คุณเอื้อใน KM


ข้อความนี้ได้คัดมาจากthaikm.gotoknow.org ของอาจารย์  น.พ. วิจารณ์   พานิช ค่ะ    คิดว่าคงพอจะเข้าใจkmของระบบราชการของเรามากขึ้น

  วันที่ 18 พ.ค.49  คุณวิชัย  จันทวาโร  แห่งบริษัท Global Intercommunication มาถ่ายวิดีโอ   เพื่อนำไปใช้ในงานนำเสนอการจัดการความรู้ของกระทรวงพาณิชย์ในวันที่ 22 พ.ค.49   คำถามของคุณวิชัยและข้อมูลการดำเนินการ KM ของหน่วยงานภาครัฐบางหน่วยงานทำให้ผมคิดว่าน่าจะลองเสนอความเห็นเรื่องวิธีทำ KM ในหน่วยงานภาครัฐ   คงจะเป็นความเห็นของคนคนหนึ่งนะครับ   ไม่รับรองความถูกต้องเหมาะสม   เพราะผมหย่อนความรู้เกี่ยวกับบริบทของราชการ

         ผมมองว่าในหน่วยงานภาครัฐของบ้านเราขณะนี้มีโครงการต่าง ๆ เต็มไปหมด   จนข้าราชการล้าและเครียด   การทำ KM ต้องอย่าให้เป็นอีกโครงการหนึ่งที่เข้าไปเพิ่มภาระ   สร้างความทุกข์

         ต้องทำให้ KM ช่วยลดงาน  ลดภาระ  เพิ่มความสุขให้ได้

         วิธีการคงมีหลายวิธีและต้องทำหลาย ๆ อย่างประกอบกัน

         วิธีที่ผมนำเสนออาจเรียกว่า "เวทีชื่นชมผลงาน"  หรือชื่ออื่นที่ดึงดูดใจและสร้างความชื่นชมอยู่ในถ้อยคำ

         เริ่มด้วยให้แกนนำ KM ไปเสาะหาคนระดับปฏิบัติการที่ทำงานแล้วเกิดผลดี   ทำงานเก่ง   มีวิธีสร้างความสำเร็จ (เล็ก ๆ) ในการทำงานอย่างน่าชื่นชม   โดยที่ความสำเร็จเล็ก ๆ นั้นจะเป็นพลังขับดันไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ของหน่วยงานหรือองค์กรเสาะหามาให้ได้สัก 10 - 20 คน   แล้วเชิญมาประชุมแบบล้อมวงเล่าเรื่องว่าความสำเร็จเล็ก ๆ ที่ได้รับยกย่องนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร  โดยมี Group Facilitator และ Note Taker ประจำกลุ่ม   สำหรับนำเรื่องเล่าและเคล็ดลับในการทำงานเล็ก ๆ เหล่านี้ไปเผยแพร่ในเว็บไซต์  จดหมายข่าว  หรือสื่ออื่น ๆ

         ถ้าแกนนำ KM ได้รับการฝึกเป็น "คุณอำนวย",  "คุณลิขิต" ก็จะสามารถสร้างบรรยากาศชื่นชมยินดี   เปลี่ยนความรู้สึกคน   ทำให้คนที่มาร่วมเวทีตื่นตะลึง   เพราะนึกไม่ถึงว่าคนระดับปฏิบัติการจะมีเคล็ดลับหรือความสามารถในการคิดวิธีทำงานดี ๆ ได้ถึงขนาดนี้

ผลคือ
(1) ผู้เข้าร่วมจะเริ่มเข้าใจคำว่า "ความรู้ในคน" หรือความรู้ปฏิบัติที่เป็นหัวใจของ KM และเห็นพลังของความรู้ในคน
(2) ผู้เข้าร่วมจะเห็นคุณค่าและเคารพซึ่งกันและกันมากขึ้น  มีความมั่นใจในตนเองที่จะคิดทำงานแบบสร้างสรรค์ได้มากขึ้น
(3) ผู้เข้าร่วมได้พัฒนาตนเองโดยการ "เปิดใจ" และเมื่อทำบ่อย ๆ จะเป็นคนที่ "ใจเปิด"   ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญในการเรียนรู้
(4) ผู้เข้าร่วมได้ฝึกการฟังแบบ Deep Listening ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการเป็นบุคคลเรียนรู้

วิจารณ์  พานิช
 18 พ.ค.49

ดิฉันได้อ่านKmของอาจารย์น.พ. วิจารณ์   พานิช จากblog ของอาจารย์   เห็นว่าอ่านแล้วชาวบำราศน่าจะเข้าใจมากขึ้น   จึงได้นำมาเป็นส่วนหนึ่งของบันทึกในวันนี้       และจากการไปเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ปฏิบัติ ณ ศูนย์ฝึกอบรม บ้านผู้หว่าน   อาจารย์ประพนธ์ได้สรุปบทบาทคุณเอื้อซึ่งหัวหน้างานทุกท่านมีบทบาทและดิฉันก็ได้เพิ่มเติมเองเท่าที่พอสรุปได้ดังนี้

1     นำและทำ

2     ดมและชม

3     เล่นทุกบทบาท

4     ทำให้คนใฝ่รู้

5     เห็นความจริงไม่อาศัยข้อเท็จจริง

6     สร้างบรรยากาศให้คนเรียนรู้

7     สร้างวัฒนธรรมองค์กร

คงพอเป็นแนวทางในการพัฒนาต่อไปค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 28195เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2006 20:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท