แตงไทย
นฤมล ชื่อเล่น "แตงไทย" (สำหรับครอบครัว), "แตงอ่อน" (สำหรับเพื่อนๆ), "I tang" (สำหรับพี่ๆ ทั้งหลาย) จันทรศรี

Anatomy of Hatha Yoga หฐโยคะกับหลักกายวิภาคและสรีรศาสตร์


 
 
เว็บศูนย์รวม "โยคะสารัตถะ
 

Anatomy of Hatha Yoga
หฐโยคะกับหลักกายวิภาคและสรีรศาสตร์  

ศันสนีย์ นิรามิษ ; ผู้แปลและเรียบเรียง
(เข้าอ่านบทความของนักเขียนที่นี่)

คอลัมน์ ; เกร็ดความรู้โยคะ
โยคะสารัตถะ ฉบับเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๒

บทพื้นฐาน

ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีโรงเรียนสอนหฐโยคะเพิ่มมากขึ้นในฝั่งตะวันตก บางแห่งอ้างอิงถึงประวัติที่น่าเชื่อถือสืบทอดต่อกันมายังครูผู้สอนรุ่นสู่รุ่น บางแห่งกำหนดการสอนให้เข้ากับความต้องการของยุคสมัยและความคาดหวังของผู้เรียน แต่ยังคงอ้างอิงถึงศาสตร์ดั้งเดิม, วิทยาศาสตร์ และตามหลักดั้งเดิมของโยคะ บางแห่งได้พัฒนาการสอนให้เข้ากับยุคปัจจุบันจนไม่แน่ใจถึงศาสตร์ที่แท้จริง

เพราะคนเรามีความแตกต่างกัน โรงเรียนหฐโยคะหลายแห่งจึงเปิดสอนท่าอาสนะพื้นฐานที่สุดพร้อมด้วยท่าอื่นๆที่แตกต่างกันไปตามความคาดหวังของผู้เรียน ในขณะที่ผู้สอนพบความนึกคิดของผู้เรียนที่แตกต่างกันไปตั้งแต่นักเต้นมีอาชีพจนถึงนางพยาบาลประจำบ้านที่กลัวว่าจะไม่สามารถลุกขึ้นได้หลังจากที่นอนฝึกลงบนพื้น ซึ่งนั่นไม่เป็นไร เพราะสำหรับทุกคนแล้วไม่ว่าจะมีช่วงอายุใดหรือมีความชำนาญระดับไหนสิ่งที่สำคัญที่สุดของหฐโยคะไม่ใช่ความยืดหยุ่นและความสามารถในการฝึกท่ายากต่างๆ แต่เป็นความระลึกรู้ ระลึกรู้ร่างกายและลมหายใจ รวมถึงรับรู้หลักกายวิภาคและสรีรศาสตร์ภายใต้ท่าฝึกนั้นๆด้วย จากการระลึกรู้นี้จะทำให้ควบคุมได้ และเมื่อสามารถควบคุมได้ก็จะนำมาซึ่งความคล่องแคล่วและสวยงาม ถึงแม้ว่าท่าที่ฝึกนั้นจะมีการประเมินสำหรับผู้เริ่มต้นแล้วแต่ผู้ฝึกก็สามารถรับรู้ถึงสติและความอ่อนขณะฝึกได้

เราจะบรรลุถึงเป้าหมายนี้ได้อย่างไร และเราควรจะฝึกและสอนให้ผู้เรียนอยู่ในท่าต่างๆแบบใดเพราะมักจะมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยถึงรายละเอียดการอยู่ในท่าบ่อยๆ ดังนั้นสิ่งที่แนะนำให้นั้นเป็นแนวทางไม่ตายตัว จุดประสงค์ก็เพื่อให้ทราบถึงตำแหน่งอ้างอิงทั่วไปเพื่อใช้ในการเรียนรู้ถึงกายวิภาคและสรีรศาสตร์ของหฐโยคะ

มุ่งเน้นความสนใจของคุณ

จดจ่อความสนใจไปยังร่างกาย คุณจะรับรู้ถึงลมหายใจ, รับรู้ถึงเนื้อเยื่อที่กำลังยืดตัวออก, รับรู้ถึงข้อต่อที่มีแรงกำลังหดตัว, รับรู้ถึงความเร็วในการเคลื่อนไหว หรือรับรู้ความสัมพันธ์ระหว่างการหายใจและการยืดตัวของคุณ คุณสามารถจดจ่อความสนใจของคุณไปยังจุดอื่นๆขณะที่กำลังเคลื่อนไหวเข้า-ออกเมื่อฝึกท่าได้อีกด้วย การฝึกฝนไปพร้อมกับความสนใจในร่างกายเป็นโยคะขั้นพัฒนาแล้ว ไม่ว่าท่าที่ฝึกจะง่ายหรือยากเพียงใด แต่ถ้าคุณไม่มีความจดจ่อระหว่างที่ฝึกก็เท่ากับว่าคุณเป็นผู้ฝึกโยคะเบื้องต้นเท่านั้น หฐโยคะเป็นการฝึกที่พัฒนาจิตใจไปพร้อมกับร่างกาย ดังนั้นจดจ่อความสนใจขณะที่ฝึกไว้อย่าให้พลาด

เรียนรู้ลมหายใจของคุณ

จากที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าในหลายๆท่าการหายใจเข้าร่างกายจะช่วยให้คุณยกตัวขึ้นได้อย่างเต็มที่ และยังช่วยเพิ่มความตึงและสงบนิ่งในลำตัว คุณสามารถทดลองด้วยการนอนคว่ำลงบนพื้นและสังเกตขณะที่กำลังยกตัวขึ้นสูงสุดในท่างูซึ่งพยุงตัวด้วยการหายใจเข้า อย่างไรก็ตามการหายใจออกจะช่วยยืดตัวคุณได้ไกลมากขึ้นในหลายๆท่า ให้คุณลองฝึกในท่านั่งเหยียดพับตัวไปด้านหน้าคุณจะเห็นได้ว่าการหายใจออกจะช่วยให้คุณวางคางลงใกล้กับต้นขามากขึ้น ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตามคุณจะได้รับประโยชน์ 2 เรื่อง คือการหายใจด้วยท้องจะช่วยผ่อนคลายเนื้อเยื่อต่างๆ และการรับรู้ของผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับคุณโดยตรงจะช่วยให้คุณจัดปรับร่างกายขณะอยู่ในท่าได้ดีขึ้น

ขณะที่กำลังฝึกนั้นให้คุณหายใจตามปกติ หายใจผ่านรูจมูกอย่างเงียบ, สงบ และสม่ำเสมอ อย่ากลั้นลมหายใจที่ลำคอหรือทำเสียงใดๆ ยกเว้นได้รับคำแนะนำในการฝึกฝนพิเศษ

เริ่มจากการสร้างพื้นฐาน

ขณะที่คุณฝึกในแต่ละท่านั้น ให้เริ่มประมวลผลพื้นฐานภายในร่างกายของคุณและหาตำแหน่งของกล้ามเนื้อหลักเพื่อช่วยให้คุณคงอยู่ในท่าได้ เช่น ปลายแขนปลายขาและกล้ามเนื้อที่หดเพื่อเหยียดตัวขณะที่อยู่ในท่ายืน, หัวไหล่ คอ กระดูกสันหลัง และกล้ามเนื้อต่างๆของลำตัวในท่ายืนด้วยไหล่, สำรวจระบบกล้ามเนื้อและกระดูกทั้งหมดโดยเฉพาะช่องท้องและกล้ามเนื้อลึกของหลังขณะที่ฝึกท่านกยูง มุ่งความสนใจของคุณตามอวัยวะต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อป้องกันการบาดเจ็บและช่วยพัฒนาความเข้าใจในท่ามากขึ้น

นอกเหนือจากความเข้าใจพื้นฐานนี้แล้ว ยังมีพื้นฐานอื่นๆที่น่าสนใจกว่าที่กล่าวมาในข้างต้น นั่นก็คือเข้าใจในพื้นฐานของการเชื่อมโยงกันของเนื้อเยื่อทั่วทั้งร่างกาย โดยเฉพาะเนื้อเยื่อต่างๆที่เชื่อมโยงระบบกล้ามเนื้อและกระดูกเข้าด้วยกัน เนื้อเยื่อที่เชื่อมโยงกันเปรียบเสมือนลวดที่อยู่ข้างในคอนกรีต เพราะมันจะเป็นตัวช่วยยึดแผงคอนกรีตทั้งหมดเข้าด้วยกัน เพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างความแข็งแรงให้กับเนื้อเยื่อเหล่านี้ คุณควรจดจ่ออยู่กับความแข็งแรงของผังผืดหุ้มข้อ, เอ็นกล้ามเนื้อยึดกระดูก, เอ็นข้อต่อ และผังผืดต่างๆที่หุ้มกล้ามเนื้ออยู่ วิธีปฏิบัติที่จะบรรลุเพื่อสร้างความแข็งแรงจากภายในสู่ภายนอกเริ่มจากศูนย์กลางกล้ามเนื้อของลำตัว จากนั้นค่อยๆเคลื่อนไปยังปลายแขนปลายขา หากคุณพยายามเหยียดยืดมากจนเกินไปโดยที่ยังไม่เคยเริ่มต้นฝึกและไม่รู้วิธีป้องกันข้อต่อต่างๆมาก่อน จะทำให้เกิดการเจ็บปวดได้ ถ้าคุณไม่ใช่นักยกน้ำหนักหรือนักเพาะกาย เรื่องความแข็งแรงและความยืดหยุ่นเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึง นอกเสียจากว่าคุณได้ฝึกฝนมาระดับหนึ่งแล้วคุณควรพัฒนาการเคลื่อนไหวรอบๆข้อต่อต่อไป

การเคลื่อนไหวเพื่อเข้าสู่ท่าและออกจากท่า

ขณะที่คุณกำลังรู้สึกนิ่งสงบและมหัศจรรย์เมื่อค้างอยู่ในท่านั้น แต่คุณจะไม่เข้าถึงความรู้สึกนั้นจริงๆถ้าคุณไม่รู้ว่าคุณอยู่ในท่านั้นได้อย่างไรและกำลังจะเคลื่อนไหวต่อไปในท่าไหน ถ้าคุณเคลื่อนไหวจากท่าสู่ท่าอย่างรวดเร็ว คุณจะเดินทางโดยไม่รู้สึกสนุกกับมัน ซึ่งการเดินทางนี้สำคัญเท่ากับจุดหมายปลายทางเลยทีเดียว ดังนั้นควรเคลื่อนไหวเข้าสู่ท่าและออกจากท่าอย่างช้าๆและรู้สึกตัวตลอดเวลา ขณะที่คุณกำลังเคลื่อนไหวให้สำรวจร่างกายตั้งแต่ศีรษะจนถึงปลายเท้า, สำรวจมือ ข้อมือ แขนช่วงล่าง ข้อศอก แขนช่วงบน และหัวไหล่, สำรวจเท้า ข้อเท้า ขา หัวเข่า ต้นขา และสะโพก, สำรวจเชิงกราน ช่องท้อง หน้าอก คอ และศีรษะ คุณจะพัฒนาการรับรู้หน้าที่ต่างๆในร่างกายและจะสังเกตเห็นถึงอาการแปลกๆและไม่ต่อเนื่องขณที่กำลังฝึก ซึ่งจะช่วยให้คุณแก้ปัญหานั้นได้ต่อไป ท้ายที่สุดขณะที่คุณเรียนรู้การเคลื่อนไหวอย่างนุ่มนวลนั้น คุณจะขจัดความยากของการฝึกท่านั้นได้

รับรู้อาการปวดอย่างตรงไปตรงมา

คุณเคยรับฟังหรือปฏิเสธอาการปวดที่เกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าคุณมีอาการปวดหลังคุณได้ปรับท่าหรือกิจกรรมต่างๆเพื่อลดความรู้สึกปวดนั้นหรือไม่ แล้วคุณเคยมองสำรวจร่างกายของคุณ หรือทำกิจกรรมอื่นๆจนกระทั่งลืมความปวดนั้นไปหรือเปล่า ถ้าคุณไม่ยอมฟังอาการต่างๆที่เกิดขึ้นในตัวคุณ คุณก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคเอ็นอักเสบ, เส้นประสาทกดทับ และหมอนรองกระดูกสันหลังแตกได้ สำหรับหฐโยคะนั้นคุณต้องพัฒนาและเคารพการรับรู้ภายในตัวคุณเองเพื่อหลีกเลี่ยงอาการบาดเจ็บที่จะเกิดขึ้น

คุณควรเริ่มโปรแกรมการฝึกด้วยความตั้งใจที่จะหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บ ถ้าคุณเริ่มฝึกฝนมาเป็นปีโดยที่ไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ เท่ากับว่าคุณกำลังผลักตัวคุณเองให้เข้าสู่อาการบาดเจ็บ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการบาดเจ็บชั่วคราวเท่านั้น แต่จะเป็นการสร้างความรู้สึกกลัวและกังวลให้กับคุณในการที่จะฝึกต่อ ระบบประสาทในร่างกายจะจดจำการบาดเจ็บนั้นและจะต่อต้านการฝึกท่านั้นซ้ำอีก การบาดเจ็บนั้นถือว่าเป็นของขวัญที่บอกเราให้แก้ปัญหาต่างๆ เราควรวิเคราะห์ธรรมชาติของปัญหาที่เกิดขึ้นแทนการไม่ใส่ใจ เมื่อคุณรับรู้ด้วยตนเองประกอบกับคำแนะนำของครูผู้สอนแล้ว คุณจะสามารถฝึกท่าอื่นๆที่ยากขึ้นได้

ฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ ด้วยความกระตือรือร้น และความระมัดระวัง

ฝึกฝนในเวลาเดิมและสถานที่เดิมทุกวันจนเป็นนิสัย จะช่วยให้คุณเห็นการเปลี่ยนแปลงได้วันต่อวัน การฝึกในเวลาเช้าเป็นเวลาที่ดีที่สุดสำหรับพัฒนาสุขภาพ ร่างกายที่แข็งอยู่ในตอนเช้าบอกให้คุณรู้ว่าต้องฝึกด้วยความระมัดระวังและตั้งใจ ในระหว่างวันคุณอาจจะรับรู้ความรู้สึกได้ช้าลงและเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้ ฝึกด้วยความกระตือรือร้นอย่างสนุกสนานในตอนเช้าจะช่วยกระตุ้นให้ลดความแข็งของร่างกายคุณได้ และฝึกด้วยความระลึกรู้ในช่วงบ่ายจะช่วยหลีกเลี่ยงอาการบาดเจ็บ และไม่ว่าคุณฝึกในเวลาใดก็ตามแล้วรู้สึกถึงความไม่ปกติ, ไม่แข็งแรง, ไม่ยืดหยุ่น ให้ระมัดระวังร่างกายด้วย

รับผิดชอบต่อตนเอง

ถึงแม้คุณจะฝึกกับครูที่มีความรู้เพียงพอ ในขณะเดียวกันคุณต้องรับผิดชอบในการตัดสินใจและการกระทำด้วยตัวคุณเองด้วย ครูผู้สอนอาจจะแข็งแรง แข็งขัน และเป็นแรงกระตุ้นให้คุณทำตาม แต่คุณต้องตัดสินด้วยตัวคุณเองว่าสามารถทำได้หรือไม่ เพราะในหลายท่าของหฐโยคะจะมีท่าที่ไม่ธรรมชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนของร่างกาย ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวคุณว่าจะมีฝึกท่านั้นได้หรือไม่และอย่างไร เกณฑ์วัดอย่างหนึ่งคือไม่ใช่แค่คุณรู้สึกสบายตัวแค่ 1 ชั่วโมงหลังจากการฝึก แต่คุณจะต้องรู้สึกดีต่อไปอีก 24 ชั่วโมงหลังจากนั้นด้วย สุดท้ายให้สังเกตถึงการต่อต้านขณะที่ฝึกแต่ละท่าในแต่ละชั่วโมงเรียนด้วย ถ้ามีปัญหาให้ปรึกษาครูผู้สอนต่อไป

ฝึกฝนด้วยความอดทน

เรียนรู้จากการเคลื่อนไหวช้าๆจะฝึกฝนความอดทนในการเคลื่อนไหวอย่างมั่นคง จำไว้ว่าประโยชน์ของการฝึกหฐโยคะคือความแข็งแรงมากขึ้นและการยืดหยุ่นที่มากขึ้น แต่ถ้าคุณดูขอบเขตจากการฝึกคุณอาจจะผิดหวังได้ คุณต้องมีความอดทนเพื่อให้ได้ประโยชน์ต่างๆจากการฝึก ความผิดพลาดหลักที่เกิดขึ้นเพราะคุณต้องการที่จะฝึกให้สำเร็จโดยไม่คำนึงถึงความพยายามที่สอดคล้องกัน ซึ่งทำให้เกิดผลเสีย 2 อย่าง สิ่งแรกคือจะทำให้คุณเปลี่ยนความตั้งใจของการฝึกก่อนที่คุณจะรู้ความจริงทั้งหมด อย่างที่สองคือจะเป็นการสร้างความเป็นไปไม่ได้ในการเรียนรู้และความรู้สึกที่ดีจากการฝึก ดังนั้นให้คุณฝึกด้วยประสบการณ์ในปัจจุบันขณะ ฝึกด้วยความสนุกสนานภายในตัวคุณเอง

 

 


มูลนิธิหมอชาวบ้าน

2220/101 ซอยรามคำแหง 36/1  ถนนรามคำแหง  แขวงหัวหมาก  
เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  10240  
โทรศัพท์  02-732-2016 - 17, โทรสาร 02-732-2811 มือถือ 081-401-7744 ; 
E-mail: [email protected] ; www.thaiyogainstitute.com


หมายเลขบันทึก: 276328เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2009 10:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท