ครูนอกระบบ
นาง ณัฐนิธิ อารีย์ อักษรวิทย์

<เล่าสู่กันฟัง>การฝึกตนให้สันโดษ


สันโดษ

Image

การฝึกตนให้สันโดษ

• พิจารณาความแก่ เจ็บ ตาย
• พิจารณากฎแห่งกรรม
• ให้ทาน
• รักษาศีล
• เจริญอานาปานสติและเมตตาภาวนา


Image

1. พิจารณาความแก่ ความเจ็บ ความตายอยู่เป็นประจำ

         เพราะเป็นความจริงของชีวิตที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะดิ้นรนแสวงหาเงินทอง สะสมทรัพย์สมบัติไว้มากเพียงใด วันหนึ่งเราก็ต้องพลัดพรากจากสมบัติที่เราหาไว้ ทรัพย์สมบัติเป็นเครื่องมือที่ช่วยเราในการดำเนินชีวิต เป็นทรัพย์ภายนอก เมื่อตายแล้วก็ไม่สามารถนำติดตัวไปได้ เมื่อพิจารณาแบบนี้บ่อยๆ
ความโลภในทรัพย์สมบัติก็จะลดลง มุ่งหน้าทำความดี คือให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา
เป็นการสะสมอริยทรัพย์ ซึ่งหมายถึงคุณความดี 7 ประการ ประกอบด้วย

1. ศรัทธา

ความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ ประกอบด้วย ศรัทธา 4 ประการคือ

- กรรมศรัทธา เชื่อในเรื่องกรรมว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม กรรมเป็นผู้จำแนกสัตว์

- วิบากศรัทธา เชื่อว่าผลดีมาจากเหตุดี ผลชั่วมาจากเหตุชั่ว ดังนั้น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว

- กรรมมัสสกตาศรัทธา เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตนเอง เมื่อทำกรรมอันใดไว้ จะหนีผลของกรรมนั้นไม่พ้น

- ตถาคตโพธิศรัทธา เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

2. ศีล คือการรักษากาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อย

3. หิริ คือความละอายต่อบาป ทุจริต

4. โอตตัปปะ คือความเกรงกลัวต่อบาป

5. พาหุสัจจะ คือความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังธรรมมาก และจำธรรมเหล่านั้นได้อย่างดี รู้ศิลปวิทยามาก

6. จาคะ รู้จักสละ แบ่งปันสิ่งของตนให้แก่คนที่ควรได้

7. ปัญญา รอบรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์

      อริยทรัพย์นี้ดีกว่าทรัพย์สินเงินทอง เพราะเป็นทรัพย์ภายในที่เราพึ่งพาอาศัยได้
ไม่เพียงแต่ชาตินี้ แต่อาศัยได้หลายภพ หลายชาติต่อๆ ไป

Image

2. พิจารณากฎแห่งกรรม

ให้หมั่นพิจารณาอยู่เสมอว่า
เรามีกรรมเป็นของตน
เรามีกรรมเป็นผู้ให้ผล
เรามีกรรมเป็นแดนเกิด
เรามีกรรมเป็นผู้ติดตาม
เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย

          ไม่ว่าทำกรรมใดไว้ เราจะต้องเป็นผู้ได้รับผลของกรรมนั้นๆ สืบไป มื่อเข้าใจกฎแห่งกรรมจริงๆ แล้ว เราจะสามารถทำใจและรักษาใจดีไว้ได้ในทุกสถานการณ์ มีความสุขใจ พอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่ปัจจุบัน
พอใจในการสร้างความดี ละความชั่ว ยินดีในการให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา

3. การให้ทาน

        หมั่นให้ทานอยู่เสมอ อานิสงส์ของการให้ทาน ที่ผู้ให้จะได้รับทันที คือ ได้ลิ้มรสความสุขอันเกิดจากการให้ การสละและแบ่งปันเพื่อความสุขแก่ผู้อื่น การให้ทานเป็นการฆ่าความตระหนี่ ขี้เหนียว
ความโลภในจิตใจไปทีละน้อย มองเห็นคุณค่าแห่งความสุขจากการคิดให้ แล้วความสันโดษก็จะเกิดขึ้น

4. การรักษาศีล

       ตั้งใจในการรักษาศีล 5 ให้สมบูรณ์ ศีล 5 เป็นกรอบทำให้เราไม่เบียดเบียนผู้อื่น และหาโอกาสในการรักษาศีล 8 เพื่อฝึกหัดขัดเกลาจิตใจ ผู้ที่รักษาศีล 8 ได้จะช่วยให้เกิดความสันโดษในหลายๆ เรื่อง
เช่น เรื่องกามคุณ เรื่องอาหาร การแต่งกาย เป็นต้น ทำให้มองเห็นว่า แม้กินง่าย นอนง่าย อยู่ง่าย ก็มีความสุขได้

5. การเจริญภาวนา

       ให้หมั่นเจริญอานาปานสติและเมตตาภาวนาอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะเวลาก่อนนอน และตอนเช้า
ก่อนที่จะเริ่มภารกิจอย่างอื่น 

  

   

Image

ตั้งใจกำหนดอานาปานสติ

      หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ ให้มีสติและสัมปชัญญะกับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ปล่อยวางอดีต ไม่ต้องคิดถึงเรื่องเก่าๆ ที่ผ่านมาแล้ว ไม่ต้องคิดถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ระลึกถึงแต่ปัจจุบัน สิ่งที่เป็นสมมติก็ปล่อยวาง เช่น เราเป็นชาย หญิง เป็นพ่อ แม่ เป็นผู้น้อย ผู้ใหญ่
      สิ่งเหล่านี้ต้องปล่อยวางทั้งหมด แม้แต่ตัวเรา ปล่อยวางกาย ปล่อยวางความรู้สึก
ปล่อยวางความนึกคิดต่างๆ กำหนดรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าสบายๆ มีสติระลึกถึงความรู้สึกที่ดี สบายใจ มีปิติสุขทุกครั้ง ที่ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า

       เมื่อมีสติระลึกรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าติดต่อกัน ต่อเนื่องกันแล้ว ใจเราก็จะเปลี่ยน เกิดความสบายใจ สุขใจ มีเมตตา กรุณา

       แม้จะมีความไม่สบายใจในตอนต้น ความสบายใจก็จะเกิดขึ้นแทน เมื่อใจเรามีความสุข สบายใจแล้ว ก็แผ่เมตตา ความปรารถนาดี ให้กับผู้อื่น

         ขอให้เขามีความสุข ระลึกถึงบุคคลใกล้ชิดที่เรารักก่อน พ่อแม่ พี่ น้อง ของเรา ขอให้เขามีความสุข แล้วก็ค่อยๆ ทำความรู้สึกให้กว้างออกไป ถึงบุคคลอื่นๆ ที่เรารู้จักเป็นกลางๆ ในที่สุดระลึกถึงบุคคลที่มีปัญหาขัดแย้งกับเรา คนที่เป็นศัตรูกับเรา ก็ขอให้เขามีความสุขเช่นกัน

        เมื่อแผ่เมตตาให้กับคนที่เรารู้จักแล้ว ก็ให้แผ่เมตตาและความรู้สึกที่ดีนี้ให้กว้างออกไป ขยายออกไปถึงสรรพสัตว์ทั่วทุกสารทิศ ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ

        ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงมีความสุข เป็นการแผ่เมตตาแบบไม่มีนิมิต คือ ไม่ได้นึกถึงใครโดยเฉพาะ การแผ่เมตตาเป็นการให้ที่ ยิ่งให้ก็ยิ่งเพิ่ม ายถึง ยิ่งแผ่เมตตาและความรู้สึกที่ดีออกไปมากเท่าใด จิตใจเราก็จะยิ่งมีปิติสุข จิตใจเราก็จะยิ่งเบิกบาน เป็นการเจริญเมตตาภาวนา ซึ่งเราควรฝึกทำบ่อยๆ แม้แต่ละครั้งอาจจะแค่เวลา 5 นาที 10 นาที ก็ตาม

การฝึกเจริญอานาปานสติและเมตตาภาวนา

          อยู่บ่อยๆ จะช่วยให้เราดำเนินชีวิตได้ อย่างมีความสุข สบายใจมากขึ้น เมื่อมีความสุข ความสบายใจ มีความพอใจในชีวิตแล้ว เราจะดำเนินชีวิต ด้วยการคิดดี พูดดี ทำดี ได้ไม่ยาก และใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น อย่างมี

เมตตา
กรุณา
มุทิตา
อุเบกขา


ไม่ยินดี ยินร้าย รักษาใจเป็นปกติ ในทุกสถานการณ์ 



 

คำสำคัญ (Tags): #ฝึกตน
หมายเลขบันทึก: 278937เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2009 01:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท