การกระจายอำนาจ


การกระจายอำนาจ คือ

การกระจายอำนาจ

คืออะไร

ความหมายของการกระจายอำนาจ
• การถ่ายโอนอำนาจการตัดสินใจ ทรัพยากร และภารกิจ จากภาครัฐส่วนกลาง ให้แก่องค์กรอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐส่วนภูมิภาค องค์กรอิสระ องค์กรท้องถิ่น องค์กรเอกชน โดยเฉพาะภาคประชาชน ไปดำเนินการแทน ซึ่งการถ่ายโอนดังกล่าว อาจจะมีลักษณะเป็นการถ่ายโอนเฉพาะภารกิจ ซึ่งเป็นการแบ่งภารกิจ ให้แก่องคืกรที่ได้รับการกระจายอำนาจดำเนินการ หรือ เป็นการถ่ายโอนโดยยึดพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งเป็นการแบ่งพื้นที่เป็นหน่วยงานย่อยในการดำเนินการ
แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการกระจาย
• การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการบริหารจัดการบ้านเมืองของรัฐ ในระบบประชาธิปไตย โดยมุ่งลดบทบาทของรัฐส่วนกลาง(decentralize) ลงเหลือภารกิจหลักเท่าที่ต้องทำ เท่าที่จำเป็น และให้ประชาชนได้มีส่วนในการบริหารงานชุมชนท้องถิ่น ตามเจตนารมย์ของประชาชนมากขึ้น การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จึงเป็นการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจ หน้าที่ใหม่ ระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์บ้านเมือง ที่เปลี่ยนแปลงไปในสภาวะที่สังคมมีกลุ่มที่หลากหลาย มีความต้องการ และความคาดหวังจากรัฐที่เพิ่มขึ้น และแตกต่างกัน ขัดแย้งกัน ในขณะที่รัฐเองก็มีขีดความสามารถ และทรัพยากรที่จำกัด ในการตอบสนองปัญหา ความต้องการ ที่เกิดขึ้นในแต่ละท้องถิ่นได้ทันต่อเหตุการณ์ และตรงกับความต้องการของท้องถิ่น
• การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เป็นการกระจายสิ่งต่อไปนี้ จากส่วนกลางให้กับท้องถิ่น
• หน้าที่ เป็นการกระจายหน้าที่ ที่เป็นประโยชน์โดยตรงกับท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นรับผิดชอบดำเนินการเอง
• อำนาจการตัดสินใจ เป็นการกระจายอำนาจการตัดสินใจดำเนินการ ตามหน้าที่ ที่ส่วนกลางกระจายไปให้ท้องถิ่นดำเนินการ
• ทรัพยากรการบริหาร เป็นการกระจายบุคลากร งบประมาณ เทคโนโลยี ที่เหมาะสม ให้กับท้องถิ่น
• ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ เป็นการกระจายความรับผิดชอบต่อภารกิจ หน้าที่ ที่รัฐกับผู้บริหารท้องถิ่น และประชาชน ร่วมกันรับผิดชอบ
• ความพร้อม เป็นการกระจายความพร้อม ที่มีอยู่ในส่วนกลางให้กับท้องถิ่น เพื่อสร้างขีดความสามารถให้แก่ท้องถิ่น เป็นการทำให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เป้าหมายของการกระจายอำนาจ
• เพื่อให้บริการต่างๆ สามารถตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีการถ่ายโอนภารกิจ เป็นเครื่องมือหนึ่งในการดำเนินการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว รูปแบบการกระจายอำนาจ การจัดบริการสาธารณะ จึงไม่ควรจำกัดอยู่ที่การโอนภารกิจแต่เพียงอย่างเดียว แต่ควรให้ความสำคัญกับรูปแบบที่สามารถตอบสนอง ต่อวัตถุประสงค์ทั้งสองประการเป็นหลัก
• พึงระลึกว่า " การกระจายอำนาจ" ไม่ใช่เครื่องมือวิเศษ ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาทุกปัญหาได้ เพราะ การกระจายอำนาจ อาจก่อให้เกิดปัญหา ความไม่เท่าเทียมกัน ที่เกิดจากระดับการพัฒนา ที่แตกต่างกัน ของแต่ละพื้นที่ การขาดผู้บริหารที่มีความสามารถเพียงพอ ที่จะรองรับระบบที่มีการกระจายอำนาจได้

ประเภทของการกระจายอำนาจ
1. การมอบอำนาจการตัดสินใจด้านการบริหารจัดการจากส่วนกลางสู่ภูมิภาค
2. การมอบอำนาจหน้าที่ให้แก่องค์กรกึ่งรัฐ ที่เป็นอิสระ ภายใต้การกำกับจากภาครัฐ
3. การกระจายอำนาจการปกครองให้แก่รัฐบาลส่วนท้องถิ่น
4. การมอบหน้าที่ให้แก่องค์กร หรือ หน่วยงานเอกชน
5. การสร้างให้ประชาชน มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
ทำไมต้องมีการกระจายอำนาจ
1. เพื่อให้การดำเนินงานของรัฐ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดขั้นตอนการดำเนินการ อันเนื่องจากการล่าช้าในการตัดสินใจจากส่วนกลาง
2. เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนได้อย่างแท้จริง
3. เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
ทำไมต้องมีการถ่ายโอนการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ
1. เพื่อเพิ่มคุณภาพบริการ
2. เพื่อประสิทธิภาพของระบบบริการสาธารณสุข
3. เพื่อตอบสนองความต้องการและการตรวจสอบจากชุมชน
4. เพื่อความเสมอภาค
5. เพื่อความยั่งยืนและการยอมรับ
แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ
• การสาธารณสุขและการรักษาพยาบาล เป็นภารกิจที่มีความสำคัญ เกี่ยวข้องกับชีวิต เป็นบริการที่มีความสลับซับซ้อน และต้องอาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญ ทางเทคนิควิชาการเฉพาะด้าน ต้องการความเป็นเอกภาพในการรักษาพยาบาล การส่งต่อผู้ป่วยทั้งจากระดับต้นสู่ระดับสูง หรือจากระดับสูงสู่การดูแลใกล้บ้าน หรือในชุมชน รวมทั้งระบบการเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มแข็ง มีความพร้อมตลอดเวลา สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงต้องมีการดำเนินการอย่างรอบครอบ โดยยึดแนวคิดดังนี้
1. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องสามารถตัดสินใจ และควบคุมทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ สามารถได้รับประโยชน์จากการแก้ปัญหา และการจัดบริการได้มากที่สุด มากกว่าการจำกัดเพียงการควบคุมกำกับ เพื่อให้เกิดการบริการในระดับใด ระดับหนึ่ง หรือจำกัดเพียงระดับต้นเท่านั้น
2. การบริหารจัดการระบบบริการ ควรมีความคล่องตัว และมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และใช้ทรัพยากร
3. ทรัพยากรถูกใช้อย่างเหมาะสมในทุกด้าน ทั้งด้านส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัยโรค การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสภาพ ตลอดจน การดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม
4. ประชาชนในพื้นที่ควรมีบทบาท และโอกาสในการร่วมตัดสินใจ หรือ ตรวจสอบผลการดำเนินงานของระบบ
5. รัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข จะต้องปรับเปลี่ยนบทบาท ไปเป็นผู้กำหนดมาตรฐาน ผู้กำกับดูแล และเสนอแนะ รวมทั้งให้บริการทางวิชาการ แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
เป้าหมายของการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ
1. ประชาชนในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย มีสุขภาพดีโดยเท่าเทียมกัน
2. ปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ได้รับการแก้ไข สอดคล้องกับสภาพความต้องการที่เป็นจริงในพื้นที่
3. ประชาชนในแต่ละพื้นที่สามารถเข้าถึงบริการ และรับบริการที่มีคุณภาพเป็นที่พอใจ และมีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร เพื่อจัดบริการ
4. ประชาชนในพื้นที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ในการใช้ทรัพยากรต่างๆ ในการแก้ปัญหาสาธารณสุข ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ยุทธศาสตร์ในการดำเนินการ
1. กระจายอำนาจในการวางแผน และจัดสรรการใช้ทรัพยากร เพื่อการแก้ปัญหาสาธารณสุข จากส่วนกลางไปยังแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสม
2. สร้างกลไกในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีศักยภาพและความสามารถ ในการวางแผน และจัดสรรทรัพยากร เพื่อให้เกิดการแก้ปัยหา ได้อย่างสอดคล้องและมีประสิทธิภาพ
3. พัฒนาให้เกิดระบบบริการ ที่ท้องถิ่นสามารถกำกับดูแล และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ในแต่ละพื้นที่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นที่พอใจของประชาชน
แนวทางในการดำเนินการ
• ด้วย พรบ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ปี2542 ได้มีการกำหนดว่า จะต้องมีการถ่ายโอนภารกิจของสถานพยาบาล หรือ ถ่ายโอนสถานบริการของรัฐ ระดับต่างๆ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละระดับ ( อบต. เทศบาล อบจ.) ทางส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรปกครองท้องถิ่น ได้มีการศึกษา และพิจารณาทางเลือกในการถ่ายโอนภารกิจด้านสุขภาพ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการศึกษาจากเอกสาร จากประสบการณ์ในประเทศ และจากการศึกษาดูงานในต่างประเทศ ซึ่งแบ่งได้เป็น 4 รูปแบบใหญ่คือ
1. รูปแบบที่ 1 สถานพยาบาลทุกระดับขึ้นกับ กระทรวงสาธารณสุข แต่ถ่ายโอนบางภารกิจที่เหมาะสมให้แก่ท้องถิ่น
2. รูปแบบที่ 2 สถานพยาบาลแต่ละระดับขึ้นกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ละระดับ ภารกิจส่วนใหญ่โอนให้แก่ท้องถิ่น
3. รูปแบบที่ 3 สถานพยาบาลทุกระดับขึ้นกับ คณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ ภารกิจบางอย่างโอนให้แก่ท้องถิ่นดำเนินการเอง
4. รูปแบบที่ 4 สถานพยาบาลทุกระดับ อยู่เป็นเครือข่ายในรูปแบบองค์การมหาชน ภารกิจบางอย่างโอนให้แก่ท้องถิ่นดำเนินการเอง
• จากการพิจารณาดังกล่าว พบว่ารูปแบบที่ 3 น่าจะเป็นรูปแบบที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด ซึ่งในขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข จึงได้เสนอรูปแบบที่ 3 นี้ ต่อคณะกรรมการกระจายอำนาจ ให้แก่องค์กรแกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีหลักการทั่วไปในการดำเนินการดังนี้
1. จัดให้มีคณะกรรมการเฉพาะด้านในระดับจังหวัดขึ้น ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ดำเนินงาน กำหนดมาตรฐานในส่วนของจังหวัด การจัดสรรทรัพยากร การกำกับดูแลการดำเนินงานของสถานบริการในสังกัดท้องถิ่น รวมทั้งทำหน้าที่ประสานความร่วมมือ ระหว่างรัฐ กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในเขตจังหวัด โดยคณะกรรมการประกอบด้วย ตัวแทนแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คือ ราชหารบริหารส่วนท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภท ผู้แทนฝ่ายวิชาชีพ ผู้ทรงคุณวุฒิในเขตจังหวัด โดยผู้แทนจากท้องถิ่นทำหน้าที่เลขานุการ
2. การโอนหน่วยบริการสุขภาพ(สถานบริการสาธารณสุขสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเดิม) ไปสู่ส่วนท้องถิ่น ต้องไม่เป็นแบบแยกส่วน เพราะจะเกิดความยุ่งยากในการบริหารจัดการ ขาดความเชื่อมโยง และขาดเอกภาพในระบบบริการสาธารรสุข ที่สำคัญจะเป็นการลดประสิทธิภาพ ในการจัดการทรัพยากร ที่มีอยู่จำกัดในภาพรวมของประเทศลงไปอีก อีกทั้งเป็นการยากที่จะบริหารจัดการให้เกิดความเท่าเทียมกัน ในด้านสุ๘ภาพของประชาชน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ ของระบบบริการสาธารณสุขอีกด้วย
3. หน่วยบริการสุขภาพ ควรมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ทรัพยากร และงบประมาณ โดยมีการจัดทำงบประมาณแบบเน้นผลลัพธ์ เพื่อให้สามารถบริหารทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยไม่ติดอยู่กับกรอบ และระเบียบอันจำกัดของระบบราชการ แต่ทั้งนี้ต้องมีกลไก การตรวจสอบที่ชัดเจนด้วย
4. ให้มีการบริหารงานบุคคล และกำหนดความก้าวหน้าสำหรับวิชาชีพเฉพาะ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน
5. ในการถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากองคืกรท้องถิ่นยังไม่พร้อมรับการถ่ายโอน ก็อาจร้องขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น หรือร้องขอให้รัฐดำเนินการแทนไปพลางก่อน หรือดำเนินการร่วมกับรัฐหรือองค์กรปกครองสว่วนท้องถิ่นอื่น หรืออาจ จัดซื้อ จัดจ้าง ให้องค์กรของรัฐ หรือภาคเอกชน ดำเนินการแทนได้ โดยให้รัฐดำเนินการเพิ่มขีดความสามารถ และความรู้ด้านเทคโนโลยี ด้านการบริหารจัดการ ด้านบุคลากร และความพร้อมด้านการคลัง ให้แก่องคืกรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ จนกว่าสามารถรับการถ่ายโอนงาน หรือภารกิจได้ โดยให้มีความยืดหยุ่นในช่วงเปลี่ยนผ่าน


อ้างอิง : สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข).2543"นโยบายพรรคการเมืองต่อการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ"
. [Online] Available URL ; http://www.fda.moph.go.th/fda-net/html/product/other/kbs3/reform3.htm

หมายเลขบันทึก: 279884เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2009 22:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท