับไปใช้ได้ รู้สึกผ่อนคลายและมีความสุข (ตรงกับเป้าหมายเราเป๊ะ) ประทับใจในบรรยากาศการอบรมที่เรียบง่าย เป็นกันเอง ทำให้มีสติ บางคนบอกว่ารู้สึกเหมือนเข้าคอร์ดอบรมธรรมะ จบไปน่าจะได้มหา (555) ซึ่งเราถือว่าเป็นคำชมนะ ผู้เข้าอบรมหลายคนอยากให้เราจัดอบรมอีก ซึ่งทำให้ไฟแห่งความมุ่งมั่นของสมาชิกชมรมโยคะที่ต้องการผลักดันให้ชมรมเราเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งเกิดขึ้น

จบการอบรม โยคะ..วิถีแห่งความสุข ที่ทุกคนทำหน้าที่เป็นทั้งผู้รับ ผู้ให้ แบ่งปันความสุขและรอยยิ้มกันถ้วนหน้า นึกถึงช่วงเวลา 7 วันตอนอบรมครูโยคะเมื่อปี 2547 ครูทำให้เราเห็น เย็นให้ดู อยู่ให้สัมผัส ตราบวันนั้นจนวันนี้ โยคะนำพาชีวิตให้พบแต่สิ่งดีๆ นึกถึงคำพูดครู ดีจัง!


มูลนิธิหมอชาวบ้าน
2220/101 ซอยรามคำแหง 36/1  ถนนรามคำแหง  แขวงหัวหมาก  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  10240  
โทรศัพท์  02-732-2016 - 17, โทรสาร 02-732-2811 มือถือ 081-401-7744 ; 
E-mail: [email protected] ; www.thaiyogainstitute.com

 


หมายเลขบันทึก: 281976เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2009 03:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท