การมีส่วนร่วมอย่างไรจึงจะเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน


การมีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมปฏิบัติ ประเมินผล

                     จากการเรียนในชั้นเรียนเรื่อง การมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาสุขภาพ  อาจารย์ได้นำวีซีดี มาเปิดให้ดูถึงการพัฒนาชุมชนโดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเพื่อปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและความเป็นอยู่  อันประกอบด้วยชุมชนไม้เรียง จังหวัดนครศรีธรรมราช     บ้านหนองกลางดง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์    มูลนิธิข้าวขวัญ  จังหวัดสุพรรณบุรี    อบต.หัวดง อำเภอเมือง  จังหวัดพิจิตร   ที่มีการพัฒนาที่แตกต่างกัน
                     ตั้งแต่การพัฒนาที่เริ่มจากตัวปัญหาของชุมชนโดยทุกคนร่วมกันค้นหาสาเหตุ เช่นชุมชนไม้เรียง จังหวัดนครศรีธรรมราช หรือบ้านหนองกลางดง  จ.ประจวบคีรีขันธ์  ที่เริ่มต้นจากการเป็นหนี้ทำให้ทุกคนนำค่าใช้จ่ายของครัวเรือนมาวิเคราะห์ร่วมกัน  จากนั้นหาแนวทางแก้ไข   มีการจัดทำแผนแม่บทชุมชนเพื่อใช้ในการกำหนดแผนงานโครงการในการแก้ปัญหา เช่น โครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์    โครงการผลิตสารฆ่าแมลงจากสมุนไพร   เกิดกลุ่มต่างๆที่สร้างกิจกรรมที่สอดคล้องเป็นวงจร    เกิดวิสาหกิจชุมชนสร้างรายได้หมุนเวียนในชุมชน  เกิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
                      ส่วนมูลนิธิข้าวขวัญทำให้เห็นถึงการแก้ปัญหาชุมชนโดยคนนอกเป็นผู้คิดทำให้ไม่เกิดการยอมรับถึงแม้เทคนิควิธีการจะดีเท่าใดก็ตามถ้าไม่มีการเปลี่ยนแนวคิดจากเดิม   ทำให้ค้นพบว่าเมื่อให้ผู้เผชิญปัญหามาร่วมศึกษาทดลองให้เห็นด้วยตนเองจึงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากกลุ่มเกษตรกรที่มาเข้าโรงเรียนเกษตรกร  ได้ฟังการให้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ   พร้อมทดลองการปลูกข้าว ในลักษณะต่างๆกันให้เห็นเชิงประจักษ์    การออกเก็บแมลงในทุ่งนาได้ร่วมกันจำแนกชนิดแมลงกับวิทยากรทั้งวิเคราะห์ได้กระทั้งว่ามีแมลงดีกี่ตัว     ทุกคนได้ร่วมนำเสนอและแสดงความคิดเห็นมีส่วนร่วมจึงเปลี่ยนความคิดของตนได้ และนำความรู้ที่ได้จากโรงเรียนไปปฏิบัติด้วยตนเอง
                      อบต.หัวดง  อ.เมือง  จ.พิจิตร  เป็นตัวอย่างของความใส่ใจและจริงจังในการพัฒนาของผู้นำที่มีสำนึกของการรักบ้านเกิด ร่วมกับชุมชนมาช่วยกันร่วมค้นหาปัญหาและใช้ศักยภาพของหน่วยงานช่วยก่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาชุมชนโดยใช้งบประมาณ  อบต.  การมองภาพความหมายของสุขภาวะที่กว้างไม่มองแค่ตัวคน แต่มองถึงสังคม ชุมชน  และสิ่งแวดล้อมที่เข้ามามีส่วนในการสร้างสุขภาวะ จนทำให้เกิดการพัฒนาตั้งแต่เรื่องการสร้างแหล่งน้ำเพื่อส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม   การเสริมสร้างโอกาสการศึกษาโดยมีวิทยาลัยชุมชน   การจัดศูนย์การเรียนรู้ด้วยจัดให้มี computer   โครงการกองทุนวันละบาทเพื่อการช่วยเหลือสมาชิกในชุมชนเมื่อเกิดการเจ็บป่วย และต้องมีการส่งต่อ
                      โดยสรุปแล้วการพัฒนาสุขภาพไม่เพียงเป็นการพัฒนาสถานบริการ หรือสร้างภูมิคุ้มกันให้บุคคลเท่านั้นต้องมององค์รวมของการเกิดสุขภาพ  ตั้งแต่สมาชิกในครัวเรือน  ชุมชน   สังคม  สิ่งแวดล้อม  เริ่มจากการค้นหา  รวบรวมข้อมูลที่มีอยู่ นำมา วิเคราะห์  ร่วมหาแนวทาง    สร้างแผนงาน-โครงการแต่จะให้ยั่งยืนต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหานั้นและการมีส่วนร่วมจะต้องร่วมตั้งแต่เริ่มต้นเรียนรู้ไปด้วยกันและ ร่วมกันคิด  ร่วมกันทำ  เปิดโอกาสให้มีการลองผิดลองถูกทุกคนมีศักยภาพในการเสนอความคิดเห็นและปฏิบัติ แต่จะต้องมีการเสริมศักยภาพของกลุ่มเพื่อให้เกิดการก้าวไปพร้อมๆกันในการพัฒนา  สุดท้ายต้องทบทวนเพื่อการปรับปรุง

หมายเลขบันทึก: 280262เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2009 09:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • อ่านบทความแล้วรู้สึกประทับใจมากค่ะ หากตัวใหญ่สักนิดและมีภาพประกอบด้วยก็จะน่าสนใจขึ้นค่ะ
  • การยอมรับสิ่งใด ๆ ในชุมชนหากเป็นเรื่องใหม่และพวกเขาไม่เคยรู้ไม่เคยทำมาก่อน ถึงจะดีก็อาจไม่เติบโตตามแนวคิดได้ค่ะ
  • การเริ่มต้นจากชุมชนเองเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
  • ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดีๆค่ะ

ถ้าชุมชนส่วนใหญ่ของไทยมีแนวทางการเรียนรู้ พัฒนา คงจะทำให้ชุมชนน่าอยู่นะครับพี่กุ้ง ดูสื่อที่ท่านอาจารย์นำมาให้เรียนรู้และถอดบทเรียนแล้วมีความสุขดีเน๊อะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท