“ ต้องฝึกที่จะฝ่าด่าน 18 อรหันมนุษย์ทองคำ”


สุดยอดฝีมือเท่านั้นที่จะสามารถฝ่าด่านได้ แต่คนที่ฝ่าด่านออกมาได้ก็ยังมีบางคนต้องตายโดยที่ไม่ประสบความสำเร็จ และคนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่นอกจากมีฝีมือสุดยอดยังต้องมีคุณธรรมถึงจะประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริง

กรณีศึกษา SMEs “ ต้องฝึกที่จะฝ่าด่าน 18 อรหันมนุษย์ทองคำ

 

     หัวข้อนี้น่าสนใจและท้าทายผู้ประกอบการ SMEs ทั้งหลายที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ  และกำลังอยู่ในช่วง หัวเลี้ยวหัวต่อ ที่จะเป็นไปได้ทั้งล้มเหลวหรือประสบความสำเร็จ  โดยนำหัวข้อ การฝ่าด่าน 18 อรหันมนุษย์ทองคำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ สำหรับพระของวัดเส้าหลินในหนังจีนกำลังภายในที่ต้องการลงจากเขา  และต้องเป็นสุดยอดฝีมือเท่านั้นที่จะสามารถฝ่าด่านได้  แต่คนที่ฝ่าด่านออกมาได้ก็ยังมีบางคนต้องตายโดยที่ไม่ประสบความสำเร็จ  และคนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่นอกจากมีฝีมือสุดยอดยังต้องมีคุณธรรมถึงจะประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริง    ดังนั้นผู้เขียนจึงอยากจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้วยจุดประสงค์คือ  ต้องการที่จะช่วยสะท้อนปัญหาต่าง ๆ ที่ผู้ประกอบการกำลังประสบอยู่  หรือช่วยเหลือผู้ประกอบการที่กำลังจะตัดสินใจครั้งสำคัญว่าจะเลิกหรือทำต่อ  หรือช่วยให้ผู้ที่กำลังมองหาโอกาสที่จะเข้ามาเป็นผู้ประกอบการใหม่ ๆ สามารถที่จะเริ่มต้นได้ดีขึ้นหรือไม่เข้ามาเลยจะดีกว่าถ้าตัวเองไม่พร้อมที่จะ ฝ่าด่าน 18 อรหันมนุษย์ทอง 

 

สำหรับผู้ที่กำลังจะลงทุนในการทำธุรกิจและยังไม่เคยทำมาก่อน

     เปรียบเสมือนกับคนที่กำลังต้องการจะลงจากเขา  หรือสึกออกจากการเป็นพระวัดเส้าหลิน  หรือมาวัดเส้าหลินเพื่อฝึกวิทยายุทธ์กำลังภายในเพื่อไปแก้แค้นให้ครอบครัว  ถ้าตัวเองยังฝึกไม่ได้จุดสุดยอด  หรือฝึกไม่ได้ครบทุกกระบวนท่า  อาจารย์วัดเส้าหลินก็จะคอยเตือนให้ขยันฝึกฝน  ทำสมาธิ  ฝึกความแข็งแรงของร่างกายให้ดีเสียก่อน  ทำให้หลาย ๆ คนต้องคิดแล้วคิดอีก  หรือฝึกแล้วฝึกอีกทำให้คนที่ออกจากวัดหรือลงจากเขาล้วนแล้วแต่ได้รับการยอมรับ  หรือส่วนใหญ่จะประสบความสำเร็จ   และบางคนที่ยังไม่ถึงจุดสุดยอดจริง ๆ ก็ต้องถูกยับยั้งไว้ด้วย ด่าน 18 อรหันมนุษย์ทองคำ เป็นต้น  แต่สำหรับในโลกความเป็นจริงไม่มี ด่าน 18 อรหันมนุษย์ทองคำ  หรืออาจารย์วัดเส้าหลิน  ดังนั้นจึงมีผู้ประกอบการใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมายและไม่ประสบความสำเร็จ  ถึงแม้ว่าจะเลือกทำธุรกิจที่กำลังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค  หรือถึงแม้ว่าเป็นนักลงทุนที่มีเงินลงทุนสูงก็ยังเกิดการล้มเหลวได้อย่างง่าย ๆ

     ดังนั้นผู้เขียนจึงอยากทำตัวเป็นคนคอยเตือนให้ผู้ประกอบการใหม่ ๆ ต้องรู้จักประเมินตัวเองว่ามีความพร้อมจริง ๆ หรือไม่  และคอยหาตัวช่วยคือผู้ที่มีประสบการณ์ที่เราเชื่อถือ  หรือคุณพ่อคุณแม่ที่มีประสบการณ์ในเชิงธุรกิจ  หรืออาจารย์ในมหาลัย  หรือการเรียนหลักสูตรปริญญาโทที่เป็นวิชาการบริหารธุรกิจ  หรือการที่เคยทำงานในลักษณะใกล้เคียงกับธุรกิจที่เรากำลังจะทำ  หรือการมีหุ้นส่วนที่มีประสบการณ์ เป็นต้น  สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวช่วยที่ดีและสามารถแนะนำให้เราทบทวนให้รอบคอบ  หรือช่วยแนะนำให้เราคิดได้ถูกต้องครบถ้วนมากยิ่งขึ้น  หรือก่อนที่จะตัดสินใจสามารถติดต่อนัดหมายที่ปรึกษาที่มีความรู้คอยให้คำปรึกษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายได้ที่  สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. โดยโทรนัดหมายที่ 0-2278-8800 ต่อ 400  จะมีเจ้าหน้าที่คอยแนะนำ  หรือนัดหมายเพื่อเข้ารับคำแนะนำจากที่ปรึกษาเฉพาะแต่ละด้านเช่น  การเงิน, การบัญชี, การตลาด, การขาย, การส่งออก, การจับคู่ทางธุรกิจ, การออกแบบผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

     ถัดมาต้องรู้จักประเมินความพร้อมของตัวเองจริง ๆ ด้วยตัวเองและไม่คิดเข้าข้างตัวเอง  หรือคิดอย่างมีอคติเพื่อที่จะประเมินว่าเราสามารถออกมาทำธุรกิจได้หรือไม่  หรือเมื่อประเมินแล้วพบว่าเราอาจจะไม่เหมาะกับการทำธุรกิจ  แต่ที่แท้จริงเราต้องการทำงานที่มั่นคงและมีอนาคต  หรือเราอาจจะเหมาะกับการเป็นลูกจ้าง  หรือเราจะเหมาะกำงานบริการ   หรืออาชีพอื่น ๆ อีกมากมายที่เราจะสามารถเลือกได้  และสร้างอนาคตที่ดีให้ตัวเองได้  เป็นต้น  เมื่อเราศึกษาอย่างถ่องแท้แล้วว่าเราควรจะทำอย่างไรดี  ทำอย่างไรที่เหมาะสมกับบุคลิก ทำอะไรที่เหมาะสมกับอุปนิสัยของตัวเราเอง  แล้วเราเลือกทำอย่างนั้น  โอกาสที่เราจะล้มเหลวก็จะน้อยลง

 

สำหรับผู้ประกอบการที่ตัดสินใจทำธุรกิจที่เลือกแล้วสักระยะหนึ่ง  แล้วเกิดความลังเลที่จะทำต่อ  หรือเลิกทำ

     ในกรณีนี้ในเมื่อเราตัดสินใจทำแล้ว  ต้องให้โอกาสกับตัวเองอย่างเต็มที่คือ  เราต้องประเมินดูว่าเราได้ทำเต็มที่แล้วหรือยัง  เราได้พยายามอย่างที่สุด  หรือเราได้พยายามอย่างสุดความสามารถ  หรือเราได้ทำงานอย่างหนักจริง ๆ แล้ว  หรือเราได้พยายามอย่างที่สุดและไม่เคยทำเท่านี้มาก่อนในชีวิต  หรือมีคำถามอีกมากมายลองถามตัวเองให้ครบ 18 คำถามหรือ 18 อย่างดู  ถ้าเราถามตัวเอง  ถามผู้รู้ทั้งหลายแล้วยังคิดว่าเรายังต่อสู้ไม่เต็มที่  ก็ให้โอกาสตัวเองต่อสู้อย่างสุด ๆ ๆ จริง ๆ และจริงจัง  ถ้ายังทำไม่ได้ก็ขอให้หัดที่จะตัดใจเลิกในทันทีเพื่อที่จะได้ลดการสูญเสียให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด  และเราต้องกลับไปรับจ้างทำงานใหม่  เราต้องกลับเข้าวัด  หรือกลับเข้าโรงเรียน  หรือกลับเข้ารับการอบรมหลักสูตรต่างๆ เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม  เพิ่มความรู้  เพิ่มความสามรถ  เพิ่มประสบการณ์การทำงานให้มากยิ่งขึ้น  เพื่อกำจัดจุดอ่อนต่างๆ ที่เราเรียนรู้จากการผิดพลาดครั้งแรก  และเรียนรู้เพิ่มเติมให้เรามีจุดแข็งเพิ่มมากขึ้น  ฝึกการวางแผน  เตรียมเงินลงทุนให้เพียงพอ  หรือปรับปรุงตัวเองให้มีความพร้อมมากขึ้น  และจะขอแนะนำวีคิดบางอย่างที่น่าสนใจคือ  ถ้าท่านผิดพลาดแล้วยังค้นพบจุดอ่อน  หรือจุดที่ทำให้ท่านล้มเหลวในครั้งที่แล้วไม่ได้เลย  ตอบตัวเองได้อย่างมั่นใจเลยว่าตัวเองยังไม่พร้อมที่จะลงทุนใหม่  หรือตัดสินใจทำธุรกิจอีกครั้งเพราะก็จะทำให้ท่านล้มเหลวอีกครั้ง  ล้มเหลวอีกครั้ง  ล้มเหลวอีกครั้ง  แต่กลับกันถ้าท่านค้นพบจุดอ่อนได้อย่างมากมายและชัดเจน  ขอให้ท่านรีบเรียนรู้และปรับปรุงแก้ไขให้จุดบกพร่องหมดไป  หรือกำจัดจุดอ่อน  และทำให้ท่านมีจุดแข็งมากขึ้น  มากขึ้น  มากขึ้น  จนท่านมีความมั่นใจเพียงพอ  และถ้าท่านยังยืนยันว่าชอบ  หรืออยากเป็นเจ้าของธุรกิจก็พร้อมที่จะลองทำดูอีกครั้งได้   หรือพร้อมที่จะลงจากเขาแล้วนั่นเอง

สำหรับผู้ประกอบการที่มีผลประกอบการที่ดี   หรือพอใช้ได้

 

      สำหรับท่านที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว  ไม่ง่ายนักที่เราจะแนะนำให้ท่านคิดที่จะปรับปรุงองค์กรของท่านให้ดีมากยิ่งขึ้น  เนื่องจากท่านอยู่ในจุดที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว  แต่มีคำพูดบางคำที่ที่จะนำมาเป็นข้อคิดคือ ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า, อย่ามัวหลงในความสำเร็จ  จนมองไม่เห็นความสำคัญของคนอื่น, คำพูดเหล่านี้คอยเตือนให้เราไม่ประมาท  คำพูดเหล่านี้จะคอยเตือนให้เรามองเห็นถึงเพื่อนร่วมงานที่เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของเรา  ถ้าเรามองไม่เห็นคนเหล่านั้นก็จะจากไป  สัญญาณแห่งความล้มเหลวก็จะมาเยือน  ดังนั้นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จอยู่ต้องพยายามทำก็คือ  การรู้จักปรับปรุงองค์กรให้ดีขึ้น  ต้องรู้จักพัฒนาให้มีระบบที่ถูกต้อง  ต้องรู้จักสร้างกลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทั้งการขาย  การตลาด  การผลิต  การจัดการ  เป็นต้น

และที่สำคัญต้องดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ  มีความถูกต้อง  ถูกกฎหมาย  ถึงจะสง่างามและมีความสำเร็จอย่างแท้จริง    

 

     ในปัจจุบันปัญหาและอุปสรรคสำหรับผู้ประกอบการนั้นมีมากมาย  อาจจะมากกว่า 18 ด่านอรหันมนุษย์ทองคำเสียด้วยซ้ำ  ดังนั้นขอให้ผู้ประกอบการทั้งหลายตั้งสติให้ดี  มองหาตัวช่วยต่าง ๆ ที่มี  มองหาแนวทางการแก้ปัญหาวิกฤตต่าง ๆ โดยใช้เหตุผล  ใช้ความรู้  ใช้ความสามารถ  ใช้พันธมิตรทางการค้า  ใช้เครือข่ายเชื่อมกันเพื่อเสริมสร้างและขยายงาน ใช้ความถูกต้อง  ใช้ความเป็นธรรม  ความอดทน  ความพยายามอย่างเต็มที่ ความอุสาหะ  และเราขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการทุกท่าน  ขอให้ท่านทั้งหลายสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ได้  และขอให้ท่านสามารถไปถึงจุดหมายปลายทางของท่านได้อย่างมีความสุขและความสำเร็จ  ท่านที่ต้องการคำปรึกษาสามารถปรึกษาเราได้ที่ สสว.โดยโทรนัดหมายที่ 0-2278-8800 ต่อ 400 โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายนะครับ

 

ธนพล  ก่อฐานะ

ที่รึกา SMEs ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ

ฝ่ายประสานและบริการ SMEs

หมายเลขบันทึก: 275164เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2009 16:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2012 12:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

บทความนี้ชี้ผู้ประกอบการ หรือผู้ที่คิดจะลงทุน ให้เห็นถึงปัจจัยที่ควรจะประเมิรตัวเองก่อนการตัดสินใจ เพื่อลดความเสี่ยง หรือเพิ่มความพร้อมสำหรับการลงทุน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท