แตงไทย
นฤมล ชื่อเล่น "แตงไทย" (สำหรับครอบครัว), "แตงอ่อน" (สำหรับเพื่อนๆ), "I tang" (สำหรับพี่ๆ ทั้งหลาย) จันทรศรี

ตำราโยคะดั้งเดิม ; การเดินทางสู่ภายในตามแนวทางของโยคะ - ๑.๑ -


 
เว็บศูนย์รวม "โยคะสารัตถะ

 
การเดินทางสู่ภายในตามแนวทางของโยคะ
- ๑.๑ -

วีระพงษ์ ไกรวิทย์ (ครูโต้)
และจิรวรรณ ตั้งจิตเมธี (ครูจิ)
(เข้าดูบทความของทั้งสองท่านที่นี่)

โยคะสารัตถะ ฉ.; มิ.ย.'๕๒

ในบทที่ ๑ ประโยคที่ ๑๗ ของโยคะสูตรกล่าวไว้ว่า "วิตรกวิจารานันทาสมิตานุคมาต สัมประชญาตะห์" สามารถแปลได้ ๒ ความหมายคือ
๑) สัมประชญาตะ คือ สมาธิ (Smadhi) ซึ่งประกอบด้วย ๔ ขั้นตอนคือ เหตุผล คิดอย่างไตร่ตรอง ความสุข และความรู้สึกว่ามีตัวตน
๒) สัมประชญาตะ คือ "โยคะประเทศะ" หรือ ขอบเขตของโยคะซึ่งประกอบด้วย ๔ ส่วนย่อยหรือขอบเขตย่อย ได้แก่ ความคิดที่ไม่ดี ความคิดที่ดี ความสุข และความรู้สึกว่ามีตัวตน

คำว่า "สัมประชญาตะ" เป็นคำคุณศัพท์นำมาใช้ในที่นี้ในฐานะที่เป็นคำนามประกอบไปด้วย "สัม" เป็นอุปสรรค แปลว่า ความสมบูรณ์ ความเต็ม และคำว่า "ประ" เป็นอุปสรรค แปลว่า ในรายละเอียดทั้งหมด ส่วนคำว่า "ชญาตะ" มาจากรากศัพท์คำกริยา "ชญา" แปลว่า รู้ เป็นที่รู้จัก ดังนั้นคำรวมในที่นี้จึงมีความหมายในทำนองว่า "สิ่งซึ่งถูกรับรู้อย่างสมบูรณ์ในรายละเอียดทั้งหมด"

ปตัญชลีไม่ได้อธิบายถึงคำว่า "สัมประชญาตะ" ไว้อย่างชัดเจน อรรถกถาจารย์แต่ก่อนนั้นเกือบทั้งหมดได้อ้างว่าสัมประชญาตะคือสมาธิ ยกเว้น ดร.เก็งเฮ (Dr. Kenghe) อรรถกถาจารย์บางท่านได้กล่าวถึงคำนี้ว่าเป็น "โยคะ" แต่พวกท่านก็อธิบายโดยชี้ให้เห็นว่ามันก็คือสมาธินั่นเอง ส่วนดร.เก็งเฮได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสัมประชญาตะไม่ได้เป็นคำที่มีความหมายเหมือนกับรูปแบบใดๆ ของสมาธิ

คำที่เหมาะสมกับความหมายของสัมประชญาตะน่าจะเป็นคำว่า โยคะประเทศะหรือขอบเขตของโยคะ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าโยคะในที่นี้ย่อมเป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นโยคะภายใน (Antaranga Yoga) หรือกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางด้านในของธารณา ธยานะ และสมาธิ กระบวนการฝึกสมาธิเหล่านี้สามารถเปรียบเทียบได้กับการเดินทางของความตระหนักรู้ภายใน และขอบเขตของการเดินทางด้านในที่เกิดขึ้นนี้ก็คือ สัมประชญาตะ อันเป็นการเดินทางที่สามารถรู้และอธิบายได้อย่างสมบูรณ์ในรายละเอียดทั้งหมด คำว่า ชญาตะ ในที่นี้แปลความว่าคือ "สามารถอธิบายได้" มากกว่า "เป็นที่รู้จัก" เหมือนกับนักเดินทางที่ได้เคยเดินทางผ่านดินแดนต่างๆ มาแล้วอย่างละเอียด ก็จะสามารถอธิบายรายละเอียดของดินแดนเหล่านั้นได้ ดังนั้นการเดินทางผ่านพื้นที่ทางจิตใจทางด้านในนี้จึงถูกอธิบายได้เป็นอย่างดี ซึ่งขอบเขตหรือพื้นที่ด้านในที่สามารถอธิบายได้นี้ประกอบด้วย ๔ ส่วนย่อยได้แก่ วิตรรกะ วิจาระ อานันทะ และอัสมิตา เมื่ออัสมิตา (ความเป็นตัวฉัน) ถูกก้าวข้ามไป การตระหนักรู้ว่าตัวฉันมีอยู่ก็จะหายไปด้วย ภายหลังจากนั้นก็จะไม่มีตัวตนหลงเหลืออยู่ ดังนั้นการรับรู้ในสิ่งที่เคยมีอยู่จริงก็จะหายไปด้วย สภาวะ "เหนือการตระหนักรู้" จึงตั้งมั่นขึ้น ดังนั้นการเดินทางด้านในเพื่อก้าวพ้นความมีตัวตน (อัสมิตา) จึงไม่สามารถหาคำพูดหรือภาษาที่เหมาะสมมาเรียกแทนได้ คำกว้างๆ อย่างคำว่า "ประสบการณ์" ก็อาจจะใช้เรียกแทนไปก่อนได้ แต่ประสบการณ์ในที่นี้ก็แตกต่างจากประสบการณ์ทั่วๆ ไป เพราะแท้จริงแล้วในขอบเขตของการเดินทางด้านในเพื่อก้าวข้ามความมีตัวตนนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถรู้หรืออธิบายได้อย่างสมบูรณ์ซึ่งจะตรงกับความหมายของคำว่า อสัมประชญาตะ

ธารณา สู่ ธยานะ สู่ สมาธิ เป็นสถานีของการเดินทางภายในของจิต การพยายามไปถึงสถานีเหล่านี้ตามลำดับอย่างน้อยที่สุดต้องมีจิตที่ตั้งมั่นใน ระดับหนึ่งและเข้าสู่ภาวะปีติสุข การเดินทางภายในของจิตมีเครื่องมือสำคัญคือการตระหนักรู้ผ่าน ๔ ส่วนย่อยที่รู้จักกันคือ วิตรรกะ วิจาระ อานันทะ และอัสมิตา

วิตรรกะ โดยคำศัพท์แล้วอาจแยกคำและความหมายได้ว่า วิ หมายถึงวิเศษ หรือพิเศษ ตรรกะ หมายถึงเหตุผล เหตุที่มีความหมายเช่นนี้ก็เนื่องจากข้อสันนิษฐานที่ว่าสัมประชญาตะคือสมาธิ นั่นหมายความว่าสมาธิต้องเกี่ยวข้องกับความคิดที่ดีเสมอ ดังนั้นวิตรรกะจึงแปลว่ากระบวนการคิดอย่างมีเหตุผลที่พิเศษ แต่ปตัญชลีก็ได้ให้นิยามของคำว่า "วิตรรกะ" ในอีกแนวทางหนึ่ง เพื่อจะไม่นำไปสู่ความสับสน ในบทที่ ๒ ประโยคที่ ๓๔ ได้อธิบายว่าวิตรรกะคือ หิงสา (ความรุนแรง ความเบียดเบียน) อสัตย์ (ความเท็จ) เป็นต้น ซึ่งมีความหมายตรงข้ามกับยามะทั้ง ๕ ข้อของปตัญชลี (ปตัญชลีให้ผู้ฝึกโยคะปฏิบัติ ยมะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ตรงข้ามกับวิตรรกะ) ดังนั้นวิตรรกะจึงหมายถึงสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย เนื่องจากเรากำลังอภิปรายกันถึงการฝึกปฏิบัติสมาธิเพื่อเดินทางเข้าสู่ด้าน ใน วิตรรกะในที่นี้จึงหมายถึง อารมณ์ ความคิด หรือจินตนาการที่ไม่ดีนั่นเอง 

 

ยมะทั้ง ๕ ได้แก่ อหิงสา (ความไม่เบียดเบียน) สัตย์ (ความจริง) อัสเตยะ (ไม่ลักขโมย) พรหมจรรย์ (ประพฤติบนหนทางแห่งพรหม) อปริเคราะห์ (ไม่ถือครองวัตถุเกินความจำเป็น) ดังนั้นวิตรรกะซึ่งหมายถึงสิ่งตรงข้ามกับยมะทั้ง ๕ ก็คือ หิงสา อสัตย์ สเตยะ อพรหมจรรย์ปริเคราะห์

(อ่านเพิ่มเติม)
ตำราโยคะดั้งเดิม ;
การเดินทางสู่ภายในตามแนวทางของโยคะ
- ๑.๒ -

 

 



มูลนิธิหมอชาวบ้าน

2220/101 ซอยรามคำแหง 36/1  ถนนรามคำแหง  แขวงหัวหมาก  
เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  10240  
โทรศัพท์  02-732-2016 - 17, โทรสาร 02-732-2811 มือถือ 081-401-7744 ; 
E-mail: [email protected] ; www.thaiyogainstitute.com

หมายเลขบันทึก: 280337เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2009 13:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท