เมื่อต้องไปให้ความเห็นเรื่องนี้ ผมจึง BAR กับตัวเองว่า ควรให้ข้อคิดเห็นอย่างไร ผมคงค่อยๆ นึกไป เสนอแนะไป หลายๆ ส่วนที่เป็นความเห็นของผมคงจะใช้ไม่ได้ เพราะไม่ทำให้ได้คะแนนเสียง เรื่องแบบนั้นผมไม่ถนัด
ผมฟันธงเลย ว่าที่ผ่านมานโยบาย วทน. (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม) ของประเทศล้มเหลวในด้านการส่งเสริมให้คนไทยคิดเชิงวิทยาศาสตร์ (scientific thinking) ผมว่ากระแสไสยศาสตร์ดูจะชนะด้วยซ้ำ
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะการส่งเสริมการเรียนรู้เชิงวิทยาศาสตร์น่าจะผิดทาง คือเน้นเฉพาะนักเรียนนักศึกษาสายวิทย์ จริงๆ แล้วต้องส่งเสริมให้แก่นักเรียนนักศึกษาทุกสาย และแก่คนทั่วๆ ไปทุกกลุ่มอายุ/อาชีพ ด้วย เราไม่ได้เอาใจใส่เรื่องนี้อย่างจริงจัง
ดังนั้นข้อเสนอที่ ๑ ของผมคือ นโยบายการส่งเสริมการคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์แก่สังคมไทย จะส่งเสริมแก่นักเรียนสายอาชีพอย่างไร แก่นักเรียนสายศิลป์อย่างไร แก่คนทั่วไปอย่างไร ฯลฯ และข้อเสนอที่ ๒ คือ กระทรวงวิทย์อย่าเน้นทำเอง ไม่ว่าเรื่องใด วทน. สำคัญต่อบ้านเมืองเกินกว่าที่จะเก็บไว้ในมือนักวิทย์ และกระทรวงวิทย์ ให้ทำ mapping ว่ามีโครงการใดบ้าง กิจกรรมใดบ้างที่มีคน/หน่วยงาน ทำอยู่แล้วและได้ผลดี กระทรวงวิทย์เข้าไปหนุน และชวนหน่วยงานอื่นๆ เข้าไปหนุน
เป็นชีวิตที่หัดคิดภาพใหญ่ ภาพเชิงนโยบาย
วิจารณ์ พานิช
๒๘ มิ.ย. ๕๒
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich ใน KMI Thailand
กราบสวัสดีค่ะท่านอาจารย์ใหญ่ KMI Thailand ที่เคารพรักเป็นอย่างสูง
จิตวิทยาศาสตร์ จิตคิดภาพใหญ่ จิตรักความดี ความงาม ความจริง เป็นสิ่งที่ขาดหายไปจากกระบวนการสร้างการเรียนรู้ของครูในวันนี้ เพราะ สภาพงานการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนและสถานศึกษาต่างมุ่งสู่วิชาการ เนื้อหา ที่คิดว่าเป็นแก่นความรู้ของสาระวิชาที่ตนเป็นผู้สอนเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในภาพของคะแนนโอเน๊ตและร้อยละที่ต้องเพิ่มทุกปีการศึกษา.......ทำให้ลืมไปว่าภาพใหญ่แห่งฝันที่เป็น
จิตวิญญาณของครูผู้เป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความดีของแผ่นดินคือ ภาพใดกันแน่ คะแนนหรือความรุ้ที่คงทนในตัวผู้เรียนที่เป็นคุณลักษณะบุคคลแห่งการเรียนรู้เพื่อสร้างชาติไทยให้เข้มแข็งในวันข้างหน้า
กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ใหญ่ที่ให้ข้อคิดนี้แล้วใครคือ ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงจิตวิทยาศาสตร์สู่จิตใหญ่ให้ครูกู้แผ่นดิน