Learning to QE: ค้นพบตัวเลขเงินตราของไทยหายไปเพราะยาเสพติด


ช่วงปี พ.ศ. 2538-2539 ประเทศไทยต้องสูญเสียเงินตราไปให้กลุ่มผู้ผลิตสารเสพติดต่างชาติประมาณ 28,000 – 33,000 บาทต่อปีในขณะนั้น คิดได้เป็นประมาณร้อยละ 1.0-1.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross National Product: GNP)

     พักนี้ต้องทบทวนเอกสารทางวิชาการหลายอย่าง แล้วก็ต้องมาตกใจกับข้อมูลที่เป็นความสูญเสียของประเทศไทยที่เราอาจจะมองไม่เห็น อย่างการสูญเสียรายได้ของรัฐเนื่องจากประชาชนเล่นการพนันในประเทศ อันนี้ก็เสียหาย แต่ยังไม่เท่ากับเงินที่ไปเล่นการพนันต่างประเทศ และยังไม่เท่ากับเงินที่หายไปเพราะยาเสพติด ดังที่จะยกมาต่อไปนี้

     เมื่อปี 2540 ศูนย์วิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยผาสุก  พงษ์ไพจิตร และคณะ ได้ทำศึกษาไว้ในช่วงปี พ.ศ.2538-2539 พบว่าประเทศไทยต้องสูญเสียเงินตราไปให้กลุ่มผู้ผลิตสารเสพติดต่างชาติประมาณ 28,000 – 33,000 ล้านบาทต่อปีในขณะนั้น คิดได้เป็นประมาณร้อยละ 1.0-1.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross National Product: GNP) 

     ทีนี้ลองเอามาคิดเทียบในปี 2550 ที่ประเทศเรามีมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติเท่ากับ 8.2 ล้านล้านบาท ตามรายงานของสำนักสถิติพยากรณ์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2551) ก็จะพบว่าประเทศไทยต้องสูญเสียเงินตราส่วนนี้ไปไม่ต่ำกว่า 0.8 – 1 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อนำไปเทียบกับวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศไทย ในภาพรวมของปี 2550 ตามข้อมูลจากสำนักงบประมาณ (2549) ที่มีวงเงินจำนวนทั้งหมด 1.6 ล้านล้านบาท เทียบกันก็จะเห็นความมหาศาลที่หายไปคิดได้ประมาณร้อยละ 5

     หรือเมื่อนำมาเทียบกับที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้รับจัดสรรจากรัฐบาล ทั้งนี้ก็เพื่อดำเนินงานตามแผนเสริมสร้างความมั่นคงของชีวิตและสังคมโดยประมาณจำนวน 1.9 พันล้าน ในปีเดียวกันนี้ จะเห็นว่าส่วนที่หายไปนี้มากกว่าที่สำนักงาน ป.ป.ส.ได้รับเพื่อใช้จ่ายประจำปี ถึง 50 เท่า ที่มากกว่า 50 เท่านี้ บอกอะไร บอกว่าปัญหามันมีขนาดใหญ่มาก มากเสียจนลำพังเท่าที่กำลังจัดการกันอยู่นี้ไม่น่าจะเอาอยู่

     ความสูญเสียเหล่านี้ขณะที่ยังไม่ได้นับรวมความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากผลกระทบด้านอื่นๆ ที่ตามมา เช่น งบประมาณที่ต้องใช้เพื่อการบำบัดรักษาและฟื้นฟู งบประมาณที่ต้องเยียวยาชุมชนและสังคม รวมถึงต้นทุนชีวิตที่หายไปทั้งหมดหรือบางส่วนของคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด จึงนับเป็นความสูญเสียร่วมกันของคนในชาติ และสุดท้ายก็จะส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศชาติด้วย

 

อ้างอิง

 

  • ผาสุก  พงษ์ไพจิตร และคณะ. 2540. รายงานวิจัย “เศรษฐกิจนอกกฎหมายและนโยบายสาธารณะในประเทศไทย”. กรุงเทพฯ: ศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกาณ์มหาวิทยาลัย.
  • สำนักงบประมาณ. 2549. พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2550. กรุงเทพฯ: สำนักนายกรัฐมนตรี.
  • สำนักสถิติพยากรณ์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ. 2551. เครื่องชี้สภาวะเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ พ.ศ. 2551. กรุงเทพฯ: บริษัท เท็กซ์ แอนด์ เจอร์นัล พับลิเคชั่น จำกัด.

 


 

หมายเลขบันทึก: 281077เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2009 21:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท