บันทึกแค้มป์บ้านกร่าง ตอนที่ 3


บ้านกร่าง

การเข้ามาอยู่ในบังไพรนั้นพบว่ามีคุณสมานเบิร์ดแคมป์ มากางอยู่ด้วยแล้ว คุณสมานก็ถามว่ามาอย่างไร ดูเหมือนจะเป็นคำถามที่คาดคั้นหรือจะเป็นการแสดงความเป็นคนคุ้นเคยสถานที่สำหรับคนมาใหม่ได้ชัดเจนทีเดียว หากว่าเป็นเด็กก็คงลนลานอยู่เหมือนกัน แต่เนื่องจากผู้เขียนมาด้วยกับเจ้าหน้าที่ของแคมป์บ้านกร่างจึงดูมีน้ำหนักให้นิ่งได้ระดับหนึ่ง หลังจากทักทายกันแล้วผู้เขียนก็เข้าไปอยู่ในบังไพรของน้าตุ๋ยที่กางทิ้งไว้แต่เช้าไว้แล้ว ทำการถ่ายภาพนกแต้วแล้วเรื่อยไป

การถ่ายภาพครอบครัวนกแต้วแล้วนี้สามารถถ่ายได้ในระยะรัศมี ไม่น้อยกว่า 10 เมตร ซึ่งจะมีเชือกฟางที่เจ้าหน้าที่เขาได้ผูกแสดงระยะเอาไว้ เพื่อว่าจะได้ไม่เป็นการรบกวนนกที่กำลังป้อนอาหารให้ลูกอยู่ นกแต้วแล้วก็ถือได้ว่าเป็นนกนักเลงอยู่เหมือนกัน ไม่กลัวว่าเป็นมนุษย์หรือเป็นอะไร พ่อแม่นกพร้อมจะส่งเสียงขู่และไล่สิ่งรบกวนได้ตลอดเวลาหากว่าประเมินแล้วว่าเขาสามารถจัดการได้ แต่หากว่าจัดการไม่ได้ก็จะเกาะอยู่ที่คบคาส่งเสียงตะแบงไล่ผู้รุกราน นับว่านกสายพันธุ์นี้ใจกล้าใจเด็ดอยู่ไม่น้อย ระหว่างที่ถ่ายรูปครอบครัวนกนี้จะต้องนั่งเงียบ ไม่เช่นนั้นแล้วนกก็จะไม่มาป้อนใส้เดือนให้ลูก หรือไม่การได้ภาพนกกะได้ภาพที่ไม่สมบูรณ์เนื่องจาก พ่อแม่นกไม่ไว้ใจสิ่งแปลกปลอม ทำให้เวลาถ่ายภาพนกจะได้ภาพที่ไม่สวยภาพสั่น อันเนื่องมาจกปริมาณแสงที่น้อยเกินไปไม่ทันกับจังหวะการขยับตัวของนก

การถ่ายภาพนกนั้นผู้เขียนใช้เลนส์ระยะ 300 มม. เป็นเลนส์เดี่ยว ซึ่งเลนส์ระยะนี้ถือว่าได้กำลังเหมาะไม่ใกล้ไม่ไกลกับแบบนกที่จะถูกบันทึกบนจอรับภาพของกล้องดิจิตอลในสมัยนี้ กล้องDSLR ในปัจจุบันกับเทคโนโลยีมันก้าวล้ำไปไกลโขทีเดียว บอดีที่ผู้เขียนใช้สำหรับงานนี้คือ 20D Canon เลนส์ที่ใช้เป็น Canon EF 300mm f/4 USM L IS ใช้ขาตั้งกล้องเป็น Manfonto รุ่น 190 ใช้หัวยี่ห้อเดียวกัน รุ่น 141RC การถ่ายรูปในสภาพแสงต่ำ ๆ ขนาด iso 400 ความเร็ว 1 วินาที ที่หน้ากล้อง 5.0 ไม่ง่ายเอาเสียเลย ขาตั้งกล้องแล้ว สายลั่นก็แล้ว ต้องใช้โหมดล๊อคกระจกเพิ่มอีกต่างหาก ไม่เช่นนั้นแล้วภาพที่ได้ มีแต่สั่นกับสั่นทุกภาพ สิ่งที่ผู้เขียนเจอคือภาพที่บันทึกได้ไม่มีความคมเอาเสียเลย ทำให้ลบภาพที่ถ่ายนั้นทิ้งไปแทบทั้งหมด แสงไฟแฟลชนั้นกับการถ่ายนกป่าผู้เขียนไม่เคยนิยมใช้เลย เพราะดูอย่างไรมันก็ไม่ธรรมชาติ ภาพที่เปิดดูจากการบันทึกได้นั้นเป็นสิ่งที่ดีว่า ผลงานของเรานั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร ดีหรือไม่ดีหมายถึง องค์ประกอบภาพ แสง สี ความคมชัด ได้หรือไม่ หากว่าไม่ได้ก็ทำการลบภาพนั้นทิ้งออกไปได้เลย เพื่อว่าเมมโมรีการ์ดนั้นจะได้มีที่ว่างกับภาพต่อ ๆ ไป สิ่งที่คู่กับการถ่ายภาพนกคือการรอ การทดทนที่จะรอรอพ่อแม่นกมาป้อนใส้เดือนให้ลูกความถี่ไม่เหมือนกัน น้าหมูเล่าให้ฟังว่า ปกตินกจะขยันป้อนใส้เดือนให้กับลูกช่วงเช้าตรู่ด้วยเพราะตลอดคืนนกไม่ได้กินอะไรเลย แต่การถ่ายยามเช้าตรู่ก็ต้องแลกกับแสงที่น้อยมาก เป็นการแลกเปลี่ยน หากว่าแดดจัดไปแล้ว เช่นตอนเที่ยงหรือตอนบ่ายไปแล้ว นกจะเข้ารังมาป้อนอาหารนกนาน ๆ จะมาซักครั้ง

http://aheontour.multiply.com/photos/album/96/The_1st_time_with_Blue_Wing

การเข้ามาอยู่ในบังไพรของน้าตุ๋ยนั้นมีกลิ่นบุหรี่เต็มไปหมดเนื่องจากน้าตุ๋ยแกติดบุหรี่ ด้วยความอยากได้ภาพนกก็ต้องทนกลิ่นเอา แต่ถ่ายไปได้ซักพักลุงสมานเบิร์ดแคมป์แกก็เก็บเต็นท์กับกล้องลาจากไป เหลือผมอยู่ถ่ายเพียงคนเดียว แต่ก็ถ่ายได้ไม่นานนัก ซักพักหนึ่งคณะของน้าตุ๋ย ที่หลังจากไปส่งของที่แคมป์พัก กลับมาที่เดิม มาถ่ายรูปนกแต้วแล้วที่ว่านี้ ซึ่งตัวผู้เขียนเองก็ต้องกางบังไพรของตัวเองทันที ด้วยเพราะการถ่ายเจ้านักแต้วแล้วนี้ต้องใช้บังไพรเท่านั้น ทุก ๆ คนของคณะเรา 5 คน ได้แก่ น้าตุ๋ย เจ้มีน เจ้เอ เจ้น๊อคและน้าหมู ต่างก็ไปอยู่กันในบังไพรของน้าตุ๋ย มีแต่ผู้เขียนคนเดียวที่แยกตัวออกมา ถ่ายไปได้ซักพักเห็นท่าว่านกมันลงมาให้ถ่ายนาน ๆ จะลงมาซักครั้ง อีกทั้งสุขภาพน้าตุ๋ยเองก็มีปัญหาเรื่องระบบท้อง น้าตุ๋ยจะส่งเสียงคุย บ่น สอนเด็กใหม่ที่เพิ่งหัดถ่ายนก รวมทั้งเสียงของผ้าใบรองพื้นมันดังตลอด เสียงรบกวนเหล่านี้มันมีผลให้พ่อแม่นกแต้วแล้วกังวนและไม่ค่อยลงมาป้อนใส้เดือนให้ลูกนกที่มีอยู่ 2 ตัวเหมือนอย่างที่เคยบินลงมาป้อน น้าหมูเลยตัดบทขอให้พวกเรากลับที่พัก ให้คณะเราค่อยมาถ่ายใหม่ในวันรุ่งขึ้น ด้วยเหตุผลว่า ตอนบ่าย ๆ นั้นนกไม่ค่อยลงมาป้อนใส้เดือนลูกเหมือนตอนเช้าที่ พ่อแม่นกจะขยันที่จะลงมาป้อนใส้เดือนให้ลูก ๆ เลยให้ไปถ่ายผีเสื้อ ถ่ายนกบริเวณใกล้ ๆ ที่พักดูจะน่าสนใจกว่าการได้อยู่เฝ้าถ่ายครอบครัวนกแต้วแล้วในเวลานี้ น้ำตุ๋ยหัวหน้าทีมเห็นชอบที่จะเก็บบังไพรแล้วไปทำกิจกรรมดังว่าตามน้าหมู

รูปจากhttp://aheontour.multiply.com/photos/album/96/The_1st_time_with_Blue_Wing

          ระหว่างทางกลับเจอรังนกพญาปากกว้างท้องแดงอยู่หลายรังเหมือนกัน นับได้ว่าแค้มป์บ้านกร่างนี่คือสวรรค์ขอนักดูหรือถ่ายนกเลยทีเดียว ไม่ว่ามองไปทางไหน นกมันเยอะจริง ๆ แต่นกป่าก็คือนกป่า การจะได้เจอพวกเขาต้องมีวิธี การไปดู ไปถ่ายต้องศึกษาพฤติกรรมนก เข้าใจนิสัยนก ไม่เช่นนั้นแล้ว ในป่ามีแต่ต้นไม้และเสียงของนก การได้เห็นตัวนกเป็นเรื่องที่ยากมาก รวมทั้งเจ้าพญาปากกว้างที่กล่าวถึง น้าหมูบอกว่าระหว่างนี้ นกพญาปากกว้างทิ้งรังกันไปหมดแล้ว ครอบครัวนกชนิดนี้พอลูก ๆ ไปหากินอยู่ในป่า หรือตรงไหนซักที่หนึ่งซึ่งเอาแน่นอนไม่ได้ที่จะพบพวกเขา การมาช่วงนี้จึงไม่ค่อยจะอเนกเหมือนช่วงฤดูกาลอื่น ๆ หากว่าสนใจและอยากมีก็ต้องมาในช่วงหน้าหนาว หน้าร้อน จะมีนกสารพัด แสงแดด ผีเสื้อ ชนิดนก รวมไปถึงช้างพลายประจำแค้มป์รอต้อนรับ

อ่านต่อตอนที่ 4

หมายเลขบันทึก: 278162เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2009 18:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวัสดีค่ะ
  • ขอติดตามเรื่องราวของนกนะคะ
  • ขอบคุณค่ะ

ต้อง......เรือง ...ถ่ายรูปนกด้วยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท