หลักการและวิธีการสร้างตัวชี้วัดความสำเร็จของชุมชน


(คำกล่าวในการประชุมปฏิบัติการ  เรื่อง  “การจัดทำตัวชี้วัดการพัฒนาระดับตำบล  กรณีศึกษา  ตำบลหนองพันจันทร์  อำเภอบ้านคา  จังหวัดราชบุรี”  เมื่อวันที่  22  มิถุนายน  2552  จัดโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  (องค์การมหาชน)  โดยสำนักงานปฏิบัติการภาคกลางตอนบนและตะวันตก ส่วนพัฒนากระบวนการเรียนรู้  ได้ร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรชุมชนตำบลหนองพันจันทร์  เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดราชบุรี  ร่วมกันจัดทำเวทีการพัฒนาตัวชี้วัดการพัฒนาระดับตำบลขึ้น   ศาลาประชาคมหมู่ที่  5  ตำบลหนองพันจันทร์  โดยใช้กรณีศึกษาตำบลหนองพันจันทร์เป็นพื้นที่เรียนรู้)

                “ขอสวัสดีญาติมิตรทุกท่าน ในที่นี้คงพอรู้จักผม ว่าเป็นใครและทำอะไรอยู่ ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา ผมเริ่มทำงานตั้งแต่ การพัฒนาชนบทแบบผสมผสาน จนมาเป็นผู้จัดการสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง (พชม.)  และเป็นประธานกรรมการ พอช. ซึ่งทำงานทั่วประเทศ ผมเองชอบทำงานกับชุมชนมาก ๆ เพราะมีความเชื่อว่า สังคมจะดีได้ ฐานรากต้องดี ซึ่งฐานรากที่แท้จริง คือ บุคคล ครอบครัว และชุมชนที่เป็นฐานรากย่อยของสังคมนั่นเอง

                ถ้ามองให้ดี จะเห็นว่าชุมชนทั้งหลายมีความสัมพันธ์กัน มีเป้าประสงค์ร่วมกัน คือ ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ครอบครัวต้องการ คนต้องการ สังคมต้องการ ซึ่งผมได้ผลักดันเข้าสู่สภาพัฒน์ฯ และได้นำไปกำหนดเป็นวิสัยทัศน์ สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน เพราะฉะนั้น ผมจึงดีใจที่เห็นชุมชนหนองพันจันทร์ต้องการอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ท้องถิ่นของเราจะได้มีความสุขมากขึ้น ทั้งสุขแบบเดี่ยว ๆ และสุขร่วมกันหลายฝ่าย และวันนี้เราก็จะมาหาเครื่องมือเพื่อช่วยในการทำงาน เป็นเครื่องมือทางการบริหาร และสามารถใช้ในการทำงานได้จริง

                ผมดีใจที่มาเห็น และอยากมาเรียนรู้ด้วย ผมเองเกิดในหมู่บ้านของ อ.ผักไห่ จ.อยุธยา เป็นหมู่บ้านซึ่งอยู่สุดเขตแดนของ จ.อยุธยาไม่มีความสมบูรณ์มาก ซึ่งที่หนองพันจันทร์ก็เข้าใจว่าสุดเขตแดนเหมือนกัน เพราะฉะนั้นผมจึงมีความเข้าใจในความเป็นชนบทค่อนข้างดี และมีความตั้งใจที่จะมีส่วนช่วยทำให้พี่น้องชนบทปลอดทุกข์ ปลอดหนี้ มีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในการนี้ผมยินดีมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความพยายามของพี่น้องที่จะสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ให้พี่น้องปลอดจากปัญหาความยากลำบาก ขอเอาใจช่วยทุกท่านในการทำงานให้สำเร็จ วันนี้ผมจะใช้เวลาครึ่งวันอยู่ร่วมกับพวกเรา และในอนาคตก็อาจจะมีโอกาสกลับมาอีก สรุปแล้วผมขอเอาใจช่วย ขอเข้าร่วมมือด้วย และขอถือเป็นเพื่อนคนหนึ่งเป็นญาติคนหนึ่งของพวกเรา

                (ก่อนการจบเวทีการพัฒนาตัวชี้วัดระดับตำบลของตำบลหนองพันจันทร์   ได้กล่าวแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมกับผู้นำขบวนองค์กรชุมชนว่า)

                “มีเทคนิคการจัดการอย่างมีศิลปะที่เราสามารถใช้ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรธุรกิจ รัฐวิสาหกิจ ราชการ พอช. ก็ต้องจัดการ และต้องเรียนรู้กันตลอดเวลาในโลกนี้

                ถ้าเราจะทำให้ง่าย ๆ ประยุกต์ใช้ในชุมชนได้อย่างมีศิลป์ เราต้องทำอย่างฉลาด มียุทธศาสตร์ ออกแรงน้อยแต่ได้ผลมาก อย่างนี้เรียกว่าจัดการอย่างมีศิลป์ โดยการเอาตำบลปลอดหนี้เป็นกรณีศึกษา เพราะการแก้หนี้เราพยายามทำร่วมกันทั่วประเทศ ซึ่งผมเคยทำงานที่ธนาคารออมสิน พบว่า ครูเป็นหนี้ทั่วประเทศ  มีทั้งหนี้สร้างสุข และหนี้สร้างทุกข์ และเราก็จะเห็นการหมุนเวียนหนี้ แต่บางคนก็มีความสุขกับการเป็นหนี้ หมุนหนี้ แต่หารู้ไม่ว่าแม่บ้านของเราเป็นทุกข์

                มีธนาคารคนจนที่ยิ่งใหญ่ คือ กรามีนแบงค์ที่ประเทศบังคลาเทศ เป็นธนาคารคนจนซึ่งคนจนเองเป็นเจ้าของและ 90% เป็นผู้หญิง มีการขยายธุรกิจไปเป็นธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ธุรกิจอื่น ๆ จนกระทั่ง ดร.ยูนูส ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งและเป็นกรรมการผู้จัดการ  ได้รับรางวัลโนเบล ซึ่งแปลว่าคนจนสามารถแก้ปัญหาของตนเองได้ดี ชาวบ้านซึ่งเป็นคนจนเป็นเจ้าของธนาคาร สามารถไปกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์มาผสมกับเงินออมของตนเอง  แล้วนำไปสร้างอาชีพ  สร้างรายได้  สร้างสุขให้กับตนเอง

                การจัดการหนี้ของครู ในกรณีที่ทำกับธนาคารออมสิน จากประสบการณ์ที่ผมได้ทำมา อาจจะยังไม่ถึงกับเป็นสุข แต่ก็ทำให้เป็นทุกข์น้อยลง และเริ่มมีความสุข ไม่ต้องหลบหน้าเจ้าหนี้ และไม่กลับไปสู่วงจรเดิม

                วิธีแก้หนี้ 3 ข้อ ที่สามารถทำได้จริง คือ

                1. มีเป้าหมายสำคัญ เช่น ต้องปลอดหนี้ที่สร้างทุกข์ หนี้ไม่ใช่ของเสียหาย แต่ต้องใช้ให้เป็น เพื่อให้สร้างสุข

                2. มีวิธีการที่สำคัญ น้อยข้อไม่มากจนสับสน ต้องบอกให้ได้ว่าอะไรที่สำคัญ ซึ่งในที่นี้ ผมขอนำเสนอวิธีการที่สำคัญ 5 วิธี คือ

                                (1) การจัดทำบัญชีครัวเรือน เป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญของการปลดหนี้ เช่น พระอาจารย์สุบินฝึกให้เด็กทำบัญชีครัวเรือนกับพ่อแม่ หลานทำกับยาย

                                (2) การลดรายจ่าย ซึ่งขึ้นอยู่กับครอบครัวใดครอบครัวนั้นจะค้นหาวิธีเอาเองได้

                                (3) การเพิ่มรายได้ เช่น การทำเกษตรแบบพอเพียง ทำให้ไม่ต้องซื้อจึงลดรายจ่าย ซึ่งเท่ากับเพิ่มรายได้นั้นเอง ขณะเดียวกันก็ยังสามารถขายได้ด้วย ปีแรกอาจจะขาดทุน แต่ปีต่อ ๆ มาจะเริ่มมีกำไร และรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

                                (4) การเพิ่มเงินออม ถ้าเราตั้งใจจะทำย่อมทำได้ เด็ก ๆ ก็ควรเริ่มนิสัยการออม และทราบว่าเรามีสวัสดิการชุมชนซึ่งมีการออมรวมอยู่ด้วยแล้ว

                                (5) การดำเนินชีวิตตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือชีวิตพอเพียง คือ ทำอะไรที่พอเหมาะพอควร ไม่เกินตัว ไม่เสี่ยงมาก อย่าหวังน้ำบ่อหน้าเกินไป ใช้ความรู้อย่างรอบคอบระมัดระวัง พร้อมกันนั้นก็ทำความดี มีคุณธรรม อดทน พากเพียร ขยัน สุจริต เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปันกัน ซึ่งความดีก็คืออะไรก็ตามที่ไม่เป็นโทษ แต่เป็นคุณทั้งต่อตนเอง และต่อคนอื่นหรือต่อส่วนรวม ทั้งหมดนี้รวมเรียกว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงหรือชีวิตพอเพียง

                3. มีตัวชี้วัดความสำเร็จที่สำคัญ ไม่ต้องมีหลายตัวนัก ผมลองเสนอ 2 ตัวชี้วัด คือ

                                (1) ครัวเรือนที่เป็นหนี้ก่อทุกข์มีจำนวนลดลง (หนี้ก่อทุกข์ คือ หนี้ที่ไม่สามารถชำระคืนได้ตามกำหนดเวลา)

                                (2) เงินออมสุทธิของหมู่บ้านและของตำบลเพิ่มขึ้น (เงินออมสุทธิ = เงินออมทั้งหมด – หนี้ทั้งหมด)

นี่คือ วิธีจัดการที่นำจุดสำคัญมาดูร่วมกัน เป็นวิธีที่ทำให้เรามีสติอยู่เสมอ ส่วนการนำไปสู่เรื่องอื่น ๆ เช่น เป็นสถาบันการเงิน ทำวิสาหกิจชุมชน ทำธุรกิจชุมชนอื่น ๆ จะเป็นเรื่องที่ตามมา ที่สำคัญคือ เราต้องทำจริง ทำต่อเนื่อง มาดูร่วมกันอยู่เนือง ๆ หรือตรวจเช็คนั่นเอง และเอาใจใส่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็ตรงกับหลักอิทธิบาท 4 ของพระพุทธเจ้า คือ ฉันทะ (พอใจที่จะทำ) วิริยะ (พากเพียรพยายาม) จิตตะ (หมั่นเอาใจใส่ดูแล) วิมังสา (ไตร่ตรองพิจารณาหาทางทำให้ดีขึ้น) นั่นเอง

                ที่ผมพูดมานี้ อยากให้พี่น้องได้พิจารณาไตร่ตรองเองให้ดีด้วยนะครับ ไม่จำเป็นต้องทำตามที่ผมพูด  หรือไม่จำเป็นต้องทำตามทั้งหมด ควรนำไปคิดพิจารณา  แล้วประยุกต์ดัดแปลง  หรือคิดเองใหม่ทั้งหมดก็ได้ตามที่พี่น้องเห็นสมควร

                ส่วนตัวของผม ปัจจุบันนี้มีสิ่งที่กำลังพยายามทำอยู่ 3 เรื่อง คือ  (1) ธนาคารความดีหรือเครือข่ายแบ่งปัน เป็นการแบ่งปันสิ่งของ แบ่งปันเป็นเวลาและบริการความสามารถ แบ่งปันความรู้ โดยทุกคนเป็นได้ทั้งผู้ให้และผู้รับ  
(2) เรื่องประชาธิปไตยที่ประชาชนและชุมชนมีบทบาทสำคัญ เพราะผมเชื่อว่าประชาชนและชุมชนเป็นฐานรากที่สำคัญของสังคม และ  (3) เรื่องการจัดทำตัวชี้วัดความสุขหรือความสำเร็จของชุมชน เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการพัฒนาชุมชนให้มีความเจริญเข้มแข็งและมั่นคงยั่งยืน

หมายเลขบันทึก: 277096เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2009 18:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับ อาจารย์

ผมเป็นคนราชบุรีครับ

ดีใจมากที่อาจารย์มาให้ความรู้ และ ธรรมะกับพ่อแม่พี่น้องชาวราชบุรี

สวัสดีค่ะ.. อาจารย์ไพบูลย์

เคยติดตามผลงานของอาจารย์มาตลอดค่ะ...เป็นคนลำปาง ทำงานทีมเดียวกันกับ ผศ.อรรณพ วงศ์วิชัย (มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง) ครั้งหนึ่งเคยอ่านหนังสือของชุมชนบ้านนาบอน อ.เสริมงาม จ.ลำปาง อาจารย์เคยมาที่ชุมชนนี้ครั้งหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ชุมชนบ้านนาบอน สามารถยืนด้วยตนเองได้แล้ว...และเป็นแบบอย่างที่ดีของหมู่บ้านอื่น ๆ ได้...ชาวบ้านรู้จักที่จะทำบัญชีครัวเรือน รายรับ - รายจ่าย ของตนเองได้ และเป็นที่มาของการทำโครงการวิสาหกิจชุมชนภายในตำบลด้วยค่ะ

กราบขอบพระคุณอาจารย์พ่อที่เคารพ น้อมรับไปปฏิบัติและจะต้องทำตามคำสอนนี้เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี

โปรดดูแลสุขภาพ  และขอให้ท่านจงมีพลานามัยที่แข็งแรง สุขกายสุขใจตลอดไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท