โลกของกายหยาบ และโลกของกายละเอียด ( 3 )


ในโลกของการเรียนรู้เรื่องจิต  เป็นเรื่องที่ยากลำบากมากในการทำความเข้าใจ  ในอภิธรรมนั้น มีการกล่าวถึงองค์ประกอบของจิต กล่าวถึงเจตสิก และมีอะไรมากมายเกี่ยวกับเรื่องของจิตที่ลึกซึ้งมาก   ข้าพเจ้าผู้อ่อนด้อยในเรื่องนี้  ก็กำลังพยายามเรียนรู้ในทางทฤษฎีอยู่  แต่ก็ถือว่าอยู่ในชั้นอนุบาลเอามากๆ  

มีอันหนึ่งที่พอจะช่วยให้เข้าใจเรื่องของจิต  ก็คือจากการปฎิบัติธรรมมาสักระยะหนึ่ง   มีหลายครั้งที่ข้าพเจ้าเกิดมองเห็นร่างกายของตนเองกำลังทำสิ่งต่างๆอยู่   โดยมีเราเป็นผู้รู้ ผู้ดู   ฟังดูอาจจะพิลึก แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ    ในช่วงหลังๆ  ข้าพเจ้ามักจะมองเห็นว่า ร่างกายนี้ กำลังทำโน้นทำนี่อยู่บ่อยๆ   มันเหมือนว่าเรามีสองส่วน  ส่วนหนึ่งคือกายหยาบที่จับต้องมองเห็นได้  กับอีกส่วนหนึ่งคือตัวรู้ ที่ไม่สามารถบอกได้ว่าอยู่ตรงไหน  ข้าพเจ้าพบว่าสิ่งนั้นคือจิต และมันน่าแปลกจริงๆ   เพราะความรู้สึกนั้นเหมือนกับว่าจิตมันไม่ได้อยู่ข้างใน แต่มันก็ไม่ได้อยู่ข้างนอก  ทว่ามันอยู่คู่กันไปแบบนั้นกับตัวกายหยาบของเรา    บางครั้งตัวรู้ หรือผู้รู้นี้ ก็หลงไปกับความคิด หลงไปเป็นผู้แสดง หลงไปตามอารมณ์  บางครั้งก็กลับมาเป็นเพียงผู้รู้ผู้ดู  หลังๆ ข้าพเจ้าสังเกตว่า  เมื่อมีสิ่งใดมากระทบอารมณ์ ความมีตัวมีตนของข้าพเจ้าจะชัดเจนขึ้น แล้วข้าพเจ้าก็รู้ภายหลังว่า  ได้เผลอจากการเป็นผู้ดูเฉยๆ กลายเป็นผู้แสดงไปเรียบร้อยแล้ว

น้องสาวที่สนิทกัน และปฎิบัติธรรมมาด้วยกัน ก็เคยเล่าอาการเช่นนี้ให้ฟัง  เธอเล่าให้ฟังว่าในวันหนึ่งขณะที่เธอกำลังนั่งอยู่  และกำลังเอื้อมมือไปแตะที่คีย์บอร์ดของคอมพิวเตอร์  เธอก็มองเห็นมือของตัวเอง เหมือนไม่ใช่มือ  ฟังดูแล้วอาจจะแปลกๆ  แต่เธอบอกว่า มันก็คือมือธรรมดาๆ นั่นแหละ แต่มันเหมือนเป็นมือของคนอื่น  ข้าพเจ้าคิดว่าพอจะเข้าใจถึงเรืองนี้   ดูเหมือนว่าเธอกำลังมองดูร่างกายของตนเองอยู่    จิตผู้รู้ ได้แยกออกมา และกลายเป็นผู้ดู ในขณะนั้น .. ต่อมาภายหลัง ข้าพเจ้าได้ฟังธรรมบรรยายของหลวงพ่อปราโมทย์  และได้อ่านหนังสือของท่านหลายๆเล่ม  ข้าพเจ้าถึงได้เข้าใจว่า สภาวะธรรมเช่นนี้คืออะไร

จิต หรือตัวรู้  เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้   และอธิบายได้ยากมากว่ามันเป็นเช่นไร  การที่จะสัมผัสรู้ได้ ต้องเข้าสู่วิถีแห่งการทำสมาธิภาวนา  ต้องเข้าสู่หลักปฎิบัติของพระพุทธองค์ เพียงประการเดียวเท่านั้น   สิ่งนี้ไม่ได้มาจากการคิดวิเคราะห์ หรือคาดคะเนเอา   แต่ได้มาจากประสบการณ์เชิงประจักษ์ และเป็นการรู้ได้เฉพาะตนเท่านั้น  จึงเป็นเรื่องที่ยากในการที่จะอธิบาย แบบพิสูจน์ให้ได้ในทางวิทยาศาสตร์กายภาพ  คงพูดได้แต่เพียงว่า  ถ้าอยากรู้ให้ลองมาปฎิบัติเอง มาทดลองทำดูด้วยตัวเองเท่านั้น  จึงจะเข้าใจได้

เมื่อจิตเป็นสิ่งจับต้องไม่ได้ เป็นนามธรรม  แล้วจะมีอะไรเป็นตัวบอกว่ามีจิตอยู่  สิ่งนี้เป็นเรื่องที่พูดลำบากมาก  และข้าพเจ้าก็ไม่มีภูมิธรรมใดๆ  จะมาอธิบายในทางทฤษฎีได้  แต่เมื่อไม่นานมานี้ หลังจากข้าพเจ้าไปฝึกกับครูตั้ม  มีสิ่งหนึ่งที่ครูตั้มกล่าวถึง และ น่าสนใจมาก  คือการกล่าวถึงเรื่องลมหายใจหยาบที่เราหายใจเข้าออก   กับการเข้าสู่การภาวนาระดับลึกจนไปถึงลมหายใจที่ละเอียดขึ้นเรื่อยๆ และแผ่วเบาไปเรื่อยๆ  ในสภาวะนั้นครูตั้มกล่าวคล้ายๆว่า คือการเชื่อมต่อเข้าสู่โลกของลมหายใจละเอียด และ กายละเอียด   ( โชคดีที่ครูตั้มใช้คำว่ากายละเอียด เพราะถ้าใช้คำว่ากายทิพย์ ข้าพเจ้าอาจจะหนีออกจากงานภาวนาได้ )  การเข้าสู่โลกของกายละเอียดนั้น  จะเป็นการพ้นออกไปจากขีดจำกัดในทางกายภาพ หรือพ้นจากกายหยาบ  เราสามารถหายใจได้ตั้งแต่จากปลายเท้า จากทุกๆส่วนของร่างกาย  เรียกว่าสามารถหายใจผ่านทางผิวหนังก็ยังได้    แถมในขณะนั่งสมาธิภาวนานั้น ร่างกายดูเหมือนจะไม่มีขอบเขต   มันเหมือนมีการเชื่อมต่อกับสิ่งภายนอก  เราหาขอบเขตของร่างกายไม่เจอ 

เมื่อมาฝึกในทางเถรวาท  มีสิ่งหนึ่งที่คล้ายกันคือ ในการนั่งสมาธิภาวนาที่ลึกไปเรื่อยๆ  ลมหายใจจะแผ่วเบาไปเรื่อยๆ  อาการที่ว่านั้นจะเหมือนเราหยุดหายใจ  ( แต่ที่จริงเรายังหายใจอยู่ )   ท่านว่าเรากำลังเข้าสู่สมาธิระดับลึก  จากขณิกสมาธิ  สู่อุปจารสมาธิ  ถ้านิ่งสนิทไปเลยก็เข้าสู่อัปนาสมาธิ   คำว่าอุปจารสมาธินั้น ท่านว่าคือสมาธิระดับเฉียดฌาน  จะสามารถนำมาพิจารณาธรรมได้  แต่ถ้าเข้าสู่อัปนาสมาธิแล้วก็คือการเข้าไปนิ่งเงียบ  ไม่เกิดปัญญาญานใดๆ  ??

ข้าพเจ้าชอบใจการกล่าวเทียบเคียงเรื่องนี้ ของพระอาจารย์มิตซุโอะ คเวสโก ลูกศิษย์หลวงพ่อชา  ที่กล่าวไว้ในหนังสือของท่านว่า  การทำสมาธิเหมือนการเิดินมุ่งตรงไปยังบ้านหลังหนึ่ง ขณะที่เราเดินมุ่งตรงไปนั้น เริ่มต้นเหมือนขณิกสมาธิ  เรายังรับรู้สิ่งภายนอก ที่เราเดินผ่าน   เมื่อไปถึงชายคาบ้านและกำลังจะเปิดประตูบ้านเข้าไป เหมือนกับอุปจารสมาธิ เรายังรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นภายนอกได้อยู่   แต่เมื่อเปิดประตูเดินเข้าไปยังตัวบ้านที่ปิดประตูหน้าต่างสนิท   เราจะไม่รับรู้สิ่งภายนอกอีก มันเหมือนการเข้าสู่อัปนาสมาธิ 

เทคนิคในแต่ละสายการปฎิบัตินั้น  จะมีเป้าหมาย และสภาวะบางอย่างที่คล้ายกัน  ในโลกของกายละเอียดนั้น  เป็นเรื่องที่น่าแปลกดีทีเดียว  และมีอันหนึ่งที่เรามักจะได้ยินกันเสมอก็คือ  จิตนั้นมีพลังงานบางอย่าง  ( แต่พลังงานไม่ใช่จิต)    

 ในการภาวนากับวัชรยาน สายคากิว  มีสามคำที่ครูตั้มกล่าวถึงคือ 

                                         Form    -     Energy     -       Space  

  นั่นคือ              รูป (หรือกายหยาบ)  - พลังงาน (กายละเอียด ) -    ที่ว่าง  

 ทั้งสามคำนั้นเชื่อมโยงถึง สามสิ่งต่อไปนี้ คือ ...

                                   นิรมาณกาย  - สัมโภคกาย   และ     ธรรมกาย   

 นี่คือ เรื่อง  ตรีกาย ของ มหายานนั่นเอง .

คำสำคัญ (Tags): #กายละเอียด
หมายเลขบันทึก: 275305เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2009 02:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท