แตงไทย
นฤมล ชื่อเล่น "แตงไทย" (สำหรับครอบครัว), "แตงอ่อน" (สำหรับเพื่อนๆ), "I tang" (สำหรับพี่ๆ ทั้งหลาย) จันทรศรี

สอนอาสนะ By ครูเละ



เว็บศูนย์รวม "โยคะสารัตถะ

 
สอนอาสนะ

ธีรเดช อุทัยวิทยรัตน์ (ครูเละ) ; 
โยคะสารัตถะ ฉ. มิ.ย.'๕๒

เกือบทั้งเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผมไปช่วยงานบำบัดคนไข้ที่ดูไบตามคำชวนของเพื่อนสนิทชาวอินเดียซึ่งเป็นหมออายุรเวทที่โยกย้ายตัวเองไปเป็นแพทย์ประจำศูนย์สุขภาพที่นั่นมาหลายปี

วันหนึ่งระหว่างกำลังเตรียมลูกประคบเพื่อหมักน้ำยาสำหรับหยาดให้คนไข้ เพื่อนขอให้ผมแนะนำการฝึกอาสนะให้คนไข้ เพราะรู้ว่าผมเองก็มักแนะนำการฝึกอาสนะให้คนไข้ในเมืองไทยอยู่เหมือนกัน

"นายคิดว่าให้ฝึกสูรยนมัสการดีไหม" เพื่อนผมกึ่งถามกึ่งปรารภ

จากข้อมูลเกี่ยวกับคนไข้ที่ผมทราบจากเพื่อน คนไข้คนนี้ไม่เคยฝึกอาสนะมาก่อน บวกกับข้อจำกัดทางร่างกายที่ผมรู้สึกจากการนวดให้เธอ รวมทั้งซักถามจากเจ้าตัว ทำให้ผมประเมินว่าสูรยนมัสการหรือท่าไหว้พระอาทิตย์ยังไม่น่าจะเหมาะกับคนไข้รายนี้

พูดตามจริงตอนที่ผมเริ่มฝึกอาสนะใหม่ๆ เมื่อยี่สิบห้าปีก่อน ผมก็เริ่มจากท่าไหว้พระอาทิตย์นี่แหละ โดยฝึกตามหลวงพี่ที่ผมเคารพรักดุจพี่ชายร่วมสายโลหิต เห็นท่านยกแขนเหยียดขาอย่างไรก็เลียนแบบทำตามท่าน ผิดบ้างถูกบ้าง กว่าจะคุ้นชินกับอาสนะที่ต้องเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของชุดท่าที่เรียกว่าสูรยนมัสการ ก็ต้องฝึกติดต่อกันอยู่หลายวัน

กระทั่งเมื่อฝึกอย่างจริงจังและเกิดฉันทะอย่างลึกซึ้งในเรื่องอาสนะ จนตัดสินใจไปเรียนรู้กับครูที่อินเดีย ผมจึงค่อยๆ ตระหนักและประจักษ์ว่า การฝึกสูรยนมัสการมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างยิ่ง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่เราต้องเคลื่อนไหวร่างกายอย่างต่อเนื่อง จากท่วงท่าหนึ่งไปสู่ท่วงท่าต่อๆ ไปจนครบชุดของท่วงท่า
เป็นการเคลื่อนไหวต่อเนื่องที่มีทั้งการก้มเหยียดร่างกายด้านหลังสลับด้วยการแอ่นยืดร่างกายด้านหน้า มีการงอเข่าสลับกับการเหยียดขาจนตึง บางจังหวะก็ต้องเกร็งแขนเพื่อส่งแรงให้เหยียดยืดหลังได้มากขึ้น

สรุปรวมความแล้ว การทำท่าไหว้พระอาทิตย์เปิดโอกาสให้เราได้ใช้ร่างกายตั้งแต่กล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นเอ็น - แทบทุกส่วนของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นขา หลัง คอ แขน และลำตัวด้านหน้า

ทั้งยังเป็นการเหยียดยืดด้านหน้าและด้านหลังในหลายอิริยาบถ ตั้งแต่ยืน นอน และกลับศีรษะในระดับหนึ่ง (เช่น ในท่ายืนก้มตัวและท่าสุนัขคว่ำหน้า)

พูดอีกอย่างว่าสูรยนมัสการเกือบจะเป็นอาสนะแบบ all in one ดังที่อาสนะชนหลายท่านกล่าวว่า หากไม่มีเวลาฝึกอาสนะอย่างเต็มที่ อย่างน้อยก็ขอให้ฝึกสูรยนมัสการวันละ ๖ ถึง ๑๒ รอบ ก็เหมือนกับได้ฝึกอาสนะครบสูตรแล้ว

ทว่าพร้อมไปกับการตระหนักและประจักษ์ในอานิสงส์ของสูรยนมัสการดังที่กล่าวมา ผมก็ได้ซึมซับรับรู้ด้วยว่า การทำท่าที่มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะได้รับประโยชน์ให้ได้เต็มที่นั้น ผู้ฝึกเองต้องมีทุนรอนหรือสร้างเงื่อนไขปัจจัยที่เหมาะสมเช่นกัน

เริ่มตั้งแต่การจำและทำท่าแต่ละท่าได้จนครบ โดยที่สูรยนมัสการบางชุดก็ประกอบด้วย ๑๒ ท่า ในขณะที่บางชุดก็มีมากกว่านั้น

ไหนจะต้องขยับเคลื่อนร่างกายจากท่าหนึ่งไปสู่อีกท่าหนึ่ง จากตำแหน่งหนึ่งไปยังอีกตำแหน่งหนึ่ง โดยที่จะต้องกะจังหวะและระยะที่จะก้าวเท้าไปหน้าหรือหลังอย่างเหมาะสม จึงจะเกิดการเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่อง - และกลมกลืน

จำได้ว่าตอนที่ผมทำสูรยนมัสการตามหลวงพี่ใหม่ๆ นั้น ทั้งสะดุดและเก้ๆ กังๆ เพราะจำท่าและกะจังหวะและระยะที่จะวางเท้าไม่ค่อยถูก

นึกถึงสภาพตอนนั้นและนำมาคิดเล่นๆ ในวันนี้ หากพระอาทิตย์ท่านเฝ้ามองผมกำลังทำท่าไหว้ท่านอยู่ในช่วงนั้น ท่านคงไม่ยอมรับไหว้ผมเป็นแน่แท้

นอกจากนี้ในสูรยนมัสการ ท่วงท่าบางท่วงท่าต้องอาศัยความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของร่างกายไม่น้อย เช่น ท่าสุนัขแหงนหน้าซึ่งแขนจะต้องรับน้ำหนักร่างกายส่วนบน โดยที่ข้อมือจะถูกน้ำหนักกดทับพอสมควร ขณะเดียวกันร่างกายด้านหน้าโดยเฉพาะส่วนบนจะต้องมีความยืดหยุ่นที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นผู้ฝึกอาจใช้วิธีกดหลังให้แนบกับพื้น (โดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม) ซึ่งอาจทำให้หลังส่วนล่างบาดเจ็บได้

ไม่นับที่ต้องพยายามทำให้การเคลื่อนไหวร่างกายและการหายใจ สอดคล้องและหลอมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน

สอดคล้องและหลอมกลืนทั้งในแง่ของทิศทางของการเคลื่อนไหวร่างกายและลมหายใจ และระยะเวลาหรือความเร็วช้าของการเคลื่อนไหวและการหายใจ

เช่น จากอัญชลีมุทราหรือท่าประนมมือ เริ่มหายใจเข้าพร้อมกับยกแขนและแอ่นหลังช่วงบน เมื่อยกแขนและแอ่นตัวจนสุด ก็หายใจเข้าจนเต็มปอดพอดี

จากนั้นหายใจออกพร้อมกับยืดขาและหลังเพื่อก้มตัวลงสู่อุตตานาสนะ(ท่ายืนก้มตัว) จังหวะที่มือสัมผัสหรือวางลงกับพื้น(สำหรับคนที่ร่างกายยืดหยุ่นจนก้มตัวเอามือแตะพื้นได้) ก็หายใจออกจนสุดพอดี

หายใจเข้า เหยียดยืดร่างกายด้านหน้า - หายใจออกเหยียดยืดร่างกายด้านหลัง สลับกันไป โดยให้การเหยียดยืดร่างกายและการหายใจเกิดขึ้นและสิ้นสุด ณ ห้วงเวลาเดียวกัน เป็นเช่นนี้ตลอดทุกท่วงท่า

หากทั้งทิศทางและความเร็วช้าของการเคลื่อนไหวและลมหายใจ สอดคล้องหลอมกลืนเป็นหนึ่งเดียวได้ทุกรอบของการฝึก การไหว้พระอาทิตย์ก็จะไหลลื่นประหนึ่งสายน้ำในลำธารที่ไหลต่อเนื่อง ไม่หมุนวนหรือซ่านกระเซ็นเพราะมีโขดหินขวางกั้น

ผมเคยเห็นบางคนที่ฝึกอาสนะใหม่ๆ แล้วทำท่าไหว้พระอาทิตย์ ส่วนใหญ่หลังจากทำได้สองสามรอบก็จะมีอาการเหนื่อยเพราะหายใจไม่ทัน ซึ่งจากเท่าที่สังเกตพบว่ามักจะกลั้นหายใจ (ส่วนใหญ่โดยไม่รู้ตัว) ในระหว่างที่เคลื่อนไหว

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ คนจำนวนไม่น้อยมักมีภาพว่าการทำอาสนะต้องเคลื่อนไหวแบบช้าๆ ซึ่งมองในแง่หนึ่งก็มีข้อดีทั้งในเรื่องของจิตใจและร่างกาย

การเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ ทำให้เราจดจ่อและเฝ้าตามการเคลื่อนไหวได้ง่ายกว่าการเคลื่อนไหวเร็วๆ ซึ่งมักเผลอสติได้ง่ายกว่า

ส่วนผลในทางร่างกาย การเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ จะทำให้ร่างกายค่อยๆ ไปสู่การเหยียดยืดทีละน้อยจนเต็มที่ ซึ่งลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บได้ง่าย นอกจากนี้เราจะสามารถรู้สึกและสดับฟังเสียงจากร่างกายได้ว่าสามารถเหยียดยืดได้แค่ไหน และสามารถจัดปรับการเหยียดยืดได้อย่างเหมาะสมและตามที่ควรเป็น

ปัญหาก็คือว่า คนที่ไม่เคยสังเกตและฝึกการหายใจมาก่อน มักจะไม่สามารถหายใจอย่างช้าๆ ได้ เพราะการหายใจช้าๆ และเต็มที่ได้ จะต้องมีทรวงอกและกระบังลมที่ยืดหยุ่น และสามารถบังคับให้โครงสร้างในการหายใจของเราเคลื่อนอย่างช้าๆ ได้

อีกทั้งต้องการความจดจ่ออย่างต่อเนื่อง จึงจะควบคุมการหายใจให้ช้าๆ และสม่ำเสมอได้

ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไป ผมคิดว่ายากที่เราจะหายใจอย่างช้าๆ ได้ (แม้ว่าจะอยากและพยายามจะหายใจให้ช้าก็ตาม)

ผลก็คือถึงแม้จะสามารถเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ ได้ แต่ไม่สามารถบังคับหรือฝืนร่างกายให้หายใจอย่างช้าๆ ได้ ทำให้บางคนยืดตัวขึ้น(จากท่าก้มตัว)มาได้ครึ่งทาง ลมหายใจเข้าก็สุดแล้ว ตอนที่ยืดตัวขึ้นในช่วงหลัง จึงมักเผลอกลั้นลมหายใจ

คนที่หายใจสั้นจึงมักเหนื่อยหรือถึงกับหอบหลังจากทำท่าไหว้พระอาทิตย์ไปได้ไม่กี่รอบ เพราะร่างกายเคลื่อนไหวแต่ลมหายใจขาดช่วงติดต่อกัน

ความรู้ที่ซึมซับจากครูบวกกับประสบการณ์ที่ค่อยๆ สั่งสมมากขึ้น และการสังเกตจากตัวเองและผู้ที่ผมแลกเปลี่ยนการฝึกอาสนะด้วย ทำให้ผมมักไม่ค่อยแนะนำท่าไหว้พระอาทิตย์สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มฝึกอาสนะ โดยเฉพาะคนที่มีข้อจำกัดทางร่างกายมากๆ

...ที่คลินิกของเพื่อนในดูไบ...เย็นวันนั้นผมจึงแนะนำอาสนะแบบง่ายๆ ให้คนไข้แทนที่จะให้เธอทำสูรยนมัสการตามคำปรารภของเพื่อน

หมายเหตุนอกบรรทัด :
หลังจากคอลัมน์ "โยคะวิวาทะ" เปิดมาเกือบครึ่งปี โดยหวังให้เป็นเวทีสาธารณะในการแลกเปลี่ยนมุมมองหรือบอกเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับโยคะ รวมทั้งเป็นคอลัมน์ที่ผู้อ่านสามารถถามไถ่ปริศนาหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับโยคะด้วย ทว่ากระแสตอบรับในช่วงที่ผ่านมาช่างแผ่วเบาราวราตรีอันสงัด ในเมื่อพื้นที่ในคอลัมน์นี้ไม่อาจทำหน้าที่เป็นเวทีของการผลัดกันเขียนเวียนกันคุยได้ ผมในฐานะของคนที่เสนอให้มี "โยคะวิวาทะ" จึงขอยุติคอลัมน์ "โยคะวิวาทะ" ตั้งแต่ฉบับนี้เป็นต้นไปครับ



มูลนิธิหมอชาวบ้าน

2220/101 ซอยรามคำแหง 36/1  ถนนรามคำแหง  แขวงหัวหมาก  
เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  10240  
โทรศัพท์  02-732-2016 - 17, โทรสาร 02-732-2811 มือถือ 081-401-7744 ; 
E-mail: [email protected] ; www.thaiyogainstitute.com

 

หมายเลขบันทึก: 278935เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2009 01:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท