เก็บสารมาฝาก


เรื่องราวน่าพินิจทางปรัชญาและศาสนา

เมื่อเช้าผมได้พูดถึงอาจารย์ท่านหนึ่ง หลังจากทานอาหารเที่ยง ผมตั้งใจว่าจะเปิดหาหนังสือที่ผมต้องการทางเวป หาไปหามาเนื้อความหนึ่งก็โผล่ขึ้น ผมจึงสืบค้นต่อไปและพบกับบทความของ อาจารย์สมภาร ค้นต่อไปอีกจึงทราบว่าเป็นเนื้อหาในเวปกลุ่มเสขิยธรรม เมื่ออ่านจบ ผมคิดว่าผมได้ความรู้บางอย่างทั้งที่เคยรู้และไม่เคยรู้มาก่อน เนื้อหาในเวปนั้น เป็นเนื้อหาให้เปล่าผมขออนุญาตนำมาลงเฉพาะสองวรรคสุดท้าย ส่วนตอนต้นของเนื้อหาหากใครประสงค์จะอ่านก็ไปค้นได้จากเวปเสขิยธรรม

อนึ่ง เนื้อหานี้ ดูเหมือนว่าอาจารย์ท่านเร่งรีบ คงไม่ได้เขียนจากความรู้สึกเยือกเย็นใจ

--------------------

สมภาร พรมทา

....................... ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นการพิจารณาศาสนาของอินเดียจากประเด็นการตัดสินค่าทางจริยธรรม ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้ประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นคือประเด็นว่าอะไรคืออุดมคติสูงสุดของชีวิต อันที่จริงประเด็นนี้อาจถือได้ว่าสำคัญกว่าประเด็นแรกเสียด้วยซ้ำ หากเราคิดว่าแนวความคิดทางปรัชญาและศาสนาของอินเดียนั้น โดยภาพรวมล้วนมุ่งแสวงหาว่า อะไรคือจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตด้วยกันทั้งสิ้น

          เราอาจแบ่งปรัชญาและศาสนาของอินเดียออกเป็นสองพวกในเรื่องที่กำลังกล่าวอยู่นี้ คือ

(๑) พวกที่เห็นว่าเป้าหมายสูงสุดของชีวิตคือการแสวงหาความสุขทางประสาทสัมผัสใส่ตน ปรัชญาที่มีแนวคิดนี้คือปรัชญาจารวาก
(๒) พวกที่เห็นว่าความหลุดพ้นไปจากความทุกข์ อันเนื่องมาจากการต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ คือเป้าหมายสูงสุดของชีวิต ศาสนาที่เห็นในแนวนี้ก็คือศาสนาโดยทั่วไปของอินเดียอันได้แก่ศาสนาฮินดู พุทธศาสนา และศาสนาไชนะที่เรากล่าวถึงมาแล้ว

          ปรัชญาจารวากนั้นไม่เชื่อว่ามีชีวิตหลังความตาย ไม่เชื่อว่ามีวิญญาณที่จะล่องลอยไปเกิดใหม่หลังจากที่คนเราตายแล้ว เมื่อไม่เชื่ออย่างนี้เลย ทำให้คิดว่าการที่คนเรามีโอกาสได้เกิดมาดูโลกในช่วงระยะเวลาราว ๗๐ ปีโดยประมาณนี้ต้องถือว่าเป็นโอกาสที่สำคัญ ตายไปแล้วไม่แน่ว่าเราจะได้เกิดอีกหรือไม่ เมื่อไม่แน่ใจ เราจะอุทิศชีวิตให้แก่อะไร ระหว่างความสุขที่สามารถจับต้องได้แน่ ๆ ในชาตินี้กับความหลุดพ้นที่ศาสนาต่าง ๆ ของอินเดียสอนอยู่ในเวลานั้น สำหรับปรัชญาจารวากการเลือกที่ฉลาดก็คือการเลือกสิ่งที่จับต้องได้และแน่นอนว่ามีตัวตนอยู่จริง ๆ

          ปรัชญาจารวากคิดว่าคนที่เข้าใจชีวิตก็คือ คนที่รู้จักตระเตรียมตัวเองเพื่อให้สามารถมีความสุขในโลกนี้ การตระเตรียมที่ว่านี้ก็เช่นเมื่อเป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น เป็นหนุ่มสาวก็ต้องรู้จักขวนขวายเรียนหนังสือ เมื่อเรียนจบแล้วก็รู้จักทำงานสร้างเนื้อสร้างตัว มีคนรัก แต่งงาน และรู้จักใช้เงินทองที่หามาได้นั้นซื้อหาความสุขใส่ตัว ความสุขในที่นี้ปรัชญาจารวากแบ่งออกเป็นหลายระดับ ตั้งแต่สุขหยาบ ๆ เช่นสุขจากการกินดื่มไปจนถึงสุขที่ประณีตเช่นการมีครอบครัวมิตรสหายที่อบอุ่น โดยสรุป ปรัชญาจารวาก ไม่เชื่อเรื่องสวรรค์ที่เราจะได้ไปพบหลังจากตายแล้ว อย่างที่ศาสนาทั้งหลายในอินเดียสอน แต่เชื่อว่าหากจะมีสวรรค์ สวรรค์นั้นก็อยู่ในโลกนี้แหละ เรานั่นเองที่จะเป็นผู้สร้างสวรรค์ให้แก่ตนเอง หาใช่ใครไม่

          ศาสนาฮินดู พุทธ และไชนะไม่คิดว่าความสุขทางกายในโลกนี้จะเป็นสิ่งสำคัญ พุทธศาสนาวิจารณ์ว่าจริง ๆ แล้วสิ่งที่เรียกว่าความสุขของมนุษย์นั่นล้วนแล้วแต่แฝงความทุกข์อยู่ด้วยเสมอ ขณะมีความรัก เราอาจคิดว่าชีวิตเป็นสุข แต่วันหนึ่งเมื่อคนที่เรารักต้องแยกทางจากเราไป หรือตายจากเราไป เราจะพบว่าท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่เป็นความจริงของชีวิตหาใช่ความสุขไม่ หากแต่คือความทุกข์ต่างหาก พระพุทธเจ้าสอนว่าเราแต่ละคนท้ายที่สุดแล้วก็ต้องเดินทางเข้าหาความตายอย่างโดดเดี่ยวเพียงลำพังทั้งสิ้น ขณะที่เรานอนรอความตายอยู่บนเตียงในโรงพยาบาลนั้น ใคร ๆ ก็ช่วยอะไรเราไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นคนรักเราเช่นสามี ภรรยา ลูก พ่อแม่ หรือมิตรสหาย เราแต่ละคนจะต้องเดินเข้าไปหาความตายที่มืดมิดนั้นเพียงลำพัง เมื่อสัจธรรมของชีวิตเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ฉลาดน่าจะได้แก่การเตรียมตัวเดินทางเข้าสู่ความตายอย่างผู้มีปัญญา พุทธศาสนาและศาสนาโดยทั่วไปในอินเดียเชื่อว่าการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้เป็นเรื่องชั่วคราว เรายังมีชีวิตที่จะต้องสืบต่อไปอีกยาวนานหลังจากที่เราตายแล้ว พุทธศาสนานิกายวัชรยานของทิเบตกล่าวว่าความตายก็เหมือนช่วงพระอาทิตย์ตก พระอาทิตย์ไม่ได้หายไปไหน แต่รอเวลาที่จะกลับมาอีกครั้ง การมุ่งหาความสุขในโลกนี้จะทำให้เราไม่รู้จักตระเตรียมตัวเพื่อเผชิญหน้าโลกหลังความตาย ในโลกหลังความตายนั้นมีสุขที่ดีกว่าประณีตกว่าสุขในโลกนี้อย่างไม่อาจเทียบกันได้ คนฉลาดคือคนรู้จัดอดเปรี้ยวไว้กินหวาน พวกจารวากนั้นคือพวกไม่รู้จักรอสิ่งดีกว่าที่จะมาถึง

          แม้ว่าพุทธศาสนาจะเน้นเรื่องโลกหน้า แต่ก็มีความคิดว่าขณะที่อยู่ในโลกนี้เราก็สามารถมีความสุขได้ในบางระดับ แต่สุขที่พุทธศาสนาสอนไม่ใช่สุขทางกายอย่างที่ปรัชญาจารวากสอน พุทธศาสนาคิดว่าการรู้จักกินดื่มหาความสุขใส่ตัวนั้น สัตว์เดรัจฉานมันก็รู้จักทำเท่าที่สติปัญญาของมันจะเอื้ออำนวย ถ้ามนุษย์เราเกิดมาเพียงเพื่อหาสุขใส่ตัว เราก็คงไม่ประเสริฐกว่าสัตว์ พุทธศาสนาคิดว่าเราควรใช้ชีวิตอย่างผู้ประเสริฐ อะไรทำให้เราเป็นผู้ประเสริฐ คัมภีร์พุทธศาสนาตอบว่าธรรม ธรรมในที่นี้ก็คือการรู้จักใช้ปัญญาไตร่ตรองว่าอะไรคือแก่นสารของความเป็นคน เด็กสาวหรือเด็กหนุ่มที่เอาแต่แต่งตัวและสนใจแต่หน้าตาตัวเอง ว่าจะเป็นที่พึงใจของเพศตรงข้ามหรือไม่ ตามหลักพุทธศาสนายังไม่ถือว่าเข้าใจชีวิต เราอาจจะสนใจตัวเองก็ได้เพราะเรายังเป็นปุถุชน แต่ก็ควรสนใจเรื่องที่ประเทืองสติปัญญาอันไม่เกินกว่าวัยของเราที่จะเข้าใจด้วย นอกจากนี้พุทธศาสนาก็เสนอว่า การศึกษาควรเตรียมเยาวชนให้เป็นผู้รู้จักแยกแยะว่าอะไรคือความจริงความลวงด้วย ยิ่งในโลกสมัยใหม่ที่ระบบการโฆษณาสินค้าพยายามยั่วยุให้เราแยกไม่ออกระหว่างสองสิ่งนี้ การศึกษาชนิดนี้ยิ่งจำเป็นมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

 

          สังคมไทยปัจจุบันรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกมาเป็นแบบ ทำให้วัฒนธรรมที่อยู่ใกล้ ๆ กับเรานี้คือวัฒนธรรมอินเดียถูกมองข้ามไป พุทธศาสนาและศาสนาฮินดูนั้นยังมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมไทยอยู่ แม้จะอ่อนกำลังลงไปมาก แต่สิ่งนี้ย่อมสะท้อนให้เห็นว่าวัฒนธรรมอินเดียยังมีรากที่หยั่งลึกพอสมควรในสังคมเรา เมื่อเรารับวัฒนธรรมอินเดียมานั้น เราได้พยายามปรับให้เป็นไทย และเราก็ปรับได้มากทีเดียวดังจะเห็นได้จากการที่พุทธศาสนาอย่างไทยนั้น ต่างไปจากพุทธศาสนาอย่างอินเดียและอย่างลังกาพม่าเป็นต้น การที่เรามีทุนทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงไปหาอินเดียอยู่นี้ อาจทำให้เป็นเงื่อนไขที่ดีที่เราจะลองพิจารณาศึกษาวัฒนธรรมอินเดียในแง่ใหม่ ๆ บ้าง ประเทศอินเดียนั้นคนไทยไม่น้อยได้ยินชื่อแล้วก็ร้องยี้ แต่เราคงไม่ลืมไปว่าประเทศอินเดียมีกวีที่ได้รางวัลโนเบลมาแล้ว นักวิทยาศาสตร์ของอินเดียก็ได้รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์มาแล้ว นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลคนล่าสุดที่ชื่อ Amartya Sen นั้นก็คนอินเดีย ก่อนหน้านั้นเราอาจไม่รู้ว่านักคณิตศาสตร์คนสำคัญของโลกคนหนึ่งก็เป็นคนอินเดีย ท่านผู้นี้คือรามานุชัน (Ramanujan) ซึ่งตามประวัติเป็นเด็กยากจนไม่ได้เรียนหนังสือมากเพราะครอบครัวยากจนอยู่ในกระท่อมดินหลังเล็ก ๆ ศาสตราจารย์คณิตศาสตร์ชาวอังกฤษบังเอิญไปพบและเห็นแววอัจฉริยะ จึงพาไปเรียนมหาวิทยาลัยที่อังกฤษ แล้วความเป็นอัจฉริยะก็แสดงออกจริง ๆ ท่านผู้นี้ได้เสนอทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ที่สำคัญหลายเรื่อง เลข ๐ ที่เป็นตัวเลขที่ปฏิวัติความก้าวหน้าทางคณิตศาสตร์ของโลกอย่างขนานใหญ่นั้น ก็มาจากการสร้างสรรค์ของชาวฮินดูโบราณ ตัวเลขในโลกนั้นมีอยู่สองระบบหรือเลขโรมันกับเลขฮินดูอารบิค เลขโรมันไม่มีเลขศูนย์ คณิตศาสตร์ของโรมันจึงไม่ก้าวหน้า พอชาวอาหรับนำเลขศูนย์ของอินเดียไปเผยแพร่ในโลกตะวันตก ก็เกิดการปฏิวัติอย่างใหญ่หลวงในทางคณิตศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ที่ก้าวหน้ามากในยุคนี้ก็มาจากการมีเลข ๐ นั่นเอง ถ้าปราศจากเลขตัวนี้ อะไร ๆ ก็คงไม่ก้าวมามากขนาดนี้ เลข ๐ นี้คนอินเดียเป็นคนคิดค้น

          การเรียนรู้วัฒนธรรมอินเดียสำหรับคนไทยคงไม่ใช่เพื่อลอกเลียนแบบอินเดีย หรือรับอินเดียมาทั้งหมดโดยไม่มีวิจารณญาณ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ก็จะไม่ต่างจากการรับวัฒนธรรมตะวันตกมาอย่างไม่พิจารณา อย่างที่เรากำลังวิจารณ์กันมากในปัจจุบัน การศึกษาวัฒนธรรมอินเดีย ควรเน้นที่การดูว่า อะไรคือแก่นสารของความคิดแบบอินเดีย แก่นสารที่ว่านี้แต่ละคนอาจมองเห็นไม่เหมือนกัน แต่ถ้าเรามองเห็น เราก็อาจมองเห็นช่องทางต่อไปว่าเราจะสร้างสิ่งที่เรียกว่า แก่นสารความเป็นไทยได้อย่างไร เราเองควรมีแก่นสารแบบไทย และแก่นสารแบบไทยนี้เองที่จะช่วยให้เรากล่าวได้ว่าเราเป็นชาติอารยะ..

คำสำคัญ (Tags): #ศาสนาและปรัชญา
หมายเลขบันทึก: 27712เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2006 12:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท