ผลพลอยได้ที่มากกว่าการส่งเสริมสุขภาพดีที่ท่าซัก


สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นข้อที่คนท่าซักพึงระวัง จากคำพูดของชาวบ้านคือ เรื่องของการเมืองทั้งการเมืองระดับประเทศ และการเมืองระดับท้องถิ่น ซึ่งในอนาคตจะเป็นตัวที่จะมาบั่นทอนความสัมพันธ์อันดีของคนในชุมชน จะเป็นตัวที่มาทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่เครือญาติ เรื่องนี้ใช่เพียงแต่หน่วยงานภาคีที่มองเห็นแต่คนในชุมชนเองก็มองเห็นและก็ เฝ้าระแวดระวังอยู่ ในการนี้สิ่งที่ภาคีทั้งในและนอกชุมชนต้องทำคือการสร้างความรู้ สร้างความเข้าใจในเรื่องการเมืองให้กับประชาชนเพื่อป้องกันความสัมพันธ์ที่ อาจเกิดความร้าวฉาน

 

ผลพลอยได้ที่มากกว่าการส่งเสริมสุขภาพดีที่ท่าซัก

                จากโครงการชุมชนเข้มแข็งเมืองไทยแข็งแรง มาสู่โครงการชุมชนอยู่ดีมีสุข ที่ กศน. อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช  ร่วมกับกลุ่มงานเวชกรรมสังคมโรงพยาบาลมหาราช และร่วมด้วยหน่วยงานภาคีเครือข่ายชุมชนอินทรีย์ อยู่ดีมีสุข และเศรษฐกิจพอเพียงอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ขับเคลื่อนการทำงานในเชิงรุก โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาวะของชุมชน  การทำงานนั้นขับเคลื่อนพร้อมกันทุกตำบลในเขตอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช  แต่ที่ตำบลท่าซักภาคีเครือข่ายลงความเห็นให้เป็นพื้นที่ที่ปฏิบัติแบบเข้มข้น เพื่อเป็นพื้นที่นำร่อง

                การลงเวทีร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งแกนนำชุมชน  และหน่วยงานในท้องถิ่น อบต.ท่าซัก รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ โรงเรียนระดับประถม  มัธยม  โรงเรียนสอนศาสนา  สถานีอนามัย รวมไปถึง  วัด  ก็เข้ามาร่วมเวทีในการขับเคลื่อนงานในชุมชนครั้งนี้  ในเวทีตกลงที่จะใช้เรื่องการฟื้นฟูสภาพคลองท่าซักเป็นตัวขับเคลื่อน  เพราะคลองท่าซักเป็นหัวใจหลักของคนท่าซัก ทั้งในเรื่องของการเกษตร  การประมง  แต่ในความเป็นจริงจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ บอกว่าคลองท่าซักสามารถทำประโยชน์ได้เพียงอย่างเดียวคือเรื่องของการคมนาคม  เป็นเรื่องที่คนท่าซักต้องกลับมามองใหม่เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน

                น้ำเสียเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแก้ไขฟื้นฟูให้กลับมาใช้เพื่อการเกษตร ทำนา ปลูกผัก  และทำการประมง  น้ำเสียจากในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชก็ได้รับการประสานงานระหว่าง อบต. กับเทศบาลในการแก้ปัญหา  แต่ที่ในพื้นที่ตำบลท่าซักเองก็ต้องมีการแก้ไข  ทั้งในเรื่องของการสร้างจิตสำนึกให้คนรักคลอง ไม่ทิ้งขยะ  ทำบ่อดักไขมัน  และใช้จุลินทรีย์บำบัด  ซึ่งกระบวนการทั้งหมดได้ถูกกำหนดขึ้นจากเวทีประชาคมของตำบลโดยแกนนำของแต่ละหมู่บ้านร่วมกับภาคีเครือข่าย  การแก้ปัญหาคลองท่าซักได้เริ่มขึ้นแล้วโดยการสร้างกระบวนการคิดร่วมกัน      ทั้งประชาชนคนท่าซักและ หน่วยงานภาคีเครือข่าย

                โรงเรียนมีส่วนสำคัญในการปลูกฝังจิตสำนึกให้กับนักเรียนในการที่ไม่ทิ้งขยะลงในคลอง และนักเรียนก็เป็นกำลังสำคัญในการที่จะนำความรู้ไปขยายผลให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง  โดยเฉพาะเรื่องการทำจุลินทรีย์ขยายโดยใช้น้ำซาวข้าว  (น้ำที่ล้างข้าวสาร)  โดยทีมภาคีเครือข่ายโรงพยาบาลมหาราชร่วมกับ กศน. เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้  โดยลงไปฝึกนักเรียนทำและปฏิบัติจริง จนทำได้และสามารถกลับไปทำเองที่บ้าน  นอกจากทำจุลินทรีย์ขยายแล้วยังทำจุลินทรีย์ แบบก้อนเพื่อใช้ในการบำบัดน้ำเสียด้วย  นักเรียนได้ฝึกทำทั้งสองแบบ  ผลที่ปรากฏคือในวันที่  11 สิงหาคม 2551  นักเรียน และผู้ปกครอง ได้นำจุลินทรีย์ขยายมาจากบ้าน สมทบกับที่หน่วยงานนำไป     เพื่อเทลงคลองท่าซักในการฟื้นฟูบำบัดน้ำเสีย  โดยมีนายอำเภอเมืองเป็นประธาน  และในวันนั้นก็ได้มีการกระชับเครือข่ายโดยมีการลงนามในข้อตกลงการทำงานร่วมกัน (MOU)

 

                การขับเคลื่อนงานในพื้นที่ตำบลท่าซักได้เดินหน้าอย่างต่อเนื่องโดยกระบวนการเวทีซึ่งในครั้งล่าสุดเป็นการเป็นการประชุมแกนนำร่วมกับฝ่ายปกครอง (ผู้ใหญ่/กำนัน) รวมทั้ง หน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่  สำหรับในส่วนของการทำบ่อดักไขมันนั้น อบต. จะเป็นผู้รับผิดชอบติดตามผล และในเรื่องของการใช้จุลินทรีย์บำบัดก็ยังคงเดินหน้าต่อไป

                นอกจากเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนโดยเฉพาะเรื่องของคลองซึ่งเป็นหัวใจหลักของคนท่าซัก และเป็นส่วนหนึ่งในวิถีการดำเนินชีวิตของคนท่าซัก ทั้งชุมชนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมลำคลอง และชุมชนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างจากคลองก็ล้วนแล้วแต่ต้องใช้ประโยชน์จากคลองท่าซักทั้งสิ้น  ซึ่งหากมองดูแล้วมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันทั้งในเรื่องของ อาชีพของคนท่าซัก  คนที่อยู่ตอนบนห่างจากคลองก็มีอาชีพทำการเกษตรทำนา  ปลูกผัก  เลี้ยงสัตว์  ชุมชนที่อยู่ถัดลงมาก็ประกอบอาชีพเลี้ยงปลากะพง  การเลี้ยงปูดำ  และการเลี้ยงกุ้งในบ่อธรรมชาติ  สำหรับคนที่อยู่ติดคลองก็ประกอบอาชีพประมง

                ประชาชนในพื้นที่ตำบลท่าซักนั้น มีคนนับถือศาสนาพุทธ  และศาสนาอิสลาม  เท่าที่ลงไปศึกษาสัมผัสกับคนในชุมชนมองดูแล้วไม่มีความแตกแยก ในเรื่องของชาติพันธุ์ ศาสนา  สิ่งแวดล้อมของชนบทที่ท่าซักสามารถลบการแบ่งแยกชาติพันธุ์และศาสนาได้  คนในชุมชนทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิมอยู่ร่วมกันอย่างพี่น้อง  ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  จากการได้พูดคุยกับชาวบ้านในเชิงลึกพบว่าการดำเนินวิถีชีวิตของตนในตำบลท่าซักเป็นไปแบบเครือญาติ  ความเป็นเพื่อนบ้าน ให้ความสำคัญซึ่งกันและกันในเรื่องของศาสนา ที่มีคนนับถือต่างกัน  จากคำบอกเล่าสรุปได้ว่าในเรื่องของศาสนาประเพณีวัฒนธรรมแม้จะต่างศาสนาก็สามารถเชื่อมความสัมพันธ์ร่วมกันได้เพราะต่างก็รู้และเข้าใจศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีของกันและกัน คือต้องเข้าใจและแยกแยะในเรื่องของ  กิจกรรม และพิธีกรรม   ในส่วนของกิจกรรมไม่ว่าคนในศาสนาใดก็สามารถที่จะเข้าร่วมทำกิจกรรมได้  แต่ในเรื่องของพิธีกรรมทำไม่ได้  กฎระเบียบง่ายๆ ที่เกิดขึ้นจากการได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันใช้ชีวิตร่วมกันในพื้นที่เดียวกันทำให้คนในตำบลท่าซักซึ่งมีคนนับถือศาสนา   2  ศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันบนฐานของความเข้าใจซึ่งกันและกัน

                ที่ผ่านมาการลงไปฝึกนักเรียนทำจุลินทรีย์ขยายทั้งเด็กไทยพุทธและไทยมุสลิมก็มาร่วมกันทำช่วยกันคนละไม้คนละมือ  เรียกว่าเป็นกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาก็ว่าได้ ในการขับเคลื่อนงานขั้นต่อไปนั้นได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่ โดยจะนำเด็กไทยพุทธที่ทำได้แล้วลงไปช่วยทำด้วยความตั้งใจคือการสร้างความรักสามัคคี และความสัมพันธ์อันดีต่อกัน 

               ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยพุทธ และคนไทยมุสลิม ยังมีการใช้วิธีการเชื่อมความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น โดยผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรมที่เรียกกันว่า "เกลอ"  เป็นภูมิปัญญาของคนเฒ่าตนแก่ที่ต้องการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวอย่างลึกซึ้ง  จนรู้สึกว่าคนในครอบครัวที่สัมพันธ์ด้วยเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน  ว่ากันตามความจริงแล้วการที่ให้เด็กมาเป็นเกลอกันนั้นเพราะผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายมีความถูกคอ ถูกใจ ชอบพอซึ่งกันและกันก็อยากมีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง ไปนานๆ ก็เลยใช้เด็กหรือลูกของแต่ละฝ่ายมาผูกเกลอกัน และคนที่เป็นเกลอกันก็จะเคารพพ่อแม่และญาติของเกลอเหมือนกับญาติพี่น้องของตนเอง  และบางกรณีเมื่อเกลอมีลูกก็จะมีการสืบทอดการเป็นเครือญาติกันอยู่  อีกทั้งยังมีการให้ลูกเกลอที่ เป็นผู้หญิงและผู้ชายแต่งงานกันเพราะไม่ต้องการที่ให้สูญเสียความเป็นเครือญาติ หรืออีกนัยหนึ่งก็เพื่อที่จะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวเกลอให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น การที่ทีมภาคีเครือข่ายมีแนวคิดในการที่จะเคลื่อนกิจกรรมการทำน้ำหมักจุลินทรีย์ในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งในการที่จะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคน 2 ศาสนา เพราะเมื่อเด็กดีต่อกัน  พ่อแม่ผู้ปกครองก็ย่อมที่จะต้องดีกันด้วย  นี่เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นในการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ตำบลท่าซัก

               สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นข้อที่คนท่าซักพึงระวัง    จากคำพูดของชาวบ้านคือ เรื่องของการเมืองทั้งการเมืองระดับประเทศ  และการเมืองระดับท้องถิ่น ซึ่งในอนาคตจะเป็นตัวที่จะมาบั่นทอนความสัมพันธ์อันดีของคนในชุมชน  จะเป็นตัวที่มาทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่เครือญาติ  เรื่องนี้ใช่เพียงแต่หน่วยงานภาคีที่มองเห็นแต่คนในชุมชนเองก็มองเห็นและก็เฝ้าระแวดระวังอยู่ ในการนี้สิ่งที่ภาคีทั้งในและนอกชุมชนต้องทำคือการสร้างความรู้ สร้างความเข้าใจในเรื่องการเมืองให้กับประชาชนเพื่อป้องกันความสัมพันธ์ที่อาจเกิดความร้าวฉาน

         ตามความคิดเห็นของทีมคนทำงานภาคีเครือข่าย มองว่าในการที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาในกรณีของตำบลท่าซัก เพื่อที่ให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง อย่างยั่งยืน ต้องมีการกำหนดนโยบายของชุมชนชุมชนได้ตระหนักถึงปัญหา/ รู้ความต้องการของตนเองและรวมตัวกันลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาด้วยตนเองก่อน โดยมีกลุ่มอาสาสมัครสร้างสุขในชุมชน คือคุณอำนวยของชุมชน ที่คอยอำนวยความสะดวกในการจัดกระบวนการเรียนรู้ทุกเรื่อง ประสบการณ์ในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้น้ำเสียคลองท่าซัก คือประสบการณ์ที่สะท้อนถึงกระบวนการทำงานของทีมอาสาสมัครสร้างสุขในชุมชนหรือคุณอำนวยชุมชน ร่วมกับทีมภาคีเครือข่ายที่มาจากหน่วยงานองค์กรของภาครัฐ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เมื่อชุมชนรู้จักใช้กระบวนการเรียนรู้จัดการตนเองในเรื่องคลองท่าซักได้แล้ว ก็สามารถที่จะจัดกระบวนการเรียนรู้และแก้ปัญหาของชุมชนกรณีอื่นๆ ได้  กระบวนการเรียนรู้ตามวิถีชีวิตของคนในชุมชนคือกระบวนการเรียนรู้ตามอัธยาศัยนั่นเอง

         ชุมชนเรียนรู้ว่าในเรื่องของสุขภาวะไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของความเจ็บป่วย หรือเรื่องของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่ชุมชนเข้าใจแล้วว่าทุกเรื่องที่เกี่ยวของกับคน กับสิ่งแวดล้อมและสรรพสิ่งในชีวิตประจำวันล้วนเป็นเรื่องของสุขภาวะทั้งสิ้น

         ภาคีเครือข่ายที่ร่วมลงนาม MOU กันถึง 32 องค์กร ต่างมีความเข้าใจในการทำงานร่วมกันว่าสามารถบูรณาการกันได้ในทุกระดับ ไม่ได้แบ่งแยกกันอย่างเด็ดขาดได้ เพราะมุ่งเป้าหมายเดียวกันคือการอยู่ดีมีสุขของชุมชน ภาคีจึงมีชุมชนเป็นศูนย์กลางในการทำงานร่วมกันโดยคำนึงถึงมิติทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต และบริบทของชุมชนเป็นสำคัญ

ข้อเสนอเชิงนโยบาย

1.       ควรสร้างความรู้ความเข้าใจของชุมชน ในเรื่องสุขภาวะที่มีความหมายมากไปกว่าความเจ็บป่วยแต่ทางกายใจเท่านั้น แต่มีมิติที่กว้างกว่านั้น

2.       ควรใช้วัฒนธรรมชุมชน เช่น เครือญาติ เกลอ ที่เป็นวัฒนธรรมของคนใต้ มาใช้ในการขับเคลื่อนงานไม่ว่าจะเป็นงานสุขภาวะหรืองานใดๆก็ตาม

3.       เครือข่ายองค์กรหน่วยงานที่จะเข้าไปเสริมหนุนหรือส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง จะต้องบูรณาการภารกิจของกันและกันให้ได้ เห็นงานของตนเองในงานองค์กรอื่นหน่วยงานอื่นและโดยเฉพาะอย่างยิ่งให้เห็นงานของชุมชนเป็นงานของหน่วยงานหรืองานขององค์กรตนเองให้ได้ แล้วเข้าไปเสริมหนุนหรือส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้

 

หมายเลขบันทึก: 276868เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2009 22:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

  • ตามมาดูความรุ่งเรืองของท้องถิ่นที่เคยไปเยี่ยมเยือนครับ
  • ว่าง ๆ จะหลงไปนครฯ ว่าแต่จะอดข้าวม่าย ไม่ทราบ

สวัสดีครับ...พี่ชายที่แสนดี

  • มานครฯ แหล่ะ อย่าให้หลงเสียหล่าว
  • รับรองด้วยเกียรติของครูราญว่าไม่อดข้าว
  • เดี๋ยวให้พี่บ่าว (ครูนง) เลี้ยง 555....

งานขับเคลื่อนของพื้นที่ท่าซักมีครูราญเกาะติดในฐานะคุณอำนวยคงช่วยได้มาก งานวิจัยพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำที่มีพื้นที่ต.ท่าซัก บางจาก และท่าดีมีความคืบหน้าคือ ทีมวิจัยชุมชนทั้ง3ตำบลจะจัดเวทีพัฒนาโครงการหาประเด็นวิจัยเพื่อการแก้ปัญหาเรื่องน้ำทั้งระยะสั้นและระยะยาว หลังจากเข้าหารือกับทางจังหวัดและทีมวิจัยส่วนกลางจากจุฬาฯ ทีมพื้นที่จากมวล.และสกว.เมื่อวันที่14ก.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นทั้ง3พื้นที่จะนัดพบสรุปโครงการกันที่อบต.ท่าดี ซึ่งอาสาเป็นเจ้าภาพในครั้งแรกในวันที่22 ก.ค.นี้ แล้วจะส่งโครงการให้มวล.รวบรวมนำเสนอสกว.ภายในวันที่25ก.ค.โดยจะมีการนำเสนอชุดโครงการในประเด็นนี้ที่สกว.ในวันที่4ส.ค.นี้ครับ(มีโครงการนำร่องด้วย6จังหวัด5สถาบัน)

ฝากครูราญติดตามสนับสนุนพื้นที่ในฐานะคุณอำนวยตำบลที่สามารถด้วยนะครับ

ถ้าน้องชายขอบมาขอร่วมสมทบให้ครูนงเป็นเจ้ามือเหมียนเดิมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท