แตงไทย
นฤมล ชื่อเล่น "แตงไทย" (สำหรับครอบครัว), "แตงอ่อน" (สำหรับเพื่อนๆ), "I tang" (สำหรับพี่ๆ ทั้งหลาย) จันทรศรี

ไวราคยะ : การบรรลุถึงการดับการปรุงแต่งของจิต (๑)



เว็บศูนย์รวม "โยคะสารัตถะ


ไวราคยะ :
การบรรลุถึงการดับการปรุงแต่งของจิต
(๑)

วีระพงษ์ ไกรวิทย์ (ครูโต้)
และจิรวรรณ ตั้งจิตเมธี (ครูจิ)
โยคะสารัตถะ ฉ.; พ.ค.'๕๒

ขอเท้าความในฉบับที่แล้วกันสักนิด (เข้าอ่านที่นี่) ฉบับก่อนได้พูดถึงการบรรลุถึงการดับการปรุงแต่งของจิตซึ่งปตัญชลีแนะนำให้ทำ ๒ วิธีคือ อภยาสะและไวราคยะ (หรือการฝึกปฏิบัติและการถอดถอน/ละวาง) และได้อธิบายถึงอภยาสะโดยละเอียด สรุปก็คือ

อภยาสะเป็นความเพียรที่จะฝึกฝนปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อให้เข้าถึงสภาวะที่มีเสถียรภาพอันเป็นที่ปรารถนาของผู้ฝึกโยคะทั้งหลาย และการฝึกปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหล่านั้นจะตั้งมั่นได้ก็ด้วยเงื่อนไข ๓ อย่างคือ

๑) การฝึกต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน
๒) การฝึกเป็นประจำสม่ำเสมอ
๓) การมีทัศนคติหรือจิตใจที่เปิดว่างและพึงพอใจ

ฉบับนี้จะอธิบายถึงไวราคยะซึ่งปรากฏอยู่ในโยคะสูตรบทที่ ๑ ประโยคที่ ๑๕ กล่าวว่า "ทฤษฏานุศรวิกวิษยะวิตฤษณสยะ วศีการสัมชญา ไวราคยัม" มี ๒ ความหมายคือ

๑) ไวราคยะหรือการถอดถอน(ละวาง) ของผู้ที่ไม่สนใจในทุกๆ สิ่งที่ได้เห็นหรือได้ยินจากภายนอก เรียกว่า "วศีการะ"

หรือ

๒) ไวราคยะคือสิ่งซึ่งมีความตระหนักรู้ในการก้าวพ้นจากความต้องการ(ตัณหา) ทางวัตถุหรือทุกๆ สิ่งที่ได้เห็นหรือได้ยินจากภายนอก

ปตัญชลีไม่ได้อธิบายไวราคยะตามความหมายดังกล่าวข้างต้น และไม่ได้ให้ความสำคัญกับไวราคยะขั้นพื้นฐานมากนัก แต่เน้นอธิบายถึงขั้นที่สูงมากๆ ของไวราคยะซึ่งมีความหมายและความสำคัญในแง่ของการปฏิบัติโยคะ เหตุผลอาจจะเป็นไปได้ว่าคำว่าไวราคยะมีคำอธิบายในตัวเองอยู่แล้ว โดยคำนี้เป็นคำนามมาจาก "วิ" แปลว่า ไม่ หรือปราศจาก และคำว่า "ราคะ" (มาจากคำกริยา รชะ แปลว่า ชอบ หรือ ดึงดูด) คือ ความชอบ ความรัก หรือ การยึดติดผูกพัน ส่วนคำว่า "ยะ" เป็นคำปัจจัย(ลงท้าย) เพื่อทำให้เป็นคำนามบ่งบอกถึงสภาวะ ดังนั้นความหมายของคำว่า ไวราคยะ โดยตรงแล้วจึงหมายถึง การไม่ยึดติดผูกพัน หรือการถอดถอน ละวางนั่นเอง

คำว่า "สัมชญา" มีสองความหมายที่แตกต่างกัน ถ้าสัมชญาที่แปลว่า การตั้ง การระบุ ตามความหมายนี้ได้มีการจัดแบ่งการพัฒนาไวราคยะออกเป็น ๔ ขั้น ได้แก่

๑) ยตมานะ (สัมชญา หรือ สัมชญกะ)
๒) วยติเรกะ
๓) เอเกนทริยะ
๔) วศีการะ

ทั้ง ๔ คำหรือขั้นตอนนี้ค่อนข้างจะมีคำอธิบายในตัวเอง อย่างคำแรก "ยตมานะ" ยตะ แปลว่า พยายาม + มานะ แปลว่า ผู้ที่มี ผู้ที่เป็นเจ้าของ นี่คือขั้นแรกสุดของการพัฒนาไวราคยะ สำหรับการพัฒนาไวราคยะนั้นผู้ฝึกต้องเข้าใจความสำคัญและความจำเป็นของโยคะหรือการพัฒนาจิตวิญญาณ นั่นคือในเบื้องต้นผู้ฝึกต้องปลุกความต้องการที่จะพัฒนาการถอดถอน/ละวางจากวัตถุหรือสิ่งต่างๆ ให้มีขึ้นในตัวเสียก่อน จากนั้นเขาจึงเริ่มที่จะพยายามพัฒนาทัศนะเช่นนี้ และทันทีที่เขาเริ่มพยายามที่จะพัฒนาทัศนะของการถอดถอน/ละวางนี้ เขาย่อมอยู่ในสภาวะของยตมานะ ก็คือ ผู้ประกอบความเพียร

ต่อมาในขณะที่ผู้ฝึกเริ่มลงมือปฏิบัติความเพียรนั้น ทัศนะของการถอดถอน/ละวางก็จะค่อยๆ เติบโตขึ้นทีละเล็กละน้อย ผู้ฝึกจะเกิดประสบการณ์ในลักษณะเดียวกันคือ ภาวะความชอบหรือการยึดติดผูกพันกับสิ่งต่างๆ ของบุคคลนั้นจะแปรเปลี่ยนไปตามแรงหรือกำลังที่ยึดติดกับมัน ดังนั้นผู้ฝึกอาจสามารถขจัดบางสิ่งบางอย่างออกไปได้ง่ายเพราะสิ่งนั้นมีกำลังที่จะดึงดูดใจเขาได้น้อย แต่สำหรับสิ่งยึดติดผูกพันอย่างอื่นๆ ที่ลึกซึ้งหรือมีกำลังมากกว่าอาจยากที่จะขจัดออก ฉะนั้นในขั้นที่สองของไวราคยะผู้ฝึกได้ถอดถอน/ละวางการยึดติดหรือความต้องการต่อสิ่งเหล่านั้นออกไปบ้างแต่ยังไม่ทั้งหมด เพราะยังไม่สามารถถอดถอน/ละวางสิ่งอื่นๆ บางอย่างได้ ในขั้นนี้เรียกว่า "วยติเรกะ" ซึ่งหมายถึง การขจัดออกไปบางส่วน

โดยปกติคนเราเมื่อรับรู้วัตถุหรือสิ่งต่างๆ จะรู้สึกสนุกเพลิดเพลินกับมันโดยผ่านประสาทสัมผัสในช่องทางต่างๆ (๕ ช่องทาง) ความเพลิดเพลินนี้จะนำไปสู่การยึดติดผูกพัน

ในขั้นตอนที่ สามนี้ผู้ฝึกจะเชี่ยวชาญจนสามารถควบคุมประสาทสัมผัสได้สี่ช่องทาง ยกเว้นอีกเพียงหนึ่งช่องทางที่ยากจะควบคุมได้ ในขั้นนี้ความเพลิดเพลินในสิ่งต่างๆ ผ่านทางประสาทสัมผัสทั้งสี่นั้นจะหมดไป แต่เขายังคงเพลิดเพลินยินดี(ยินร้าย) กับสิ่งต่างๆ ที่รับรู้ผ่านทางประสาทสัมผัสที่เหลืออีกหนึ่งช่องทาง

ซึ่งประสาท สัมผัสหนึ่งช่องทางนั้นจะเป็นด่านสุดท้ายที่ยากที่สุดที่จะขจัด ออกไปได้ และประสาทสัมผัสอย่างสุดท้ายที่ยากที่สุดนี้ก็จะแตกต่างกันไปตามธรรมชาติของ แต่ละบุคคล ตัวอย่างเช่น

คนหนึ่งอาจพบว่าความเพลิดเพลินในรสชาติเป็นสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับเขาที่จะ ควบคุมได้
แต่สำหรับอีกคนหนึ่งอาจจะเป็นความเพลิดเพลินในการมองเห็น หรือการได้ยินได้ฟังสิ่งต่างๆ ก็ได้

ดัง นั้นขั้นที่สามของการพัฒนาไวราคยะจึงได้ชื่อว่า "เอเกนทริยะ" ซึ่งหมายถึง เหลืออีกเพียงหนึ่งประสาทสัมผัสที่ยังทำงานตามปกติอยู่ ยังไม่สามารถควบคุมได้

ในขั้นที่สี่ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายตามลำดับของการพัฒนาไวราคยะคือ "วศีการะ" ซึ่งหมายถึงมีความเชี่ยวชาญอย่างสมบูรณ์หรือสามารถขจัดความอยาก(ตัณหา) ที่เคยเพลิดเพลินผ่านทางประสาทสัมผัสทั้งหลายออกไปได้อย่างหมดจด ผู้ที่เข้าถึงไวราคยะในขั้นนี้เรียกได้ว่าเป็นผู้ตัดกิเลสได้ดั่งใจ


อ่านบทความถัดไป
ไวราคยะ : การบรรลุถึงการดับการปรุงแต่งของจิต (๒)
 

 



มูลนิธิหมอชาวบ้าน

2220/101 ซอยรามคำแหง 36/1  ถนนรามคำแหง  แขวงหัวหมาก  
เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  10240  
โทรศัพท์  02-732-2016 - 17, โทรสาร 02-732-2811 มือถือ 081-401-7744 ; 
E-mail: [email protected] ; www.thaiyogainstitute.com

หมายเลขบันทึก: 277551เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2009 22:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท